(เก็บความจากเอเชียไทมส์
WWW.asiatimes.com)
US exceptionalism surges again: Will it fly?
by MK Bhadrakumar
03/03/2021
สหรัฐฯประกาศหวนกลับเข้าสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นี่คือส่วนสำคัญในแผนการของคณะบริหารโจ ไบเดน ที่จะนำเอาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาเป็นศูนย์กลางของนโยบายการต่างประเทศของตน
ในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกมาเมื่อวันพุธที่ 24 ก.พ. 2021 เนื่องในวาระที่สหรัฐฯ “กลับคืน” สู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังนำเอาเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เข้ามาเป็นศูนย์กลางของนโยบายการต่างประเทศของอเมริกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.state.gov/putting-human-rights-at-the-center-of-u-s-foreign-policy/)
อย่างไรก็ดี ความลับลมคมนัยของข้ออ้างเช่นนี้ อันที่จริงได้ถูกเปิดโปงออกมาจนเปลือยล่อนจ้อนไปหมดแล้ว สหรัฐฯเวลานี้อยู่ในสภาพค่อนข้างตกต่ำเสื่อมถอย และทรัพยากรก็สะดุดติดขัด สหรัฐฯนั้นขาดไร้วิสัยทัศน์ในทางบวกสำหรับเสนอแด่มนุษยาติ ขณะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่กับเหล่าปีศาจร้ายของตัวเอง
เหตุการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจหลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นมาในสังคมอเมริกันและการเมืองแบบอเมริกันช่วงระยะใกล้ๆ ไม่นานมานี้ได้เปิดเผยให้เห็นอย่างเลวร้ายว่า ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยหลอกลวงจอมปลอม ซึ่งมีประวัติอันต่ำช้าน่ารังเกียจในเรื่องลัทธิแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว และความไม่เสมอภาคเท่าเทียมในระดับชวนตื่นตระหนก โดยที่ประชากรข้างบนสุดแค่ 0.1% ครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศในระดับเดียวกันกับบรรดาผู้คน 90% ซึ่งอยู่ข้างล่างที่สุด
ความพยายามในการฟื้นคืนชีพแนวความคิด “อเมริกันเป็นข้อยกเว้นพิเศษไม่เหมือนใคร” (American exceptionalism แนวความคิดที่อ้างว่า สหรัฐฯพิเศษกว่าชาติอื่น และไม่เหมือนชาติใดในโลก เป็นข้อยกเว้นพิเศษของโลก ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เกิดนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตเหนือคนอื่น พยายามนำเอาค่านิยมของตนอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในสไตล์อเมริกัน มาบีบคั้นบังคับให้ชาติอื่นๆ ต้องเชื่อตามต้องปฏิบัติตาม -ผู้แปล) เช่นนี้ จะไม่มีใครเอาด้วยหรอก ขณะที่สหรัฐฯเองนั้นขาดไร้ทั้งศักยภาพและทั้งความทรงอำนาจทางศีลธรรมในการผลักดันวาระที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกันให้คืบหน้าไปบนเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงกำลังพยายามรวบรวมจัดทำชุดเครื่องมือขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการทางการทูตของตน ด้วยวัตถุประสงค์ในทางภูมิรัฐศาสตร์
อันที่จริงแล้ว ศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ควรที่จะมุ่งไปใช้รับมือกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งกำลังอาละวาดหนัก และได้เบียดเบียนบ่อนทำลายรากฐานทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจของรัฐต่างๆ ให้เสียหายอย่างสาหัส สิทธิมนุษยชนที่ควรต้องถือเป็นสิทธิข้อพื้นฐานที่สุด ย่อมจะต้องเป็น สิทธิที่จะมีชีวิต (the right to life) สิทธินี้เองที่กำลังถูกคุกคามหนักหน่วง จากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มทะยานขึ้นมา และทำให้สภาพที่สังคมไร้หลักประกันความมั่นคงยิ่งหนักหน่วงร้ายแรง ช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างชาติต่างๆ และระหว่างภูมิภาคต่างๆ กำลังถ่างกว้างมากขึ้นไปอีก
