Israel’s Pyrrhic victory in Gaza, Netanyahu is real winner
by MK Bhadrakumar
17/05/2021
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ยังคงสามารถใช้ “เช็คเปล่าทางการทูต” ซึ่งสหรัฐฯมอบให้แก่อิสราเอลมาหลายสิบปีแล้ว ในการดำเนินนโยบายแห่งการยึดครองและการกดขี่ปราบปราม รวมทั้งสืบต่อการเข้าผนวกดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดจนการขยายพวกนิคมของชาวอิสราเอล ซึ่งนำพาตนเองไปสู่สภาพความเป็นจริงแห่งการมีรัฐเพียงรัฐ –นั่นคือ รัฐของชาวยิวเท่านั้น
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อียิปต์ทะยานขึ้นไปยังแถวหน้าของการทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฟัตตอห์ อัล-ซิซี่ ให้ความเห็นแบบมองโลกแง่ดีเมื่อวันจันทร์ (17 พ.ค.) ว่า ยังน่าจะสามารถทำให้มีการหยุดยิงกันได้
เขาบอกว่า “อียิปต์กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้อิสราเอลกับปาเลสไตน์บรรลุการหยุดยิงกัน –และตอนนี้ยังคงมีความหวัง” รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ อัลเกไมเนอร์ (Algemeiner) ของพวกยิวฝ่ายขวา ก็มีทัศนะไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า คณะบริหารไบเดนกำลังออก “แรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ต่ออิสราเอล และ กำลังมีการ “พิจารณาถึงเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงหยุดยิง ... ตอนนี้ การหยุดพักสามารถที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในเมื่อกองทัพและคณะรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลได้บรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ จำนวนหนึ่งแล้ว ซึ่งก็รวมถึงการทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินของฮามาส และการกำจัดพวกสมาชิกอาวุโสขององค์การนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.algemeiner.com/2021/05/16/israel-considering-ceasefire-amid-growing-us-pressure-report/)
ทำนองเดียวกัน รายละเอียดที่ทำเนียบขาวนำออกเผยแพร่เกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ติดต่อไปหานายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ขององค์การบริหารปาเลสไตน์ตามลำดับเมื่อวันเสาร์ (15 พ.ค.) ก็บ่งชี้ให้เห็นว่าวอชิงตันกำลังพยายามหาทางยุติการสู้รบขัดแย้งกันคราวนี้โดยไว
ขณะที่เขายังคงเน้นย้ำสำนวนซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่าย อย่างวลีที่ว่า “อิสราเอลมีสิทธิที่จะป้องกันตนเอง” ทว่าไบเดนก็ปิดท้ายการสนทนากับเนทันยาฮู (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/05/15/readout-of-president-joseph-r-biden-jr-call-with-prime-minister-benjamin-netanyahu-of-israel-3/) โดยกล่าวว่า ตัวเขา “สนับสนุนการดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์สามารถที่จะมีเกียรติศักดิ์ศรี, ความมั่นคง, เสรีภาพ, และโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างที่พวกเขาสมควรจะได้รับ และย้ำยืนยันว่าเขาสนับสนุนหนทางแก้ไขปัญหาแบบ 2 รัฐ (ให้จัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาเคียงคู่กับรัฐอิสราเอล ไม่ใช่ปล่อยให้อิสราเอลผนวกปาเลสไตน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน หรือธำรงการยึดครองปาเลสไตน์เอาไว้ -ผู้แปล)
ในการสนทนากับอับบาส (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/05/15/readout-of-president-joseph-r-biden-jr-call-with-palestinian-authority-president-mahmoud-abbas/) ไบเดน “เน้นย้ำการที่สหรัฐฯตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้ ให้รื้อฟื้นความช่วยเหลือซึ่งให้แก่ประชาชนปาเลสไตน์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งรวมไปถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางมนุษยธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชาวปาเลสไตน์ในดินแดนเวสต์แบงก์ และดินแดนกาซา ท่านประธานาธิบดียังกล่าวย้ำถึงพันธกรณีอย่างแรงกล้าของท่านที่ว่า หนทางแก้ไขเพื่อให้มี 2 รัฐโดยผ่านการเจรจากัน คือหนทางที่ดีที่สุดในการบรรลุถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์อย่างเป็นธรรมและยืนยาว"
เหล่านี้เป็นถ้อยคำปลุกปลอบให้ให้สงบจิตสงบใจ แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นจนหายใจหายคอกันไม่ทันนั้น คือคำแถลงของเอกอัครราชทูต ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ (Linda Thomas-Greenfield) ผู้แทนถาวรของสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ณ วาระสรุปของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่าด้วยสถานการณ์ในอิสราเอล, เวสต์แบงก์, และกาซา เมื่อวันอาทิตย์ (16 พ.ค.)
เอกอัครราชทูตผู้นี้ ในอดีตเคยเป็นนักการทูตอาชีพ ขณะที่ตำแหน่งซึ่งนั่งอยู่ในปัจจุบันเทียบเท่ารัฐมนตรีวงใน และคำแถลงของเธอจะถือกันว่าเป็นสิ่งซึ่งได้รับคำรับรองจากทำเนียบขาว จุดสำคัญของคำแถลงนี้ อยู่ตรงที่มันเป็นหลักหมายแสดงถึงการพลิกผันออกมาจากจุดยืนของการที่สหรัฐฯต้องแสดงความสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่สนใจใยดีใครทั้งสิ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://usun.usmission.gov/remarks-by-ambassador-linda-thomas-greenfield-at-a-un-security-council-briefing-on-the-situation-in-israel-the-west-bank-and-gaza/) สามารถที่จะกล่าวได้ว่า มันมีน้ำเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยกับความประพฤติของอิสราเอลในสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำแถลงนี้รบเร้าอิสราเอลให้หลีกเลี่ยง “การขับไล่ให้ออกจากที่พำนักอาศัย –ซึ่งรวมไปถึงในเขตเยรูซาเลมตะวันออกด้วย— การรื้อถอน, และการก่อสร้างนิคมขึ้นมาในบริเวณฟากตะวันออกของเส้นที่ขีดกันเอาไว้เมื่อปี 1967 และสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดก็คือ ทุกๆ ฝ่ายต้องยึดถือและเคารพปฏิบัติตามสถานะเดิมตามที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจกันให้เด็ดขาด ณ ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปรากฏว่าสหรัฐฯกลับยังคงออกโรงอีกครั้งในการสกัดขัดขวางแม้เพียงแค่คำแถลงที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2021/5/17/no-us-action-after-third-unsc-meeting-on-israel-palestine) ในอีกด้านหนึ่ง เนทันยูฮาได้ออกมาแสดงจุดยืนแบบกร่างกล้าท้าทาย ด้วยการกล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ (16 พ.ค.) โดยบอกว่า “การรณรงค์ของเราเพื่อคัดค้านพวกองค์การก่อการร้ายกำลังดำเนินต่อเนื่องต่อไปอย่างเต็มกำลัง เรากำลังลงมือปฏิบัติการแล้วในเวลานี้ และจะทำไปยาวนานที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อฟื้นฟูความราบคาบและความสงบเงียบมาให้แก่พวกท่าน พลเมืองของอิสราเอลทั้งหลาย เรื่องเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องใช้เวลา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/news/523983-israel-gaza-strip-operation/)
อันที่จริง ในวันที่เขากล่าวปราศรัยนั้น ถือเป็นวันอาทิตย์อาบเลือดวันหนึ่งในดินแดนกาซา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.asianews.it/news-en/Gaza%26rsquo%3Bs-bloody-Sunday%3A-the-highest-number-of-victims-since-the-beginning-of-the-conflict-53158.html) โดย “จำนวนเหยื่อสงครามพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุด” ในรอบ 1 วันนับตั้งแต่การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อัปเดตกันจนถึงวันจันทร์ (17) ก็คือ มีชาวปาเลสไตน์ตกเป็นเหยื่อเสียชีวิตรวม 218 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 58 คนและผู้หญิง 34 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีกว่า 1,230 คน นอกจากนั้นยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตในดินแดนเวสต์แบงก์อีก นั่นคือ ชาวปาเลสไตน์ถูกฆ่าไปอย่างน้อย 21 คน แน่นอนทีเดียว การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นสิ้นสุดลงโดยไม่มีอะไรออกมาเลย
มันเป็นหลักฐานอันแน่ชัดว่า เนทันยาฮูยังมั่นอกมั่นใจว่า อิสราเอล ยังคงสามารถใช้ “เช็คเปล่าทางการทูต” ซึ่งสหรัฐฯมอบให้แก่อิสราเอลมาหลายสิบปีแล้ว ในการดำเนินนโยบายแห่งการยึดครองและการกดขี่ปราบปราม รวมทั้งสืบต่อการเข้าผนวกดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดจนการขยายพวกนิคมของชาวอิสราเอล ซึ่งนำพาตนเองไปสู่สภาพความเป็นจริงแห่งการมีรัฐเพียงรัฐ –นั่นคือ รัฐของชาวยิวเท่านั้น
