(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
The day American democracy died
By MK BHADRAKUMAR
10/01/2021
เหตุการณ์ผู้สนับสนุนทรัมป์บุกถล่มรัฐสภา และความพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจของตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมเอง ทำให้ฐานะของสหรัฐฯบนเวทีระหว่างประเทศ อ่อนปวกเปียกลงจนถึงระดับรากฐาน และทำให้เกิดคำถามว่าประชาธิปไตยอเมริกันจะแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์ในตัวมันเองได้อย่างไร
เป็นการตั้งข้อสังเกตที่เจ็บแสบเผ็ดร้อนทีเดียว รัฐมนตรีต่างประเทศ ไฮโค มาส ของเยอรมนี แสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ตื่นเต้นอย่างกับในหนัง ที่ วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) --ซึ่งก็คือการที่พวกผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าถล่มอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ และความพยายามที่จะทำรัฐประหารยึดอำนาจของตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอง – โดยเปรียบเทียบย้อนระลึกไปถึงการเข้ายึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการเผาอาคารรัฐสภาเยอรมนีในปี 1933 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.britannica.com/event/Reichstag-fire)
จากภาพลักษณ์ซึ่งอยู่ในระดับโลกาวินาศเช่นนี้ จึงกลายเป็นการส่งข้อความย้อนกลับไปยังอเมริกาว่า โลกภายนอกกำลังมองเห็นสหรัฐฯเป็นอย่างไรไปแล้ว คงจะต้องใช้เวลาหลายสิบปี ก่อนที่พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันจะสามารถพูดจากับนานาประเทศทั้งหลายได้อย่างเต็มปากเต็มคำเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้งและการถ่ายโอนอำนาจกันอย่างสันติ โดยที่จะไม่ถูกตอกกลับคืนใส่หน้า ด้วยความน่าเกลียดน่าชังของเหตุการณ์เมื่อวันพุธ
ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย บนเวทีระหว่างประเทศ อเมริกากำลังอ่อนแอลงถึงขั้นระดับรากฐาน
มันกำลังกลายเป็นภารกิจที่สิ้นหวังเสียแล้ว หากพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจในการป้องปรามของสหรัฐฯ และศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของสหรัฐฯ พวกมหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์ทั้งกลายจะมองเห็นและจับจ้องความเปราะบางใหม่ๆ ของสหรัฐฯ กระทั่งพวกพันธมิตรซึ่งเหนียวแน่นมั่นคงที่สุดของสหรัฐฯในยุโรป ก็ยังกำลังสงสัยข้องใจว่าทำไมพวกเขาจึงยังสมควรที่จะมอบความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้แก่กลุ่มพันธมิตรสองฟากฝั่งแอตแลนติกที่มีองค์การนาโต้อยู่ตรงศูนย์กลาง ในเมื่อการเมืองอเมริกันตกอยู่ในอาการป่วยไข้จนถึงขนาดนี้
ความรับรู้ความเข้าใจที่มีกันอยู่โดยทั่วไปก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์กระตุ้นยุยงให้เกิด “การก่อกบฎ” ขึ้นมา ทั้งนี้ถ้าหากจะขอหยิบยืมถ้อยคำซึ่งใช้โดยว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ม.ค.) โดยที่ทั้งนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ต่างกล่าวประณามใส่ทรัมป์อย่างไม่อ้อมค้อม
ด้วยความรู้สึกชั่ววูบของความโกรธเกรี้ยวและความหมดหวัง พวกชาวพรรคเดโมแครตกำลังเรียกร้องให้ “ปลด” ทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
ขณะเดียวกัน ความผิดปกติอย่างแรงกล้าซึ่งถูกจับตากันมากประการหนึ่ง ก็คือ การที่พวกหน่วยงานความมั่นคงแลดูเหมือนขาดไร้ความสามารถในการป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความโกลาหลอันรุนแรงและสร้างความเสียหายขึ้นในอาคารแคปิตอล (the Capitol building ชื่อของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ) ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนมากๆ ก็คือ การที่กองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ได้เกิดขึ้นในป้อมปราการแห่งระบอบประชาธิปไตยสหรัฐฯเช่นนี้ เป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบที่ไร้น้ำยาระบบที่ไร้สมรรถภาพ
