xs
xsm
sm
md
lg

WHO ชี้วัคซีน “แอสตราเซเนกา” ยังสำคัญต่อโลก หลังกังวลประสิทธิภาพต้านโควิดกลายพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันในวันจันทร์ (8 ก.พ.) วัคซีนแอสตราเซเนกายังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของโลกในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 แม้แอฟริกาใต้เลื่อนแผนเริ่มโครงการฉีดวัคซีน สืบเนื่องจากความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตราเซเนกาในการต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์

“มันเร็วเกินไปที่จะปฏิเสธวัคซีนนี้” คำกล่าวของ ริชาร์ด แฮชเชทท์ กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับองค์กรกาวี (Gavi) และองค์การอนามัยโลก ในโครงการจัดสรรวัคซีนโคแว็กซ์ (COVAX) หลังจากวัคซีนของแอสตราเซเนกาเผชิญปัญหาต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันสำหรับบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

“เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เรามี อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” แฮชเชทท์กล่าวระหว่างแถลงสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขององค์การอนามัยโลก

ปัจจุบันวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นส่วนสำคัญของโครงการโคแว็กซ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 และรับประกันการแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมทั่วโลก

วัคซีนของแอสตราเซเนกาคิดเป็นเกือบทั้งหมดของวัคซีน 337.2 ล้านโดสในโครงการโคแว็กซ์ ที่กำลังเตรียมการเริ่มส่งมอบแก่ประเทศต่างๆ ราว 145 ชาติ ระหว่างครึ่งปีกแรกของปีนี้ ครั้งที่มันได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกซึ่งคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม การทดลองหนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ในนครโจฮันเนสเบิร์ก พบว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพป้องกันแค่ “เล็กน้อย” สำหรับอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ถึงปานกลาง ที่เกิดจากตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟการิกาใต้

ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศยากจนทั้งหลาย ที่คาดหวังต่อวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งมีความได้เปรียบวัคซีนตัวอื่นๆ ในแง่ของโลจิสติกส์

แอฟริกาใต้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดในทวีปแอฟริกา มีกำหนดเริ่มโครงการฉีดวัคซีนในในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยเริ่มจากวัคซีนของแอสตราเซเนกา 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางรัฐบาลตัดสินใจระงับเอาไว้ก่อน สืบเนื่องจากผลการทดลอง

“มันเป็นประเด็นชั่วคราวที่เราจำเป็นต้องชะลอวัคซีนแอสตราเซเนกา จนกว่าจะได้คำตอบในประเด็นเหล่านี้” ซเวลิ เอ็มกีเซ รัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (7 ก.พ.)

แอฟริกาใต้มีวัคซีนแอสตราเซเนกา 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะหมดอายุในเดือนเมษายน

แอสตราเซเนกาซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยืนยันถึงประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ของพวกเขา “เราเชื่อว่าวัคซีนของพวกเราจะยังคงป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง” ทางบริษัทฯ เปิดเผยกับเอเอฟพี ขณะที่ทางโฆษกบอกด้วยว่าเวลานี้คณะนักวิจัยได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงวัคซีนแล้ว เพื่อจัดการกับตัวกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ เวลานี้โรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วกว่า 2.3 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อมากกว่า 106 ล้านคน

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น