เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่บังกลาเทศ เมื่อวันจันทร์ (22 มี.ค.) ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 50,000 คนต้องพากันอพยพหนีตาย ขณะที่เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 7 คน
ชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคน ได้อพยพหนีการกวาดล้างของกองทัพพม่าเมื่อปี 2017 และข้ามแดนมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเขตค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazaar) ทางตอนใต้ของบังกลาเทศ และสำหรับเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 วัน
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ไฟไหม้ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (22) ภายในแคมป์แห่งหนึ่งจากทั้งหมด 34 แคมป์ ก่อนจะลุกลามต่อไปยังแคมป์อื่นๆ บนพื้นที่ราว 32 ตารางกิโลเมตร จนทำให้ผู้ลี้ภัยต้องเก็บข้าวของหนีตายกันอย่างจ้าละหวั่น
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมไฟเอาไว้ได้เมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ขณะที่องค์กร Refugees International รายงานว่า มีชาวโรฮิงญาไม่ต่ำกว่า 50,000 คนที่ต้องสูญเสียที่พักอาศัย
“เราได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน เป็นเด็ก 2 คน หญิง 1 คน และชายอีก 4 คน” ชาห์ดัต ฮอสเซน ผู้บัญชาการหน่วยดับเพลิงท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ทว่ายังไม่มีข้อมูลยืนยันตัวเลขที่แน่นอนจากสำนักงานผู้ลี้ภัยและตำรวจบังกลาเทศ
ชัมซุด ดูซา รองกรรมาธิการด้านผู้ลี้ภัยของรัฐบาลบังกลาเทศ ยอมรับว่า “มันเป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ชาวโรฮิงญาไหลทะลักเข้ามาเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2017 เพิงพักประมาณ 1,500-2,000 หลังถูกไฟเผาวอดหมด”
ทางการบังกลาเทศได้จัดส่งอาหารไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮิงญาซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยแล้ว ขณะที่อาสาสมัครบรรเทาทุกข์ก็ได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น
ก่อนหน้านี้เพิ่งจะเกิดเหตุไฟไหม้ค่ายผู้ลี้ภัยอีก 2 จุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (19) ซึ่งทำให้เพิงพักถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ม.ค.ก็เกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ 2 หน ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญาหลายพันชีวิตต้องไร้ที่อยู่ และยังทำให้โรงเรียน 4 แห่งของ UNICEF ได้รับความเสียหาย
ซาอัด ฮัมมาดี นักเคลื่อนไหวจากองค์การนิรโทษกรรมสากล (AI) ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่า “ไฟไหม้แคมป์ผู้ลี้ภัยเกิดบ่อยจนผิดสังเกต และในขณะที่การสอบสวนครั้งก่อนๆ ยังระบุสาเหตุไม่ได้ แต่ก็ยังมาเกิดขึ้นซ้ำอีก”
ทั้งนี้ รัฐบาลบังกลาเทศพยายามผลักดันให้ชาวโรฮิงญาย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะซึ่งอยู่ห่างออกไปในอ่าวเบงกอล โดยให้เหตุผลว่าค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์นั้น “แออัด” เกินไปแล้ว
ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาราว 13,000 คนถูกเคลื่อนย้ายไปยังเกาะซึ่งเสี่ยงต่อการโดนน้ำท่วม และยังเป็นเส้นทางผ่านของพายุไซโคลนที่มักมีความรุนแรง
(ที่มา : เอเอฟพี)