องค์การอนามัยโลกอนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นกรณีฉุกเฉิน เเปิดทางจัดส่งวัคซีนโควิดแก่ประเทศยากจนภายใต้โครงการ “โคแวกซ์” อย่างไรก็ดี ขณะนี้เริ่มมีความไม่พอใจที่ประเทศรวยบางรายกว้านซื้อวัคซีนจนเกือบจะเกินพอแล้ว ยังถือสิทธิผู้บริจาคเข้าคิวรอรับวัคซีนแข่งกับประเทศยากจน
ในคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติวัคซีนของแอสตราเซเนกา เวอร์ชันที่ผลิตโดยสถาบันเซรัมแห่งอินเดีย และโดยแอสตราเซเนกา-เอสเคไบโอในเกาหลีใต้ ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินหลังจากจาก WHO อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคไปเมื่อเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ WHO ศึกษาและอนุมัติแยกจากกันสำหรับกระบวนการผลิตจากแต่ละสถานที่ ถึงแม้วัคซีนจะเป็นตัวเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การอนุมัติคราวนี้ยังคงเป็นการเปิดทางให้มีการจัดส่งวัคซีนหลายร้อยล้านโดสแก่ประเทศที่สมัครร่วมโครงการโคแวกซ์ซึ่งสหประชาชาติให้การสนับสนุน และมีเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชากรที่มีความเสี่ยงที่สุดของโลก
เนื่องจากวัคซีนแอสตราเซเนกาจากอินเดีย และเกาหลีใต้ คือจำนวนแทบทั้งหมดของวัคซีนขั้นต้น 337.2 ล้านโดสซึ่งจะถูกนำมาจัดสรรแจกจ่ายให้แก่ประเทศต่างๆ ในระลอกแรกของโคแวกซ์
ดร.มาเรียแองเจลา ซีเมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ฝ่ายการเข้าถึงเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า ในที่สุดประเทศที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนในขณะนี้จะได้เริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 109 ล้านคน และเสียชีวิตอย่างน้อย 2.4 ล้านคนทั่วโลก
วัคซีนแอสตราเซเนกาได้รับอนุญาตให้ใช้ในกว่า 50 ประเทศแล้วในขณะนี้ รวมถึงอังกฤษ อินเดีย อาร์เจนตินา เม็กซิโก โดยมีข้อดีที่ราคาถูกกว่าและจัดการง่ายกว่าวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ที่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิเย็นจัด ทั้งนี้ วัคซีนทั้งสองตัวต้องฉีด 2 โดสโดยเว้นระยะห่างกันหลายสัปดาห์
สัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญของ WHO แนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกากับคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงในประเทศที่พบการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์
ทว่า ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา กลับประกาศเตือนให้ “ระมัดระวัง” ในการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาและแนะนำให้ใช้วัคซีนตัวอื่นดีกว่า เนื่องจากผลศึกษาเบื้องต้นก่อนหน้านี้พบว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาอาจไม่สามารถป้องกันอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้
สัปดาห์ที่แล้วแอฟริกาใต้ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา และเลือกฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันให้บุคลากรทางการแพทย์แทน
อย่างไรก็ดี ขณะที่ประเทศรวยซึ่งใช้วิธีสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงจากพวกผู้ผลิต พากันเริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว แต่โครงการโคแวกซ์ยังไม่สามารถเริ่มจัดส่งวัคซีนให้ประเทศยากจนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนามากมายจึงรีบเร่งติดต่อซื้อวัคซีนเอง เพราะรอคอยโคแวกซ์ไม่ไหว
WHO และพันธมิตรวัคซีน กาวี (GAVI) ซึ่งต่างเป็นแกนนำสำคัญในโคแวกซ์ ไม่ได้ระบุว่า ประเทศใดจะได้รับวัคซีล็อตแรกๆ จากโคแวกซ์ ทว่า ตามแผนการเบื้องต้นปรากฏชื่อประเทศมั่งคั่งหลายแห่งที่ไปกว้านซื้อวัคซีนจากหลายบริษัทไว้แล้ว เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ แต่มีคิวได้รับวัคซีนล็อตแรกๆ เหล่านี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางคนวิจารณ์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหามาก และโทษว่าเกิดจากข้อบกพร่องในการออกแบบโครงการโคแวกซ์ซึ่งอนุญาตให้ประเทศผู้บริจาคสามารถซื้อวัคซีนผ่านโครงการนี้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำสัญญาจัดซื้อด้วยตนเอง
แอนนา มาร์ริออตต์ ผู้นำด้านนโยบายสุขภาพขององค์การการกุศล ออกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนล วิจารณ์ว่า แคนาดามีวัคซีนเพียงพอฉีดประชาชนได้ 5 รอบ แต่ยังรอใช้สิทธิ์ซื้อวัคซีนเพิ่มจากโคแวกซ์ แทนที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศยากจนได้เข้าถึงบ้าง
กระนั้น ดร.โสมญา สวามินาธาน หัวหน้านักวิจัยของWHO กล่าวว่า โคแวกซ์ไม่มีนโยบายปฏิเสธคำร้องของประเทศมั่งคั่งที่ลงชื่อขอรับวัคซีนไว้แล้ว
ทั้งนี้ ในกรณีแคนาดานั้น หลังจากสนับสนุนเงินกว่า 400 ล้านดอลลาร์ให้โคแวกซ์เมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กล่าวว่า แคนาดามีความมุ่งมั่นที่จะรับวัคซีนภายใต้การจัดหาของโคแวกซ์
ด้านมาร์ริออตต์ย้ำว่า ประเทศมั่งคั่งที่มีแผนรับวัคซีนจากโคแวกซ์ควรทบทวนเจตนารมณ์ โดยนึกถึงคำประกาศก่อนหน้านี้ในการสนับสนุนความพยายามเพื่อให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นชาติรวยหรือจนก็ตาม
(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์)