xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน-สี’ หารือครั้งแรกจุดยืนต่างกันชัดเจน มะกันยันไม่รีบยกเลิกมาตรการภาษีสินค้าจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดียุคบารัค โอบามา อย่างเช่นในภาพนี้ เมื่อตอนที่ไบเดนไปเยือนปักกิ่งในช่วงปี 2011 ทั้งนี้ ทั้งคู่ได้กลับมาสนทนาหารือกันครั้งแรกตั้งแต่ที่ไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดี เมื่อดึกวันพุธ (10 ก.พ.) ตามเวลาวอชิงตัน ซึ่งตรงกับเช้ามืดวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) ตามเวลาปักกิ่ง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินหน้ากดดัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งประเด็นฮ่องกง ไต้หวัน และชาวอุยกูร์ในซินเจียง ระหว่างพูดคุยกันทางโทรศัพท์ครั้งแรกนับจากที่ประมุขสหรัฐฯเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ประมุขแดนมังกรตอบกลับโดยเตือนการเผชิญหน้ากัน คือ “หายนะของทั้งสองประเทศ” อีกทั้งย้ำประเด็นทั้งหมดที่ไบเดนหยิบยกขึ้นมาเป็นกิจการภายในของจีนที่วอชิงตันพึงใช้ความระมัดระวังรอบคอบ

นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงระหว่างการเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี ไบเดนยังสั่งตั้งทีมเฉพาะกิจทบทวนยุทธศาสตร์การทหารโดยรวมเพื่อรับมือความท้าทายจากปักกิ่ง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อเมริกันเผยคณะบริหารชุดใหม่ไม่มีแผนยกเลิกมาตรการภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนตั้งแต่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์

ภายหลังการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในเช้าวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) ตามเวลาปักกิ่ง แต่เป็นเวลาช่วงดึกวันพุธ (10) ตามเวลาวอชิงตัน ทำเนียบขาวแถลงว่า ไบเดนได้เน้นย้ำกับสี ถึงความกังวลพื้นฐานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจของปักกิ่ง ตลอดจนถึงการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง และการอวดอ้างสิทธิ์อย่างก้าวร้าวมากขึ้นในเอเชีย ซึ่งรวมถึงไต้หวัน

ผู้นำสหรัฐฯบอกกับผู้นำจีนว่า ภารกิจสำคัญสูงสุดของตนคือการปกป้องความปลอดภัย ความมั่งคั่ง สุขภาพ และวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน รวมทั้งปกป้องอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี

ทำเนียบขาวสำทับว่า ผู้นำทั้งคู่ยังหารือกันเรื่องวิกฤตไวรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่กระจายอาวุธ

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงในวันพฤหัสฯ (11) ว่า สี บอกกับ ไบเดน ว่า การเผชิญหน้ากันของประเทศท้งสองอาจเป็น “หายนะ” และทั้งสองฝ่ายควรกำหนดแนวทางและกลไกต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจผิดพลาด รวมทั้งยังเตือนผู้นำสหรัฐฯว่า ทั้ง ฮ่องกง ซินเจียง และไต้หวัน นั้นเป็นประเด็นด้านอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนของจีน และหวังว่าอเมริกาจะดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้อย่างระมัดระวังรอบคอบ

การหารือครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกระหว่าง สี กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประมุขแดนมังกรได้พูดคุยกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยนับจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้ตกต่ำสุดขีดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะหลังจากทรัมป์กล่าวหาโจมตีปักกิ่งเรื่องไวรัสโคโรนาอย่างไม่ขาดปาก

คณะบริหารของทรัมป์ยังออกมาตรการเพื่อบีบคั้นกดดันจีนหลายๆ ประการ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้า การแซงก์ชันเจ้าหน้าที่และบริษัทจีนที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อีกทั้งยังท้าทายการอ้างสิทธิ์ของปักกิ่งในทะเลจีนใต้

เจ้าหน้าที่จีนแสดงความหวังว่า ความสัมพันธ์สองประเทศจะดีขึ้นภายใต้คณะบริหารของไบเดน และเรียกร้องให้วอชิงตันยอมพบกันครึ่งทาง

สี นั้นได้แสดงความยินดีกับชัยชนะของไบเดนในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงแม้ระหว่างหาเสียง ไบเดนเคยเรียกเขาว่า “วายร้าย” พร้อมประกาศนำนานาชาติกดดัน โดดเดี่ยว และลงโทษจีนก็ตาม

คณะบริหารใหม่ของสหรัฐฯภายใต้ไบเดนนั้น ยังคงพยายามแสดงจุดยืนชัดเจนในการเดินหน้ากดดันจีนต่อไป แต่ย้ำว่า จะใช้แนวทางพหุภาคีด้วยการหาความร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติให้มากขึ้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของไบเดนซึ่งไม่มีการออกนาม ได้เปิดเผยก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะต่อสายพูดคุยกับประธานาธิบดีจีนว่า ในเร็วๆ นี้คณะบริหารจะร่วมมือกับชาติพันธมิตรและบรรดาประเทศคู่ค้าเพิ่ม “มาตรการจำกัดใหม่ๆ แบบกำหนดเป้าหมาย” กับการส่งออกเทคโนโลยีอ่อนไหวบางอย่างไปยังจีน รวมทั้งพลเมืองและนิติบุคคลจีนที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และจะไม่รีบร้อนยกเลิกมาตรการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรจากสินค้าจีน ที่ตกทอดมาจากคณะบริหารทรัมป์

นอกจากนั้นระหว่างเดินทางไปยังเพนตากอนช่วงเช้าวันพุธ ไบเดนยังประกาศชัดเจนว่า จะไม่ผ่อนคลายมาตรการทางทหารต่อจีน พร้อมสั่งตั้งทีมเฉพาะกิจโดยให้เวลา 4 เดือนในการทบทวนยุทธศาสตร์ทางทหารเพื่อรับมือความท้าทายจากจีน ซึ่งรวมไปถึงด้านโครงสร้างและการจัดวางกำลัง ตลอดจนพันธมิตรและความสัมพันธ์ทางการทหารระดับทวิภาคีกับปักกิ่ง

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พูดกับบุคลากรของกระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) โดยที่มี รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส (ขวา) และรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน (ซ้าย) ยืนอยู่ข้างๆ ขณะไปตรวจเยี่ยมเพนตากอนเมื่อวันพุธ (10 ก.พ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น