ทว่าในเรื่องการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ สหรัฐฯกลับต้องถูกจัดให้อยู่ในระดับชั้นของตนเอง แม้กระทั่งในหมู่ประเทศร่ำรวยด้วยกัน เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากรทุก 1 ล้านคนในสหรัฐฯได้พุ่งพรวดทะลุหลังคาเมื่อเปรียบเทียบกับพวกชาติพันธมิตรของตนเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.statista.com/statistics/1104709/coronavirus-deaths-worldwide-per-million-inhabitants/) ความเป็นจริงอันชวนสยองก็คือว่าจำนวนผู้เสียชีวิตของสหรัฐฯจากโรคระบาดใหญ่นี้ได้ข้ามขีด 500,000 คนไปแล้ว
มันดูย้อนแย้งเอามากๆ เมื่ออัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อจำนวนประชากรในบางประเทศ ซึ่ง บลิงเคน ตำหนิติเตียนว่าขาดแคลนความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น กลับทำให้สหรัฐฯสมควรรู้สึกอับอายในจำนวนนี้รวมถึง ซีเรีย, เวเนซุเอลา, คิวบา, และศรีลังกา และแน่นอนทีเดียว รวมถึงจีนด้วย
แต่สำหรับบลิงเคนการเสียชีวิตของพี่น้องร่วมชาติของเขาในระดับสยดสยองเช่นนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาทางสิทธิมนุษยชน รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐในสหรัฐฯแม้แต่คนเดียวซึ่งถูกไล่เรียงให้ต้องรับผิดชอบสำหรับโศกนาฏกรรมในระดับที่ทำให้อึ้งจนพูดไม่ออกเช่นนี้
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า สหรัฐฯกำลังนำเอาความเสื่อมเสียชื่อเสียงและความน่าอับอายขายหน้ามาสู่โลกตะวันตกทั้งมวล ด้วยการนำพวกเขาเข้าสู่เกมแห่งการเอาแต่เที่ยวเยาะเย้ยถากถางคนอื่น ยังคงวางมาดไปทั่วว่าพวกเขาเป็นแชมเปี้ยนทางสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่ตามการประมาณการเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมดกำลังถูกเก็บงำสำรองเอาไว้สำหรับประชาชนเพียง 1 ใน 7 ของโลกเท่านั้น เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือ?
เฉพาะสหราชอาณาจักรประเทศเดียว รายงานข่าวบอกว่ามีวัคซีนสำรองเอาไว้อย่างเพียงพอแก่การให้พลเมืองทุกคนของตนได้คนละ 5 โดส และถ้าหากมีการส่งสินค้าให้อย่างครบครันตามใบสั่งซื้อที่จองกันเอาไว้ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็จะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับให้แก่ประชากรของพวกตนได้เกินกว่า 3 เท่าตัวของที่ต้องการใช้จริงๆ ขณะที่แคนาดาจะถึงขั้นเพียงพอในระดับ 9 เท่าตัวด้วยซ้ำ สถานการณ์เช่นนี้ มันน่าสะอิดสะเอียนนะครับ มิสเตอร์บลิงเคน
ในเวลาเดียวกัน การแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงให้ได้ซัปพลายวัคซีนที่กำลังลดลงเรื่อยๆ มาอยู่ในมือของตน ยังอาจนำไปสู่ระดับราคาที่กระโจนสูงลิ่วและก่อให้เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นอีก อันที่จริงได้เกิดความกราดเกรี้ยวไม่พอใจปะทุขึ้นให้เห็นกันอยู่แล้วในระหว่างสหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา สืบเนื่องจากการผลิตวัคซีนได้ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ขณะเดียวกันนั้น ไม่ว่าสถานการณ์ที่ซัปปลายหายากและดีมานด์เพิ่มสูงจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตามที มันก็เป็นพวกประเทศยากจนนั่นแหละที่จะต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนมากที่สุด
รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียเก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ชี้ประเด็นได้อย่างคมคายเมื่อเขาพูดในการประชุมของ คณะมนตรีสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “โรคระบาดใหญ่คราวนี้ ทำให้พวกปัญหาเก่าๆ อย่างเช่น การเหยียดเชื้อชาติสีผิว และความหวาดกลัวคนต่างชาติ ยิ่งย่ำแย่หนักข้อขึ้นอีก รวมทั้งเรื่องการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ และนิกายศาสนาต่างๆ การประท้วงขนาดใหญ่ๆ ในสหรัฐฯและยุโรปได้เปิดโปงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ยังคงมีปัญหาการไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างเป็นระบบ เวลาเดียวกันก็เน้นย้ำให้เห็นถึงอันตรายที่จะเกิดการผ่อนปรนยอมจำนนให้แก่แนวความคิดอุดมการณ์แบบสุดโต่ง”
มันเป็นการล้มละลายทางศีลธรรมอย่างถึงที่สุด ในการที่สหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรร่ำรวยในโลกตะวันตกของสหรัฐฯ –พวกซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น “พวกพันล้านทองคำ” (golden billion) ของพิภพโลกแห่งนี้— เดินอาดๆ เข้าไปในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น แล้วเริ่มต้นเทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหาหนทางใช้อำนาจบังคับตลอดจนวิธีการผิดกฎหมายต่างๆ ในการขู่เข็ญและบีบคั้น เพื่อเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์อันคับแคบและมุ่งสนองผลประโยชน์ของตนเอง
อีกอย่างหนึ่ง การมีนโยบายที่ไม่โปร่งใสเอาเลยในเรื่องแพลตฟอร์มเครือข่ายสื่อสังคม ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯนั่นแหละ ซึ่งประกาศให้คำมั่นสัญญารับประกันเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแก่พลเมืองทุกๆ คน ทว่าเวลานี้กลับกำลังแอบซ่อนอยู่ข้างหลังนโยบายต่างๆ ของภาคบริษัทธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำตามคำมั่นสัญญาเหล่านี้
แล้วสำหรับพวกแพลตฟอร์ตเครือข่ายสื่อสังคม พวกเขากำลังเริ่มต้นพยายามเข้าบงการมติมหาชนในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอย่างโจ่งแจ้งไม่มีกระมิดกระเมี้ยนแล้ว ด้วยการแบนหรือไม่ก็เซนเซอร์คอนเทนต์ของยูสเซอร์ตามดุลยพินิจของพวกเขาเอง มาถึงตอนนี้ภายใต้การปกครองคุ้มครองของสหรัฐฯ พวกเขาก็กำลังเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนของพลเมืองโลก ใช่ไหมล่ะ?
เรื่องการจัดทำเอกสารรวบรวมพวกกล่องเครื่องมือทางด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมานั้น ก็เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้อย่างเป็นสากล ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ยังไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดบนพื้นพิภพนี้เลย รวมทั้งสหรัฐฯด้วย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
มันไม่ใช่เป็นเรื่องน่าละอายใจเป็นอย่างยิ่งหรอกหรือ ที่ชาวอเมริกันผิวดำโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวน้อยกว่าพวกเพื่อนร่วมชาติชาวผิวขาวของเขาถึง 6 ปี? แล้วชาวอเมริกันผิวดำก็ถูกจับกุมขังคุกเป็นจำนวนมากกว่าคนขาวนักหนาไม่ใช่หรือ?ทว่ามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯกลับมีการเลือกปฏิบัติอย่างสูง – มันถูกมองราวกับว่าเป็น “ภาระของคนผิวขาว” (white man’s burden แนวความคิดของพวกนักล่าอาณานิคมชาวผิวขาวซึ่งอ้างว่า พวกตนมีภาระหน้าในการนำเอาอารยธรรมของพวกตนไปให้แก่ประชากรผิวสีในอาณานิคมของพวกตน วลีนี้มาจากบทกวีชื่อเดียวกันของ รัดยาร์ด คิปลิง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_White_Man%27s_Burden -ผู้แปล)
อย่างไรก็ดี มีหลักฐานเห็นกันได้ทนโท่ว่า กล่องเครื่องมือที่ว่านี้กำลังถูกนำไปใช้เป็นอาวุธทรงอำนาจเพื่อประทับตราอัปยศให้แก่ศัตรูตัวร้ายของสหรัฐฯอย่างรัสเซียและจีน รวมทั้งเพื่อบีบคั้นกดดันพวกประเทศเล็กๆ ที่ไม่ยินยอมกระทำตามนโยบายระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ (เป็นต้นว่า ศรีลังกา, คิวบา, และเวเนซุเอลา), ตลอดจนเพื่อเรียกร้องเอาผลประโยชน์เครื่องบรรณาการและการอ่อนข้อจากประเทศต่างๆ ด้วยการแบล็กเมล์ประเทศเหล่านั้น (อย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย)
