xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ เตรียมถก ‘ปูติน’ กรณีแฮกเรียกค่าไถ่ นอกจาก ‘บ.แปรรูปเนื้อ’ แล้ว ‘เรือเฟอร์รี-รถไฟ’ ก็โดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว แถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (3 มิ.ย.)
“ไบเดน” เผยกำลังเล็งหาวิธีตอบโต้ หลังทำเนียบขาวระบุแฮกเกอร์ในรัสเซียเป็นตัวการโจมตี “เจบีเอส” บริษัทแปรรูปเนื้อรายยักษ์ของอเมริกา นอกจากนั้นผู้ให้บริการเรือเฟอร์รีรายใหญ่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ตลอดจนถึงผู้ดำเนินการระบบรถไฟและรถโดยสารในนิวยอร์กซิตี้ ต่างออกมาเปิดเผยว่าถูกแฮกระบบเช่นเดียวกัน แม้ไม่เกิดความเสียหายรุนแรงก็ตาม

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามในวันพุธ (2 มิ.ย.) ว่าจะตอบโต้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งมีนัดพบประชุมซัมมิตครั้งแรกกับเขาที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงกลางเดือนนี้หรือไม่ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ทำเนียบขาวกำลังติดตามปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ (2) สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อเรียกค่าไถ่จากบริษัทเจบีเอส ซึ่งเป็นกิจการของทุนบราซิลนั้น เป็นฝีมือของ “รีวิล” และ “โซดิโนบิกิ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นแฮกเกอร์กลุ่มเดียวกันและมีสายสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยที่เอฟบีไอสำทับว่ากำลังดำเนินการเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ

ขณะเดียวกัน เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ไบเดนจะนำประเด็นนี้ขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมของโลก (จี7) ที่สหราชอาณาจักรปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งจะติดตามด้วยซัมมิตสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) รวมทั้งการนัดพบกับปูตินในวันที่ 16 ที่จะถึงนี้

ซากีกล่าวว่า การให้ที่พักพิงแก่กลุ่มที่มีเจตนาร้ายหรือดำเนินการที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ถึงแม้ทำเนียบขาวไม่ได้กล่าวโทษเครมลินโดยตรง แต่ก็พูดอ้อมๆ ว่า กลุ่มอาชญากรทำการโจมตีจากในรัสเซีย และซากียังเสริมว่า ไบเดนคิดว่าปูตินและรัฐบาลรัสเซียมีบทบาทในการหยุดยั้งและป้องกันการโจมตีเหล่านั้น พร้อมสำทับว่าประเทศที่มีความรับผิดชอบทั้งหลายต้องไม่ให้ที่พักพิงแก่อาชญากรไซเบอร์

ทางด้านมอสโกแถลงในวันเดียวกันว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือในการสอบสวนเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์หากอเมริการ้องขอ

ทั้งนี้ เจบีเอสเป็นเครือข่ายซัปพลายเออร์เนื้อวัวที่ทำธุรกิจอยู่ในอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ยุโรป เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยบริษัทตรวจพบว่าถูกแฮกเกอร์โจมตีระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานบางส่วนในอเมริกาเป็นอัมพาต และกระทบกระเทือนการทำงานของแรงงานหลายพันคนในออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี เวลานี้บริษัทเผยว่าโรงงานแปรรูปเนื้อวัว หมู สัตว์ปีก และอาหารสำเร็จรูปของตนส่วนใหญ่จะสามารถดำเนินการได้เกือบเป็นปกติในวันพฤหัสฯ (3)

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนที่แล้ว โคโลเนียล บริษัทผู้ให้บริการสายท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของอเมริกาก็เพิ่งถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งทำให้คนแตกตื่นแห่เติมน้ำมันรถในบางรัฐ และจบลงด้วยการที่บริษัทยอมจ่ายค่าไถ่ 4.4 ล้านดอลลาร์ให้กลุ่มแฮกเกอร์ “ดาร์กไซด์” ที่เชื่อว่าอยู่ในรัสเซียเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น ในวันพุธ สตรีมชิป ออโธริตี ออฟ แมสซาชูเซตส์ ที่ให้บริการเรือเฟอร์รีในรัฐแมสซาชูเซตส์ รายงานว่า ถูกโจมตีด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ส่งผลให้บริการเรือเฟอร์รีระหว่างเคปค็อดและเกาะแนนทักเกตและมาร์ธาส์วินยาร์ดล่าช้า เนื่องจากการประมวลผลบัตรเครดิตมีปัญหา ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เงินสดแทน และเสริมว่า กำลังเร่งตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รัฐ และรัฐบาลกลาง จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากกว่านี้

วันเดียวกันนั้น เมโทรโพลิแทน ทรานสปอร์เตชัน ออโธลิตี้ (เอ็มทีเอ) ที่ดำเนินการระบบรถไฟและรถโดยสารประจำทางในนิวยอร์กซิตี้ เปิดเผยว่า ถูกแฮกเมื่อวันที่ 20 เมษายน แต่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย และไม่มีความเสี่ยงต่อผู้โดยสารแต่อย่างใด การตรวจสอบในเวลาต่อมาไม่พบว่าระบบปฏิบัติการได้รับผลกระทบ และแฮกเกอร์ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลของลูกค้าหรือพนักงานของบริษัท

ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่กลายเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ โดยกลุ่มอาชญากรซึ่งมีจำนวนมากพูดภาษารัสเซีย ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเข้ารหัสไฟล์ และเรียกร้องให้เหยื่อจ่ายค่าไถ่เป็นเงินคริปโต

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

โรงงานแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ของ เจบีเอส ที่เมืองเวิร์ธทิงตัน รัฐมินนิโซตา (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 28 ต.ค. 2020)
กำลังโหลดความคิดเห็น