xs
xsm
sm
md
lg

US-จีนหารือสำคัญหนแรกในยุคไบเดน วอชิงตันแตะปัญหาคิดต่างทั้งเรื่อง ‘ไต้หวัน-ฮ่องกง-อุยกูร์’ ปักกิ่งโต้เป็นกิจการภายใน-คนนอกอย่ายุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักการทูตระดับท็อปของสหรัฐฯและจีน พูดจาปราศรัยกันเมื่อวันเสาร์ (6 ก.พ.) ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งสำคัญระหว่างกันครั้งแรกของประเทศทั้งสอง นับแต่ที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ขึ้นครองอำนาจในอเมริกา โดยมีรายงานว่า การหารือได้แตะต้องประเด็นสำคัญยิ่งยวดหลายๆ ประการซึ่งสร้างความตึงเครียดให้แก่สายสัมพันธ์ของทั้งคู่

รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ พยายามกดดันปักกิ่งเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง ตลอดจนประเด็นเรื่องทิเบต ฮ่องกง รวมถึงไต้หวัน ขณะที่ หยาง เจียฉี ผู้ทรงอำนาจสูงสุดด้านนโยบายการต่างประเทศของจีนในเวลานี้ ตอบโต้ว่า ประเด็นทั้งหมดเหล่านั้นเป็นกิจการภายในที่จีนจะไม่ยอมให้คนนอกแทรกแซง ซ้ำเรียกร้องวอชิงตันแก้ไขข้อผิดพลาดที่ก่อไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเคารพหลักการ “จีนเดียว” ทั้งนี้ ปัจจุบัน หยาง เป็นสมาชิกของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นทั้งมนตรีแห่งรัฐผู้กุมนโยบายการต่างประเทศ และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน

บลิงเคน ทวีตว่า ได้กล่าวกับหยาง อย่างตรงไปตรงมาว่า อเมริกาจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ยืนหยัดสนับสนุนค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันศุกร์ (5) ตามเวลาวอชิงตัน หรือเช้าวันเสาร์ตามเวลาปักกิ่ง

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังกดดันให้จีนร่วมกับนานาชาติประณามการรัฐประหารในพม่า และระบุว่า จะร่วมมือกับชาติพันธมิตรเพื่อให้จีนรับผิดชอบต่อความพยายามคุกคามเสถียรภาพในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งการบ่อนทำลายระบบระเบียบที่อิงกับกฎระหว่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการแถลงที่วุฒิสภาซึ่งกำลังพิจารณาให้การรับรองเขาเข้าดำรงตำแหน่ง บลิงเคนได้เคยประกาศว่า จะสานต่อแนวทางแข็งกร้าวต่อจีนของอดีตประธาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ตัวไบเดนเองกลับยื่นข้อเสนอประนีประนอมระหว่างการแถลงนโยบายการต่างประเทศเมื่อวันพฤหัสฯ (4) โดยกล่าวว่า แม้เผชิญหน้ากับจีน แต่อเมริกาก็พร้อมร่วมมือกับปักกิ่งหากเป็นผลประโยชน์ของชาติ ขณะที่บลิงเคนเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่วอชิงตันและปักกิ่งในฐานะสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถร่วมมือกันได้

ทางด้านหยางระบุว่า ความสัมพันธ์จีน-อเมริกา มาถึงทางแยกสำคัญ และยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลจีนต่อสหรัฐฯ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี หยางเตือนว่า ฮ่องกง ซินเจียง และทิเบตเป็นกิจการภายในของจีน และจีนจะไม่ยอมให้ภายนอกเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง พร้อมเรียกร้องให้อเมริกาแก้ไขข้อผิดพลาดที่ก่อขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และร่วมมือกับจีนเพื่อรักษาจิตวิญญาณของการปราศจากความขัดแย้งและการเผชิญหน้า รวมทั้งเคารพกันและกัน และร่วมมือกันในรูปแบบที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ จัดการความคิดเห็นที่แตกต่าง และส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ

หยางยังเรียกร้องให้วอชิงตันต้องยึดถือนโยบายจีนเดียว ซึ่งปักกิ่งถือว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ไม่อาจแยกออกไปได้ของตน และสำทับว่า ไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญและอ่อนไหวที่สุดในความสัมพันธ์จีน-อเมริกา

ในส่วนพม่านั้น หยางย้ำว่า นานาชาติควรสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่ดีเพื่อให้มีการสะสางปัญหาในประเทศดังกล่าวอย่างเหมาะสม

จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่ามายาวนาน และเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด ซึ่งเข้าไปลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ทั้งนี้ หลังจากกองทัพพม่าเข้าควบคุมตัวอองซานซูจี และผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ พร้อมประกาศยึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ (1) สื่อของทางการจีนแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียง “การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่” เท่านั้น

จุดยืนของปักกิ่งในเรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคณะบริหารของไบเดนที่ประณามการรัฐประหารและขู่แซงก์ชันหากกองทัพพม่าไม่คืนอำนาจให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างกล่าวกับคณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว หยางยอมรับว่า สองชาติมีมุมมองที่แตกต่าง แต่สิ่งสำคัญคือ การควบคุมอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเหล่านั้นแทรกแซงขัดขวางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี)

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

หยาง เจียฉี สมาชิกกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน  ผู้ทรงอำนาจสูงสุดด้านนโยบายการต่างประเทศของจีนเวลานี้ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 9 พ.ย. 2018)
กำลังโหลดความคิดเห็น