(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Life after death for the neoconservatives
by Spengler (David P. Goldman)
19/03/2021
ไบเดนโอบกอดต้อนรับทั้งหลักการและทั้งบุคลากรของพวกอนุรักษนิยมใหม่ จะกลายเป็นการเร่งรัดให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างจีน-รัสเซีย-ยุโรป ที่จะมีอำนาจอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจโลก
อาการหลงผิด (Delusions) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหายขาดกันได้ง่ายๆ ภายหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย เรื่องที่หมกมุ่นลุ่มหลงกันเหลือเกินของนโยบายการต่างประเทศอเมริกันในตอนนั้น ก็คือ จะสามารถผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยนิยมตะวันตกขึ้นมาในรัสเซียให้สำเร็จได้อย่างไร และพวกผู้ทรงอิทธิพลล้ำลึกในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯทั้งหลายไม่เคยยอมยกโทษให้แก่ วลาดิมีร์ ปูติน เลย สำหรับการที่เขานำพารัสเซียให้กลับคืนสู่การปกครองชนิดซึ่งเป็นเผด็จการ ถึงแม้พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว นี่เป็นรูปแบบการปกครองที่ดำเนินอยู่ในแดนหมีขาวมาเนิ่นนานเต็มที อาจจะมียกเว้นบ้างก็เพียงระยะไม่กี่ปีสั้นๆ ในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย
ความหมกมุ่นหลงใหลเช่นนี้ เวลานี้กำลังหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งพร้อมๆ กับโจ ไบเดน --และสิ่งที่ติดมาพร้อมกับความหมกมุ่นดังกล่าว ได้แก่พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) ซึ่งเคยมีอิทธิพลสูงมากถึงขั้นครอบงำคณะบริหารที่ประสบความล้มเหลวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
มีเหตุผลอยู่มากมายหลายประการ ทำให้การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาประณามกล่าวโทษเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://abcnews.go.com/Politics/transcript-abc-news-george-stephanopoulos-interviews-president-joe/story?id=76509669) ว่า ปูตินนั้นเป็น “ฆาตกร” ที่ปราศจากจิตวิญญาณ (“killer” without a soul) สมควรจัดให้อยู่ในหมวดหมู่คารมคำพูดซึ่งโง่เขลาเบาปัญญาที่สุดเท่าที่ผู้นำชาวอเมริกันคนหนึ่งคนใดเคยเอ่ยเอื้อนออกมา –และคงต้องยอมรับด้วยว่าสิ่งที่สมควรต้องจัดให้อยู่ในหมวดหมู่นี้ มีจำนวนล้นหลามมากมาย
สำหรับกรณีคำพูดของไบเดนนั้น เริ่มต้นทีเดียว ระดับประมุขของรัฐ ไม่สมควรแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามกันและกันในลักษณะนี้หรอก ยกเว้นแต่ในยามสงคราม
ประการที่สอง คณะบริหารไบเดนประกาศว่า ตนมีความกังวลสนใจเกี่ยวกับการแข่งขันซึ่งมาจากจีน ทว่าอเมริกันกลับมาออกแรงบีบคั้นซึ่งมีแต่ผลักไสรัสเซียให้เข้าสู่การจับมือเป็นพันธมิตรอย่างไม่ค่อยเต็มใจแต่มีความหยุ่นตัวอย่างสูงกับแดนมังกร
ประการที่สาม วอชิงตันจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างอ้อมๆ จากมอสโกด้วย ในการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศของไบเดน และการออกปากขับไล่ปูตินเช่นนี้ย่อมทำให้ยากลำบากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้
ประการที่สี่ –และก็เป็นประการสำคัญที่สุด—ยุโรปตะวันตกนั้นมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ของตนกับรัสเซีย การระเบิดความเกรี้ยวกราดเช่นนี้ของไบเดนจะกลายเป็นการโน้มน้าวให้ ปารีส และ เบอร์ลิน คิดเห็นไปว่าคณะบริหารชุดนี้ก็บ้าๆ บอๆ พอๆ กับคณะบริหารชุดที่แล้ว
