(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Biden’s trade rep knows China inside and out
By FRANK CHEN
21/01/2021
แคเธอรีน ไท่ จะอาศัยทักษะความชำนาญในการพูดภาษาจีนกลาง และรากเหง้าของครอบครัวที่เป็นผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่ มาเป็นประโยชน์ในการเจรจาทางการค้าที่สหรัฐฯจะทำกับจีนในอนาคต
แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ด้วยรูปร่างลักษณะแบบชาวเอเชียของเธอ รวมทั้งนามสกุลที่เธอใช้ ทำให้ได้รับการจับตาด้วยความสนอกสนใจและความอยากรู้อยากเห็นกันอย่างมากมายเป็นพิเศษในประเทศจีน ภายหลัง โจ ไบเดน เสนอชื่อนักกฎหมายด้านการค้าวัย 47 ปีผู้นี้ให้เข้ารับภารกิจเป็นที่ปรึกษาทางการค้าและผู้เจรจาด้านการค้าตัวหลักในคณะบริหารของเขา
หากวุฒิสภาอเมริกันมีมติรับรองให้เธอเข้าดำรงตำแหน่ง “ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ” (US Trade Representative) คนใหม่ ไท่ ก็จะเข้ายืนอยู่ตรงแถวหน้าของการบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางการค้าที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีน รวมทั้งมีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนกรอบโครงของความสัมพันธ์นี้เสียใหม่ ภายหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ก้าวลงจากอำนาจเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้เปิดฉากทำสงครามทางการค้าและทางเทคมุ่งโจมตีเล่นงานปักกิ่ง
จากรากเหง้าทางครอบครัวที่อยู่ในสภาพสามัญธรรมดาของ ไท่, รวมทั้งการที่เธอถือกำเนิดขณะครอบครัวอพยพไปลงหลักปักฐานใหม่ในสหรัฐฯไม่นานนัก , การที่เธอสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศของอเมริกา, และการผงาดโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการทำงานในหมู่เจ้าหน้าที่ช่วยงานของพรรคเดโมแครต เหล่านี้คือเรื่องเล่าแบบโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทำให้ “ความฝันแบบอเมริกัน” (American Dream) กลายเป็นความจริงโดยแท้
ภายหลังใช้เวลาลับเขี้ยวเล็บของเธอให้แหลมคมยิ่งขึ้นกับสำนักงานกฎหมายหลายแห่งในกรุงวอชิงตัน ไท่ ผู้ซึ่งจบปริญญาตรีวิชาเอกประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล และต่อด้วยปริญญาด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ได้เข้าทำงานที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯในปี 2007 โดยเวลานั้นเป็นสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ คือ ซูซาน ชวับ (Susan Schwab)
ช่วงปีแรกๆ ของคณะบริหารบารัค โอบามา เธอได้รับการโปรโมตให้ขึ้นเป็นรองที่ปรึกษาใหญ่ทางกฎหมายของสำนักงานผู้แทนการค้า (trade office’s deputy general counsel) ที่มีความชำนาญพิเศษด้านการบังคับใช้นโยบายการค้ากับจีน ก่อนได้รับการเสนอชื่อจากไบเดนครั้งนี้ ไท่ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ฝ่ายกฎหมายทางด้านการค้าของพรรคเดโมแครต ในการร่างเอกสารของคณะกรรมาธิการจัดหารายได้แห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Ways and Means Committee) อันป็นตำแหน่งที่เธอครองมาตั้งแต่ปี 2014
เมื่อข่าวเรื่องเธอได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯคนใหม่แพร่ออกไป ริชาร์ด นีล (Richard Neal) ประธานของคณะกรรมาธิการจัดหารายได้ ได้กล่าวยกย่องบทบาทของเธอที่ทำให้ ความตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Trade Agreement) เสร็จสิ้นลงไปได้ ด้วยการเสนอแง่มุมสำคัญทางกฎหมายซึ่งสามารถเรียกความสนับสนุนจากทั้งฝ่ายพรรคเดโมแครตและฝ่ายพรรครีพับลิกันให้ผ่านร่างความตกลงฉบับนี้
“ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งซึ่งมีแนวคิดทางการมืองผิดแผกแตกต่างกัน, พวกผู้นำด้านแรงงาน, และประชาคมธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ แคเธอรีน และเชื่อถือด้วยเหตุผลที่ดีงาม สิ่งซึ่งสามารถแข่งขันกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษของเธอได้ ก็ดูมีแต่ความทรหดที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกและบุคลิกลักษณะซึ่งดีเลิศของเธอเท่านั้น” นีล บอก พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า เธอเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจริงๆ สำหรับตำแหน่งที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดนี้
“ขณะที่สหรัฐฯหาทางแก้ไขซ่อมแซมความสัมพันธ์กับพวกหุ้นส่วนต่างๆ ตลอดทั่วโลกของเราซึ่งมีอันต้องแปดเปื้อนด่างพร้อยไป รวมทั้งต้องรับมือกับการท้าทายอย่างเต็มไปด้วยอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ จากประเทศจีน แคเธอรีนจะเป็นผู้แทนที่มีเกียรติและทรงประสิทธิภาพ สำหรับประเทศชาติของเรา สำหรับประชาชนของเรา และสำหรับผลประโยชน์ต่างๆ ของเรา”
กระนั้น การที่ ไบเดน เลือกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนผู้หนึ่งให้มาเป็นประธานดูแลเรื่องนโยบายการค้า ซึ่งเป็นที่มาสำคัญอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์อันเผ็ดร้อนและขมขื่นระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งมาเป็นเวลาแรมปี ก็ทำให้ชาวเน็ตจีนบางรายเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ใช่หรือไม่ว่าการแต่งตั้งคราวนี้เป็นการส่งสัญญาณปรองดองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในจังหวะเวลาที่มีความวาดหวังอย่างสูงเกี่ยวกับการรีเซ็ตความสัมพันธ์ระหว่างกัน
การถกเถียงกันเกี่ยวกับภูมิหลังครอบครัวของไท่ และภาษาที่เธอพูดได้ กลายเป็นเรื่องฮิตกระหึ่มในประเทศจีน เธอถือกำหนดที่รัฐคอนเนตทิคัต ในครอบครัวผู้อพยพจากไต้หวัน โดยที่ภาษาแม่ของ ไท่ คือภาษาจีนกลางและภาษาจีนเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ว่ากันว่าพ่อแม่ของเธอได้พำนักอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ก่อนโยกย้ายไปอยู่ที่ไต้หวันระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองในจีน และจากนั้นจึงอพยพต่อมายังสหรัฐฯ
ระหว่างปี 1996 ถึง 1998 มีรายงานว่า ไท่ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในเซี่ยงไฮ้ แล้วจากนั้นก็ใช้เวลา 2 ปีอยู่ที่เมืองกว่างโจว ทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือพวกนักศึกษาปีหนึ่ง และปีสองของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น (Yat-sen University) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งแห่งนั้น ในการยกระดับทางด้านภาษา ตามโปรแกรมแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยเยล
ขณะที่ชาวเน็ตพากันวาดหวังถึงความเป็นมิตรกันมากขึ้น แต่เชื่อกันว่าพวกผู้วางนโยบายระดับท็อปในปักกิ่งกำลังรู้สึกเบิกบานน้อยกว่า เมื่อพิจารณาจากการที่ ไท่ ให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ไขภาวะซึ่งสหรัฐฯขาดดุลการค้าจีนอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ
ยอดขาดดุลนี้พุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 310,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 เมื่อการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของคณะบริหารทรัมป์ประสบความล้มเหลวไม่อาจต้านทานความต้องการในสินค้าจีนได้ ขณะที่ โควิด-19 ยังคงสร้างความเสียหายให้แก่การผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศที่เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตรายอื่นๆ
เวลานี้มีการเปรียบเทียบเรียบร้อยแล้วระหว่าง ไท่ กับ แกรี่ ล็อค (Gary Locke) ผู้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนระหว่างปี 2011 ถึง 2014 และยังเคยเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ตลอดจนผู้ว่าการของมลรัฐวอชิงตันอีกด้วย
ถึงแม้ได้ชื่อว่าเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเพียงคนเดียวที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการมลรัฐของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นนักการทูตระดับท็อปของสหรัฐฯประจำจีน แต่การที่ ล็อค เป็นที่นิยมชมชื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่มวลชนชาวจีนก็ทำให้ปักกิ่งวิตกกังวลอยู่พักหนึ่ง และช่วงการทำงานของเขาในแดนมังกรยังได้เห็นข้อพิพาทสดๆ ใหม่ๆ ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการถูกเนรเทศออกไปอยู่นอกประเทศของชาวจีนผู้เห็นต่างกับทางการซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอย่าง เฉิน กวงเฉิง (Chen Guangcheng)
หนังสือพิมพ์ของทางการอย่างเช่น โกลบอลไทมส์ (Global Times) ออกมาเตือนว่า ไท่ น่าที่จะพยายามอย่างหนักในการกำหนดนโยบายต่อจีนอย่างโหดๆ ด้วยตัวของเธอเอง เมื่อขึ้นเป็นผู้นำในการเจรจาการค้า และในการต่อรองเพื่อทำดีลอะไรใหม่ๆ
“อย่าโดนหลอกต้มจากชื่อแซ่ที่ดูเป็นจีนและใบหน้าจีนๆ ของพวกเขา และอย่าหลงไหลได้ปลื้มไปกับการโฆษณาชวนเชี่อของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่ “สร้างแรงบันดาลใจ” ของพวกเขา พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นนักการเมืองชาวอเมริกัน และก็เหมือนๆ กับเพื่อนร่วมงานชาวคอเคเซียนของพวกเขานั่นแหละ พวกเขามองจีนว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของพวกเขา” โกลบอลไทมส์เตือน
หลิว เฉินอี๋ว์ (Liu Chenyu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai University of International Business and Economics) ให้ความเห็นว่า “จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ไท่ ถูกผลักเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ของเธอ เพื่อนำการเจรจาที่มีเดิมพันสูงมากยิ่งขึ้นกับจีน ขณะที่ไบเดนชั่งน้ำหนักว่าจะเอายังไงกับมรดกที่ทรัมป์ทิ้งเอาไว้ให้ในรูปของสงครามการค้าและการขึ้นภาษีศุลกากรจากสินค้าต่างๆ จำนวนมากมาย
“คณะบริหารใหม่จะต้องเคลื่อนที่ฝ่าข้ามความต้องการต่างๆ ซึ่งดูเหมือนกับขัดแย้งกันอยู่ นั่นคือต้องการทำให้ยอดขาดดุลการค้าลดต่ำลง ทว่าก็ต้องการดูแลให้มีการค้าเพิ่มขึ้นกับจีนเพื่อขับดันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ”
หลิวมองว่า ผู้ที่จะเป็นคนพูดสุดท้ายว่าจะเอายังไงในการตัดสินใจอะไรทั้งหลายนั้นก็ย่อมจะต้องเป็นไบเดน เนื่องจากการค้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายจีนของเขาที่มีขอบเขตกว้างไกลกว่านั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากเซี่ยงไฮ้ผู้นี้บอกว่า มันจะไร้เดียงสาเกินไปหน่อย หากคิดว่าภูมิหลังจากการมีเชื้อจีนของ ไท่ จะทำให้เธอมีความพร้อมมากขึ้นที่จะยอมรับข้อเรียกร้องต่างๆ ของปักกิ่ง
อันที่จริงแล้ว ไท่ ได้เกี่ยวข้องพัวพันกับการถกเถียงอภิปรายอย่างดุเดือดเข้มข้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของอเมริกันต่อจีนมาตั้งแต่สมัยการเป็นประธานาธิบดีของโอบามาแล้ว ในตอนนั้น หน้าที่การงานของเธอคือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตอบโต้ของฝ่ายสหรัฐฯ ต่อคำร้องเรียนด้านการค้าที่จีนยื่นเสนอต่อองค์การการค้าโลก (WTO)
ครั้งหนึ่งเธอเคยแนะนำคณะกรรมาธิการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯว่า มาตรการจำพวกให้การอุดหนุนมากขึ้นและให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สามารถช่วยให้สหรัฐฯลดการพึ่งพาสินค้าจีนลงไปได้
“เมื่อพวกโรงงานอุตสาหกรรมอเมริกันมองเห็นว่ามีอุปสงค์ความต้องการเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และได้รับหลักประกันให้มั่นใจเพิ่มมากขึ้นจากทางรัฐบาล พวกเขาก็จะโยกย้ายการผลิตกลับมาที่บ้าน” นี่เป็นคำกล่าวของ ไท่ ในระหว่างให้ปากคำว่าด้วยการค้าครั้งหนึ่งแก่ทางสภา เธอบอกว่าสหรัฐฯและพันธมิตรของตนควรต้องสำรวจทางเลือกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีแหล่งที่มาของอุปกรณ์ป้องกันโรคซึ่งใช้ในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัส ในหมู่พวกเขากันเอง
เวลาเดียวกัน จากตำแหน่งใหม่ของ ไท่ ก็กลายเป็นการจุดประกายความหวังในหมู่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนในไต้หวันว่า ความผูกพันที่ครอบครัวของเธอมีอยู่กับเกาะแห่งนี้ อาจอำนวยความสะดวกและเร่งรัดให้เกิดการเจรจาหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ได้ออกมาแสดงความยินดีกับ ไท่ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนที่เธอยังได้รับการเสนอชื่อจากไบเดนเท่านั้น พร้อมกับระบุว่าตัวแทนระดับท็อปของไต้หวันในกรุงวอชิงตัน จะหาโอกาสพบหารือกับ ไท่ เพื่อคุยกันถึงหนทางต่างๆ ในการทำให้สายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันยิ่งมั่นคงแข็งแกร่ง
หมายเหตุผู้แปล
เอเชียไทมส์เสนอข้อเขียนชิ้นนี้เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2021 หลังจากที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สาบานตัวรับตำแหน่ง โดยที่ ไบเดนประกาศเสนอชื่อ แคเธอรีน ไท่ ให้เป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯคนใหม่ของเขา ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2020 ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯเริ่มกระบวนการพิจารณาอนุมัติการเข้าดำรงตำแหน่งของเธอเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ดังนั้น เพื่อให้เรื่องมีคตวามสมบูรณืยิ่งขึ้น จึงขอเก็บความรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่อง Biden USTR nominee Tai vows to end trade 'race to the bottom,' counter China พูดถึงการไปให้ป่ากคำของ ไท่ ในวันพฤหัสบดี (25) มาเสนอในที่นี้:
‘ไท่’ซึ่ง‘ไบเดน’เสนอเป็น‘ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ’คนใหม่ หนุนให้ใช้ มาตรการ‘ภาษีศุลกากร’ต่อไป พร้อมเรียกร้อง‘จีน’ทำตามสัญญา
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
26/02/2021
นโยบายการค้าของสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกันแน่ ดูจะมองเห็นเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น จากการที่ แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอชื่อให้เป็น “ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ” (US Trade Representative) คนใหม่ เข้าให้ปากคำเพื่อให้วุฒิสภาอนุมัติรับรองการขึ้นดำรงตำแหน่งของเธอ
ไท่ ประกาศสนับสนุนการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากร โดยบอกว่าเป็น “เครื่องมือที่ถูกต้องชอบธรรม” อย่างหนึ่ง ในการต่อสู้กับโมเดลเศรษฐกิจแบบรัฐเป็นผู้ลงแรงขับเคลื่อนของประเทศจีน พร้อมกับกล่าวด้วยว่าปักกิ่งจะต้องกระทำตามสัญญาต่างๆ ที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ เวลาเดียวกันเธอก็ให้คำมั่นจะนำเอาแบบแผนวิธีการใหม่ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมโหฬารมาใช้ในเรื่องการค้าของอเมริกา
ระหว่างไปให้ปากคำ ณ การประชุมของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาอเมริกันเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการพิจารณาลงมติรับรองให้เธอขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับท็อปทางด้านการค้าของสหรัฐฯคนต่อไป ไท่ ยังเรียกร้องให้ยกเครื่องปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการค้าระดับโลก เพื่อขจัดสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็น “พื้นที่สีเทา” ซึ่งถูกจีนฉวยไปหาประโยชน์ รวมทั้งยุติพฤติการณ์ “แข่งขันกันลงไปสู่ระดับต่ำสุด” ที่เธอบอกว่าได้สร้างความลำบากเดือดร้อนให้แก่บรรดาคนงานและแก่สิ่งแวดล้อม
“เป็นเวลายาวนานมาแล้ว นโยบายต่างๆ ด้านการค้าของเรานั้นอิงอยู่กับสมมุติฐานที่ว่า ยิ่งเราค้าขายกับกันและกันมากขึ้นเท่าใด และยิ่งปล่อยเสรีการค้าของเรามากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีสันติภาพและความเจริญมั่งคั่งมากขึ้นเท่านั้น” ไท่ บอก พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า บ่อยครั้งทีเดียว การเปิดเสรีทางการค้าในอดีตกลับนำไปสู่ความเจริญมั่งคั่งที่ลดน้อยลง และมาตรฐานด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำลง
การให้ปากคำของ ไท่ ต่อคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภาครั้งนี้ เป็นสัญญาณอย่างล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า แบบแผนวิธีการที่วอชิงตันใช้ในเรื่องการพาณิชย์ต่างประเทศน่าจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างถาวรแล้ว หลังจากช่วงเวลาหลายทศวรรษของการเปิดเสรีโดยอิงกับตลาด ที่เรียกกันว่า “การค้าเสรี” ซึ่งถูกวิพากษ์โจมตีว่าสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่พวกบรรษัทนานาชาติ และสิ้นสุดลงไปด้วยนโยบายแบบลัทธิกีดกันการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ไท่ ไม่ได้ปฏิเสธนโยบายการค้า “อเมริกาต้องมาเป็นอันดับแรก” (America First) ของทรัมป์ แต่กล่าวว่าเธอจะปรับปรุงแก้ไขให้ออกมาเป็นโมเดลทางการค้าแบบ “เน้นให้คนงานเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพิทักษ์ปกป้องการอยู่ดีกินดีของชาวอเมริกัน โดยผ่านการลงทุนและการบังคับให้มีการปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงทางการค้า
ไท่ ซึ่งเป็นบุตรสาวของพ่อแม่ที่เป็นผู้อพยพมาจากไต้หวัน โดยที่ตัวเธอเองสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นเยี่ยมของสหรัฐฯอย่างมหาวิทยาลัยเยล และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกจีนว่าเป็น “คู่แข่งขันที่น่าเกรงขามอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐสามารถที่จะอำนวยการเศรษฐกิจให้เป็นไปดังประสงค์ แทบจะเหมือนกับที่วาทยกรสามารถกำกับวงออเคสตรา”
สหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องตอบโต้รับมือ ทั้งด้วยการลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้น, การปรับปรุงเพิ่มความยืดหยุ่นของสายโซ่อุปทาน (supply chain) ของตน, และการบังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ข้อตกลงทางการค้า เพื่อต่อสู้กับยุทธศาสตร์และความทะเยอทะยานของปักกิ่ง เธอ บอก
ไท่ ยืนยันว่า จีนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธะข้อสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟส 1 ซึ่งทำไว้กับสหรัฐฯในตอนต้นปี 2020 แต่เธอแทบไม่ได้ให้รายละเอียดเจาะจงเลยว่าเธอจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุสิ่งนี้ นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือบังคับซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้
นอกจากนั้น เธอไม่ได้ข่มขู่คุกคามที่จะขึ้นภาษีศุลกากรรอบใหม่ใดๆ
“ยังมีพื้นที่ต่างๆ จำนวนมากซึ่งเป็นพื้นที่สีเทา ที่กฎเกณฑ์ต่างๆไร้ความชัดเจน หรือที่เรายังคงไม่มีระเบียบกฎเกณเกณฑ์” ไท่ บอก พร้อมกล่าวต่อไปว่า สหรัฐฯควรต้องทำงานกับประเทศอื่นๆ ในการสำรวจหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขึ้นในจีน
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมจากหลายๆ ประเทศ ไท่ ตอบว่าภาษีศุลกากรคือ “เครื่องมือที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในกล่องเครื่องมือทางการค้า” แต่เธอบอกด้วยว่า จำเป็นที่ต้องใช้ “เครื่องมือทางนโยบายต่างๆ เป็นจำนวนมากมาย” ในการแก้ไขปัญหาแกนกลางของการที่ศักยภาพในการผลิตโลหะต่างๆ เหล่านี้ในระดับโลกมีสูงเกินไป โดยที่ศูนย์กลางสำคัญเลยอยู่ที่ประเทศจีน “แต่มันก็ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาจีนเท่านั้น” เธอกล่าวต่อ
เจมิสัน เกรีย นักกฎหมายด้านการค้าที่เคยทำงานเป็นหัวหน้าคณะทำงานให้แก่ โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้ดำรงตำแหน่ง USTR คนก่อนหน้า ไท่ ให้ความเห็นว่า เขาตีความทัศนะความคิดเห็นของ ไท่ ในเรื่องภาษีศุลกากร ว่าจะดำเนินการตามจุดยืนของคณะบริหารทรัมป์อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
“จากการให้ปากคำในวันนี้ มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าคณะบริหารไบเดนไม่ได้มองภาษีศุลกากรว่าเป็นประเด็นปัญหาเชิงศีลธรรม คุณต้องใช้มันอย่างระมัดระวัง แต่มันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้ได้” เกรีย กล่าว
การให้ปากคำของ ไท่ เป็นที่เฝ้ารอคอยอย่างกระวนกระวายมาเป็นแรมเดือนแล้วทั้งโดยผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรม, พวกคู่ค้าของสหรัฐฯตั้งแต่ปักกิ่งไปจนถึงบรัสเซลส์, กลุ่มแรงงานต่างๆ, และเหล่าสมาชิกรัฐสภา ซึ่งต่างกำลังเข้าแถวเตรียมที่จะเข้าล็อบบี้หัวหน้าทางด้านการค้าของประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกผู้นี้
ถ้าหากได้รับการรับรองจากวุฒิสภา ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากเธอได้ความสนับสนุนอย่างหนาแน่นทั้งจากพรรคเดโดแครตและพรรครีพับลิกัน ไท่ ก็จะเผชิญกับรายการข้อพิพาทด้านภาษีศุลกากรอันยาวเหยียด ซึ่งเกิดขึ้นในยุคทรัมป์ ที่เธอจะต้องเข้ารับมือจัดการ รวมทั้งกรณี แอร์บัส-โบอิ้ง , อาหารและไวน์ ที่มีอยู่กับ สหภาพยุโรป ซึ่งยังกำลังคุกคามที่จะจัดเก็บภาษีจากบริการทางดิจิตอลที่บริษัทอเมริกันเป็นเจ้าตลาดอยู่ ขณะที่จีนก็มีเรื่องที่ยังไม่ได้ซื้อสินค้าสหรัฐฯให้ครบถ้วนตามข้อตกลงเฟส 1
สร้างความแข็งแกร่งให้แก่พวกสายโซ่อุปทานของสหรัฐฯ
ไท่ บอกกับพวกวุฒิสมาชิกว่า จำเป็นต้องมีพวกเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีขึ้นกว่านี้ในการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอเมริกัน นอกเหนือจากกฎหมายการค้า “มาตรา 301” ซึ่งคณบริหารทรัมป์ใช้อยู่ในการทำสงครามภาษีศุลกากรเพื่อเล่นงานจีน
สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ประการหนึ่งคือ การประเมินเรื่องที่จีนใช้แรงงานจากการบังคับกะเกณฑ์ในแคว้นซินเจียง ไท่ กล่าว พร้อมบอกต่อไปว่า “การใช้แรงงานที่ถูกบังคับ บางทีอาจจะเป็นตัวอย่างที่หยาบช้าที่สุดของการแข่งขันกันเพื่อมุ่งลงไปให้ต่ำที่สุด” ในการค้าโลก ทั้งนี้ปักกิ่งเองปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้มีการใช้แรงงานจากการบังคับกะเกณฑ์
การที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในทางการค้าที่ ไบเดน กำหนดเอาไว้นั้น สหรัฐฯยังจำเป็นที่จะต้องมีสายโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมีความหยุ่นตัวมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของอเมริกัน เธอกล่าว
ไท่ ยังปฏิเสธไม่เห็นด้วยที่จะหวนกลับเข้าสู่ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกกับอีก 11 ประเทศอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ถึงแม้ในตอนทำข้อตกลงนี้ทีแรกนั้นสหรัฐฯได้ตกลงเข้าร่วมด้วย ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศถอนตัวออกมาในวันแรกที่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้เธอบอกว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญไปแล้ว นับจากตอนที่คณะบริหารโอบามาเห็นชอบข้อตกลงนี้เมื่อปี 2015
แต่เธอย้ำว่า สหรัฐฯจะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียในเรื่องการค้า และในการทำงานเพื่อปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพขององค์การการค้าโลก (WTO)
ไท่ยังกล่าวด้วยว่า เธอจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกแก่การบังคับใช้ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา ซึ่งแก้ไขปรับปรุงมาจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (อาฟตา) โดยที่เธอมีส่วนช่วยเหลือในการเจรจาทำความตกลงกันใหม่เมื่อปี 2019 ขณะที่เธอมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายด้านการค้าให้แก่คณะกรรมาธิการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทั้งนี้สิ่งที่เธอผลักดันและได้รับการยอมรับ มีอาทิ การใช้มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
เธอกล่าวในการให้ปากคำคราวนี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหลักหมายแสดงถึง “ขั้นตอนสำคัญในการปฏิรูปแบบแผนวิธีการในด้านการค้าของเรา” และดังนั้นความสำเร็จของการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
(ผู้แปลได้เพิ่มเติมข้อมูลที่มาจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีด้วย)