xs
xsm
sm
md
lg

แฉมหาเศรษฐีมะกันนับสิบ ทั้ง ‘มัสก์-เบโซส-โซรอส’ ใช้ช่องโหว่กฎหมายจ่ายภาษีเงินได้น้อยกว่า ‘คนงาน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) เจฟฟ์ เบซอส, อีลอน มัสก์, จอร์จ โซรอส
รายงานจาก “โปรพับลิกา” องค์กรสื่อไม่หวังผลกำไรที่มุ่งเสนอรายงานข่าวเชิงสอบสวน แฉ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งแอมะซอน ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯแม้แต่เหรียญเดียวในปี 2007 และ 2011 เช่นเดียวกับอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลา ในปี 2018 ส่วน จอร์จ โซลอส พ่อมดการเงินชื่อดัง ก็ไม่ได้จ่ายตลอด 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2016-2018

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (8 มิ.ย.) โปรพับลิกาที่ตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก ระบุว่า มหาเศรษฐีอเมริกันที่รวยที่สุดบางคนจ่ายภาษีเงินได้น้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินมหาศาลที่ครอบครอง หรือบางครั้งไม่ได้จ่ายเลย

โดยภาพรวม เศรษฐีอเมริกันที่รวยที่สุด 25 คน จ่ายภาษีเงินได้ (ในอัตราเฉลี่ย 15.8% ของยอดเงินได้รวมที่ผ่านการหักลดต่างๆ แล้ว) น้อยกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไปจำนวนมากเสียอีก หากรวมภาษีซึ่งคนงานเหล่านี้ต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าประกันสังคมและค่าประกันสุขภาพยามชราหรือพิการ “เมดิแคร์”

รายงานจากองค์กรสื่อเชิงสอบสวนแห่งนี้ ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลภาษีที่ถือเป็นข้อมูลลับนี้ ยังระบุว่า ซูเปอร์ริชรายอื่นๆ ที่ไม่ได้จ่ายภาษีในบางปี ยังมีอาทิ ไมเคิล บลูมเบิร์ก ผู้มั่งคั่งจากกิจการด้านข่าวและข้อมูลทางการเงิน ตลอดจนเป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก, คาร์ล ไอคาห์น นักลงทุนที่นิยมเคลื่อนไหวกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ตนถือหุ้นอยู่ และโซรอส พ่อมดการเงินและผู้สนับสนุนองค์กรการกุศลรายใหญ่

โปรพับลิกาพบว่า ซูเปอร์ริชจำนวนมากจ่ายภาษีเงินได้ต่ำกว่าอัตรา 37% ซึ่งกำหนดไว้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้มากที่สุด ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ที่นิตยสารฟอร์บส์ รายงานว่า มหาเศรษฐีอเมริกันที่รวยที่สุด 25 คน มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 401,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2014-2018 แต่ปรากฏว่า จากข้อมูลภาษีที่โปรพับลิกาได้รับมา ในช่วงเวลาดังกล่าวพวกเขากลับจ่ายภาษีเงินได้เพียง 13,600 ล้านดอลลาร์ หรือแค่ 3.4% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี โปรพับลิกาสำทับว่า ซูเปอร์ริชเหล่านี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมายในการสำแดงภาษีต่อสรรพากร แต่ใช้กลยุทธ์หลีกเลี่ยงภาษีที่คนธรรมดาย่อมทำไม่ได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากคำจำกัดความ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” ตามกฎหมายภาษีเงินได้ของสหรัฐฯ โดยยังไม่นับรวมมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เว้นเสียแต่เมื่อนำสินทรัพย์เหล่านั้นไปขายและทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาเท่านั้น

ทั้งนี้ ปี 2011 เบโซสรายงานว่า มียอดขาดทุนจากการลงทุนมากกว่ารายได้จึงสามารถสำแดงภาษีว่า ขาดทุน ในปีนั้นเขายังได้ลดหย่อนภาษี 4,000 ดอลลาร์จากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก

ส่วนโฆษกของโซรอสชี้แจงกับโปรพับลิกา ว่า โซรอสไม่ได้เสียภาษีระหว่างปี 2016-2018 เพราะการลงทุนขาดทุน อย่างไรก็ดี เขาสนับสนุนการขึ้นภาษีคนรวยตามที่ได้ประกาศไว้

ด้านบลูมเบิร์กและไอคาห์น ยืนยันว่า จ่ายภาษีทั้งหมดตามที่ต้องจ่าย ขณะที่มัสก์ส่งเครื่องหมายคำถามกลับไป หลังโปรพับลิกาติดต่อขอความคิดเห็น

รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาหลังจากเมื่อไม่กี่วันนี้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม จี7 เพิ่งรับรองให้จัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำในอัตราอย่างน้อยที่สุด 15% โดยเป็นหนึ่งในข้อเสนอภาษีที่มีเป้าหมายในการทำให้บรรษัทข้ามชาติที่มีศักยภาพในการทำกำไร ต้องจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ยังมีความพยายามจากอีกหลายฝ่าย เช่น วุฒิสมาชิกเอลิซาเบธ วอร์เรน จากพรรคเดโมแครต ที่เสนอมาตรการริเริ่มด้านภาษีสำหรับเหล่าซูเปอร์ริช ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีโดยคำนวณจากมูลค่าหุ้นที่ถือครองและอสังหาริมทรัพย์ แทนที่จะคิดจากรายได้เพียงอย่างเดียว

รายงานของโปรพับลิกาที่อิงกับข้อมูลของสรรพากรสหรัฐฯ เกี่ยวกับการคืนภาษีมหาเศรษฐีในช่วงกว่า 15 ปี วิจารณ์ว่า ข้อมูลนี้ทำลายความเชื่อดั้งเดิมของระบบภาษีของอเมริกาที่ว่า “ทุกคนจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรมและคนรวยที่สุดจ่ายมากที่สุด” โดยสิ้นเชิง

ทางด้านกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งผู้ตรวจการกระทรวงการคลัง สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และอัยการในวอชิงตัน ได้เปิดการสอบสวนกรณีข้อมูลการคืนภาษีเกิดการรั่วไหลไปถึงโปรพับลิกาครั้งนี้

ลิลี อดัมส์ โฆษกกระทรวงการคลังแถลงว่า การเผยแพร่ข้อมูลความลับของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการทำผิดกฎหมาย

(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น