xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีจรวดของ‘กาซา’ยกระดับก้าวหน้าขึ้น และสร้างปัญหาให้แก่การป้องกันของ ‘อิสราเอล’เพิ่มมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล อาร์มสตรอง


จรวดหลายลูกถูกยิงขึ้นจากบริเวณตอนใต้ของฉนวนกาซา มุ่งหน้าไปยังอิสราเอล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม
(เก็บความจากเอเชียไทมส์
WWW.asiatimes.com)

Gaza’s rocket technology challenges Israeli defenses
By MICHAEL ARMSTRONG
18/052021

จรวดที่พวกนักรบในดินแดนกาซายิงขึ้นไปเพื่อมุ่งโจมตีอิสราเอลในการปะทะสู้รบกันในคราวนี้มีประมาณ 50% ทีเดียวซึ่งเป็นภัยคุกคามพื้นที่ที่มีประชากรพำนักอาศัยอยู่ สูงขึ้นมากจากระดับ 22% ในการสู้รบครั้งปี 2012 และ 18% ในปี 2014

พวกนักรบกาซาได้เปิดฉากสงครามจรวดต่ออิสราเอล โดยใช้ชื่อว่า “ดาบแห่งเยรูซาเลม” (Sword of Jerusalem) [1] ด้วยการระดมยิงชนิดพอเป็นสัญลักษณ์เข้าไปในเยรูซาเลม และซัลโวอย่างใหญ่โตกว่ากันมากเข้าใส่พื้นที่อื่นๆ ขณะที่การปฏิบัติการตามยุทธการ “ผู้พิทักษ์กำแพง (Guardian of the Walls” operation) ของอิสราเอล [2] ตอบโต้ด้วยการใช้จรวดสกัดกั้นของระบบ “ไอออนโดม” (Iron Dome) ทำหน้าที่ป้องกันภายในอิสราเอลเอง และใช้การถล่มโจมตีทางอากาศเล่นงานหนักใส่ดินแดนกาซา

ในฐานะของผู้ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เบื้องต้นเลยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับเป็นการซ้ำรอยการปะทะขัดแย้งของพวกเขาซึ่งเคยปะทุขึ้นเมื่อปี 2014 อันกลายเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนวาระอวดโชว์ให้เห็นความเหนือล้ำของระบบการป้องกันที่ก้าวหน้าของอิสราเอล

แต่เมื่อพินิจพิจารณาลึกลงไปจะเห็นว่า พวกนักรบในกาซาก็ได้ปรับปรุงยกระดับทั้งเทคโนโลยีด้านจรวดและยุทธวิธีของพวกตนให้รุดหน้าไปเช่นกัน นั่นทำให้นึกเปรียบเทียบย้อนไปถึงปี 2008 [3] เมื่ออิสราเอลยังอยู่ในสภาพอ่อนเปราะต่อการถูกยิงด้วยจรวดมากกว่าตอนนี้ และได้ทำศึกส่งกำลังทหารรุกเข้าไปในดินแดนกาซาเป็นเวลา 3 สัปดาห์

ตามการแถลงของกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces) มีจรวดถูกยิงจากกาซาเข้าไป หากพูดเป็นจำนวนคร่าวๆ คือ 3,100 ลูกแล้ว [4] ตัวเลขนี้อยู่ในระดับพอๆ กับการสู้รบเมื่อปี 2014 ที่ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 สัปดาห์ (ตัวเลขจำนวนจรวดทุกๆ ตัวเลขที่ระบุเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นการอ้างตามรายงานของกองทัพอิสราเอล Israel Defense Forces หรือ สำนักงานความมั่นคงอิสราเอล Israel Security Agencyโดยไม่มีหนทางใดๆ ที่จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระต่อตัวเลขแทบทั้งหมดเหล่านี้)

รายงานข่าวกระแสต่างๆ ของฝ่ายอิสราเอลระบุว่า จรวดเหล่านี้ทำให้พลเรือนเสียชีวิตไป 10 คน และบาดเจ็บมากกว่า 564 คน [5] ขณะที่มาตรการตอบโต้ของฝ่ายอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปเกือบ 200 คน [6] และส่งผลให้เกิดภาพของการฆ่ากันอย่างโหดร้ายและความเสียหายของทรัพยสินต่างๆ อย่างวินาศสันตะโร [7]


