“ไบเดน” เตือนสถานการณ์การระบาดเลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯแซงหน้าจำนวนทหารอเมริกันที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีจากผลการศึกษาเบื้องต้นที่พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ ส่วนแอสตราเซเนกากำลังปรับเทคโนโลยีและเตรียมผลิตวัคซีนเวอร์ชันใหม่ที่สามารถป้องกันทั้งสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิลอย่างรวดเร็ว
องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันพุธ (20 ม.ค.) ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดทะลุ 96 ล้านคน โดยอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดด้วยยอดผู้เสียชีวิตที่สูงถึง 1 ใน 5 ของทั้งหมด 2 ล้านคนทั่วโลก
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ติดตามสถานการณ์ไวรัสโคโรนาของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์รายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอเมริกาจนถึงวันพุธ อยู่ที่ 405,400 คน มากกว่าจำนวนทหารอเมริกันที่เสียชีวิตทั้งจากการสู้รบและไม่ใช่การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ 405,399 คน
ทางด้าน โจ ไบเดน ที่เพิ่งทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของอเมริกา ประกาศว่า การต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดจะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สุดของคณะบริหารชุดใหม่ พร้อมสำทับว่า อเมริกากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากและเลวร้ายที่สุดของการระบาด
หนึ่งในเป้าหมายของไบเดนคือ ฉีดวัคซีนประชาชน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเมื่อวันพุธ แอมะซอน ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของอเมริกา ได้อาสาใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์อันกว้างขวางของบริษัทสนับสนุนความพยายามนี้
นอกจากนั้นไบเดนยังลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร กำหนดให้ลูกจ้างของรัฐบาลกลาง ผู้รับเหมารับจ้าง และบุคคลอื่นๆ ต้องสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่ออยู่ในอาคารสถานที่ของรัฐบาล รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอื่นๆ ที่ระบุในแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) โดยให้มีผลทันที
เจฟฟ์ ไซเอนต์ส ที่ได้รับมอบหมายจากไบเดนให้รับผิดชอบการรับมือโควิด-19 กล่าวว่า อเมริกาจะกลับเข้าเป็นสมาชิก WHO หลังจากถอนตัวออกมาในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งจะแต่งตั้งแอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของอเมริกาในการประชุมคณะกรรมการบริหารWHOที่จัดขึ้นในวันพฤหัสฯ (21)
การเปิดเผยนี้มีขึ้นหลังจากที่ WHO ยืนยันว่า ขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่พบในอังกฤษแพร่ไปยังกว่า 60 ประเทศแล้ว ขณะที่สายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ระบาดใน 23 ประเทศ
ไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสองสายพันธุ์ที่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้บั่นทอนความหวังที่มีต่อการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วโลกว่าจะช่วยให้สามารถยุติมาตรการจำกัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ที่ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีจากผลการศึกษาเบื้องต้นสองฉบับที่พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ นอกจากนั้นไบโอเอ็นเทคยังมีแผนเผยแพร่การวิเคราะห์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในไม่กี่วันนี้
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานเมื่อวันพุธโดยได้รับการยืนยันจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้และแอสตราเซเนกากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเทคโนโลยีและเตรียมผลิตวัคซีนเวอร์ชันใหม่ที่สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิลอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น เอกสารภายในของโคแว็กซ์ ซึ่งเป็นโครงการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกที่ WHO เป็นแกนนำ ยังระบุว่า WHO มีแผนอนุมัติวัคซีนหลายตัวจากผู้ผลิตตะวันตกและจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนนี้ โดยอาจเริ่มจากวัคซีนของแอสตราเซเนกาและสถาบันเซรัมแห่งอินเดียในเดือนนี้หรือเดือนกุมภาพันธ์
วัคซีนจากเอสเค ไบโอไซนส์ของเกาหลีใต้อาจได้รับการอนุมัติอย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังเดือนหน้า และปลายเดือนเดียวกันสำหรับวัคซีนของโมเดอร์นา ขณะที่วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนอย่างเร็วที่สุด WHO ยังกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งรัดการอนุมัติวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวคของจีน
ที่ผ่านมา WHO เพิ่งอนุญาตให้ใช้วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคเมื่อปลายเดือนธันวาคม
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)