ทั่วโลกฟื้นมาตรการแบนการเดินทางจากต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศซึ่งสถานการณ์การระบาดไม่น่าไว้วางใจ เพื่อรับมือการคุกคามอย่างไม่ลดละของโควิด-19 ขณะที่นิวซีแลนด์พบเคสใหม่ในท้องถิ่นครั้งแรกในรอบกว่าสองเดือน โดยเป็นการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในอีกด้านหนึ่งปรากฏว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงรุนแรงทั่วเนเธอร์แลนด์ เพื่อต่อต้านคำสั่งเคอร์ฟิว
ที่สหรัฐฯ ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมบังคับใช้มาตรการแบนผู้เดินทางเกือบทั้งหมดที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน ซึ่งเคยเดินทางไปอังกฤษ บราซิล ไอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมถึงแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันจันทร์ (25 ม.ค.) ท่ามกลางคำเตือนว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ระบาดในอเมริกาแล้ว
ก่อนหน้านี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว ไบเดนได้ประกาศยกระดับกฎการสวมหน้ากากในอาคารสถานที่ราชการ และสั่งกักกันโรคผู้เดินทางเข้าอเมริกา โดยที่ขณะนี้สหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 25 ล้านคนแล้ว
ผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ คาดว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังมีแนวโน้มเพิ่มจากระดับ 420,000 คน ในปัจจุบัน เป็น 500,000 คนในเดือนหน้า จึงถือว่าอเมริกากำลังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด
นับจากอุบัติขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 2.1 ล้านคน ขณะมีผู้ติดเชื้อเกือบ 99 ล้านคน
ไม่เฉพาะที่สหรัฐฯ ทางฟากยุโรป ตั้งแต่วันอาทิตย์ (24) ฝรั่งเศสเริ่มกำหนดให้ผู้เดินทางมาถึงโดยทางเครื่องบินและทางเรือจากชาติสมาชิกในสหภาพยุโรป ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และได้ผลเป็นลบ
ขณะสวีเดนงดรับผู้เดินทางจากนอร์เวย์นาน 3 สัปดาห์ หลังพบผู้ติดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษในกรุงออสโล เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้
ด้านอิสราเอลห้ามการเดินทางทางอากาศทั้งเข้า-ออก นานหนึ่งสัปดาห์ ยกเว้นในกรณีจำเป็นจริงๆ
ที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ มีประชาชนที่ไม่พอใจคำสั่งเคอร์ฟิว ซึ่งเริ่มบังคับใช้ และใช้ไปจนถึงวันที่ 10 เดือนหน้า ได้พากันออกมาประท้วงและเกิดการปะทะกับตำรวจ รวมถึงมีการปล้นร้านค้าในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ศูนย์ตรวจโควิด-19 ทางเหนือของประเทศถูกลอบวางเพลิง
ในอีกด้านหนึ่ง ทางการนิวซีแลนด์ยืนยันพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นรายแรกในรอบกว่า 2 เดือน เป็นหญิงวัย 56 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากยุโรป อย่างไรก็ดี ผลตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่พบมีการติดเชื้อ
ผู้หญิงคนดังกล่าวเดินทางกลับถึงนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม และตรวจพบติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้หลังออกจากการกักตัวนาน 2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนั้นมีการตรวจสองครั้งและได้ผลเป็นลบ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ที่มาของการติดเชื้อครั้งนี้อาจมาจากผู้ที่อยู่ในสถานกักตัวแห่งเดียวกัน และขณะนี้กำลังตรวจสอบว่า ไวรัสแพร่กระจายผ่านระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศในสถานกักกันแห่งต่างๆ ได้หรือไม่
ข่าวนี้ทำให้ออสเตรเลียประกาศระงับข้อตกลงทราเวล บับเบิลกับนิวซีแลนด์นาน 72 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไว้ก่อน และขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 14 ที่ผ่านมา กักตัวและงดออกจากบ้านจนกว่าจะเข้ารับการตรวจและผลออกมาเป็นลบ ส่วนคนที่จะเดินทางถึงออสเตรเลียใน 72 ชั่วโมงข้างหน้าต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรมที่จัดไว้
พวกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ทางออกเดียวที่จะผ่านพ้นวิกฤตคราวนี้ไปได้ คือ การฉีดวัคซีนให้มวลชนเป็นจำนวนมากพอจนเกิดภาวะการคุ้มกันหมู่ ทว่า โครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในหลายประเทศกลับไม่คืบหน้าตามที่หวัง
อียิปต์เริ่มฉีดวัคซีนให้แพทย์และพยาบาลเป็นกลุ่มแรก โดยใช้วัคซีนของซิโนฟาร์มของจีน
ฮาลา ซาเยด รัฐมนตรีสาธารณสุขอียิปต์ เผยว่า ได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนกับบริษัทอังกฤษ จีน และรัสเซีย รวม 100 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากรครึ่งประเทศ
ที่อินเดียนั้น ประชาชนราว 1 ใน 3 ไม่ไปฉีดวัคซีนตามนัดหมายเนื่องจากกลัวผลข้างเคียง หลังข่าวการพบผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง 2-3 คนแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วผ่านสื่อและบริการรับส่งข้อความ
ส่วนในออสเตรเลียเมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน แถลงว่า หน่วยงานด้านการแพทย์ของออสเตรเลียได้อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์แล้ว และคาดว่า จะเริ่มฉีดให้ประชาชนปลายเดือนหน้า
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)