xs
xsm
sm
md
lg

In Clip : ส.ส.พม่าไม่ต่ำกว่า 6 คนหนีเข้า “อินเดีย” ทูตพิเศษ UN กำหนดเยือนไทย ยังคงไม่ได้ไฟเขียวเข้าเมียนมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเอฟพี – มี ส.ส.พม่าไม่ต่ำกว่า 6 คนแฝงตัวร่วมกับประชาชน 1,800 คนหลบหนีเข้าไปลี้ภัยในอินเดีย ขณะที่สหประชาชาติแถลงล่าสุด รัฐบาลพม่ายังคงปฏิเสธไม่ให้ คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) ทูตพิเศษเอ็นเดินทางเข้าประเทศระหว่างการเยือนไทยและจีน

รอยเตอร์รายงานวันนี้ (9 เม.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียยืนยันการปรากฏตัวของ ส.ส.พม่าที่ได้หนีภัยกองทัพรัฐประหารเมียนมาเข้าประเทศพร้อมกับประชาชน 1,800 คนที่ข้ามพรมแดนมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่ลี้ภัยอยู่ที่รัฐมิโซรัม (Mizoram)

ทั้งนี้ พบว่า ส.ส.ที่มาจากพื้นที่รัฐชีน (Chin State) และเขตเขตซะไกง์ (Sagaing) ล้วนเป็นสมาชิกรัฐสภาเมียนมา และเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD ของอองซานซูจีที่ชนะการเลือกตั้งพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่กองทัพพม่าปฎิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

โดยที่ปรึกษาคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ CRPH (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw)ที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า “บรรดาสมาชิกรัฐสภาพม่าตกอยู่ในอันตรายอย่างมากในเวลานี้ภายในประเทศเมียนมา พวกเขาถูกตรวจค้น และถูกติดตามโดยทหาร”

การปรากฏตัวของกลุ่ม ส.ส.พม่าในอินเดียจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมียนมาและอินเดียมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งตามปกตินิวเดลีมักมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพพม่าแต่เมื่อไม่นานมานี้ออกมากล่าวอย่างเปิดเผยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรอยเตอร์สอบถามไปยังอินเดียในวันพฤหัสบดี (8) ถึงสถานการณ์ ส.ส.พม่าที่หนีเข้ามาอยู่ในอินเดีย โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินเดียแถลงว่า ไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งที่ปรึกษาของ CRPH ยืนยันว่า “สมาชิกรัฐสภาพม่าจากพรรค NLD ได้หลบหนีออกจากที่พักของตนเองและจากภูมิภาคของพวกเขา”

กลุ่มสังเกตการณ์พม่าเพื่อนักโทษการเมืองชี้ว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 คนของสมาชิกรัฐสภาพม่าและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือนพม่าพร้อมกับประชาชนอีกหลายพันคนถูกกองทัพรัฐประหารพม่าควบคุมตัวมาตั้งแต่เริ่มการรัฐประหาร

การหลบหนีของกลุ่ม ส.ส.พม่าสอดคล้องกับการรายงานก่อนหน้าถึงการแปรพักตร์ของตำรวจพม่าที่หลบหนีเข้าอินเดียพร้อมกับครอบครัว

ขณะเดียวกัน สหประชาชาติออกแถลงการณ์ล่าสุดวานนี้ (8) ว่า รัฐบาลพม่ายังคงไม่อนุญาตให้ คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งทูตพิเศษยูเอ็นจะเริ่มเดินทางเยือนเอเชียอีกไม่กี่วันข้างหน้า เอเอฟพีชี้ว่า เบอร์เกเนอร์มีกำหนดจะเดินทางมาเยือนไทยและจีน และคาดหวังว่าจะได้รับอนุญาตเข้าเมียนมาในครั้งนี้ ซึ่งทางโฆษกองค์การสหประชาชาติไม่ได้ให้รายละเอียดไปถึงการกำหนดเยือนประเทศอื่นๆในการแถลงข่าววันพฤหัสบดี (8)

“แน่นอนที่สุดที่ท่านทูตพร้อมที่กลับมาหารืออีกครั้งกับกองทัพในการที่จะนำพม่ากลับคืนสู่หนทางแห่งประชาธิปไตย ความสงบ และเสถียรภาพ”

เบอร์เกเนอร์ยังคงติดต่อทางจดหมายกับนายพลพม่าแต่ไม่มีการติดต่อหารือทางโทรศัพท์มาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์แล้ว

เป้าหมายครั้งนี้คือต้องการกลับมามีการเจรจาแบบตัวต่อตัวอีกครั้ง โดยทางโฆษกยูเอ็นยืนยันว่า ทูตพิเศษสหประชาชาติมีความพร้อมที่จะเดินทางไปพม่าตลอดเวลา และเธอต้องการที่จะพบกับผู้นำพลเรือนพม่าที่อยู่ในการควบคุมตัว รวมไปถึงประธานาธิบดีพม่า วิน มินต์ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซานซูจี

โดยในการเยือนเอเชียครั้งนี้ เบอร์เกเนอร์จะเริ่มต้นกำหนดการณ์ด้วยการเยือนไทยและจะพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ยูเอ็นประจำภูมิภาคและบรรดาเอกอัคราชทูตประเทศต่างๆ ที่รับรองเมียนมา

เอเอฟพีชี้ว่า พบว่าวิกฤตพม่ามีเสียงที่แตกออกมาเป็น 2 ฝ่ายภายในกลุ่มประเทศอาเซีย แหล่งข่าวนักการทูตรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตโดยชี้ว่า “ขั้วแรกได้แก่ ไทย ลาว และกัมพูชา ที่มีจุดยืนถอยกลับ ไม่มีสิ่งใดต้องดู มันเป็นแค่ปัญหาภายในของเขา” และเสริมว่า “ในขณะที่อีกขั้วซึ่งประกอบไปด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ดูเปิดกว้างมากกว่าในจุดยืนของตัวเองภายในอาเซียพยายามที่จะหาทางออกในวิกฤตนี้”

ทั้งนี้ การประชุมอาเซียนเพื่อถกวิกฤตพม่าจะเริ่มขึ้นภายในสิ้นเดือนเมษายน









กำลังโหลดความคิดเห็น