คณะบริหารไบเดนออกเอกสารนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้การเป็นปฏิปักษ์กับจีนที่แผ่ขยายต่อเนื่องคือความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งของอเมริกา ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศบลิงเคนก็สำทับ ปักกิ่งคือบททดสอบด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ
เมื่อวันพุธ (3 มี.ค.) คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เผยแพร่เอกสารพูดถึงกรอบโครงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติความยาว 24 หน้า โดยวันเดียวกันนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ก็กล่าวปราศรัยว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศครั้งสำคัญครั้งแรกของเขา
“(จีน) เป็นคู่แข่งขันเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่อาจมีศักยภาพในการผสมผสานอำนาจทางเศรษฐกิจ, การทูต, การทหาร, และเทคโนโลยีของตน เพื่อแสดงออกซึ่งการท้าทายอย่างยั่งยืนต่อระบบระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและเปิดกว้าง” เอกสารความมั่นคงแห่งชาติพูดถึงประเทศจีน
รายงานกล่าวต่อไปว่า เมื่อต้องเผชิญการท้าทายจากจีนและรัสเซีย กองทัพสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงการเน้นหนักของตนจาก “พวกแพลตฟอร์มและระบบอาวุธที่ได้รับตกทอดมาและไม่มีความจำเป็น เพื่อปลดปล่อยทรัพยากรต่างๆ สำหรับการลงทุน” ในบรรดาเทคโนโลยีล้ำสมัยแทน
อเมริกาและจีนมีประเด็นงัดข้อกันอยู่หลายหลาก ตั้งแต่เรื่องอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แนวทางปฏิบัติด้านเศรษฐกิจของปักกิ่ง ฮ่องกง ไต้หวัน และสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงของจีน โดยคณะบริหารของไบเดนระบุว่า โดยภาพรวมกว้างๆ แล้วจะยังคงแนวทางแข็งกร้าวกับจีนแบบเดียวกับคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงแต่จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น
สำหรับบลิงเคน ซึ่งกล่าวปราศรัยในงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะอยู่ในรูปการแข่งขันเมื่อควรจะเป็นเช่นนั้น ร่วมมือเมื่อสามารถทำได้ และเป็นศัตรูกันเมื่อจะต้องเป็น
บลิงเคนเสริมว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับจีน “จากจุดยืนของความเข้มแข็ง” แบบที่คณะบริหารพยายามทำอยู่ จำเป็นต้องยึดมั่นในค่านิยมของประเทศ เป็นต้นว่าเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงหรือเมื่อประชาธิปไตยถูกเหยียบย่ำในฮ่องกง ไม่เช่นนั้นจีนจะยิ่งได้ใจและกระทำการเหล่านั้นต่อไป
ขณะที่ บลิงเคน พูดเกี่ยวกับอิหร่าน ความขัดแย้งในเยเมน และพม่า โดยบอกว่าเป็นเรื่องที่อาจกลายเป็นความท้าทาย แต่เขาบอกว่าจีนเป็นประเทศเดียวซึ่งเป็น 1 ใน 8 ภารกิจสำคัญที่สุดของอเมริกา โดยที่ภารกิจอื่นๆ นั้น ได้แก่ การป้องกันไม่ให้โลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดอีก การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ เป็นต้น
ไบเดนนั้นต้องการยกเลิกแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ด้วยการฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าพันธมิตร และมุ่งเน้นการทูตแบบพหุภาคี พร้อมทั้งยอมรับว่า โลกเปลี่ยนไปนับจากที่ตนทำงานในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก่อนที่ทรัมป์จะเข้าสู่ทำเนียบขาว
ขณะที่บลิงเคนพูดแบบชาวพรรคเดโมแครตว่า คณะบริหารจะต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ตำแหน่งงานและสิทธิของแรงงานอเมริกันและครอบครัว
วันเดียวกันนั้น โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องแผนการของเยอรมนี ซึ่งเป็นพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในการส่งเรือฟรีเกตเข้าสู่ทะเลจีนใต้เดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 2002 โดยเธอบอกว่านี่จะเป็นการส่งเสริมกฎหมายระหว่างประเทศในอินโด-แปซิฟิกและการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เยอรมนีเองบอกว่า จะไม่ส่งเรือรบเข้าไปในเขต 12 ไมล์ทะเลซึ่งเป็นน่านน้ำที่จีนและหลายๆ ประเทศอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนที่อ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดแถลงว่า ประเทศต่างๆ สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการเดินเรือและการบินภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่ต้องไม่ใช้เป็นข้ออ้างในการบ่อนทำลายอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศอื่น
ที่ผ่านมา กองทัพเรืออเมริกามักดำเนินการภายใต้เสรีภาพในการเดินเรือด้วยการส่งเรือรบเฉียดใกล้เกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้ อีกทั้งเรียกร้องให้พันธมิตรทำแบบเดียวกัน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ฝรั่งเศสเผยว่า ได้ส่งเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์และเรือรบแล่นผ่านทะเลจีนใต้เพื่อตอกย้ำเสรีภาพในการเดินเรือ
(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี)