โจ ไบเดน ในวันอังคาร (1 มิ.ย.) กลายเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐฯที่เดินทางเยือนเมืองทัลซา โอกลาโฮมา ดินแดนที่คนผิวสีสหรัฐฯหลายร้อยคนถูกสังหารหมู่โดยพวกม็อบผิวขาวในปี 1921 ระลึกถึงมรดกอันเลวร้ายแห่งความรุนแรงทางผิวสีของประเทศ
ไบเดนร่วมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยเหยื่อ หลังพบปะกับชาวบ้าน 3 คน ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทัลซาระหว่างเหตุสังหารหมู่ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งซึ่งจัดแสดงเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ดังกล่าว
“เป็นเวลาช้านานที่ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ถูกเก็บเงียบ พี่น้องชาวอเมริกันของผม มันไม่ใช่จลาจล แต่มันเป็นการสังหารหมู่ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ของเรา และมันไม่ใช่เหตุการณ์ร้ายเพียงครั้งเดียว” ไบเดนกล่าว
รัฐบาลของเขามีแผนยกระดับต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ในนั้นรวมถึงเพิ่มการจ้างงานระหว่างรัฐบาลกลางกับบรรดาธุรกิจขนาดเล็กที่ด้อยโอกาส ลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในชุมชนต่างๆ อย่างเช่นในย่านกรีนวู้ด ที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของคนผิวสีเมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งได้รับความทุุกข์ทรมานจากความยากจนถาวร และแสวงหาความพยายามครั้งใหม่ในการต่อสู้กับปัญหาเลือกปฏิบัติ
ชาวบ้านผู้อยู่รอดทั้ง 3 คน ซึ่งปัจจุบันอายุระหว่าง 101-107 ปี ที่พบปะกับไบเดนในวันอังคาร (1 มิ.ย.) เคยร้องขอความยุติธรรมจากสภาคองเกรสในปีนี้ และฝ่ายต่างๆ ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับรัฐและท้องถิ่น เพื่อเสาะหามาตรการเยียวยาหลายๆทางจากเหตุสังหารหมู่ ในนั้นรวมถึงมอบเงินทุนชดเชยแก่เหยื่อ
“สิ่งที่ผู้รอดชีวิตเหล่านี้ต้องประสบนั้นเป็นเรื่องเศร้า” โฆษกทำเนียบขาวบอกกับผู้สิ่อข่าวบนเที่ยวบินที่กำลังมุ่งหน้าสู่โอกลาโฮมาในวันอังคาร (1 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม ไบเดน ไม่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ที่ถามว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯควรขอโทษอย่างเป็นทางการต่อหตุการณ์ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คนหรือไม่
ขณะเดียวกัน โฆษกของไบเดน ก็ไม่ได้บอกเช่นกันว่าประธานาธิบดีจะพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการจ่ายเงินชดเชยแก่บรรดาลูกหลานของผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่
เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งเปิดเผยว่า ไบเดนมีแผนปราศรัยเกี่ยวกับมรดกแห่งความรุนแรงจากการเหยียดผิวของสหรัฐฯ และความท้าทายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของความสามัคคีที่รออยู่เบื้องหลัง พร้อมระบุ ไบเดน ไม่อาจทำตามคำสัญญาฟื้นฟูจิตวิญญาณของประเทศ หากไม่ยอมรับประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อนของอเมริกา
การเดินทางเยือนครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ประเด็นสีผิวกำลังสั่นคลอนสหรัฐฯ โดยในขณะที่คนผิวขาวซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีจำนวนลดลง กลับมีภัยคุกคามเพิ่มขึ้นจากบรรดากลุ่มผู้มีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาวทั้งหลาย (supremacist group)
นอกจากนี้แล้ว การเดินทางเยือนครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศแห่งนี้กำลังทบทวนแนวทางปฏิบัติของพวกเขาที่มีต่อคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ตามหลังเหตุการณ์ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี ถูกตำรวจผิวขาวฆาตกรรมระหว่างการจับกุมที่เมืองมินนีอาโปลิส ซึ่งโหมกระพือการประท้วงอันเดือดดาลทั่วประเทศ
ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของผู้มีสิทธิออกเสียงผิวสี ได้หยิบยกการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางสีผิวเป็นนโยบายหลักของการหาเสียงปี 2020 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้พบปะกับสมาชิกครอบครัวของฟลอยด์ ในวาระครบรอบการเสียชีวิตของเขา และปัจจุบันกำลังกดดันให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ
การเดินทางเยือนเมืองทัลซาของไบเดน นับเป็นบรรยากาศที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิงจากเมื่อ 1 ปีก่อน โดยคราวนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้นจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการเคลื่อนไหว “ชีวิตคนดำมีค่า” และกลุ่มเรียกร้องความยุติธรรมทางผิวสีอื่นๆ มีแผนจัดชุมนุมทางการเมืองในเมืองทัลซา วันที่ 19 มิถุนายน ในวาระครบรอบจูนทีนธ์ (Juneteenth) ที่ฉลองการเลิกทาสในสหรัฐฯในปี 1865 แต่การชุมนุมดังกล่าวถูกยกเลิกไป หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
เหตุสังหารหมู่ในเมืองทัลซาในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 1921 ไม่มีสอนในชั้นเรียนทางประวัติศาสตร์ หรือรายงานโดยสื่อมวลชนท้องถิ่นมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ แต่ประชาชนทั่วไปทราบเรื่องดังกล่าวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านผิวขาวยิงสังหารคนผิวสีเกือบ 300 คน เผาทำลายและปล้นสะดมบ้านเรือนและธุรกิจต่างๆ ทำลายชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่กำลังรุ่งเรืองในเวลานั้น หลังผู้หญิงผิวขาวคนหนึ่งกล่าวหาถูกชายผิวสีล่วงเกินทางเพศ ข้อกล่าวหาที่ไม่เคยผ่านพิสูจน์ตรวจสอบ
บริษัทประกันภัยทั้งหลายไม่จ่ายค่าเสียหายและไม่มีใครถูกตั้งข้อหาจากเหตุความรุนแรงดังกล่าวแม้แต่รายเดียว
(ที่มา: รอยเตอร์)