ริชาร์ด ฮาสส์ (Richard Haass) ประธานของกลุ่มคลังสมอง “สภาว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างประเทศ” (Council on Foreign Relations) ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (State Department director of policy planning) ออกมากล่าวในวันจันทร์ (17 พ.ค.) ว่า “เนทันยาฮูได้ข้อสรุปทำให้เกิดความเชื่อว่า เขาสามารถที่จะเพิกเฉยไม่ใยดี โจ ไบเดน เขาสามารถเพิกเฉยไม่ใยดีประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนไหนก็ได้ เพราะเมื่อพิจารณากันจนถึงที่สุดแล้ว เขายังคงมีรัฐสภาสหรัฐฯ, เขายังคงมีพวกชาวยิวเคร่งศาสนา (Orthodox Jews) (ในสหรัฐฯ) , เขายังคงมีชาวคริสต์ผู้ยึดมั่นศรัทธาคัมภีร์ไบเบิล (evangelical Christians) (ในสหรัฐฯ), และผู้คนเหล่านี้สามารถที่โอบล้อมขัดขวางประธานาธิบดีของสหรัฐฯได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.newsmax.com/politics/richard-haass-netanyahu-israel-hamas/2021/05/17/id/1021658/)
และไม่ใช่แค่ที่สหรัฐฯ ในยุโรปก็มีสภาพคล้ายๆ กันนี้เช่นกัน เคร็ก เมอร์เรย์ (Craig Murray) นักประวัติศาสตร์ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตของสหราชอาณาจักร วาดภาพให้เห็นกรอบโครงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่โจ่งแจ้งตรงไปตรงมาดังนี้:
“พวกนักการเมืองฝ่ายตะวันตกนั้นเห็นชัดเจนเลยว่า มีความเชื่อว่าชาวปาเลสไตน์ควรที่จะยอมรับเรื่องการกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวอย่างเงียบๆ แต่โดยดี และควรที่จะยอมรับเกียรติอันดีงามในการค่อยๆ สูญสลายหายไปเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ ... มันเป็นเรื่องสุดแสนธรรมดาเหลือเกินที่ว่า ไม่มีกระบวนการอย่างเป็นทางการใดๆ ไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม ที่กำลังจะช่วยบรรเทาสภาวการณ์อันเลวร้ายของชาวปาเลสไตน์ แม้กระทั่งพวกนักการเมืองตะวันตก “ฝ่ายเสรีนิยม” ซึ่งเสนอแนวความคิดว่าด้วย “วิธีแก้ปัญหาด้วยการก่อตั้ง 2 รัฐขึ้นมา” อย่างเก่งที่สุดก็หมายความเพียงแค่ว่า ให้มี ระบบแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว และบันตูสถาน (Bantustan ดินแดนที่กำหนดขึ้นมาสำหรับให้เป็นที่พำนักอาศัยของคนผิวดำของแอฟริกาใต้ ในระหว่างที่ระบอบปกครองผิวขาวที่นั่นใช้นโยบายแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติสีผิว ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Bantustan -ผู้แปล) ชนิดที่ได้รับการรับรองยอมรับจากนานาชาติเท่านั้นเอง”
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากสัญญาณสิ่งบ่งชี้ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว การปะทะขัดแย้งกันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกวางแผนเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะโดยฝ่ายอิสราเอลหรือโดยฝ่ายฮามาสก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการให้เกิดสงครามที่สู้รบกันอย่างใหญ่โตเต็มขั้น คณะบริหารไบเดนก็เช่นกัน ไม่น่าจะต้องการให้การปะทะขัดแย้งดำเนินต่อไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงพวกยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่โตกว่าของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาว่าด้วยข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาขณะนี้ก็คือ อิสราเอลกำลังผลักดันเดินหน้าไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนในการทำให้พวกฮามาส และพวกอิสลามิกญิฮาด อ่อนแอลงทว่าฮามาสก็กำลังแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงมีสมรรถนะในการตอบโต้เอาคืน ฮามาสประกาศในวันจันทร์ (17 พ.ค.) ถึงการระดมยิงจรวดอย่างใหญ่โตมโหฬารระลอกใหม่เล่นงานเมืองต่างๆ ของอิสราเอลและฐานต่างๆ ของกองทัพอิสราเอล เพื่อเป็นการตอบโต้การถล่มโจมตีของอิสราเอล (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://tass.com/world/1290473) ทั้งนี้ รวมแล้วมีจรวด 3,200 ลูกยิงออกจากกาซาเข้าใส่อิสราเอลในช่วงเวลา 8 วันที่ผ่านมา
