จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดของอินเดียในวันจันทร์ (26 เม.ย.) ทะลุ 350,000 คน ทำสถิติเคสรายวันสูงสุดของโลกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ขณะที่อังกฤษจัดส่งความช่วยเหลือแดนภารตะเร่งด่วน ด้านเยอรมนี อเมริกา และอีกหลายประเทศก็ประกาศให้การสนับสนุนแดนภารตะ ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายสุดๆ โรงพยาบาลทั้งในกรุงนิวเดลีและเมืองอื่นๆ เต็มล้นไม่สามารถรับคนไข้ใหม่ได้ ส่วนผู้ที่ต้องรักษาตัวอยู่บ้านก็เจอปัญหาขาดออกซิเจน ถูกนักกักตุนโก่งราคาขายตลาดมืดแพงลิบลิ่ว
ในวันอาทิตย์ (25) นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนฉีดวัคซีนและป้องกันตนเองจากไวรัสโคโรนา ด้านโรงพยาบาลและแพทย์พากันออกประกาศด่วนว่า ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป
ในสภาพที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในเดลีและอีกหลายเมืองทั่วอินเดียไม่มีเตียงรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป ทำให้ประชาชนต้องหาวิธีรักษาผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งยากแสนสาหัสในภาวะที่ถังออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน ออกซิเจนเหลว และยารักษาพากันขาดตลาด ทำให้ต้องหันไปพึ่งตลาดมืดที่ราคาพุ่งทะยานเกินจริงหลายเท่า อาทิ ถังออกซิเจนที่ราคาสูงถึง 50,000 รูปี จากแค่ 6,000 รูปีในช่วงเวลาปกติ
ครอบครัวที่มีกำลังทรัพยากร ใช้วิธีว่าจ้างพยาบาลไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านและปรึกษาแพทย์ด้วยระบบทางไกล เนื่องจากเตียงคนไข้ในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) โดยเฉพาะในเดลีเต็มหมดแล้ว
ตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข ในวันจันทร์ อินเดียพบผู้ติดเชื้อ 352,991 คน และผู้เสียชีวิต 2,812 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งรุนแรงไม่หยุด ทำให้ระบบสาธารณสุขในหลายเมืองล่ม ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากพยายามดูแลสมาชิกครอบครัวที่ป่วยด้วยตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ปัญหาไม่ได้หยุดแค่ออกซิเจนหรือยา หากยังรวมถึงการตรวจเลือด การทำซีทีสแกน หรือเอกซเรย์ ซึ่งแต่ละรายการต้องเข้าคิวรอนานและกว่าจะรู้ผลใช้เวลาอีกหลายวัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมินอาการและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ผู้ป่วยหลายคนหาเตียงได้แล้วแต่ยังเข้ารักษาตัวไม่ได้เนื่องจากต้องรอผลตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด
แม้แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางคนยังเสียชีวิตเนื่องจากขาดแคลนออกซิเจน โรงพยาบาลบางแห่งออกคำเตือนทุกวันว่า มีออกซิเจนพอใช้อีกไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่รัฐบาลนอกจากแก้ปัญหาล่าช้าแล้ว บ่อยครั้งยังจัดส่งออกซิเจนให้โรงพยาบาลต่างๆ ในปริมาณที่ใช้ได้เพียงวันเดียว
อนุช ทิวารี จ้างพยาบาลไปดูแลพี่ชายที่บ้าน หลังจากโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ยอมรับตัวเข้ารักษา เขาบอกว่า นอกจากต้องซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนราคาแพงลิบแล้ว แพทย์ยังสั่งให้หายาเรมเดซิเวียร์เตรียมไว้ ทว่า ปัจจุบัน ยาตัวนี้ขาดตลาด จะหาได้ในตลาดมืดเท่านั้น และถึงหาได้ก็ต้องรอใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาล เท่ากับว่า แม้ซื้อยาได้ก็ต้องรอให้มีเตียงคนไข้ว่างเสียก่อน
รัฐบาลอินเดียอนุญาตและเร่งรัดให้บริษัทท้องถิ่น 7 แห่งผลิตยาตัวนี้ แต่หลายครั้งที่คำสัญญาของรัฐบาลไม่มีการดำเนินการให้บรรลุผล นายแพทย์ลาลิต แกนต์ วิจารณ์ว่า การตัดสินใจเร่งรัดการผลิตเกิดขึ้นช้าเกินไป ทั้งที่รัฐบาลควรเตรียมพร้อมรับมือการระบาดระลอกสองมานานแล้ว สถานการณ์นี้ยังฟ้องว่า รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้ใดๆ จากการระบาดระลอกแรก
และนอกจากราคาแพงลิบแล้ว จากการตรวจสอบของบีบีซีนิวส์ยังพบยาเรมเดซิเวียร์ปลอมในตลาดมืด กระนั้น ชาวอินเดียจำนวนมากยังยินดีจ่ายแม้ไม่แน่ใจว่า เป็นยาจริงหรือไม่ก็ตาม ซ้ำร้ายหลายคนถูกโกง หลังจากติดต่อตามเบอร์โทรศัพท์ซัปพลายเออร์ที่มีคนแชร์กัน ทว่า หลังจากโอนเงินจ่ายค่าของที่ต้องการล่วงหน้า เลขหมายนั้นจะไม่สามารถติดต่อได้อีกต่อไป
รัฐบาลในหลายรัฐให้สัญญากวาดล้างผู้ขายยาปลอมและมีการจับกุมผู้ค้าบางคน แต่ตลาดมืดยังคงหากินกับความกังวลและสิ้นหวังของประชาชนต่อไป
ขณะเดียวกัน วิกฤตโรคระบาดที่เลวร้ายในอินเดียทำให้หลายประเทศกังวลและยื่นมือช่วยเหลือ โดยเมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงว่า อังกฤษจะให้ความช่วยเหลืออินเดียอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และสำทับว่า เครื่องบิน 9 ลำที่ขนอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจและเครื่องผลิตออกซิเจน จะเดินทางถึงอินเดียเช้าวันอังคาร (27)
วันอาทิตย์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงว่า อเมริกาจะส่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ ชุดตรวจโควิด และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้อินเดียโดยด่วน แต่ไม่ได้ระบุว่าจะรวมถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาหลายสิบล้านโดส ซึ่งสหรัฐฯเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ใช้หรือไม่
ฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดา รวมถึงอีกหลายประเทศ ต่างให้คำมั่นจัดส่งความช่วยเหลือให้อินเดียเช่นเดียวกัน
(ที่มา : บีบีซี, เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)