อภิมหาเศรษฐีใจบุญ บิลล์ และเมลินดา เกตส์ ประกาศตัดสินใจยุติชีวิตสมรสที่ยาวนานเกือบ 30 ปี กระนั้น ทั้งคู่ยืนยันจะร่วมสานงานใน “มูลนิธิบิลล์และเมลินดาเกตส์” ที่เป็นหนึ่งในมูลนิธิการกุศลใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่าเมลินดาอาจนำเงินที่ได้จากข้อตกลงหย่าร้างไปตั้งมูลนิธิของตัวเองที่จะเป็นหนึ่งในมูลนิธิใหญ่ที่สุดในอเมริกา
ในวันจันทร์ (3 พ.ค.) ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ซึ่งปัจจุบันอายุ 65 ปี และภรรยา ซึ่งอยู่ในวัย 56 ปี ต่างทวิตในบัญชีของตนเองแต่มีข้อความเหมือนกันว่า ได้ตัดสินใจยุติชีวิตแต่งงานนาน 27 ปี
“หลังผ่านการขบคิดมาอย่างมหาศาล และการทำงานอย่างมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา เราก็ตัดสินใจว่าจะยุติการสมรสของเรา” ข้อความทางทวิตเตอร์ทั้งคู่บอก
“ระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา เราได้เลี้ยงดูลูกๆ ที่วิเศษเหลือเกิน 3 คน และได้สร้างมูลนิธิที่ทำงานอยู่ตลอดทั่วโลก เพื่อทำให้ผู้คนทั้งหมดทั้งสิ้นสามารถที่จะไปสู่ชีวิตซึ่งมีสุขภาพดีและเจริญงอกงาม”
“เรายังคงมีความเชื่อร่วมกันในภารกิจดังกล่าว และก็จะทำงานของเราด้วยกันต่อไปในมูลนิธิ แต่เราไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่าเราสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ในฐานะเป็นคู่ครองกันในระยะต่อไปข้างหน้านี้แห่งชีวิตของเรา”
บิลล์ เกตส์ เคยเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก และแม้ปัจจุบันนิตยสารฟอร์บส์ยังคงจัดให้เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลก โดยมีทรัพย์สินกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้คนมากมายจับตาว่า ทั้งคู่จะจัดการมรดกอย่างไร และการหย่าร้างจะมีผลอย่างไรต่อมูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เจฟฟ์ เบโซส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของแอมะซอน ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ ได้หย่ากับแม็กเคนซี ผู้เป็นภรรยา ซึ่งหลังจากนั้น แม็กเคนซี สกอตต์ ได้แต่งงานใหม่และโฟกัสการทำงานการกุศลของตนเอง ภายหลังได้หุ้น 4% ในแอมะซอน มูลค่ากว่า 36,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับบิลล์และเมลินดานั้นแต่งงานกันในปี 1994 ที่ฮาวาย ทั้งคู่พบกันตอนที่ฝ่ายหญิงเข้าทำงานในไมโครซอฟท์ในตำแห่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ในปี 1987 และเอาชนะใจบิลล์หลังจากวันหนึ่งที่ทั้งคู่ได้กินอาหารค่ำพร้อมคุยงาน และได้รู้ว่าโปรดปรานเกมปริศนาอักษรไขว้เหมือนกัน และเมลินดาเอาชนะบิลล์ในเกมคณิตศาสตร์
ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง “เดอะ โมเมนต์ ออฟ ลิฟต์” ที่ออกมาเมื่อปี 2019 เมลินดาได้เล่าเรื่องราววัยเด็ก การรับมือในฐานะภรรยาของบุคคลสาธารณะ และการเป็นแม่อยู่บ้านเลี้ยงลูกๆ 3 คน
เธอยังบรรยายวิธีที่พวกเขาฝ่าฟันความไม่สมดุลในชีวิตแต่งงานและเส้นทางของการเป็นพ่อแม่ และตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานร่วมกันที่มูลนิธิทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น
นอกจากนั้นระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมลินดายังบอกว่า “บิลล์และฉันเป็นคู่ที่เท่าเทียมกัน ในการทำงาน ผู้ชายและผู้หญิงควรเท่าเทียมกัน”
ทั้งนี้ มูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์เป็นมูลนิธิเอกชนทรงอิทธิพลที่สุดในโลก มีเงินบริจาคเกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยโฟกัสที่เรื่องสุขภาพและการพัฒนาทั่วโลก ตลอดจนถึงปัญหาการศึกษาในอเมริกา นับจากเริ่มดำเนินการในปี 2000
แม้ทั้งคู่ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก แต่เมลินดาสร้างชื่อตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะผู้สนับสนุนผู้หญิงและเด็ก และได้เปิดตัวบริษัทเพื่อการลงทุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ “พิโวทัล เวนเจอร์ส” ในปี 2015 และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เป็นหุ้นส่วนกับสก็อตต์ริเริ่มการประกวดแข่งขันสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
เดวิด คัลลาแฮน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อินไซเดอร์ ฟิแลนโธรปี และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เดอะ กิฟเวอร์ส: เวลธ์, พาวเวอร์ แอนด์ ฟิแลนโธรปี อิน อะ นิว กิลเด็ด เอจ” ให้ความเห็นว่า เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่า การหย่าจะมีผลอย่างไรต่อมูลนิธิเกตส์และประชาคมการกุศลในวงกว้าง และเสริมว่า แม้ทั้งคู่กล่าวชัดเจนว่า จะทำงานมูลนิธิร่วมกันต่อไป แต่เขาเชื่อว่า ทั้งสองคนจะแยกกันสานต่องานการกุศลของตัวเอง
คัลลาแฮนสำทับว่า ไม่มีใครรู้รายละเอียดของข้อตกลงหย่าร้าง แต่ถ้าสุดท้ายเมลินดาได้เงินจากทรัพย์สินแม้เพียงส่วนหนึ่งและนำไปสร้างมูลนิธิของตัวเอง มูลนิธิดังกล่าวก็ยังอาจเป็นหนึ่งในมูลนิธิใหญ่ที่สุดในอเมริกา
ทางด้านเกตส์นั้น ในฐานะผู้สนับสนุนเงินทุนและให้คำปรึกษาในการต่อสู้กับโควิด-19 เขาถูกโจมตีจากการสนับสนุนแรงกล้าให้ผู้พัฒนาวัคซีนมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเห็นว่า การปกป้องสูตรวัคซีนจะช่วยกระตุ้นการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้บริษัทยามีกำไรมหาศาล
ปีที่แล้ว เกตส์ประกาศถอนตัวจากคณะกรรมการบริหารไมโครซอฟท์เพื่อทุ่มเทให้กับงานการกุศล
เกตส์เป็นซีอีโอไมโครซอฟท์มาตั้งแต่ปี 2000 และนับจากนั้นเขาค่อยๆ วางมือในบริษัทที่ร่วมก่อตั้งมากับพอล แอลเลน เมื่อปี 1975 ต่อมาในปี 2008 เขายุติบทบาทการบริหารประจำวันและรับตำแหน่งประธานบอร์ดแทน จนวางมือไปในปี 2014
(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี, เอเจนซีส์)