แม้กระทั่งถ้าหากอิสราเอลสามารถทำตามวัตถุประสงค์ทางทหารของตนได้สำเร็จ มันก็จะเป็นเพียงชัยชนะที่ต้องแลกมาโดยที่ตนเองก็พลอยเสียหายหนักหน่วงไปด้วยเท่านั้น เนื่องจากเอาเข้าจริงแล้ว ขบวนการต่อต้านซึ่งนำโดยอิหร่านต่างหากที่จะเป็นฝ่ายเก็บคว้าดอกผลไปในท้ายที่สุด อย่างที่มีรายงานว่า อิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) หัวหน้าใหญ่ของฮามาส ได้หารือกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน – พลจัตวา เอสมาอิล กออานี (Commander Brig. Gen. Esmail Qaani) ผู้บัญชาการของกองกำลัง “คุดส์” (Quds Force แขนงหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการรบนอกแบบและด้านข่าวกรอง และมีบทบาทสนับสนุนกองกำลังอาวุธอย่าง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน, พวกฮูตีในเยเมน, ตลอดจน ฮามาส และ อิสลามิกญิฮาด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Quds_Force) (สำหรับเรื่องผู้นำฮามาสหารือกับผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.rferl.org/a/iran-military-commander-backs-hamas-in-call-with-militant-group-s-leader/31257327.html) รวมทั้งหารือกับ อาลี อัคบาร์ เวลายาติ (Ali Akbar Velayati) ที่ปรึกษาของ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.mehrnews.com/news/173541/Velayati-Hamas-chief-discuss-latest-Gaza-developments)
แน่นอนทีเดียวว่า ฮามาสจะยกระดับสมรรถนะด้านการป้องปรามของตนเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งยกระดับในด้านมิติทางการเมืองด้วย ฮามาสถือได้ว่าเพิ่งฟันฝ่าทะลุทะลวงเพดานขึ้นไปได้สำเร็จ มนตร์เสน่ห์ความน่าดึงดูดใจของฮามาสกำลังขยายตัวออกไปในหมู่ชาวปาเลสไตน์ ทั้งในเยรูซาเลม, เวสต์แบงก์, ตลอดกระทั่งภายในอิสราเอล เวลานี้มาถึงจังหวะเวลาที่ฮามาส กลายเป็นปากเสียงของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ชาวปาเลสไตน์ในกาซาเท่านั้น ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องค่อยๆ รับมือกับผลสืบเนื่องต่างๆ ของการลงเอยในท้ายที่สุดเช่นนี้
ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับอิสราเอลแล้ว การปะทะขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า ไม่มีทั้ง “สันติภาพ” และไม่มีทั้ง “ตะวันออกกลางใหม่” เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว เราย่อมนึกไม่ออกเอาเลยว่าคณะผู้นำซาอุดีอาระเบียจะสามารถขบคิดพิจารณาเพื่อปรับปรุงสายสัมพันธ์กับอิสราเอลให้เข้าสู่ภาวะปกติในระยะใกล้ๆ นี้ได้ เช่นเดียวกับที่เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า “ข้อตกลงอับราฮัม” (Abraham Accordsเป็นคำแถลงร่วมระหว่างอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 13 สิงหาคม 2020 แต่มักใช้คำๆ นี้ให้หมายถึงการที่อิสราเอลสามารถสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกับบาห์เรน โดยที่มีสหรัฐฯในยุคคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนกลาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Abraham_Accords) ไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะเป็นการแก้ไขาคลี่คลายสงครามความขัดแย้งที่อยู่ลึกๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นในเยเมน, ซีเรีย, ลิเบีย –หรือในเวสต์แบงก์ และ ฉนวนกาซา ภูมิภาคนี้ “ยังคงเป็นความยุ่งเหยิงที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดอย่างเดียวกันกับที่ได้เคยเป็นมาโดยตลอด” ดังที่ แมกซ์ บูต (Max Boot) คอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ สรุปเอาไว้
เหนือสิ่งอื่นใดเลย ในความคิดเห็นของมติโลกแล้วความเห็นอกเห็นใจกำลังเอนเอียงไปทางฝ่ายปาเลสไตน์ ไม่น่าประหลาดใจอะไร ฮามาสกำลังได้รับการวาดภาพให้เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองชาวปาเลสไตน์ ขณะที่อิสราเอลนั้น ด้วยการโจมตีถล่มขีปนาวุธอย่างไม่มีการจำแนกแยกแยะเข้าใส่เป้าหมายพลเรือนทั้งหลายในกาซา กำลังถูกมองว่าเป็นผู้รุกราน
เวลาเดียวกัน มติมหาชนในสหรัฐฯก็กำลังหันไปทางนิยมฝ่ายปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสำนักโพลแกลลัป (Gallup) และเผยแพร่ในเดือนมีนาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://news.gallup.com/poll/340331/americans-favor-israel-warming-palestinians.aspx) พบว่า 30% ของชาวอเมริกันมีความคิดเห็นในทางบวกต่อชาวปาเลสไตน์ สูงขึ้นจาก 21% ในปี 2018 ยิ่งในหมู่ชาวพรรคเดโมแครตด้วยแล้ว 53%ต้องการให้สหรัฐนกดดันอิสราเอลเพิ่มขึ้นอีก –นับเป็นครั้งแรกที่เสียงเกินกว่าครึ่งมีจุดยืนเช่นนี้ แรงกดดันอย่างมีน้ำหนักเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อให้ไบเดนต้องลงมือปฏิบัติการอะไรเสียที ยังกำลังมาจากพวกเดโมแครตฝ่ายก้าวหน้า ผู้ซึ่งพยายามยกระดับความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ จากชายขอบของกระแสหลักภายในพรรค
แต่ถึงแม้ชาวอเมริกันกำลังมีท่าท่าที่ต้อนรับชาวปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น พวกเขาก็ยังคงนิยมอิสราเอลยิ่งกว่านักหนา นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าไบเดนกำลังต้องพยายามก้าวเดินไปอย่างระมัดระวังตัว ต้องถือเป็นเครดิตของไบเดนแล้วสำหรับการที่เขาไม่ได้ทำให้การสู้รบขัดแย้งคราวนี้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างที่ โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะกระทำหากเขายังครองอำนาจในทำเนียบขาว แต่จะเรียกมันว่าเป็นความเฉื่อยชา หรือ การตกเป็นฝ่ายถูกสถานการณ์ดึงลากไป หรือเป็นแบบแผนวิธีเข้าถึงปัญหาแบบเงียบๆ ไม่เน้นเอิกเกริกก็ตามที สิ่งที่ไบเดนทำอยู่น่าที่จะเผยให้เราเห็นกันด้วยว่า สหรัฐฯนั้นได้กลายเป็นมหาอำนาจที่ไม่มีประสิทธิผลในตะวันออกกลางไปเสียแล้ว และอิทธิพลของสหรัฐฯกำลังหดหายไปอย่างรวดเร็วเรื่องนี้จะต้องมีผลสืบเนื่องตามมาอีกอย่างแน่นอน
แน่ใจได้อยู่แล้วว่า เนทันยาฮูคือผู้ชนะ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.jpost.com/israel-news/netanyahu-the-big-winner-in-gaza-jewish-arab-violence-analysis-668204) ความรุนแรงกับฝ่ายปาเลสไตน์ที่บานปลายขยายตัวออกไปในคราวนี้ ได้เติมเชื้อเพลิงให้แก่อารมณ์ชาตินิยมอย่างแรงกล้าภายในอิสราเอลเอง ซึ่งในทางเป็นจริงจะกลายเป็นการปิดประตูไม่ให้มีการจัดตั้งแนวร่วมฝ่ายค้านขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนที่เขาได้สำเร็จ เวลาเดียวกันเนทันยาฮูยังน่าจะได้รับภูมิคุ้มกันไม่ให้ต้องถูกฟ้องร้องกล่าวโทษในข้อหาทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ตราบเท่าที่เขายังรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเอาไว้ได้
นัฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) สมาชิกรัฐสภาฝ่ายขวา ที่เป็นผู้นำของพรรคยามินา (Yamina party) ซึ่งสนับสนุนพวกตั้งถิ่นฐานชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยึดครองอยู่ และเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเจรจาของฝักฝ่ายต่างๆ ทางฝ่ายค้านในอิสราเอล ดูเหมือนกำลังมีการขยับตัวแล้ว ในทิศทางมุ่งสู่การรื้อฟื้นการเจรจากับเนทันยาฮู เพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมชุดต่อไป
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/israels-pyrrhic-victory-in-gaza-netanyahu-is-real-winner/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆแล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง,ยูเรเชีย,เอเชียกลาง,เอเชียใต้,และเอเชีย-แปซิฟิก