ในทำนองเดียวกัน ยังมีแง่มุมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลใจอย่างลึกซึ้งจากความล้มเหลวอย่างฉาวโฉ่ของการบังคับใช้กฎหมายคราวนี้
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9 กันยายน 2001 เป็นต้นมา คณะบริหารของสหรัฐฯชุดแล้วชุดเล่า ได้ใช้จ่ายเงินทองไปแล้วเป็นนับหมื่นล้านนับแสนล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแห่งมาตุภูมิ แต่ส่วนที่น่าแปลกประหลาดมากก็คืออาการไม่อนาทรร้อนใจของพวกกองกำลังความมั่นคงซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ แคปิตอล ฮิลล์ (Capitol Hill เป็นชื่อย่านในกรุงวอชิงตันซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภาสหรัฐฯ และคำๆ นี้ รวมทั้ง Capitol, Capitol Building ยังใช้เป็นชื่อเรียกรัฐสภาสหรัฐฯด้วย -ผู้แปล) ซึ่งช่างตัดแย้งอย่างรุนแรงกับท่าทีของตำรวจที่มุ่งสำแดงพลังมุ่งโชว์ความเหนือล้ำกว่าอย่างมหาศาลของพวกตน ในตอนเผชิญหน้ากับพวกผู้ประท้วงที่เคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างสงบสันติเพื่อคัดค้านความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว, สงคราม, และการกดขี่บีฑาในอเมริกา
อเมริกานั้นมีประวัติศาสตร์ของการที่ตำรวจมีความเห็นอกเห็นใจพวกกลุ่มผิวขาวเป็นใหญ่ (white supremacist) ซึ่งจัดตั้งกันเป็นกองกำลังกึ่งทหาร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-us-canada-55577362) ภาพหลายๆ ภาพบ่งชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยก็บางคนในหมู่บุคลากรสวมเครื่องแบบราว 2,000 คนซึ่งถูกส่งไปประจำการในอาคารแคปิตอล แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีความสนใจในการพยายามหยุดยั้งพวกม็อปไม่ให้เข้าไปในอาคาร
มีภาพที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างดุเดือดทางสื่ออย่างน้อยที่สุดภาพหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นพวกตำรวจกำลังถ่าย “เซลฟี่” กับพวกผู้ประท้วง ยังมีภาพอื่นๆ อีกที่แสดงให้เห็นพวกตำรวจในอากัปกิริยาที่เรียกได้ว่ากำลังเปิดประตูของอาคารรัฐสภาเพื่อให้พวกผู้ประท้วงที่เป็นกองเชียร์ทรัมป์เข้าไป
แน่นอนทีเดียว สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงอาการป่วยไข้อย่างร้ายแรงในระบบการเมืองอเมริกันอีกด้วย เป็นความกัดกร่อนอยู่ภายในซึ่งการโฆษณาอย่างเอะอะเกรียวกราวในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องที่พรรคเดโมแครตกำลังกลับมามีอำนาจควบคุมเหนือวุฒิสภาอีกครั้งภายหลังห่างเหินไปนานถึง 6 ปี ก็ไม่สามารถที่จะปกปิดอำพรางเอาไว้ได้
ความป่วยไข้นี้เป็นสิ่งที่หยั่งลึกลงไปไกลยิ่งกว่านั้น และมีสาเหตุความเป็นมาทั้งหลายแหล่ซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยกับระบบการเลือกตั้งที่โบราณล้าสมัยของอเมริกา และความแตกแยกอันมโหฬารซึ่งกำลังบังเกิดขึ้นมาก็ไม่ใช่แค่อยู่ภายในสังคมโดยองค์รวมเท่านั้นหรอก หากแต่ยังเกิดกระบวนการแบ่งแยกแตกขั้วขึ้นภายในพรรคการเมืองกระแสหลักทั้ง 2 ของสหรัฐฯอีกด้วย
แนวรอยเลื่อนซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว กำลังอยู่ในสภาพที่บาดลึกเกินกว่าจะสามารถอำพรางด้วยการปิดกระดาษบังเอาไว้ และมีความน่าจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตอาจจะเกิดการแตกหักแตกแยกกันออกเป็นเสี่ยงภายในอนาคตอันไม่ไกลนัก ซึ่งจะกลายเป็นการยุติระบบการเมืองแบบสองพรรคที่ดำรงอยู่มายาวนาน ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นสาธารณรัฐที่เกิดการแตกแยกกันอย่างเลวร้ายยิ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) และทายาทของเขาซึ่งก็คือ จอห์น แอดัมส์ (John Adams) ได้เคยเตือนเอาไว้
