องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันจันทร์ (15 ก.พ.) ขึ้นบัญชีวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน เปิดทางเข้าชาติต่างๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เข้าถึงวัคซีนที่มีราคาค่อนข้างถูก
“ตอนนี้เรามีทุกอย่างเข้าที่แล้ว สำหรับแจกจ่ายวัคซีนอย่างรวดเร็ว แต่เรายังจำเป็นต้องยกระดับกำลังผลิต” เทดรอส แอดฮานอม เกรเบเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างแถลงข่าว “เรายังคงเรียกร้องเช่นเดิม ขอบรรดาผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยื่นเอกสารให้ทางองค์การอนามัยโลกทบทวน พร้อมๆ กับที่พวกเขายื่นต่อคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในบรรดาประเทศต่างๆ ที่มีรายได้สูง”
ถ้อยแถลงขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า พวกเขาอนุมัติวัคซีนที่ผลิตโดยแอสตราเซเนกา เอสเคไบโอ (ในเกาหลีใต้) และสถาบันเซรัมแห่งอินเดีย
ด้านผู้ผลิตยาสัญชาติสหราชอาณาจักรยืนยันเกี่ยวกับการได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกในถ้อยแถลงแยกกัน “ในครึ่งปีแรกของปี 2021 หวังว่า วัคซีคมากกว่า 300 ล้านโดส จะเข้าถึง 145 ประเทศ ผ่านโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ขึ้นอยู่กับอุปทานและความท้าทายต่างๆ ด้านดำเนินการ”
ความเคลื่อนไหวไฟเขียวขององค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญชุดหนึ่งขององค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำชั่วคราวเกี่ยวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา ว่า สามารถใช้วัคซีนปริมาณ 2 โดส ห่างกันราวๆ 8 ถึง 12 สัปดาห์ กับประชาชนวัยผู้ใหญ่ทุกคน และสามารถใช้ในประเทศต่างๆ ที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เช่นกัน
การตรวจสอบทบทวนขององค์การอนามัยโลก พบว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกา เข้าเกณฑ์กำหนดที่จำเป็นต้องมี ในด้านความปลอดภัย และผลประโยชน์ด้านประสิทธิภาพของมันมีมากกว่าความเสี่ยงต่างๆ จากการฉีดวัคซีน
วัคซีนของแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง สืบเนื่องจากมันมีราคาถูกกว่า และแจกจ่ายง่ายกว่าวัคซีนบางตัวของบรรดาคู่แข่ง ในนั้นรวมถึงของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค ซึ่งองค์การอนามัยโลกอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม
เวลานี้ทั่วโลกรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วเกือบ 109 ล้านคน ในนั้นเสียชีวิตกว่า 2.5 ล้านคน จากการนับของรอยเตอร์ โดยมีประเทศและดินแดนต่างๆ มากกว่า 210 แห่ง ที่รายงานพบผู้ติดเชื้อ นับตั้งแต่มันถูกพบครั้งแรกในจีนในช่วงเดือนธันวาคม 2019
องค์การอนามัยโลกจัดทำบัญชีสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUL) กระบวนการที่ช่วยให้บรรดาประเทศยากจนทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรต่างๆ ด้านควบคุมกฎระเบียบ สามารถอนุมัติใช้ยาหรือวัคซีนกับโรคใหม่ๆ อย่างเช่น โควิด-19 เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะประสบปัญหาล่าช้า
ส่วนโครงการ COVAX ที่นำโดย องค์การอนามัยโลก กลุ่มพันธมิตรเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดใหญ่ ที่ชื่อว่า CEPI, กลุ่มพันธมิตรวัคซีนที่มีชื่อว่า GAVI และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ มีปริมาณวัคซีนครอบคลุมโดยเฉลี่ยคิดเป็น 3.3% ของประชากรทั้งหมดใน 145 ชาติที่เข้าร่วมโครงการ
(ที่มา: รอยเตอร์)