“คำถามเรื่องรัสเซีย” (ที่ทำให้ไบเดนด่าทอปูตินต่อหน้าสาธารณชนอย่างรุนแรง) คราวนี้ ดูเหมือนปรากฏขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ หลังจากเอกสารประเมินสถานการณ์ของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ (US intelligence community assessment) ฉบับวันที่ 16 มีนาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dni.gov/files/ODNI/documents/assessments/ICA-declass-16MAR21.pdf) ระบุว่า “ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียได้อนุมัติ และพวกองค์การหน่วยงานของรัฐบาลรัสเซียจำนวนหนึ่งก็ได้ลงมือดำเนินการ ในปฏิบัติการสร้างอิทธิพล ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใส่ร้ายป้ายสีการลงสมัครแข่งขันของประธานาธิบดีไบเดน ตลอดจนพรรคเดโมแครต
เอกสารนี้ในเวอร์ชั่นที่เผยแพร่แก่สาธารณชนซึ่งมีความยาว 15 หน้านั้น ควรเรียกว่าเป็นสิ่งไร้สาระ เราได้เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาหมดแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ตอนที่อดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรอง 50 คนออกมาประณามรายงานข่าวที่ระบุว่า ฮันเตอร์ ไบเดน (Hunter Biden) มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพวกออริการ์ช (oligarch นายทุนที่ร่ำรวยขึ้นมาด้วยการฉวยคว้าผลประโยชน์จากกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย -ผู้แปล)ชาวยูเครน ในลักษณะเข้าข่ายกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยบอกว่าเป็นการปล่อยข่าวเท็จของฝ่ายรัสเซีย
นิวยอร์กโพสต์ (New York Post) คือสื่อที่เสนอรายงานข่าวดังกล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nypost.com/2020/10/14/email-reveals-how-hunter-biden-introduced-ukrainian-biz-man-to-dad/) โดยอ้างว่าตนได้เครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปมาเครื่องหนึ่ง ที่มีไฟล์อีเมลการติดต่อต่างๆ ของบุตรชายของไบเดนผู้นี้ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้แหละเป็นหลักฐานยืนยันความไม่ชอบมาพากลได้อย่างหนักแน่น แต่แล้วบรรดาผู้ออกเสียงชาวอเมริกันทั้งหลายก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้พิจารณาไตร่ตรองหลักฐานเหล่านี้หรอก เนื่องจากสื่อมวลชนอื่นๆ ต่างยับยั้งการเสนอข่าวนี้ รวมทั้ง ทวิตเตอร์ ก็สกัดกั้นไม่ให้นำเอาข่าวเปิดโปงของนิวยอร์กโพสต์มาเผยแพร่ต่อ ตัวผมเองได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม โดยใช้ชื่อข้อเขียนชิ้นนั้นว่า “การทรยศหักหลังของพวกจารชนสายลับ (Treason of the spooksดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/12/treason-of-the-spooks/)
บนเส้นทางของการสะสางปมต่างๆ ที่ยังถูกปล่อยหละหลวมอยู่ให้ดูมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เวลานี้ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯจึงได้ออก “คำประเมิน” ฉบับวันที่ 16 มีนาคมดังกล่าว ซึ่งอ้างเอาไว้ในตอนหนึ่งว่า “ส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของมอสโกก็คือ การใช้ผู้คนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวงการข่าวกรองรัสเซีย มาคอยฟอกล้างพวกเรื่องเล่าขานที่ทรงอิทธิพลทั้งหลาย –รวมไปถึงการตั้งข้อกล่าวหาที่มุ่งชักนำไปในทางผิดๆ หรือที่ไม่มีเนื้อหาสาระหนักแน่นอะไร มาเล่นงานประธานาธิบดีไบเดน— ทั้งนี้โดยผ่านพวกองค์การสื่อของสหรัฐฯ, พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ, และพวกปัจเจกบุคคลสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งบางคนมีความใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์และคณะบริหารของเขา”
ถ้อยคำเช่นนี้เป็นการใช้ภาษาที่กำกวมคลุมเครือเหลือเกิน นิวยอร์กโพสต์ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อความในอีเมลฉบับต่างๆ ของ ฮันเตอร์ ไบเดน ซึ่งหากพูดกันอย่างเคร่งครัดจริงๆ แล้ว มันก็ถือได้ว่า “ไม่มีเนื้อหาสาระหนักแน่นอะไร” ตรงที่ว่าพวกทีมงานไอทีไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันอย่างชัดเจนได้ว่าต้นตอที่มาของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากไหนแน่ๆ และไบเดนคนลูกก็ไม่ได้สารภาพว่าอีเมลเหล่านี้เป็นของจริงของแท้ กระนั้นในอีกด้านหนึ่ง การจับไม่มั่นคั้นไม่ตายเช่นนี้ยังไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอีเมลเหล่านี้เป็นของปลอม และยิ่งเมื่อมีการใช้วิธีการอันพิสดารผิดธรรมดามาสยบกดหัวไม่ให้รายงานข่าวเรื่องนี้แพร่หลายออกไปได้ด้วยแล้ว มันยิ่งดูไม่ชอบธรรมไม่สมด้วยเหตุผลเข้าไปใหญ่
นอกเหนือจากเรื่องที่ไบเดนกล่าวโทษปูติน ซึ่งปรากฏอยู่ในคำให้สัมภาษณ์ของเขาแก่เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีแล้ว การที่เขาแต่งตั้งให้ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) เข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง (undersecretary of state for political affairs) มันคือการส่งสัญญาณอันไม่มีทางตีความผิดพลาดกันได้เลย ไปยังมอสโก และที่สำคัญกว่านั้น คือไปยังพวกพันธมิตรในยุโรปของอเมริกา
เมื่อต้นปี 2014 นูแลนด์ (ซึ่งเวลานั้นนั่งในตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการยุโรปและยูเรเชีย Assistant Secretary of State for European and Eurasian Affairs) ได้ถูกอัดเสียงพูดคุย ในตอนที่เธอหารือทางโทรศัพท์มือถือกับเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำยูเครน โดยขณะนั้นเธอกำลังสั่งการเกี่ยวกับเรื่องส่วนประกอบของรัฐบาลยูเครนชุดต่อไป ภายหลังการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลชุดเดิมด้วยการยั่วยุให้ประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้านที่จัตุรัสเมดัน ในกรุงเคียฟแล้ว โดยที่น้ำเสียงคำพูดของเธออยู่ในลักษณะเหมือนเธอเป็นอุปราชผู้ปกครองอาณานิคม
เมื่อเอกอัครราชทูตผู้นั้นบอกกับเธอว่า การจัดส่วนประกอบตามที่เธอต้องการนั้นอาจจะประสบความยากลำบากบางประการ นูแลนด์ได้ตอบด้วยการอธิบายว่าปกำลังจะดึงสหประชาชาติให้เข้ามาสนับสนุน และพูดต่อไปว่า “ทำอย่างนั้นได้จะยอดเยี่ยมมาก ฉันว่านะ และช่วยประสานเรื่องนี้ให้เข้ารูปเข้ารอย” จากนั้น เธอยังพูดสบถต่อไปด้วยความขุ่นเคืองว่า "แล้ว คุณรู้ไหม ไอ้อียู อัปรีย์” (ภาษาอังกฤษ คือ“And, you know,fuck the EU.” ฟังเสียงโทรศัพท์ที่ถูกแอบอัดเอาไว้นี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MSxaa-67yGM#t=89) เมื่อบทสนทนาทางโทรศัพท์นี้ถูกเผยแพร่ออกมา นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ได้ประณามความเห็นของนูแลนด์ โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” ความผิดพลาดชนิดนี้นั้น ธรรมดาแล้วจะถูกจัดชั้นว่าต้องโยกย้ายให้ไปอยู่คณะทูตประจำขั้วโลกใต้จึงจะสมควร ทว่าแบบนี้แหละเข้าร่องเข้ารอยอุดมการณ์แรงกล้าที่ศรัทธากันอยู่ในวอชิงตัน นูแลนด์จึงอยู่รอดปลอดภัยมาได้ และสามารถกลับเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้อีกคำรบหนึ่ง
นูแลนด์นั้นเป็นพวกนีโอคอน (อนุรักษนิยมใหม่neoconservative) เป็นอดีตรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติให้กับ ดิ๊ก เชนีย์ ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี (ในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช) แล้วเธอยังเป็นภรรยาของ โรเบิร์ต แคแกน (Robert Kagan) หนึ่งในผู้ป่าวร้องโฆษณาอย่างเหนียวแน่นที่สุดให้แก่แนวคิดที่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงโลกโดยผ่านการกำหนดจัดวางของอเมริกาผู้ทรงอำนาจ
ในปี 2014 นูแลนด์เชื่อว่าการก่อกบฎที่จัตุรัสเมดานในยูเครนซึ่งอเมริกันหนุนหลังอยู่ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดซ้ำขึ้นมาได้ในรัสเซีย อันที่จริงแล้ว การหาทางเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซียให้ได้ ถือเป็นแนวความคิดที่แน่นอนตายตัวไม่มีเปลี่ยนแปลงของพวกนีโอคอนอเมริกัน และของผู้คนจำนวนมากในประชาคมข่าวกรองอเมริกัน นับตั้งแต่ที่ ปูติน ขึ้นครองอำนาจต่อจาก บอริส เยลตซิน (Boris Yeltsin) ผู้อ่อนแอและติดเหล้าในปี 1999
มอสโก (รวมทั้ง ปารีส และเบอร์ลินด้วย) จะตีความการแต่งตั้ง นูแลนด์ ให้กลับเข้านั่งในตำแหน่งสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯอีกครั้งเช่นนี้ รวมทั้งการที่ไบเดนกล่าวประณามปูตินอย่าเงปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าคือสัญญาณแสดงให้เห็นว่า วอชิงตันเชื่อจริงๆ ในเรื่องที่จะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในมอสโก
แน่นอนทีเดียว ปูตินก็มีปัญหาภายในอะไรต่างๆ ของตัวเขาเองอยู่จำนวนหนึ่ง ทว่าพวกซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่จะเข้ามาแทนที่เขานั้น ไม่ใช่พวกนิยมประชาธิปไตยแบบโปรอเมริกันหรอก แต่น่าจะเป็น “พวกยูเรเชียนิยม” (Eurasianist) ซึ่งมาจากฝ่ายทหารหรือกองกำลังความมั่นคง โดยเป็นผู้ที่คิดเห็นว่าปูตินนุ่มนิ่มเกินไปในการรับมือกับฝ่ายตะวันตก
ขณะที่การตอบรับของฝ่ายยุโรปต่อแบบแผนวิธีการใหม่ของวอชิงตันในการดำเนินการกับรัสเซีย จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ปูติน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ออกมาเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้สนทนากับรัสเซีย แทนที่การเผชิญหน้ากับแดนหมีขาว (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.rferl.org/a/macron-renews-call-for-dialogue-with-russia-floats-himself-as-broker-in-u-s--iran-talks/31086710.html) เมื่อปี 2019 เขาเคยประกาศว่า “ทวีปของชาวยุโรปจะไม่อาจมีเสถียรภาพได้เลย จะไม่อาจมีความมั่นคงปลอดภัยได้เลย ถ้าเราไม่ผ่อนคลายและสะสางเคลียร์ความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่กับรัสเซีย”
ประธานาธิบดีฟรังก์-วัลเทอร์ ชไทน์ไมเยอร์ (Frank-Walter Steinmeier) ของเยอรมนี บอกกับเวทีการประชุมความมั่นคงมิวนิก (the Munich Security Conference) ในปี 2020 ว่า ความสัมพันธ์ “ที่มีความสร้างสรรค์” มากขึ้นกับรัสเซีย คือความสำคัญอันดับแรกสุดของนโยบายการต่างประเทศของเยอรมนี ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายมีความผิดแผกแตกต่างกันที่ฉกรรจ์ๆ หลายประการก็ตาม (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.handelsblatt.com/politik/international/sicherheitskonferenz-steinmeier-umgarnt-russland-trotzdem/9418090-2.html)
เขากล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งทั้งหลาย อย่างเช่น กรณีซีเรีย ไม่สามารถแก้ไขได้ถ้าปราศจากมอสโก ทั้งนี้เยอรมนีกับรัสเซียจะเสร็จสิ้นการก่อสร้างสายท่อแก๊ส “นอร์ด สตรีม 2” (Nord Stream 2) ภายในเดือนกันยายนนี้ เป็นการท้าทายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของฝ่ายอเมริกันที่ประกาศออกมาบังคับใช้โดยคณะบริหารทรัมป์
