ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เรียกร้องสหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีน คำวิงวอนที่มีขึ้นท่ามกลางความเห็นต่างระหว่างหลายชาติในยุโรปกับอเมริกา เกี่ยวกับแนวทางเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก
ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้ผู้คนทั่วโลกแล้วราวๆ 1,250 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเอเอฟพีพบว่าในจำนวนดังกล่าวมีไม่ถึง 1% ที่เป็นการฉีดให้ประชาชนใน 29 ชาติยากจนที่สุดของโลก
ในทางตรงกันข้าม บรรดาประเทศร่ำรวยทั้งหลายกำลังเร่งดำเนินการฉีดวัคซีน โดยในสหราชอาณาจักร มีประชาชนของพวกเขาได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วราวๆ 67% และในสหรัฐฯ มีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 56%
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ (7 พ.ค.) อียูตกลงจัดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เพิ่มเติมอีก 900 ล้านโดส พร้อมออปชันเพิ่มเติมอีก 900 ล้านโดส
เสียงเรียกร้องยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกวัคซีนเกิดขึ้นท่ามกลางการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19
แอฟริกาใต้ และอินเดียโต้แย้งว่าการละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั่นหมายความว่าจะมีการเผยแพร่ตำรับวัคซีนที่เป็นความลับ และเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ สามารถเริ่มผลิตวัคซีนที่ช่วยปกป้องชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะช่วยทำให้วัคซีนมีราคาถูกลง ทั้งนี้ ปัจจุบันอินเดียกำลังเผชิญกับหายนะการระบาดระลอก 2 โดยเมื่อวันศุกร์ (7 พ.ค.) เพียงวันเดียวพบผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 ราย
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแผนนี้ก็ได้รับการหนุนหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเช่นกัน โดยพระองค์ตรัสว่าโลกกำลังติดเชื้อไวรัสแห่งการแสวงหาผลประโยชน์ ให้ความสำคัญต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเหนือกว่ากฎหมายแห่งความรักและกฎหมายสุขภาพมวลมนุษย์
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวระหว่างพูดคุยกับเหล่าผู้นำที่รวมตัวกันผ่านวิดีโอคอลเมื่อวันเสาร์ (8 พ.ค.) แสดงความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เขาประสบความล้มเหลว ด้วยพวกผู้นำอียูยังคงแสดงความเคลือบแคลงใจต่อแนวทางละเว้นสิทธิบัตรวัคซีน ในขณะที่ มาครงโต้แย้งว่าการเพิ่มกำลังผลิตและส่งออกคือหนทางที่ดีที่สุดสำหรับคลี่คลายวิกฤต
“กุญแจสำคัญคือผลิตวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้นสำหรับประเทศยากจนทุกชาติ หรือยกระดับการผลิตเพื่อเหล่าประเทศรายได้ปานกลาง” มาครงกล่าว พร้อมกับชี้เป้าไปที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะ เรียกร้องให้อเมริกา “ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออก ไม่ใช่แค่เฉพาะกับวัคซีน แต่รวมไปถึงวัตถุดิบวัคซีน ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการผลิต”
มาครงชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “จนถึงตอนนี้ 100% ของวัคซีนที่ผลิตในสหรัฐฯ มีเพื่อตลาดสหรัฐฯเท่านั้น”
ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ด้านการส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีน แม้อีกด้านหนึ่งพวกเขาให้สัญญาว่าจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในคลังสำรองให้แก่ประเทศอื่นๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
มาครงยังเน้นย้ำด้วยว่าสหราชอาณาจักรก็กำหนดข้อจำกัดต่างๆ ด้านการส่งออกวัคซีนเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีคำสั่งแบนตามที่ถูกกล่าวหา แต่ข้อมูลที่สาธารณชนเข้าถึงได้บ่งชี้ว่าไม่มีการส่งออกวัคซีนจากสหราชอาณาจักรแต่อย่างใด
เยอรมนี และอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ส่งเสียงคัดค้านแนวทางละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดย ฟอน แดร์ ไลเอิน ชี้ว่าการยกเลิกสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้ไม่มีวัคซีนถูกปล่อยออกมาแม้แต่โดสเดียวทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ส่วนเยอรมนีบอกว่าประเด็นทางสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นตัวถ่วงรั้งกำลังผลิต
(ที่มา : บีบีซี)