สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกล่าวเตือนจีนในวันอังคาร (16 มี.ค.) ว่าอย่าได้ใช้ “อำนาจบังคับคนอื่น และแสดงพฤติกรรมสั่นคลอนเสถียรภาพ” ภายหลังการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตรของพวกเขาเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ของจีน
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวย้ำว่า ถ้าจีนใช้อำนาจบังคับคนอื่น และการก้าวร้าวรุกรานเพื่อเดินหน้าไปในทางที่ตนเองต้องการแล้ว “เราก็จะผลักให้กลับไป ถ้าหากจำเป็น”
การมาเยือนโตเกียวของบลิงเคนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกของสมาชิกระดับท็อปในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และยังเกิดขึ้นหลังจากการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระหว่างผู้นำของ 4 ชาติ “กลุ่มคว็อด” ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และอินเดีย
คำแถลงของรัฐมนตรีคนสำคัญของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นคราวนี้ ออกมาก่อนหน้าก่อนหน้าการเจรจากันที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา ในวันพฤหัสบดี (18) นี้ ซึ่งจะเป็นการพบหน้าพูดจากันครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารไบเดนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน เพื่อพูดจากันเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการทะเลาะวิวาทระหว่าง 2 ชาติซึ่งเป็นเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก
ทั้งนี้ วอชิงตันวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ตนเองเรียกว่าเป็นความพยายามของปักกิ่งในการข่มเหงรังแกเพื่อนบ้านเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ต่างๆ ขณะที่จีนก็ประณามสิ่งที่ตนเองบอกว่าเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการบ่มเพาะให้เกิดความไม่สงบขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ และเข้าแทรกแซงในเรื่องที่เป็นกิจการภายในของจีน
ในคำแถลงที่ออกร่วมกันกับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น บลิงเคนกับออสตินระบุว่า “พฤติกรรมของจีน ซึ่งไม่สอดคล้องกับระเบียบระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นการเสนอความท้าทางทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, การทหาร และเทคโนโลยีต่อกลุ่มพันธมิตรนี้ และต่อประชาคมระหว่างประเทศ”
ทั้งสองประเทศยังให้คำมั่นว่าพวกเขาจะคัดค้านการใช้อำนาจบังคับและพฤติกรรมมุ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของคนอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายระบบระหว่างประเทศที่ยึดโยงกับระเบียบกฎเกณฑ์
การประชุมหารือที่โตเกียวครั้งนี้จัดในรูปแบบที่เรียกว่า “2+2” โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ โทชิมิตสึ โมเตงิ และรัฐมนตรีกลาโหม โนบูโอะ คิชิ เป็นเจ้าภาพ
เกาหลีเหนือซึ่งได้แถลงดักคอเอาไว้ก่อน โดยเตือนคณะบริหารไบเดนว่า อย่าได้ก่อกวนสร้างความโกรธเกรี้ยว หากต้องการที่จะอยู่กันอย่างสงบสุข ก็เป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจมากในการหารือของเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯและญี่ปุนครั้งนี้
บลิงเคนได้ย้ำถึงความสำคัญของการทำงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในความพยายามที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
นอกจากนั้น บรรดารัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันถึง “คำมั่นสัญญาอันไม่คลอนแคลน” ของสหรัฐฯในการคุ้มครองป้องกันญี่ปุ่น ในการพิพาทกับจีนเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออกที่ฝ่ายญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าเซงกากุ แต่ฝ่ายจีนขนานนามว่า เตี้ยวอี๋ว์ รวมทั้งกล่าวย้ำว่าพวกเขาคัดค้านการกล่าวอ้าง “อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของจีนเหนืออาณาบริเวณต่างๆ ในทะเลจีนใต้
พวกเขายังแสดงความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ เป็นต้นว่า กฎหมายที่จีนออกมาเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งเปิดทางให้ยามฝั่งของแดนมังกรยิงใส่เรือต่างประเทศได้
ทั้งนี้ จีนได้ส่งเรือหน่วยยามฝั่งออกไปไล่เรือประมงจากประเทศอื่นๆ ซึ่งแดนมังกรมีข้อพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำต่างๆ ในภูมิภาค โดยบางครั้งก็ส่งผลให้เรือประมงเหล่านี้อัปปางลงกลางทะเล
ทางด้าน โมเตงิ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีน คือสิ่งที่กินเวลาส่วนใหญ่ของการเจรจาระหว่างเขากับบลิงเคน ซึ่งมีขึ้นก่อนหารือแบบ 2+2 พร้อมกันนั้นก็แสดงการคัดค้านอย่างแรงกล้าต่อ “ความพยายามตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” ของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้
ขณะที่บลิงเคนแสดงความกังวลเรื่องที่ฝ่ายทหารพม่าพยายามล้มคว่ำผลการเลือกตังอย่างเป็นประชาธิปไตยในประเทศนั้น และการที่กองทัพพม่าเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ
เขากล่าวย้ำยืนยันความผูกพันของวอชิงตันที่มีต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกับบอกว่า “จีนใช้อำนาจบังคับและความก้าวร้าวมาทำลายการปกครองตนเองในฮ่องกงอย่างเป็นระบบ, กัดเซาะประชาธิปไตยในไต้หวัน, ละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและทิเบต”
ในกรุงปักกิ่ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน บอกกับที่ประชุมแถลงข่าวตามปกติในวันอังคาร (16) ว่า สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ไม่ควรพุ่งเป้าหมายหรือมุ่งบ่อนทำลายผลประโยชน์ต่างๆ ของฝ่ายที่สามใดๆ ทั้งสิ้น” และควรที่จะส่งเสริม “สันติภาพและเสถียรภาพในเอเชีย-แปซิฟิก”
รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ปิดท้ายการเยือนญี่ปุ่น ด้วยการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ผู้มีกำหนดจะไปเยือนทำเนียบขาวในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะกลายเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้พบกับไบเดนในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทั้งบลิงเคน และออสติน มีกำหนดออกจากญี่ปุ่น และเดินทางต่อไปยังกรุงโซลในวันพุธ (17) และเจรจาหารือกับเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้จนถึงวันพฤหัสบดี (18)
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)