คาร์ล มาร์กซ์ เคยเขียนเอาไว้ในคราวที่ นโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 1851 ว่า เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นมา 2 ครั้ง ครั้งแรกคือโศกนาฏรรม แต่ครั้งที่สองจะกลายเป็นละครตลก พวกนักอนุรักษนิยมใหม่อาจจะกลับมามีอำนาจอีกภายใต้คณะบริหารไบเดน แต่พวกเขาก็จะขาดไร้หนทางวิธีการทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศที่จะทำความเสียหายอย่างมากมายใหญ่โต
ในตอนที่พวกเขามีอิทธิพลสูงสุดระหว่างสมัยคณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น ความเชื่อที่ว่าสินค้าออกสำคัญที่สุดของอเมริกาควรจะได้แก่ประชาธิปไตย มีอิทธิพลหนักแน่นมั่นคงมากในวอชิงตัน อีกทั้งอุดมการณ์ต่างๆ ของพวกเขาก็ปกครองเหนือพรรครีพับลิกัน โดยสิ่งที่สอนสั่งกันในพรรคก็อยู่ในลักษณะเหมือนเป็นนิกายหนึ่งของพวกนักลัทธิทร็อตสกี้ (Trotskyite)
อุดมการณ์ของพวกเขาเป็นลัทธิมาร์กซิสต์ปีกขวาประเภทหนึ่ง (a sort of right-wing Marxism) นั่นแหละ มาร์กซ์นั้นสอนว่าการดำรงอยู่ของคนเราเป็นเครื่องตัดสินจิตสำนึก และอุดมการณ์หรือก็คือรูปแบบของจิตสำนึก ก็ก่อตัวขึ้นมาจากโครงสร้างทางสังคม สำหรับมาร์กซ์แล้ว นี่หมายความว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะสร้าง “มนุษย์ใหม่” (New Man) ที่หลุดพ้นเป็นเสรีจากความชั่วร้ายต่างๆ ของลัทธิทุนนิยม ขณะที่สำหรับพวกนักอนุรักษนิยมใหม่นั้น มันหมายความว่า เพียงแค่รูปแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้นก็จะสร้างนักนิยมประชาธิปไตยขึ้นมาได้
พวกพันธมิตรของอเมริกาพากันหัวเราะเยาะพวกเขา รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีในตอนนั้นคือ จอชคา ฟิชเชอร์ (Joschka Fischer) ซึ่งเวลานี้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนหนึ่งของพรรคกรีน (Green Party)
เมื่อสองสามปีก่อน เขาบอกกับผมว่า “มันเป็นโชคลาภที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียว ที่ว่าผมเริ่มต้นอาชีพของผมด้วยการอยู่ทางฝ่ายซ้ายสุดโต่งของการเมือง เมื่อผมเดินทางไปวอชิงตันในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างสมัยของคณะบริหาร (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) และได้พบปะกับพวกนักอนุรักษนิยมใหม่ ผมจดจำพวกเขาได้ในทันทีในฐานะที่เป็นสหายเก่าแก่! ผมเอาหนังสือที่เขียนโดย ริชาร์ด เพิร์ล (Richard Perle) และ เดวิด ฟรัม (David Frum) เรื่อง An End to Evil (หนังสือเรื่อง An End to Evil: How to Win the War on Terror จุดจบของปีศาจร้าย: วิธีเอาชนะสงครามต่อสู้การก่อการร้าย ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/An_End_to_Evil:_How_to_Win_the_War_on_Terror –ผู้แปล) แล้วก็เอาเรื่อง Permanent Revolution ของ ทร็อตสกี้ ออกมาจากชั้นหนังสือของผม และเปรียบเทียบกันแบบหน้าต่อหน้า นอกจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในเรื่องศัพท์เฉพาะแล้ว มันก็หนังสือเล่มเดียวกันนั่นแหละ”
พวกอนุรักษนิยมใหม่ได้ชักจูงโน้มน้าว บุช และทายาทผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขา คือ บารัค โอบามา ให้ใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ ไปในสงครามต่างๆ ทั้งในอิรัก, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, และซีเรีย ตามรายงานการศึกษาที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้จาก สถาบันวัตสันแห่งกิจการระหว่างประเทศและรัฐกิจ (Watson Institute of International and Public Affairs) ของมหาวิทยาลัยบราวน์ งบประมาณใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดคือ 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ และการศึกษาชิ้นนั้นยังพบด้วยว่า มีผู้คนมากกว่า 801,000 คนต้องเสียชีวิต โดยเป็นผลโดยตรงของการสู้รบในสงครามเหล่านั้น
