พวกนายพลบิ๊กเบิ้มที่เป็นผู้วางแผนทางทหารของสหรัฐฯ พยายามผลักดันเสนอแนะให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีใส่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1958 เพื่อเป็นการพิทักษ์ปกป้องไต้หวันไม่ให้กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดเกาะซึ่งปักกิ่งถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนที่กำลังก่อกบฎ ทั้งนี้ตามเอกสารลับที่โพสต์ทางออนไลน์ โดย แดเนียล เอลสเบิร์ก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการแฉโพย “เพนตากอน เปเปอร์ส”
ในเวลานั้น พวกนายพลบิ๊กเบิ้มนักวางแผนทางทหารสหรัฐฯเหล่านี้ เชื่อกันด้วยซ้ำว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าช่วยเหลือจีน และตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน แต่พวกเขาคิดว่ามันเป็นราคาที่สมควรต้องจ่ายเพื่อพิทักษ์ป้องกันไต้หวันเอาไว้ ทั้งนี้ตามเอกสารลับดังกล่าว ซึ่งได้รับการรายงานเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดยนิวยอร์กไทมส์ สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ
เอลสเบิร์ก ซึ่งเป็นอดีตนักวิเคราะห์ด้านการทหารที่ทำงานกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้โพสต์ส่วนที่ยังถือเป็นความลับอยู่ของเอกสารท็อปซีเคร็ตว่าด้วยวิกฤตการณ์คราวนั้นทางออนไลน์ หลังจากอีกส่วนหนึ่งของเอกสารนี้ได้ถูกลดชั้นความลับและถูกนำออกเผยแพร่แล้วตั้งแต่เมื่อปี 1975
เอลสเบิร์ก ซึ่งปัจจุบันอายุ 90 ปี มีชื่อเสียงโด่งดังจากการที่เมื่อปี 1971 ตอนที่สหรัฐฯยังกำลังทำสงครามเวียดนามอย่างดุเดือดเลือดพล่าน เขาได้แอบนำเอาผลงานศึกษาวิจัยลับสุดยอดว่าด้วยสงครามดังกล่าว ซึ่งต่อมาจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “เพนตากอน เปเปอร์ส” ไปให้สื่อมวลชนสหรัฐฯนำออกเผยแพร่
เอลสเบิร์ก บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เขาได้ก็อปปี้เอกสารศึกษาว่าด้วยเรื่องวิกฤตการณ์ไต้หวันที่เวลานั้นถือเป็นความลับสุดยอด เอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 และตัดสินใจนำออกเผยแพร่ในตอนนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนที่จะได้รับรู้และอภิปรายถกเถียงกัน ขณะที่เวลานี้สหรัฐฯกับจีนกำลังมีความตึงเครียดระหว่างกันในเรื่องไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าหากจีนที่ตอนนั้นกำลังใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มใส่หมู่เกาะเล็กๆ ที่อยู่รอบนอกของเกาะไต้หวันอย่างขนานใหญ่ ตัดสินใจเปิดฉากยกกำลังบุกขึ้นเกาะไต้หวันแล้ว พล.อ.นาธาน ทวินนิ่ง ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯในเวลานั้น “ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯก็จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เล่นงานพวกฐานทัพอากาศแห่งต่างๆ ของจีนเพื่อป้องกันไม่ให้ (จีน) เปิดการรณรงค์ใช้กำลังทางอากาศทำการขัดขวางหน่วงเวลาได้อย่างประสบความสำเร็จ” คณะผู้เขียนเอกสารดังกล่าวระบุ
แล้วถ้าการทำเช่นนี้ยังไม่สามารถหยุดยั้งการบุกของจีนได้ มันก็ “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ลึกเข้าไปในจีน ขึ้นไปทางเหนือไกลจนถึงเซี่ยงไฮ้” เอกสารฉบับนี้บอก โดยอ้างอิงว่าเป็นการสรุปย่อความเห็นของทวินนิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์คราวนั้น ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐฯ ตัดสินใจว่า ในเบื้องต้นจะพึ่งพาอาศัยแต่พวกอาวุธตามแบบแผนกันก่อน
ขณะที่วิกฤตการณ์ปี 1958 นี้ก็สิ้นสุดลงเมื่อกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุติการใช้ปืนใหญ่ระดมโจมตีใส่พวกหมู่เกาะที่ควบคุมโดยไต้หวัน และปล่อยให้พื้นที่แถบนั้นอยู่ใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายก๊กมิ่นตั๋งของประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
จีนยึดถือมาโดยตลอดว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งใต้อธิปไตยของตน ที่เวลานี้ก่อกบฎ และดังนั้นจะต้องนำกลับคืนมาอยู่ใต้การปกครองของแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในวันหนึ่งข้างหน้า โดยถ้าหากจำเป็นก็พร้อมใช้กำลังเข้ายึด
สำหรับสหรัฐฯนั้น ตั้งแต่ปี 1979 ได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับ “สาธารณรัฐจีน” ที่ไทเป และหันมารับรอง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่ปักกิ่ง โดยถือว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวของจีน กระนั้น วอชิงตันก็ยังคงรักษาสายสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับไทเป รวมทั้งยังคงถือว่าไต้หวันเป็นพันธมิตรทางทหารรายสำคัญที่สุดรายหนึ่งของตน และจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ไม่ขาดสาย
ความตึงเครียดยังร้อนฉ่า
ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ จีนได้ส่งเครื่องบินรบข้ามไปในพื้นที่น่านฟ้าซึ่งไต้หวันประกาศเป็นเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศอยู่เสมอ รวมทั้งเรือรบของปักกิ่งก็แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันอยู่เรื่อย
สำหรับสหรัฐฯ ก็ได้ดำเนินที่สิ่งตนเองเรียกขานว่าเป็น การปฏิบัติการเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งได้แก่การส่งเรือรบแล่นเข้าไปในเส้นทางน้ำตรงช่องแคบไต้หวัน ที่คั่นอยู่ระหว่างเกาะไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่จีน นอกเหนือจากแล่นไปในทะเลจีนใต้ เฉียดใกล้เกาะต่างๆ ซึ่งปักกิ่งประกาศอ้างเป็นดินแดนของตน
ยิ่งในช่วงท้ายๆ คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยแล้ว ได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ดังเช่น รัฐมนตรีสาธารณสุข เดินทางไปเยือนไต้หวัน โดยทราบดีว่าจะทำให้ปักกิ่งโกรธเกรี้ยวเป็นฟืนเป็นไฟ
สำหรับคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศยุทธศาสตร์ต่อจีนออกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในเร็วๆ นี้ ขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากพวกนิยมไต้หวันในสหรัฐฯดังขึ้นเรื่อยๆ ให้ไบเดนประกาศให้คำมั่นสัญญาอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนว่า ถือเป็นพันธะผูกพันที่จะต้องเข้าป้องกันไต้หวันจากการถูกบุก แม้กระทั่งด้วยกำลังทหาร
ถึงแม้หันมาสถาปนาความสัมพันธ์กับปักกิ่งแล้ว แต่สหรัฐฯยังคงมีกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้วอชิงตันต้องช่วยเหลือไต้หวันในการปกป้องตัวเองในกรณีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา ทว่าระยะหลายสิบปีมานี้ สหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายที่เรียกกันว่า “ความกำกวมคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” มาโดยตลอด นั่นคือหลีกเลี่ยงไม่ระบุให้ชัดเจนว่า ในสภาวการณ์เช่นไรจึงจะทำให้สหรัฐฯเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารเพื่อช่วยเหลือไต้หวัน
(เก็บความจากรายงานเรื่อง In 1958 US considered nuclear strike on China over Taiwan: documents ของสำนักข่าวเอเอฟพี โดยเพิ่มเติมข้อมูลจากสำนักข่าวอื่นๆ ด้วย)