การที่ตัวเลขการยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลพุ่งสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเพราะพวกนักรบกาซาได้ปรับปรุงอาวุธจรวดของพวกตน และยกระดับการใช้จรวดเหล่านี้ของพวกตนด้วย [8]

วิทยาการจรวดที่ยกระดับสูงขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างเตะตาที่สุดในปีนี้ ได้แก่ปริมาณซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก พวกนักรบกาซายิงจรวดไปเป็นจำนวน 470 ลูกในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และยิงออกไปเฉลี่ยแล้ว 408 ลูกต่อวัน ตัวเลขเช่นนี้สามารถแซงหน้าตัวเลขยิงสูงสุดใน 1 วันเมื่อปี 2012 ซึ่งคือ 316 ลูก และเมื่อปี 2014 ที่คือ 192 ลูกได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนั้น การยิงจรวดยังมีการร่วมมือประสานงานกันที่ดีขึ้นอีกด้วย แทนที่จะเปิดการโจมตีขนาดย่อยๆ จำนวนมากกระจัดกระจายไปตลอดทั้งวัน พวกเขามีการเปิดฉากระดมยิงขนาดใหญ่โตขึ้นมาก โดยมีที่ขึ้นไปจนถึงยิงจรวดรวม 137 ลูกภายในเวลา 5 นาที [9] นี่เป็นการยกระดับขึ้นกว่าเดิมอย่างมากมาย ถึงแม้ยังคงล่าช้ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยปืนใหญ่ของกองทัพประจำการตามปกติ [10]

เรื่องความแม่นยำก็ยกระดับขึ้นเช่นกัน ประมาณ 50% ของจรวดที่สามารถพุ่งมาจนถึงน่านฟ้าเหนืออิสราเอล เป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ซึ่งมีประชากรพำนักอาศัย นี่เท่ากับสูงขึ้นมากจากระดับ 22% ในปี 2012 และ 18% ในปี 2014 มีจรวดจำนวนน้อยลงที่พุ่งลงไปตกตามท้องทุ่งอันว่างเปล่าภายหลังพลาดจากเป้าหมายของพวกมันแล้ว

จรวดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพิสัยทำการไกลขึ้น ยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้นในเวลานี้ ระหว่างการปะทะขัดแย้งคราวก่อนๆ พวกเมืองใหญ่ๆ ทางภาคใต้ของอิสราเอลเป็นพื้นที่ซึ่งรองรับการถูกยิงใส่แทบทั้งหมด แต่ในครั้งนี้ นครเทลอาวีฟ ที่อยู่ทางตอนกลางของอิสราเอลและอยู่ห่างจากชายแดนของกาซามากกว่า 55 กิโลเมตร ได้ตกเป็นเป้าหมายอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ดี ความเชื่อถือไว้วางใจได้ของจรวดมีอัตราที่ลดต่ำลง มีประมาณ 15% ที่ล้มเหลวขณะทำการยิง เปรียบเทียบกับไม่ถึง 10% ระหว่างการปะทะขัดแย้งคราวก่อนๆ

ทีมกู้ภัยของอิสราเอลตรวจสอบความเสียหายบริเวณด้านนอกอาคารหลังหนึ่งซึ่งถูกโจมตีด้วยจรวดจากดินแดนกาซา ในเมืองแอชด็อด ทางภาคใต้ของอิสราเอล ใกล้ๆ พรมแดนระหว่างอิสราเอลกับกาซา ซึ่งเป็นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่พวกฮามาสบริหารปกครองอยู่ (ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 17 พ.ค. 2021)
การสร้างความเสียหาย

จากเทคโนโลยีและยุทธวิธีที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นกว่าเดิม ทำให้การระดมยิงสามารถสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ตามการคำนวณของผมบ่งบอกว่ามีจรวดอย่างน้อยที่สุด 134 ลูกทีเดียวที่ตกใส่พื้นที่ซึ่งมีประชากรพำนักอาศัยอยู่