เวลาเดียวกันนั้น อเมริกาได้สูญเสียตำแหน่งงานทางด้านอุตสาหกรรมด้วยอัตรารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของตน และยอดขาดดุลการค้าของอเมริกาก็ทะยานโด่งไปอยู่ที่ระดับ 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี อเมริกาประสบความล้มเหลวในการส่งออกประชาธิปไตย แถมยังยุติการส่งออกสิ่งอื่นๆ ไปด้วย ทั้งหมดเหล่านี้ดำเนินมาสู่จุดจบอันน่าสยดสยองในมหาวิกฤตการณ์ภาคการเงินของปี 2008 (Great Financial Crisis of 2008)
อเมริกาเคยมีความอิสรเสรีที่จะทำอะไรก็ได้เมื่อปี 2001 ตอนที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้ารับตำแหน่ง ยิ่งเสียกว่ามหาอำนาจใดๆ นับตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมเป็นต้นมา ในเมื่อรัสเซียได้ประสบภาวะล้มละลายไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2008 ส่วนจีนยังคงเป็นแค่ก้อนเมฆดำทะมึนกลุ่มเล็กๆ บนขอบฟ้าทางยุทธศาสตร์เท่านั้น ในยุคสมัยนั้น มีคนพูดถึงอเมริกาในฐานะที่เป็น “อภิบรมมหาอำนาจ” (hyperpower) ไม่ใช่แค่เป็น “อภิมหาอำนาจ” (superpower) เท่านั้น
แล้วอเมริกาก็โยนทิ้งฐานะเช่นนี้ลงถังขยะไป ในช่วงเวลาสิบกว่าปีของความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างเพ้อฝันคลั่งไคล้ที่จะ “เสาะแสวงหาและสนับสนุนการเติบโตขยายตัวของขบวนการทางประชาธิปไตยและสถาบันทางประชาธิปไตยในทุกๆ ชาติและทุกๆ วัฒนธรรม ด้วยเป้าหมายอันสูงสุดของการยุติระบอบเผด็จการในโลกของเรา” อย่างที่ บุช ประกาศเอาไว้ในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองของเขา (โดยที่คนเขียนคำปราศรัยนี้ให้ ได้แก่นักทฤษฎีนีโอคอน อย่าง บิลล์ คริสตอลBill Kristol และ ชาร์ลส์ เคราธัมเมอร์ Charles Krauthammer)
ถึงแม้พวกอนุรักษนิยมใหม่โดยส่วนใหญ่ที่สุดแล้วมีความชิงชัง โดนัลด์ ทรัมป์ แต่พวกเขาก็เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการเดินสวนสนามเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างไม่น่าเป็นไปได้ของเขา ในเมื่อระหว่างปี 2000 ถึงปี 2009 การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯได้ตกฮวบฮาบลงเหลือ 11 ล้าน จาก 17 ล้านตำแหน่งงาน
การที่ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน “พวกสงครามที่รบกันไม่รู้จักจบ” ทำให้เขามีความแตกต่างไปจากเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันคนอื่นๆ ซึ่งยังคงดึงลากมรดกตกทอดจากบุชตามหลังพวกเขาอย่างไม่ยอมปล่อยเสียที เหมือนๆ กับโซ่ตรวนที่ผูกล่ามผีของ มาร์ลีย์ (Marley’s ghost ตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายสั้นเรื่อง A Christmas Carol ของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Jacob_Marley -ผู้แปล) และการที่เขาสามารถดึงดูดใจพวกเมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ย่านอัปเปอร์ มิดเวสต์ ซึ่งมีความโกรธแค้นไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่นั่นเอง ทำให้เขาสามารถครองเสียงข้างมากในคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Electoral College) ได้สำเร็จ
จากการที่อำนาจของอเมริกันลดน้อยถอยลงมาแล้ว พวกอนุรักษนิยมใหม่จึงเป็นภัยอันตรายลดน้อยลง และกลายเป็นตัวรบกวนสร้างความรำคาญใจเสียมากกว่า อเมริกาไม่ได้มีงบประมาณอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับโยนทิ้งให้แก่สิ่งที่ทรัมป์เรียกว่าสงครามที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น อเมริกานั้นจำเป็นต้องกู้เงินมากมายเกือบเท่านี้แหละอยู่ทุกๆ ปีเพื่อนำมาเป็นงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งก็รวมไปถึงพวกเงินอุดหนุนชดเชยรายได้ ที่กำลังเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯเอาไว้ไม่ให้จมน้ำลึกลงไปจากช่วงคออย่างที่กำลังดิ้นรนกันอยู่ในเวลานี้
ประชากรชาวอเมริกันพากันส่งเสียงเชียร์ลั่นตอนที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่งทหารเข้ารุกรานอิรักเมื่อปี 2003 ในอารมณ์ความรู้สึกแห่งชาติซึ่งอึงอลไปด้วยความดุร้ายถมึงทึง สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีอาคารเวิลด์เทรนดเซนเตอร์เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น ทว่าไม่ได้มีความมุ่งมั่นแน่วแน่สำหรับการเข้าสงครามในต่างแดนเสียแล้วในเวลานี้ จีนนั้นได้ยืนหลบไปข้างๆ ณ ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตอนที่พิจารณาประเด็นปัญหาอิรัก แต่ทุกวันนี้แสนยานุภาพทางทหารของจีนอยู่ในลักษณะแข่งขันกันได้กับของอเมริกา อย่างน้อยที่สุดก็ในแปซิฟิก
แล้ว หลุยส์ นโปเลียน (Louis Napoleonsชื่อก่อนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 -ผู้แปล) ของวงการผู้ทรงอิทธิพลด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯล่ะคิดอะไรกันอยู่ในตอนนี้ วิกตอเรีย นูแลนด์ ซึ่งก็คือ โรเบิร์ต แคแกน เขียนเอาไว้ในวารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) ฉบับเดือนมีนาคม/เมษายน ดังนี้:
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องบอกให้ชาวอเมริกันทราบว่า มันไม่มีทางหลบหนีออกจากความรับผิดชอบในระดับโลกได้หรอก พวกเขาจะต้องขบคิดให้เลยไกลไปกว่าเพียงแค่การพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิเท่านั้น พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่า จุดประสงค์ขององค์การนาโต้ และกลุ่มพันธมิตรอื่นๆ คือการปกป้องคุ้มครองสิ่งซึ่งไม่ใช่แค่การต่อสู้ต้านทานกับภัยคุกคามโดยตรงต่อผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ต้านทานการล่มสลายของระเบียบซึ่งสามารถรับใช้ผลประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างดีที่สุด พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการบอกกล่าวอย่างซื่อตรงว่า ภารกิจของการธำรงรักษาระเบียบโลกเอาไว้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุดและเต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย ทว่าน่านิยมสมควรที่จะเลือกยิ่งกว่าทางเลือกที่เหลืออีกทางหนึ่ง
ความล้มเหลวที่ไม่ได้บอกอะไรตรงๆ กับประชาชนชาวอเมริกันนี่เอง ได้นำพาประเทศชาติเข้าสู่สภาพยากลำบากในปัจจุบัน ด้วยการที่สาธารณชนผู้สับสนและโกรธเกรี้ยวเกิดความรู้สึกมั่นใจเชื่อถือขึ้นมาว่าคณะผู้นำของพวกเขากำลังทรยศหักหลังผลประโยชน์ต่างๆ ของอเมริกัน เพื่อกระทำให้บรรลุวัตถุประสงค์แบบ “นักโลกนิยม” (globalist) ที่ชั่วร้ายของพวกเขาเอง ยาถอนพิษสำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่การทำให้พวกเขาเกิดความหวาดกลัวหวั่นผวาเกี่ยวกับจีนและภัยคุกคามอื่นๆ แต่คือการพยายามอธิบาย อีกครั้งหนึ่ง ว่าทำไมระเบียบโลกที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมาแล้วจึงยังคงมีความหมายความสำคัญ นี่แหละคืองานสำหรับ โจ ไบเดน และคณะบริหารใหม่ของเขา
มันไม่มีทางเลยที่จะวิเคราะห์แยกแยะบทสรุปของแคแกน เพื่อให้ทราบว่านโยบายชนิดไหนกันที่เขานึกอยู่ในใจ แต่จากสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจริงๆ นั้น โจ ไบเดน จะกลายเป็นพ่อทูนหัว ให้แก่การรวมตัวระหว่างจีน-รัสเซีย-ยุโรป ซึ่งจะเข้าครอบงำยูเรเชียและเศรษฐกิจโลก