กล่องเครื่องมือนี้ยังกำลังถูกนำไปใช้เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองด้วยเช่นกัน –นั่นคือ การโค่นล้มรัฐบาลที่ตั้งมั่นอยู่แล้ว และนำเอาระบอบปกครองที่ยอมเป็นสมุนบริวาร เข้ามาแทนที่พวกเขา ตัวอย่างซึ่งเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีย่อมได้แก่ ยูเครน และจอร์เจีย ขณะที่ยังมีความพยายามทำนองเดียวกันเมื่อเร็วๆ ใน เบลารุส ทว่าประสบความล้มเหลว
โครงการที่พยายามทดลองทำกันในรัสเซียช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ นี้ ก็ถูกวังเครมลินตอบโต้อัดเอายับเยินไปอย่างง่ายๆ กระนั้นก็ตามที มันยังคงเป็นเรื่องที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง เวลานี้พวกประเทศที่ตั้งอยู่ชายขอบประชิดกับรัสเซียต่างกำลังถูกสั่นคลอนเสถียรภาพกันอย่างเป็นระบบ และถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเวทีแห่งการวิวาทต่อสู้กันในทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อที่ศัตรูผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯจะได้จมถลำอยู่ในหล่มโคลนดูด
คณะบริหารไบเดนยังกำลังใช้กล่องเครื่องมือนี้ เพื่อพยายามสถาปนาความเป็นผู้นำของสหรัฐฯใน “สองฟากฝั่งแอตแลนติก” ขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ยุโรปไม่ได้มีความสบายอกสบายใจเกี่ยวกับสภาพเช่นว่านั้นอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อยุโรปกำลังชื่มชมกับมนตร์เสน่ห์ซึ่งแฝงฝังอยู่ภายใน “ความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองในทางยุทธศาสตร์”
ทว่า สหรัฐฯก็ไม่อาจวาดหวังได้เช่นกันว่าจะสามารถสำแดงความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในระดับโลกได้ หากไม่มีระบบพันธมิตรตะวันตกมาคอยหนุนหลัง ด้วยเงื่อนงำเช่นนี้เอง ไบเดน ประมาณการว่า แผ่นกระดานทื่อมะลื่อแห่งสิทธิมนุษยชนนี่แหละ น่าจะเอื้ออำนวยโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการนำเอาพวกพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯกลับมายืนอยู่บนกระดานแผ่นเดียวกันโดยอยู่ใต้การนำของตน
สหรัฐฯหวนกลับคืนสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไม่ใช่มีต้นตอมาจากเจตนารมณ์อันสูงส่งอะไรหรอกเหตุผลสำคัญที่สุดเนื่องจากความวิตกกังวลที่เห็นจีนมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นทุกทีในองค์กรของยูเอ็นแห่งนี้ ในระหว่างที่สหรัฐฯหายหน้าหายตาไประยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้สืบเนื่องจากการคว่ำบาตรของคณะบริหารทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อจีนแอบช่วงชิงธงนำไปจากสหรัฐฯ จากความสามารถในการควบคุมโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จนอยู่หมัด ทำให้วอชิงตันรู้สึกอิจฉาตาร้อน
เรื่องที่มีความสำคัญพอๆ กัน ได้แก่ การที่จุดยืนของจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นที่รับฟังเห็นพ้องมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา – ตัวอย่างเช่น สิทธิมนุษยชนควรต้องพิจารณาแบบเปรียบเทียบสัมพัทธ์กับสถานการณ์ที่พวกประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญอยู่, แนวความคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนควรต้องกระจายแยกย่อยให้มีความหลากหลายมากกว่านี้ เนื่องจากมันไม่ได้มีวิธีการในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนเพียงวิธีเดียวที่เหมาะสมสอดคล้องกับทุกๆ ประเทศเหมือนกันหมด , และประเทศต่างๆ ไม่ควรส่งออกโมเดลของตนเอง หรือใช้ประเด็นทางสิทธิมนุษยชนะเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ
เป็นความจริงทีเดียว แนวความคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของฝ่ายตะวันตก ซึ่งเน้นโฟกัสอย่างแคบๆ ไปที่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคดเห็น หรือเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตลอดจนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยนั้น มีความโน้มเอียงที่จะกลายเป็นการดูแคลนสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษยชนจำนวนมาก ซึ่งก็คือสิทธิเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่และสิทธิเกี่ยวกับการพัฒนา พวกประเทศตะวันตกปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า มีหนทางหลายๆ สายสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ในการเดินไปสู่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรือง โดยที่เส้นทางของฝ่ายตะวันตกนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหนทางเหล่านี้ และบางที มันกระทั่งไม่ใช่เป็นเส้นทางที่ดีที่สุดหรือที่เหมาะสมที่สุดด้วยซ้ำ
พูดกันง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ เวลานี้สิทธิมนุษยชนกำลังถูกใช้ให้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับทำให้ระเบียบโลกปัจจุบันเพิ่มความแข็งแกร่งและยืนยาวถาวรในลักษณะที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของโลกตะวันตก อย่างไรก็ดี นี่เป็นสงครามที่พวกเขากำลังพ่ายแพ้ปราชัย ระเบียบโลกใหม่กำลังก่อตัวขึ้นมาโดยมีวาระด้านมนุษยธรรมระดับโลกซึ่งแตกต่างออกไปจากเดิมมากมาย รวมทั้งมันจะกลายเป็นกระแสหลักสำหรับสังคมมนุษย์ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีของจีน ได้ร่วมกันประกาศแผนการว่าด้วยกรอบโครงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งอันซับซ้อนรอบด้านของประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202102/1216584.shtml) โดยประกาศจุดมุ่งหมายที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลอดทั่วทั้งโลกเอาไว้ดังนี้ รางรถไฟความยาว 200,000 กิโลเมตร, ทางหลวงความยาว 460,000 กิโลเมตร, และเส้นทางเดินเรือทะเลระดับสูงความยาว 25,000 กิโลเมตรซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชายฝั่งแห่งสำคัญๆ 27 แห่ง, ท่าอากาศยานสำหรับการขนส่งพลเรือน 400 แห่ง, และศูนย์คมนาคมแบบเดินทางเร่งด่วน 80 แห่ง ทั้งหมดนี้จะทำให้สำเร็จภายในปี 2035
ความสำเร็จในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกเท่านั้น แต่ยังจะเป็น “ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์, ศูนย์กลางการค้า, ศูนย์กลางด้านชำระบัญชีและศูนย์กลางทางการเงิน, เป็นการวางรากฐานอันมั่นคงสำหรับเส้นทางมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก” อย่างที่มีผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งให้ความเห็นเอาไว้
คณะบริหารไบเดนจะสามารถตอบโต้การท้าทายล่าสุดของจีนเช่นนี้ได้อย่างไร?
ไม่น่าประหลาดใจอะไร สหรัฐฯกำลังหมดมุกเสียแล้วในการรับมือกับการพุ่งพรวดขึ้นมาของจีน ในปี 2020 จีดีพีของจีนอยู่ในระดับเท่ากับกว่า 70% ของขนาดจีดีพีของสหรัฐฯ แต่ตามการคาดการณ์ในปัจจุบัน จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นไปครองตำแหน่งระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในปี 2028 สหรัฐฯนั้นตระหนักดีว่าในการแข่งขันชิงชัยทางเศรษฐกิจนั้นตนเองกำลังพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเสียแล้ว
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างIndian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter ttps://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย