ชี้กำไรจากวัคซีนโควิด-19 สร้างอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์อย่างน้อย 9 คน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เวียดนามประกาศวันพฤหัสบดี (20 พ.ค.) แผนตั้งกองทุนจัดซื้อวัคซีน หลังชะล่าใจกับความสำเร็จในการคุมโควิดรอบแรกกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง ด้านออสเตรเลีย สมาคมแพทย์เตือนประเทศกำลังตกเป็นเป้านิ่งจากการที่ประชาชนยังรีรอไม่ยอมฉีดวัคซีน ส่วนสิงคโปร์งัดกฎหมายบังคับให้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์โพสต์เตือนผู้ใช้ ยันไม่มีไวรัสสายพันธุ์สิงคโปร์อย่างที่นักการเมืองอินเดียแอบอ้าง
ในวันพุธ (19) เดอะ พีเพิลส์ วัคซีน อัลไลแอนซ์ เครือข่ายองค์กรและนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ให้ยุติการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนสิทธิบัตรของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกคำแถลงระบุว่า กำไรจากวัคซีนโควิดกำลังทำให้เกิดอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยตั้งแต่พันล้านดอลลาร์ขึ้นไปหน้าใหม่อย่างน้อย 9 คน ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกัน 19,300 ล้านดอลลาร์ เพียงพอสำหรับการซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนทั้งหมดในประเทศรายได้ต่ำครบทั้งสองโดสถึง 1.3 ครั้ง
แอนนา แมร์ริออตต์ จากมูลนิธิออกซ์แฟมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้ ชี้ว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้คือโฉมหน้าของผลกำไรมโหฬารที่บริษัทยากอบโกยจากการผูกขาดวัคซีนโควิด
นอกจากซูเปอร์ริชหน้าใหม่แล้ว เศรษฐีพันล้านเดิม 8 คนยังมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวม 32,200 ล้านดอลลาร์จากวัคซีนโควิด
ทั้งนี้ สำหรับเหล่ามหาเศรษฐีใหม่เบอร์ต้นๆ ของตารางที่ว่านี้ ซึ่งอ้างอิงจากรายงานอัปเดตของนิตยสารฟอร์บส์ ได้แก่ สเตฟาน แบนเซล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทโมเดอร์นา, อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบโอเอ็นเทค และอีกสามคนคือผู้ร่วมก่อตั้งแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ของจีน
คำแถลงของเดอะ พีเพิลส์ วัคซีน อัลไลแอนซ์ ออกมาขณะที่ประเทศมากมายทั่วโลกกำลังขวนขวายจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนของตัวเองท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มยุติ
ในวันพฤหัสฯ (20) กระทรวงการคลังเวียดนามแถลงว่า ได้เสนอแผนจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สำหรับจัดซื้อวัคซีนโควิด 150 ล้านโดส เสนอให้รัฐบาลอนุมัติแล้ว โดยกองทุนนี้ส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชน 75 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 98 ล้านคน
หลังจากประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสโคโรนาได้เป็นส่วนใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้เวียดนามกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่ไวรัสแพร่พันธุ์เร็วกว่าเดิม โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 1,677 คนนับจากเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงคนงานหลายร้อยคนในโรงงานทางตอนเหนือของประเทศ
เวียดนามมีผู้ติดเชื้อสะสมนับจากโควิดเริ่มระบาดเมื่อปีที่แล้ว 4,720 คน และเสียชีวิต 37 คน
นับจากเริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อเดือนมีนาคม เวียดนามเพิ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 1 ล้านคน จากวัคซีนที่ได้รับมา 2.61 ล้านโดส ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผ่านโครงการโคแว็กซ์ และเมื่อวันอังคาร (18) รัฐบาลเผยว่าเตรียมทำสัญญาจัดซื้อวัคซีน 31 ล้านโดสจากไฟเซอร์
ขณะเดียวกัน สมาคมการแพทย์ออสเตรเลีย (เอเอ็มเอ) แสดงความกังวลที่ประชาชนชะลอการฉีดวัคซีนเนื่องจากวางใจว่าประเทศประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด และเรียกร้องให้รัฐบาลออกแคมเปญโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อชักชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีน
เอเอ็มเอสำทับว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่โควิดกลับมาระบาดหนักและเกิดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ ออสเตรเลียกำลังทำตัวเป็นเป้านิ่ง นอกเสียจากว่าจะมีประชาชนจำนวนมากพอได้รับวัคซีน โดยเฉพาะคนอายุ 50 ปีขึ้นไป
การปิดประเทศนับจากเดือนมีนาคมปีที่แล้วช่วยให้ออสเตรเลียควบคุมการระบาดได้ โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมไม่ถึง 30,000 คน และเสียชีวิต 910 คน อย่างไรก็ดี ช่วงหลายเดือนมานี้ได้เกิดการระบาดกลุ่มเล็กๆ หลายครั้งซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎในโรงแรมที่ใช้กักตัวนักเดินทาง และเอเอ็มเอเตือนว่า การลังเลฉีดวัคซีนทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับพวกที่ละเมิดกฎ
ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ 20 ล้านคนแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ และมีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่า ในช่วง 3 สัปดาห์มานี้มีการฉีดวัคซีนไปแค่ราว 1 ใน 3 ของวัคซีน 3.3 ล้านโดส ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
ส่วนที่สิงคโปร์ รัฐบาลได้ใช้กฎหมายป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบังคับให้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ออกคำเตือนผู้ใช้เกี่ยวกับการกล่าวอ้างเท็จว่าไวรัสสายพันธุ์สิงคโปร์กำลังระบาดในอินเดีย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ อาร์วินด์ เคจรีวาล มุขมนตรีนิวเดลี ทวีตว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในสิงคโปร์อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในอินเดีย และเร่งเร้าให้รัฐบาลแบนเที่ยวบินจากแดนลอดช่อง
รัฐบาลสิงคโปร์ตอบโต้ว่า คำกล่าวอ้างของเคจรีวาลไม่มีมูล พร้อมยืนยันว่าไม่มีไวรัสสายพันธุ์สิงคโปร์ และไวรัสที่ระบาดอยู่ในประเทศขณะนี้เป็นสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่รัฐบาลอินเดียเองวิจารณ์มุขมนตรีนิวเดลีอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
กระนั้น คำกล่าวอ้างดังกล่าวกลับยังคงแพร่หลายในโลกออนไลน์ ทำให้ผู้นำสิงคโปร์ต้องสั่งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และพอร์ทัลเทคโนโลยีท้องถิ่นแห่งหนึ่งให้โพสต์คำเตือนว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)