ในคำปราศรัยคำลาตำแหน่งของประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ วอชิงตันกล่าวเตือนเกี่ยวกับอันตรายของ “การถือพรรคถือพวกอย่างสุดโต่ง” (hyper-partisanship) โดยแจกแจงว่า เป็น “การที่กลุ่มก๊วนหนึ่งผลัดเปลี่ยนเข้ามีฐานะครอบงำเหนืออีกกลุ่มก๊วนหนึ่ง ด้วยความคมกล้าของจิตวิญญาณแห่งการแก้แค้น” เขาบอกว่า การถือพรรคถือพวกอย่างสุดโต่งดังกล่าวนี้ กำลังมีการแปรปลี่ยนเข้าสู่ “ระบบใช้อำนาจเด็ดขาดอันน่าสะพรึงกลัว” ในบางครั้งบางระยะ ขณะที่ แอดัมส์ ผู้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐฯ ก็เตือนเอาไว้ว่า “การที่สาธารณรัฐฯ (สหรัฐอเมริกา) เกิดการแบ่งแยกออกเป็น 2 พรรคการเมืองอันยิ่งใหญ่มหึมา ... จะกลายเป็นความเลวร้ายพอๆ กับการมีปีศาจทางการเมืองตัวยิ่งใหญ่มหึมา”
แต่สิ่งที่ผิดปกติและแลดูเหมือนกับขัดแย้งกันเองก็คือ การที่ระบบการเมืองแบบมี 2 พรรคใหญ่ในสหรัฐฯสามารถอยู่รอดมาได้อย่างยาวนานมาจนถึงตอนนี้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะพรรคทั้งสองไม่ได้เคยห่างเหินแยกขาดออกจากกันจนเกินไป ในความเป็นจริงแล้ว พรรคทั้งสองมีการยึดมั่นยืนหยัดในสิ่งซึ่งเล็กๆ น้อยๆ เอามากๆ และส่วนใหญ่แล้วดำเนินงานในลักษณะของการเป็นกลุ่มพันธมิตรเต็นท์ใหญ่หลวมๆ ซึ่งรวบรวมบรรดาพรรคระดับมลรัฐและพรรคระดับท้องถิ่นต่างๆ เอาไว้ภายใน ตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นระบบที่มีพรรคการเมือง 4 พรรค โดยที่พวกเดโมแครตเสรีนิยม กับพวกรีพับลิกันอนุรักษนิยม ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกับพวกรีพับลิกันเสรีนิยม และพวกเดโมแครตอนุรักษนิยม
อย่างไรก็ตาม การเมืองระบบพรรคในสหรัฐฯได้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางไปอย่างรุนแรงในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “จากการทะเลาะโต้เถียงกันอย่างมุ่งที่จะประนีประนอมกันในเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาล กลายมาเป็นความขัดแย้งทางศีลธรรมในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชาติและอัตลักษณ์แห่งชาติซึ่งผู้ชนะจะกวาดทุกสิ่งทุกอย่างไปทั้งหมดส่วนผู้แพ้ก็จะไม่เหลืออะไรเลย” อย่างที่ ลี ดรัตแมน (Lee Drutman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Breaking the Two-Party Doom Loop: The Case for Multiparty Democracy in America” (ทำลายวงจรอุบาทว์ของการเมืองแบบสองพรรค: ข้อสนับสนุนให้มีประชาธิปไตยแบบหลายพรรคในอเมริกา) ได้เขียนเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/01/two-party-system-broke-constitution/604213/)
ดรัตแมน บอกว่า “ขณะที่ความขัดแย้งยิ่งแหลมคม พรรคทั้งสองก็มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่พวกเขายึดมั่นยืนหยัด และเมื่อพรรคทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป ความขัดแย้งก็ยิ่งแหลมคมเพิ่มมากขึ้นอีก พวกรีพับลิกันเสรีนิยม และพวกเดโมแครตอนุรักษนิยม ได้หายสูญไป ระบบพรรคการเมือง 4 พรรคได้พังครืนลงกลายเป็นมีแค่ 2 พรรค
