xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-จีนนัดหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งแรก ขณะมีความหวั่นเกรงกันว่าสองประเทศจะเปิด‘สงครามไซเบอร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


(ภาพจากวิกีพีเดีย)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Efforts reported to defuse US-China cyberwar scare
by David P. Goldman 10/03/2021

ภายหลังมีข่าวรั่วไหลออกมาทางสื่อมวลชน เรื่องสหรัฐฯวางแผนตอบโต้แก้เผ็ดจีนที่พยายามแฮกเครื่องเซิร์ฟเวอร์อีเมลของอเมริกันจำนวนเป็นหมื่นๆ เครื่อง ก็มีรายงานว่าจะมีการพบปะหารือระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ที่คณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นปกครองประเทศ

ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งดูเหมือนต่างก้าวถอยหลังออกจากปากขอบเหวของสงครามเทค และการผ่าทางตันในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเวลานี้ทำท่ามีความเป็นไปได้ขึ้นมาแล้ว ภายหลังระยะเวลา 4 ปีแห่งความตึงเครียดทางการค้าและทางการทหารระหว่าง 2 ประเทศนี้ที่เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 1 และ อันดับ 2 ของโลก

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่จีนหลายรายบอกกับพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เมื่อวันอังคาร (9 มี.ค.) ว่า หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ พร้อมด้วย หยาง เจียฉือ ที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศของ สี จิ้นผิง อาจจะได้พบหารือกับคู่เจรจาชาวอเมริกันของพวกเขา ที่เมืองแองคอเรจ รัฐอะแลสกา ของอเมริกา เพื่อเปิดการติดต่อสื่อสารระดับสูงกันใหม่อีกครั้งหนึ่งกับสหรัฐฯ

ข้อเสนอเรื่องพบหารือกันที่แองคอเรจนี้ รายงานออกมาเป็นครั้งแรกโดยเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ โดยที่ หู ซีจิน บรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ (แท็บลอยด์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -หมายเหตุผู้แปล) ก็ทวิตว่า เขาหวังว่าข่าวนี้จะเป็นความจริง

(เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมายืนยันข่าวนี้แล้วเมื่อวันพุธที่ 10 มี.ค.ตามเวลาในวอชิงตัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โฆษกหญิงผู้นี้ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กับ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซุลลิแวน จะพบปะหารือกับ หวัง อี้ และ หยาง เจียฉือ ในวันที่ 18 มี.ค. ที่อะแลสกา ขณะที่ เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็แถลงยืนยันเช่นกันในวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. ตามเวลาในปักกิ่ง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/top-u-china-diplomats-hold-060920614.html --หมายเหตุผู้แปล)

รายงานข่าวเกี่ยวกับลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะมีการรีเซตความสัมพันธ์จีน-อเมริกันกันใหม่นี้ ออกมาภายหลังช่วงสัปดาห์แห่งความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามเทคระหว่างสหรัฐฯกับจีน หลังจากที่ ไมโครซอฟท์ ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า พวกแฮกเกอร์จีนซึ่งสัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับรัฐบาลปักกิ่ง กำลังพยายามแทรกซึมโจมตีเครื่องเซิร์ฟเวอร์อีเมลของสหรัฐฯจำนวนเป็นหมื่นๆ เครื่อง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/security/blog/2021/03/02/hafnium-targeting-exchange-servers/)

แฮกเกอร์กลุ่มนี้ ซึ่งทางไมโครซอฟท์ตั้งชื่อให้ว่า “แฮฟเนียม” (Hafnium) พร้อมกับแจกแจงว่า “ได้ถูกประเมินว่าเป็นพวกที่อุปถัมภ์โดยรัฐและกำลังปฏิบัติการออกมาจากประเทศจีน ทั้งนี้โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อ, ยุทธวิธี, และกระบวนวิธีในการทำงาน” บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายนี้โพสต์ข้อความเช่นนี้เอาไว้ในบล็อก ทางด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯก็ได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมา นำโดยรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ แอนน์ นูเบอร์เกอร์ (Anne Neuberger) เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามนี้

เมื่อเผชิญกับลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามเทคชนิด “ร้อนแรง” กับจีนขึ้นมา คณะบริหารไบเดนก็ต้องการที่จะลดความตึงเครียดลงไป ทั้งนี้ตามปากคำของพวกผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคสหรัฐฯหลายราย บรรดากิจการอเมริกันซึ่งไปทำมาหากินอย่างคึกคักในจีน มีความหวาดกลัวมานานแล้วว่าปักกิ่งจะต่อสู้ตอบโต้เอาคืนความพยายามของอเมริกันในการอุดปากบีบคออุตสาหกรรมไฮเทคของตน ซึ่งก็รวมไปถึงการที่คณะบริหารทรัมป์สั่งแบนชิปคอมพิวเตอร์ระดับไฮเอนด์และเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ณ การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้นำของจีนได้ย้ำยืนยันว่า จะลงแรงทุ่มเทความพยายามแบบหมดหน้าตักเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองในด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้จงได้ นักวิเคราะห์บางรายประมาณการว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของการชดเชยทดแทนความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯนั้น น่าจะอยู่ในระดับ 1% ถึง 2% ของจีดีพีทีเดียว