ระหว่าง 4 วันแรกของการปะทะขัดแย้งกันครั้งนี้ มีชาวอิสราเอล 1 คนเสียชีวิตต่อจรวดทุกๆ 206 ลูกที่ยิงมาถึงดินแดนของประเทศนี้ ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับอัตราส่วน 1 ต่อ 204 ของเมื่อปี 2008 ในตอนที่ระบบการป้องกันของอิสราเอลยังอ่อนแอกว่าในปัจจุบันมาก เปรียบเทียบกับปีที่ใกล้ๆ เข้ามา เมื่อปี 2012 จรวดทุกๆ 270 ลูกจึงจะสังหารพลเรือนได้คนหนึ่ง ยิ่งในปี 2014 ด้วยแล้ว จะต้องใช้ 1,429 ลูก

สำหรับอัตราการบาดเจ็บ ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 คนต่อจรวดทุกๆ 3 ลูกซึ่งยิงมาจนอยู่เหนือศีรษะ นี่ก็คล้ายๆ กับเมื่อปี 2008 อีก และยังมีอาคารจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย

ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งบอกให้เห็นว่า การมุ่งข่มขวัญสร้างความเสียหายที่ทำให้เกิดความตระหนกและความกลัว คือยุทธศาสตร์ในปี 2021 ของพวกนักรบกาซา  เปรียบเทียบกันแล้ว การปฏิบัติการเมื่อปี 2014 ส่วนใหญ่มีลักษณะมุ่งไปที่การกัดกร่อนหมายทำลายในทางเศรษฐกิจ อิสราเอลเสียหายในเรื่องจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บล้มตายค่อนข้างน้อย แต่เสียหายหนักหน่วงในเรื่องต้นทุนทางการเงิน [11] จากการเกิดภาวะสะดุดติดขัดอย่างยืดเยื้อยาวนาน

ทั้งในตอนนั้นและในตอนนี้ อิสราเอลได้สนองตอบด้วยมาตรการตอบโต้เอาคืนหลายต่อหลายประการ [12]

จรวดสกัดกั้นของระบบป้องกันภัยทางอากาศ “ไอออนโดม” (Iron Dome) ของอิสราเอล ถูกยิงขึ้นไปสกัดจรวดซึ่งยิงจากดินแดนฉนวนกาซา (ภาพถ่ายเมื่อ 17 พ.ค. 2021)
สกัดกั้นจรวด (จำนวนมากมาย)

พวกจรวดสกัดกั้นของระบบไอออนโดม [13] ถือเป็นเครื่องป้องกันซึ่งมีชื่อเสียงรู้จักกันมากที่สุด อิสราเอลอวดว่าระบบของตนเหล่านี้สามารถสกัดจรวดได้ 1,210 ลูก[14] เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือราว 90% ของจรวดที่ระบบนี้เข้าไปจัดการ นั่นเป็นอัตราร้อยละพอๆ กับที่พวกเขาทำเอาไว้ได้เช่นกันเมื่อปี 2014 ทว่าบางทีอาจจะไม่ใช่เช่นนั้นในปี 2012 [15]

ระบบนี้ในตอนนี้ ถือว่าสามารถสร้างความสำเร็จในระดับนี้อยู่เสมอแล้วใช่ไหม?

ด้วยการระดมยิงโจมตีที่มีขนาดใหญ่โตมากขึ้น และด้วยความแม่นยำที่สูงยิ่งขึ้น จรวดจำนวนเพิ่มขึ้นก็สามารถเดินทางมาถึงในเวลาไล่เรี่ยกันเหนือเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย นี่หมายความว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จรวดสกัดกั้นจะอยู่ในสภาพเกินกำลังที่จะเก็บกวาดได้หมดสิ้น และปล่อยให้จรวดบางลูกผ่านไปได้

สมมุติว่าระบบป้องกันเหล่านี้บางครั้งบางคราวสามารถสกัดกั้นจรวดได้ “เพียงแค่” 80% ถึงแม้นี่ยังคงถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจ แต่มันหมายความด้วยว่าส่วนที่กำลังเล็ดรอดผ่านไปได้นั้นได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 10% เป็น 20% ทำให้สามารถสร้างความเสียหายได้หนักหน่วงขึ้นอีกเท่าตัว

ในการวิจัยของผมเมื่อ 7 ปีก่อน [16] ได้วิเคราะห์ถึงยุทธวิธีแบบนี้ มันแสดงให้เห็นว่า พวกจรวดสกัดกั้นที่ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพสูง สามารถที่จะดูเหมือนกับ “มีจุดอ่อน” ได้ –ในทันทีที่จรวดซึ่งยิงกันเข้ามาอยู่ในภาวะล้นเกินศักยภาพของระบบป้องกันเหล่านี้ ความเสียหายทางภาคพื้นดินก็จะพุ่งสูงขึ้น

งานวิจัยคราวนั้นยังมีการศึกษาแนวความคิดของการยิงใส่เข้าไปที่ระบบจรวดสกัดกั้นกันตรงๆ เลยเพื่อทำให้มันเดี้ยงไม่สามารถทำงานได้ แน่นอนทีเดียว มีการระดมยิงอยู่ชุดหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นความพยายามที่จะกระทำอย่างที่พูดถึงนี้แหละ [17] แต่ดูเหมือนมันน่าจะกลายเป็นความสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์ไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เนื่องจากจรวดที่ยิงเข้ามาของพวกเขาไม่ได้มีความแม่นยำเพียงพอที่จะเล่นงานเป้าหมายขนาดเล็กๆ เช่นนี้

สิ่งที่ดูย้อนแย้งก็คือ มีระบบไอออนโดมระบบหนึ่งเกิดเดี้ยงไปเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น เนื่องจากปัญหาความขัดข้องของอุปกรณ์ และนี่จึงกลายเป็นการปล่อยให้มีจรวดฝ่าผ่านไปได้มากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น [18]

อิสราเอลยังมีระบบการเตือนภัยและสถานหลบภัยระเบิดที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวาง [19] ระบบเหล่านี้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากๆ แบบที่จรวดสกัดกั้นทำได้ อย่างไรก็ดี มันไม่ได้หยุดยั้งความเสียหายของพวกทรัพย์สินที่เป็นอาคารต่างๆ

การถล่มโจมตีทางอากาศถือเป็นมาตรการตอบโต้อีกอย่างหนึ่งของฝ่ายอิสราเอล เครื่องบินอิสราเอลเริ่มการถล่มทิ้งระเบิดใส่คลังเก็บลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว [20] ภายหลังจากเล่นงานพวกสถานที่ผลิตและเป้าหมายอื่นๆ ไปก่อนแล้ว

แต่ขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของอิสราเอลสามารถทำลายคลังเก็บจรวดและพวกโรงงานเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตจรวด แต่มันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการยิง การวิเคราะห์ของผมในเรื่องการปฏิบัติการครั้งก่อนๆ [21] ค้นพบว่า การถล่มโจมตีทางอากาศไม่ได้ลดทอนอัตราการยิงจรวดประจำวันลงไปได้ มีแต่การโจมตีภาคพื้นดินเท่านั้นจึงสามารถทำเช่นนั้นได้

ความเสียหายข้างเคียง (หรือ “ลูกหลง”) คือปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ลูกระเบิดได้สร้างความเสียหายแก่อาคารจำนวนมาก หรือกระทั่งทำลายพังยับเยินกันเลยทีเดียว [22] และนับจนถึงตอนนี้มีนักรบและพลเรือนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วเกือบๆ 200 คน [23]

พระเพลิงและกลุ่มควันโขมงลอยขึ้นมาจากอาคารหลายแห่งในเมืองกาซาซิตี้ ขณะเครื่องบินรบอิสราเอลเข้าโจมตีเป้าหมายในดินแดนแคบๆ ของชาวปาเลสไตน์แห่งนี้ เมื่อตอนก่อนรุ่งสางวันที่ 17 พ.ค. 2021

แล้วจากนี้จะเป็นยังไงกันต่อไป?

คลังแสงจรวด 14,000 ลูกของกาซา [24]
สามารถสนับสนุนการระดมยิงแบบพิสัยใกล้ไปได้อีกเป็นเดือนๆ [25]

แต่พวกจรวดพิสัยไกลน่าที่จะหมดสต็อกกันในเร็วๆ
นี้ ทำให้การทำข้อตกลงหยุดยิงดูจะมีเสน่ห์ดึงดูดใจเพิ่มมากขึ้น อิสราเอลก็อาจจะเห็นชอบกับการทำข้อตกลงหยุดยิงกันโดยเร็วเช่นกัน
เนื่องจากหมดเป้าหมายซึ่งควรค่าแก่การถล่มโจมตีทางอากาศ

ขอให้พวกเราหวังกันเถอะว่าการตกลงหยุดยิงจะเกิดขึ้นมาได้โดยเร็ว เพราะหนทางเลือกอื่นๆ
นั้นคือสงครามยืดเยื้อของการพร่ากำลังโดยใช้การโจมตีทางอากาศ หรือไม่ก็สงครามภาคพื้นดินในกาซาซึ่งสิ้นเปลืองต้นทุนสูงลิบลิ่ว

ไมเคิล เจ อาร์มสตรอง เป็น รองศาสตราจารย์ด้านการวิจัยการปฏิบัติการ สถาบันบริหารธุรกิจกู๊ดแมน
มหาวิทยาลัยบร็อค ประเทศแคนาดา

ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์
“The Conversation” https://theconversation.com/gazas-enhanced-rocket-technology-challenges-israels-defences-160853

 

เชิงอรรถ

[1] https://www.nytimes.com/2021/05/11/world/middleeast/israel-gaza-airstrikes.html

[2] https://mfa.gov.il/MFA/ForeignPolicy/Terrorism/Palestinian/Pages/Operation-Guardian-of-the-Walls-10-May-2021.aspx

[3] https://www.middleeastmonitor.com/20181227-remembering-israels-2008-war-on-gaza/

[4] https://twitter.com/IDF/status/1393992449979260928

[5] https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/homes-in-southern-israel-sustain-direct-hits-as-rockets-rain-down-668232

[6] https://www.aljazeera.com/news/2021/5/16/more-deaths-gaza-israel-launches-most-intense-raids-yet

[7] https://www.cnn.com/2021/05/16/middleeast/israel-palestinian-conflict-intl/index.html

[8] https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/iran-reveals-its-strategy-advising-hamas-on-war-against-israel-668265

[9] https://www.timesofisrael.com/2-killed-by-rockets-in-ashkelon-amid-massive-barrages-from-gaza/

[10] https://www.youtube.com/watch?v=0vZKXGRpf5c

[11] https://www.ft.com/content/af80d236-74c6-11e4-a418-00144feabdc0

[12] https://theconversation.com/north-korea-missile-crisis-echoes-israels-anti-rocket-strategy-82415

[13] https://theconversation.com/as-missiles-fly-a-look-at-israels-iron-dome-interceptor-94959

[14] https://twitter.com/sfrantzman/status/1393995143582298113

[15] https://doi.org/10.1093/jogss/ogx028

[16] https://doi.org/10.1287/opre.2014.1309

[17] https://www.jpost.com/middle-east/iran-says-hamas-is-targeting-iron-dome-sites-airports-668194

[18] https://www.timesofisrael.com/1-killed-3-injured-as-hamas-fires-anti-tank-missile-at-israeli-jeep/

[19] https://www.idf.il/en/minisites/home-front-command/

[20] https://www.timesofisrael.com/rocket-volleys-target-south-at-dawn-as-idf-hits-key-hamas-positions/

[21] https://doi.org/10.1093/jogss/ogx028

[22] https://apnews.com/article/israel-west-bank-gaza-middle-east-israel-palestinian-conflict-7974cc0c03897b8b21e5fc2f8c7d8a79

[23] https://www.aljazeera.com/news/2021/5/16/more-deaths-gaza-israel-launches-most-intense-raids-yet

[24] https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/what-do-hamas-and-pij-have-in-their-rocket-arsenals-analysis-667856

[25] https://www.jpost.com/middle-east/idf-military-intelligence-knew-hamas-would-fire-on-jerusalem-668192


กำลังโหลดความคิดเห็น