“เดโมแครต พรรคการเมืองของความหลากหลายและคตินิยมแบบสากล เข้ามีอิทธิพลครอบงำในเมืองใหญ่ๆ แต่สูญหายไปจากพวกพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกับชนบท (exurb) ส่วนรีพับลิกัน พรรคการเมืองของค่านิยมแบบยึดประเพณีดั้งเดิม และอัตลักษณ์ของชาวคริสเตียนผิวขาว ก็หลบหนีจากเมืองใหญ่ๆ มารุ่งเรืองเฟื่องฟูตามพื้นที่ระหว่างเมืองกับชนบท เกิดฟองอากาศทางสังคมแบบถือพรรคถือพวกขึ้นมาจำนวนหนึ่ง และเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะเขตเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละเขตกำลังกลายเป็นพื้นที่ของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างโดดเด่นชัดเจนขึ้นทุกที ผลลัพธ์ก็คือ การเลือกตั้งระดับไพรมารี (การแข่งขันภายในของพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน เพื่อหาผู้สมัครของพรรคเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งในพื้นที่นั้นๆ -ผู้แปล) ต่างหาก ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป (การแข่งขันระหว่างผู้สมัครของพรรคต่างๆ -ผู้แปล) หรอก ซึ่งเป็นตัวตัดสินชี้ขาดทิศทางในเขตเลือกตั้งต่างๆ จำนวนมาก”
ผลลัพธ์ที่จะต้องออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การหาทางทำข้อตกลงกันชนิดข้ามไปข้ามมาระหว่างกลุ่มก๊วนต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ล้มหายตายจากไป มันไม่มีความเหลื่อมซ้อนกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองอีกแล้ว และระบบของการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายต่างๆ (ฝ่ายนิติบัญญัติ, ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายตุลาการ -ผู้แปล) และระบบของการตรวจสอบทัดทานก็เป็นอันหมดบทบาทไป
ทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ ประชาธิปไตยแบบมีหลายหลากพรรค แต่ตรงนี้มันมีวงจรอุบาทว์ขวางกั้นอยู่ เป็นสิ่งที่เกิดจากบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งปล่อยให้รัฐต่างๆ เป็นผู้ตัดสินใจระเบียบกฎเกณฑ์การเลือกตั้งของพวกเขาเอง และสงวนรักษาให้รัฐสภา (คองเกรส) มีอำนาจในการเข้าแทรกแซงได้ และนี่ก็เป็นอำนาจซึ่งรัฐสภาได้ใช้อยู่เรื่อยๆ ตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมาเพื่อรักษาระบบการเมืองแบบ 2 พรรคให้เข้าที่เข้าทาง และให้หลักประกันว่าการเลือกตั้งโดยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในลักษณะไม่ได้มีการแข่งขันเอาเป็นเอาตายกันจริงๆ
แต่ระบอบประชาธิปไตยมวลชนในยุคสมัยใหม่ จะไม่มีพรรคการเมืองได้อย่างไร? พวกระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าที่สุดต่างเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งชนิดจัดสรรผู้แทนในระบบสัดส่วนกันแล้ว ซึ่งเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีหลายๆ พรรค ขณะที่ระบบการเลือกตั้งและระเบียบกฎเกณฑ์การลงคะแนนของสหรัฐฯ ซึ่งอิมพอร์ตมาจากสหราชอาณาจักรโดยที่ไม่ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันเมื่อตอนคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น ยังคงถูกแช่แข็งคงเดิมเอาไว้อย่างเหนือกาลเวลา
ระบอบประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรคนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบหรอก แต่มันก็เหนือกว่ามากมายนักในเรื่องการสนับสนุนความหลากหลาย, การต่อรองกัน, และการประนีประนอมกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการปกครองตนเองในสังคมที่มีความหลากหลายเฉกเช่นสหรัฐอเมริกา ความไม่พอใจและความหงุดหงิดผิดหวังในระดับสูงมากๆ ซึ่งประกาศตัวออกมาในการจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯครั้งนี้ คือการสั่นกระดิ่งเตือนภัยดังลั่นว่า “การถือพรรคถือพวกอย่างสุดโต่ง” แบบมีสองพรรค (ซึ่งทั้งวอชิงตันและแอดัมส์ได้เตือนเอาไว้) กำลังนำไปสู่จุดจบสำหรับอนาคตของประชาธิปไตยอเมริกัน
ถ้าหากต้องการที่จะลงมือแก้ไขกันในขณะที่ลมพายุยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมสะสมกำลังแล้ว ก็จำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสหรัฐฯให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรค สิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้น การถือพรรคถือพวกอย่างสุดโต่งได้ทำให้ความติดขัดชะงักงันทางนิติบัญญัติยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังนำไปสู้ระบบผู้นำแบบจากบนลงล่าง พวกสมาชิกรัฐสภาซึ่งอยู่ในกลุ่มในก็วนเดียวกันกับประธานาธิบดี ไม่ได้มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะตรวจสอบประธานาธิบดี เนื่องจากความสำเร็จในการได้รับเลือกตั้งของพวกเขาถูกผูกมัดเอาเอาไว้กับความสำเร็จและความนิยมของมวลชนในตัวประธานาธิบดีเสียแล้ว
ในอีกด้านหนึ่ง พวกสมาชิกรัฐสภาที่เป็นกลุ่มก็วนตรงกันข้ามก็ไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำงานร่วมกับประธานาธิบดี เนื่องจากความสำเร็จในการได้รับเลือกตั้งของพวกเขาถูกผูกมัดเอาเอาไว้กับความล้มเหลวและการเสื่อมความนิยมของมวลชนในตัวประธานาธิบดี ผลก็คือการยอมตามอย่างเซื่องๆ และ/หรือ การตั้งหน้าตั้งตาขัดขวางสร้างอุปสรรค – โดยขึ้นอยู่กับว่าใครยืนอยู่ตรงไหนในกระบวนการแบ่งข้างแตกขั้วนี้
ผลพวงที่ติดตามมาประการหนึ่งก็คือ ภาวะติดขัดชะงักงันในทางนิติบัญญัติ หมายถึงการต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจตุลาการเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้แก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าได้ทำให้การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาในศาลสูงสุด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้พิพากษาเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่งตลอดชีพอีกด้วย) กลายเป็นกิจการที่มีเดิมพันสูงลิ่ว และกระตุ้นให้เกิดศึกลงคะแนนรับรองที่ต่อสู้กันอย่างน่าชิงชัง แล้วดังนั้นจึงยิ่งทำให้การเลือกตั้ง (ประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา -ผู้แปล) มีเดิมพันสูงลิ่วเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้ จุดแห่งความเสื่อมทรามลงมาจนต่ำเตี้ยอย่างที่สุด เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ทรัมป์พยายามกดดันเลขาธิการ (secretary of state) ของรัฐจอร์เจียเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (4 ม.ค.) ให้หาทางล้มคว่ำผลการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020
ไบเดน นักสร้างฉันทามติอย่างมีแก่นสารสาระ ผู้ซึ่งพูดถึงตนเองว่าเป็น “ประธานาธิบดีในระยะเปลี่ยนผ่าน” คือบุคคลที่มีคุณสมบัติดีเลิศที่สุดในการเข้าแก้ไขคลี่คลายสาเหตุรากเหง้าของการแบ่งฝ่ายแตกขั้วในการเมืองอเมริกัน ก่อนที่มันจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นโรคร้ายซึ่งไม่สามารถรักษาได้
พวกชาวยุโรปนั้นเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีจากประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองว่า ประชา
ธิปไตยกลายพันธุ์แบบอเมริกันที่มีจุดอ่อนข้อบกพร่องอย่างล้ำลึกนี้ ไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนของพลเมือง และมีปฏิสัมพันธ์กับพลเมืองซึ่งมีความกระจัดกระจายอย่างสูงได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สามารถที่จะนำพาพวกเขาเข้ามารวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์อันมีร่วมกันได้อีกต่อไปแล้ว และการเมืองจึงกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายตลอดจนการกดขี่เผด็จอำนาจมากขึ้นทุกที โดยที่ทั้งพลเมืองและนักการเมืองต่างรู้สึกถูกคุกคามจากความเลยเถิดของฝ่ายบริหาร
ข้อสังเกตของรัฐมนตรีต่างประเทศมาส กลายเป็นการแตะต้องจุดสัมผัสที่อ่อนไหวเอามากๆ ทว่า บางทีอนาคตของประชาธิปไตยอเมริกัน อาจจะต้องขึ้นอยู่กับว่าให้ความใส่ใจกับประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าสลดของเยอรมนีกันมากน้อยเพียงใด
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย