พวกนักวิทยาศาสตร์ไฟเขียววัคซีค "สปุตนิกไฟว์" ของรัสเซีย ในวันอังคาร(2ก.พ.) ระบุมีประสิทธิภาพต่อสู้กับโควิด-19 เกือบ 92% บนพื้นฐานของการทดลองกลุ่มใหญ่ที่ผ่านการทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ(peer-reviewed) และเผยแพร่ในเดอะ แลนเซ็ต วารสารด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจากผลการทดลองขั้น 3 นั่นหมายความว่าโลกจะมีอีกหนึ่งอาวุธสำหรับต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่มรณะ และสนับสนุนความชอบธรรมของมอสโก ที่ตัดสินใจขยายขอบเขตการแจกจ่ายวัคซีน ตั้งแต่ก่อนเผยแพร่ข้อมูลขั้นสุดท้าย
ผลการศึกษาที่เรียบเรียงโดยสถาบันกามาเลยาในมอสโก ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและทดสอบวัคซีน เป็นไปตามกรอบข้อมูลประสิทธิผลที่เคยรายงานก่อนหน้านี้ในช่วงต้นๆของการทดลอง ซึ่งดำเนินการในเมืองหลวงของรัสเซียมาตั้งแต่เดือนกันยายน
เอเยน โจนส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง และ พอลลี รอย ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า "การพัฒนาวัคซีนสปุตนิก ไฟว์ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเร่งรีบอย่างไม่อันควร ทำแบบขอไปที และขาดความโปร่งใส"
"อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่รายงานออกมา มีความชัดเจนและพิสูจน์ถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ของวัคซีน" นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กล่าวแสดงความคิดเห็นที่แชร์โดยวารสารแลนเซ็ต "มันเป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่สามารถเข้าร่วมต่อสู้ลดอัตราการเกิดโควิด-19"
พวกนักวิจัยที่นำโดย เดนิส โลกูนอฟ แห่งสถาบันกามาเลยา ระบว่าผลการศึกษานี้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลจากอาสาสมัคร 19,866 คน โดย 1 ใน 4 ได้รับยาหลอก และนับตั้งแต่การทดลองเริ่มต้นขึ้นในกรุงมอสโก พบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ 16 คนในบรรดากลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนจริง และพบติดเชื้อจำนวน 62 คนในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนหลอก
ผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ใช้ในปริมาณ 2 โดสตัวนี้ ซึ่งฉีดห่างกันเป็นเวลา 21 วัน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการถึง 91.6%
วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ เป็นวัคซีนตัวที่ 4 ของโลก ที่เผยแพร่ผลการทดลองขั้น 3 ที่ผ่านการทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ในวารสารด้านการแพทย์ ตามหลังวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไอโอเอ็นเทค, โมเดอร์นาและแอสตราเซเนกา
ทั้งนี้วัคซีนของไฟเซอร์มีอัตราประสิทธิภาพสูงสุดที่ 95% ตามด้วยวัคซีนของโมเดอร์นาและสปุตนิก ไฟว์ ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา มีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพอยู่ที่ราวๆ 70%
ขณะเดียวกันทางวัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ยังได้รับการรับรองแล้วว่าสามารถจัดเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาทั่วไป และด้วยที่มันไม่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิเย็นสุดขั้ว ทำให้การขนส่งและแจกจ่ายง่ายขึ้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ของกามาเลยากล่าว
รัสเซียอนุมัติวัคซีนตัวนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ก่อนการทดลองกลุ่มใหญ่จะเริ่มขึ้น โดยระบุว่าพวกเขาเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ตัวใดตัวหนึ่ง ทั้งนี้สปุตนิก ไฟว์ ตั้งชื่อตามดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยสหภาพโซเวียต
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแถวหน้าจำนวนเล็กๆเริ่มได้รับวัคซีนไม่นานหลังจากนั้น และการทดสอบกลุ่มใหญ่เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม แม้การเข้าถึงยังถูกจำกัดไว้สำหรับกลุ่มอาชีพเฉพาะเจาะจง อาทิพวกครู, บุคคลากรทางการแพทย์และสื่อมวลชน
จากนั้นในเดือนมกราคม วัคซีนตัวนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับชาวรัสเซียทุกคน
อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ จำนวนประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในรัสเซียยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเจ้าหน้านี้ชี้ว่าเป็นเพราะประเด็นปัญหาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับกำลังการผลิต ขณะเดียวกันผลสำรวจความคิดเห็นพบว่ามีชาวรัสเซียเพียงเล็กน้อยที่ประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีน
(ที่มา:รอยเตอร์ส)