xs
xsm
sm
md
lg

จีนแซงอเมริกา คว้าแชมป์ ‘เงินลงทุนไหลเข้า’ โรคระบาดเร่งศูนย์กลาง ศก.โลกย้ายสู่เอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูเอ็นรายงาน “จีน” แซง “อเมริกา” ขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม สำหรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติแล้ว ตอกย้ำงานวิจัยจากบริษัทประกันภัยชื่อดังของฝรั่งเศส ที่ระบุว่า จุดศูนย์ถ่วงเศรษฐกิจโลกย้ายมายังเอเชีย ตั้งแต่ปี 2002 และวิกฤตไวรัสทำให้ดุลยภาพของโลกเอนมาที่ภูมิภาคนี้รวดเร็วยิ่งขึ้น

รายงานขององค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (24 ม.ค.) ระบุว่า ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ใหม่ๆ ไหลเข้าจีนถึง 163,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 4% และทำให้แดนมังกรกลายเป็นประเทศที่ได้รับเอฟดีไอสูงที่สุดในโลก เทียบกับแชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่า อยู่ที่ 134,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อปี 2019 อเมริกาดึงดูดเอฟดีไอใหม่ๆ ได้ถึง 251,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนจีนได้ 140,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติของทั่วโลกในปี 2020 นั้น ปรากฏว่า ได้ลดลงมาจากปี 2019 ถึง 42% สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่

ถึงแม้จีนขึ้นครองอันดับหนึ่งในแง่การลงทุนใหม่จากต่างชาติในปีที่แล้ว แต่หากวัดมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติโดยรวมแล้ว อเมริกายังคงเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่สหรัฐฯยึดตำแหน่งแชมป์ของการเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ดึงดูดมากที่สุด สำหรับธุรกิจต่างชาติที่ต้องการขยายตัวในต่างแดน

ทั้งนี้ การลงทุนของต่างชาติในอเมริกาทำสถิติสูงสุดในปี 2016 ที่ 472,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งขณะนั้นการลงทุนของต่างชาติที่ไหลเข้าจีนเพิ่งมีเพียง 134,000 ล้านดอลลาร์ แต่นับจากนั้นตัวเลขของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ของอเมริกาลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2017

นอกจากนั้น ขณะที่เศรษฐกิจอเมริกายังคงฝ่าฟันภาวะตกต่ำจากวิกฤตไวรัสตั้งแต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วโดยมีอัตราขยายตัว 2.3% ในปี 2020 และเป็นประเทศใหญ่เพียงแห่งเดียวในโลกที่รอดพ้นภาวะถดถอย สร้างความประหลาดใจให้นักเศรษฐศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า จีนกับอเมริกาเกิดความตึงเครียดกันอย่างหนัก โดยคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศทำ “สงครามการค้า” กับแดนมังกร รวมทั้งเร่งเร้าให้บริษัทอเมริกันถอนตัวจากจีน แถมขู่บริษัทและนักลงทุนจีนว่า จะเผชิญการตรวจสอบใหม่หากเข้าไปลงทุนในอเมริกา โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่า รายงานล่าสุดของอังก์ถัดตอกย้ำให้เห็นว่าจีนกำลังเคลื่อนตัวมุ่งสู่ความเป็นจุดศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถูกครอบงำมายาวนานโดยสหรัฐฯ ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

มีกลุ่มคลังสมองหลายแห่ง เป็นต้นว่า ศูนย์เพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (ซีอีบีอาร์) ในสหราชอาณาจักร คาดการณ์ว่า จีนจะแซงอเมริกากลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในปี 2028

ในอีกด้านหนึ่ง ออยเลอร์ เฮอร์เมส กลุ่มกิจการประกันภัย-สินเชื่อของฝรั่งเศส ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาในเดือนนี้ที่ระบุว่า จุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของเศรษฐกิจโลก กำลังเคลื่อนตัวมายังเอเชียตั้งแต่ปี 2002 แล้ว และวิกฤตไวรัสยิ่งทำให้สมดุลโลกเอนมาที่ภูมิภาคนี้เร็วขึ้น

เวลานี้ จีนและหลายประเทศในเอเชียที่เผชิญกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก่อนชาติอื่นๆ สามารถควบคุมการระบาดเอาไว้ได้ค่อนข้างดี และกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจของพวกตนขึ้นมาใหม่ ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกยังคงประสบกับการระบาดใหญ่ระลอกใหม่อย่างน่าวิตก โดยที่ความคาดหวัง เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันก็ชักคลอนแคลนจากปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งและการดำเนินการฉีดวัคซีน รวมทั้งมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ทำให้โรคระบาดได้เร็วกว่าเดิม

ฐานะอันโดดเด่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของเอเชีย ยังเห็นได้จากข่าวที่ว่า การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ซึ่งจัดที่ ดาวอส รีสอร์ตสกีหรูของสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1971 กำลังจะย้ายไปจัดที่สิงคโปร์แทนเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย ภายหลังจากการประชุมในปีนี้ซึ่งจัดในรูปแบบเสมือนจริง และเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ (25)

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ดาวอส ปีนี้ ใช้ชื่องาน “ปีแห่งการฟื้นความไว้วางใจ” โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวเปิดประชุม หลังจากนั้น จะมีการหารือหัวข้อฟื้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพวกผู้วางนโยบายของยุโรป เช่น คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมทั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมนี

พวกผู้นำจากยุโรปจำนวนมากมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงปีนี้ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี, ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง และ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ส่วนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่ได้เข้าร่วม แม้จะเป็นประชุมทางออนไลน์ ด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจภายในประเทศซึ่งเร่งด่วนและท้าทาย แต่กำหนดให้ จอห์น เคร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศ เข้าประชุมแทน

สำหรับเอเชียนั้น นอกเหนือจากผู้นำจีนแล้ว ยังมีประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตลอดจนถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและอินเดียร่วมหารือด้วย

(ที่มา : บีบีซีนิวส์, เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น