ในการประมาณการของนักวิเคราะห์บางคน การที่จีนตั้งเป้าหมายอัตราเติบโตของจีดีพีสำหรับปี 2021 เอาไว้ต่ำอย่างผิดความคาดหมาย คือแค่ 6% --เทียบเทียบกับคำทำนายอย่างเป็นฉันทามติของฝ่ายอื่นๆ ซึ่งให้ไว้ที่ 8% ถึง 9% -- เป็นการสะท้อนให้เห็นต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งสูงลิบในความพยายามเพื่อบรรลุการพึ่งตนเองให้ได้นี้ ทั้งนี้จีนนำเข้าชิปคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯเป็นมูลค่าสูงถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในปี 2020 โดยที่ส่วนใหญ่แล้วเพื่อใช้สำหรับการบริโภคของจีนเอง

การที่คณะบริหารทรัมป์แบนไม่ให้ขายชิปแก่พวกผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน โดยเฉพาะ หัวเว่ย และ แซดทีอี กลายเป็นการคุกคามที่จะชะลอการก่อสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์เคลื่อนที่ 5 จี มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ของแดนมังกร ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนแกนกลางของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไฮเทคของปักกิ่ง

การแซงก์ชั่นจีนที่วอชิงตันกระทำอยู่เวลานี้ ซึ่งใช้วิธีขึ้นบัญชีดำ “entity list” ของกระทรวงพาณิชย์อเมริกัน แล้วประกาศห้ามขายเซมิคอนดักเตอร์ให้นั้น เป็นการประกาศใช้อำนาจสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritorial authority) ในระดับที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน พวกเขากีดกันไม่ให้บริษัทผู้ผลิตชิปของไต้หวัน ทำชิปตามที่บริษัทจีนออกแบบสั่งซื้อ โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะบริษัทไต้หวันใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ของอเมริกันและใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกัน จีนพิจารณาว่าการแซงก์ชั่นเช่นนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แถมยังเป็นการยั่วยุอีกด้วย ถ้าหากพิจารณาถึงสถานะแห่งเขตอำนาจรัฐของไต้หวันว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน

จีนนั้นสามารถสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯด้วยหนทางวิธีการต่างๆ จำนวนหนึ่งทีเดียว เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ขอให้พวกผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมช่วยประเมินสรุปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากจีนห้ามส่งออกแร่แรร์เอิร์ธให้สหรัฐฯ ทั้งนี้ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/d3ed83f4-19bc-4d16-b510-415749c032c1) เวลานี้จีนเป็นผู้ควบคุมซัปพลายของสินแร่หายากชนิดนี้เอาไว้ประมาณ 80% ของโลก โดยที่แรร์เอิร์ธเป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้อย่างชนิดหาอย่างอื่นมาทดแทนไม่ได้ สำหรับการผลิตพวกระบบอาวุธสำคัญๆ ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่รุ่น เอฟ-35

นอกจากนั้นแล้ว จีนสามารถที่จะจำกัดขีดวงการดำเนินงานของพวกบริษัทสหรัฐฯในประเทศจีน ตัวอย่างเช่น แอปเปิล ซึ่งรายได้ของบริษัทเมื่อปีที่แล้วประมาณ 15% ได้มาจากแดนมังกร

พวกนักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเชื่อว่า จีนยุยงส่งเสริมให้ กลุ่ม “แฮฟเนียม” ดำเนินการแฮกระบบของสหรัฐฯ เพื่อสาธิตให้เห็นถึงความสามารถของฝ่ายตนในการทำลายเศรษฐกิจอเมริกันด้วยวิธีการอันกำกวมซึ่งทำให้สามารถปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องได้อย่างนุ่มนวล แทนการใช้มาตรการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างโจ่งแจ้งที่คาดการณ์ได้ว่าจะยั่วแหย่ให้เกิดการเอาคืนชนิดที่อาจจะตอบโต้กันไปมาและบานปลายออกไปเรื่อยๆ

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับอาวุโสของสหรัฐฯรายหนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ว่า การที่คณะบริหารไบเดนใช้วิธีปล่อยข่าวรั่วออกไปเพื่อให้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันก็ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีนตลอดจนกับรัสเซีย ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯได้ประณามพวกหน่วยข่าวกรองของรัสเซียว่าเป็นตัวการแอบแฮก โซลาร์วินด์ส (Solarwinds) บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ ทำให้สามารถฝังมัลแวร์เข้าไปในระบบของพวกลูกค้า 18,000 รายชองโซลาร์วินด์ส

เจ้าหน้าที่รายนี้ยังหยิบยกเรื่องการปล่อยข่าวไปถึงสื่อมวลชนที่ระบุว่าจะมีมาตรการตอบโต้ออกมาในเร็วๆ นี้ คือเครื่องบ่งชี้ว่าวอชิงตันต้องการที่จะถอดชนวนไม่ให้มีโอกาสเกิดการเผชิญหน้ากันนั่นเอง เดวิด อี. แซงเกอร์ (David E. Sanger) ผู้สื่อข่าวมือเก่าด้านความมั่นคงแห่งชาติของนิวยอร์กไทมส์ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกันนี้ โดยเขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ดังนี้:

“ในช่วงขณะที่วางแผนจะเริ่มการตอบโต้แก้เผ็ดรัสเซียสำหรับการแฮกพวกหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทภาคเอกชนของอเมริกันอย่างใหญ่โตมโหฬารซึ่งค้นพบกันเมื่อปลายปีที่แล้วอยู่นั่นเอง คณะบริหารไบเดนก็ประสบกับการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ตนจะต้องโจมตีกลับคืนใส่ศัตรูสำคัญอีกรายหนึ่ง นั่นคือ จีน หรือไม่ ... รัฐบาลสหรัฐฯนั้นไม่ได้บอกกล่าวต่อสาธารณชนถึงการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการใดๆ ว่าใครคือผู้รับผิดชอบการแฮกครั้งหลังนี้ ทว่าที่ทำเนียบขาวและที่สำนักงานของไมโครซอฟท์ในเมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน ... ความหวั่นกลัวที่มีอยู่ก็คือการจารกรรมและการโจรกรรมเช่นนี้ อาจจะเป็นแค่บทเกริ่นนำของกิจกรรมทำลายล้างอย่างกว้างไกลยิ่งกว่านี้ ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือการลบทิ้งข้อมูล...

ความเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งแรกคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ พวกเจ้าหน้าที่บอก ด้วยการปฏิบัติการแบบปิดลับชุดใหญ่ต่อทั่วทั้งเครือข่ายของรัสเซีย ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ วี. ปูติน และพวกหน่วยข่าวกรองตลอดจนฝ่ายทหารของเขาดูออกว่าเป็นฝีมือใคร ทว่าไม่เป็นที่รับรู้ของโลกวงกว้างภายนอก พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้บอกว่า การปฏิบัติการดังกล่าวยังจะผสมผสานด้วยการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจในบางรูปแบบ –ถึงแม้แทบไม่มีการแซงก์ชั่นที่ทรงประสิทธิภาพอย่างแท้จริงใดๆ หลงเหลือให้บังคับใช้แล้วก็ตามที— และคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งจากมิสเตอร์ไบเดน มีเนื้อหาให้เร่งรัดเพิ่มความแข็งแกร่งของพวกเครือข่ายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลังจากประสบกับการแฮกของรัสเซีย ซึ่งดำเนินไปโดยไม่ได้ถูกตรวจจับได้เป็นเวลานานหลายเดือนทีเดียว จวบจนกระทั่งมาถูกค้นพบโดยบริษัทความมั่นคงไซเบอร์ของภาคเอกชนรายหนึ่ง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2021/03/07/us/politics/microsoft-solarwinds-hack-russia-china.html)

ทางด้านอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯรายที่พูดกับเอเชียไทมส์ แสดงความคิดเห็นว่า “ถ้าคุณต้องการตอบโต้แบบปิดลับ คุณจะไม่มีการประกาศการปฏิบัติการปิดลับดังกล่าวให้ทราบกันล่วงหน้าหรอก –คุณก็เพียงแต่เดินหน้าแล้วก็ลงมือเท่านั้น ดังนั้น การที่ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯปล่อยแผนการรั่วไหลออกมาแบบนี้ ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องลงมือดำเนินการมากกว่า”

แซงเกอร์รายงานว่า มีการถกเถียงกันภายในคณะบริหารไบเดนเกี่ยวกับวิธีการในการตอบโต้ และกล่าวต่อไปว่า “พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลมักกลัวว่า การตอบโต้แบบแรงเกินไปจะเสี่ยงทำให้เกิดการบานปลาย ตรงนี้มีความห่วงกังวลกันเป็นพิเศษเกี่ยวกับการโจมตีของรัสเซียและจีน โดยเป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองประเทศได้แอบฝัง “พวกประตูหลัง” เอาไว้ในระบบของอเมริกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในทางทำลายล้างมากยิ่งขึ้น”

พวกเจ้าหน้าที่ในวงการอุตสาหกรรมสหรัฐฯกำลังรบเร้าคณะบริหารไบเดนให้หลีกเลี่ยงการทำเรื่องให้บานปลายไม่ว่ากับจีนหรือรัสเซีย ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามไซเบอร์ชนิดที่เกิดความเสียหายในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้

เหล่านักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีของอเมริกัน มองเห็นกันถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของปักกิ่งที่ต้องการชนะในการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจีนเริ่มต้นขึ้นมาจากฐานะที่ล้าหลังกว่าเป็นอย่างมาก ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมด้านนี้คนสำคัญมากรายหนึ่ง จีนจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีทีเดียวในการไล่ให้ทันความประณีตซับซ้อนของฝ่ายตะวันตกในเรื่องการผลิตชิป แต่ด้วยความพยายามที่มีอยู่อย่างมากมายเพียงพอ ก็จะทำให้ไม่อาจหยุดยั้งจีนจากการบรรลุถึงระดับสามารถพึ่งตนเองในเรื่องชิปได้

บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งโดย สำนักงานข่าวกรองซิงไห่ (Xinghai Intelligence Bureau) ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 8 มีนาคมโดย guancha.cn เว็บไซต์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับคณะรัฐมนตรีของจีน ได้ประกาศเอาไว้ว่า “สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนแล้ว ปี 2021 น่าจะเป็นปีแห่งการหักเลี้ยวกลับได้สำเร็จ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/xinghaiqingbaoju/2021_03_09_583460.shtml)

ขณะที่ไต้หวันกับเกาหลีใต้สามารถผลิตชิปที่มีความกว้างของทรานซิสเตอร์ เกต (transistor gate) เพียงแค่ 5 นาโนเมตร ซึ่งทำให้สามารถติดตั้งทรานซิสเตอร์บนแผ่นชิปแต่ละแผ่นได้เพิ่มขึ้นมากมายกว่ากันนัก รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงกว่ามากในเรื่องการกินไฟ “โดยที่เซมิคอนดักเตอร์ของจีนโดยรวมแล้วล้าหลังกว่าของพวกประเทศต่างแดนอยู่ 1-2 เจเนอเรชั่น บางผลิตภัณฑ์ก็ล้าหลังมากกว่า 3 เจเนอเรชั่นด้วยซ้ำ เกณฑ์มาตรฐานของระดับสากลเวลานี้มาถึงระดับ 7 นาโนเมตรกันแล้ว แต่ระดับโดยรวมของเรายังคงอยู่ที่ 28 นาโนเมตร ในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการทำเซมิคอนดักเตอร์ของจีน มีเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่สามารถบรรลุถึงระดับก้าวหน้าทางสากลแล้ว (เครื่องจักรพิมพ์กัดกรดเซมิคอนดักเตอร์ระดับไมโคร micro semiconductor etching machine) ขณะที่เครื่องจักรอุปกรณ์พิมพ์ลายเซอร์กิตลงบนแผ่นชิป (lithography machines) ของจีนเอง ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกสองสามอย่าง ล้าหลังกว่า 3 เจเนอเรชั่นทีเดียว

ทว่าบทคัดย่อของ ข่าวกรองซิงไห่ สรุปว่า สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า จีนสามารถผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ใช้ในการทำเซมิคอนดักเตอร์ได้แทบจะครบถ้วนทั้งแผงอย่างสมบูรณ์ โดยเขียนเอาไว้ดังนี้:

“มันไม่สำคัญหรอกในเรื่องที่เรายังคงล้าหลัง แต่มันถึงตายกันทีเดียวถ้าหากมีผลิตภัณฑ์ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งแผง ถึงแม้ในปัจจุบันระดับของเรายังไม่ดีเท่ากับพวกมหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์ที่ลงหลักปักฐานมั่นคงกันแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯและญี่ปุ่น แต่ระดับความสมบูรณ์ของอุตสาหกรรมของเรานั้นไม่ได้ด้อยเลยเมื่อเปรียบเทียบกับพวกเขา ... สายโซ่ทางอุตสาหกรรมของเครื่องจักรอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของจีนนั้นมีความสมบูรณ์เอามากๆ โดยมีทั้ง diffusion, lithography, etching, and thin film growth… เราสามารถผลิตอุปกรณ์แกนหลักชนิดต่างๆ ได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

รายงานชิ้นนี้สรุปเอาไว้ดังนี้ “หากเรายังคงสามารถใช้ความอุตสาหะพยายามกันต่อไปแล้ว ในไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะสามารถไล่ตามจนทัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น