เอเจนซีส์ - ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติรับรองชัยชนะของ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่กี่ชั่วโมงหลังกองเชียร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ นับร้อยจู่โจมเข้าไปภายในอาคารคองเกรส ด้านทรัมป์แถลงแก้หน้าว่าจะถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงประณามดังกระหึ่มทั้งจากในและนอกประเทศว่าอดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้ปลุกม็อบย่ำยีประชาธิปไตยอเมริกันอย่างน่าละอาย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าคณะรัฐมนตรีซุ่มถกถอดถอนทรัมป์โดยใช้อำนาจภายใต้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25
ในคืนวันพุธ (6) สมาชิกของทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ กลับสู่การประชุมอีกครั้งเพื่อเดินหน้ากระบวนการรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งของไบเดนจากพรรคเดโมแครต หลังเกิดความวุ่นวายในอาคารรัฐสภา “แคปิตอลฮิลล์” เมื่อเหล่าผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายร้อยคนบุกเข้าไปภายในอาคาร โดยที่เหตุการณ์นี้เอง ทำให้สมาชิกรีพับลิกันหลายคนเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนการคัดค้านผลการเลือกตั้ง
ตามระเบียบการประชุมจะมีการขานคะแนนผู้เลือกตั้งที่คู่แข่งขันทั้งสอง นั่นคือ ไบเดน กับ ทรัมป์ ได้รับในแต่ละรัฐ โดยหากรัฐใดมี ส.ว.อย่างน้อย 1 คน และ ส.ส.อย่างน้อย 1 คน ลุกขึ้นคัดค้านแล้ว ทั้ง 2 สภาก็จะแยกกันไปประชุมกันเองเพื่ออภิปรายและลงมติว่าจะรับรองการคัดค้านหรือไม่ จากนั้นก็จะกลับมาประชุมร่วมกันอีก
ปรากฏว่ายังคงมี ส.ว.และ ส.ส.จำนวนหนึ่งของพรรครีพับลิกัน ออกมาคัดค้านการรับรองคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐแอริโซนา และรัฐเพนซิลเวเนีย ทว่าเสียงส่วนใหญ่ของทั้ง 2 สภาได้ปฏิเสธการค้าน และหลังจากนั้นที่ประชุมร่วมของ 2 สภาก็ลงมติรับรองชัยชนะของไบเดนอย่างเป็นทางการ จากคะแนนที่ได้จากคณะผู้เลือกตั้งทั่วประเทศ 306 เสียง ขณะที่ทรัมป์ได้ 232 เสียง
รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และเป็นประธานของการประชุมร่วมของรัฐสภาคราวนี้ แถลงว่า ผลการลงคะแนนนี้ที่ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการรับรองชัยชนะของไบเดน คือคำประกาศรับรองประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ไบเดน และกมลา แฮร์ริส จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ที่จะถึงนี้
มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ทรัมป์พยายามกดดันให้เพนซ์ใช้อำนาจในฐานะประธานการประชุม คัดค้านการรับรองผลการเลือกตั้ง ทว่า รองประธานาธิบดีผู้นี้ยืนยันจนถึงนาทีสุดท้ายว่า ตนไม่คิดว่าตัวเองจะมีอำนาจแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว
ทันทีที่รัฐสภาประกาศรับรองชัยชนะของไบเดน ทำเนียบขาวเผยแพร่แถลงการณ์ของทรัมป์ที่ระบุว่า แม้ไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิงกับผลการเลือกตั้ง แต่เขาจะถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในวันที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง พร้อมกันนี้ทรัมป์ยังประกาศว่า จะยังคงบทบาททางการเมืองท่ามกลางข่าวลือว่า เขาอาจลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024
ตลอดระยะเวลากว่าสองศตวรรษที่ผ่านมา การประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของอเมริกาเพื่อรับรองผลการเลือกตั้ง จะดำเนินไปอย่างสงบและเป็นระเบียบเสมอมา เพิ่งจะในครั้งนี้ที่ทรัมป์เรียกร้องให้สมาชิกรีพับลิกันคัดค้านผลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี แม้สมาชิกคองเกรสส่วนใหญ่ไม่คิดก่อกวนกระบวนการตามที่ทรัมป์รบเร้า ทว่า การประชุมถูกขัดจังหวะหลายชั่วโมง จากกองเชียร์ที่กลายเป็นผู้ก่อจลาจล โดยได้รับการยั่วยุจากทรัมป์ พวกเขาได้ทำลายสิ่งกีดขวาง ทุบกระจก และจู่โจมเข้าสู่อาคารรัฐสภา โดยมีบางส่วนเข้าไปรุมล้อมและทุบประตูห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกดดันให้พวก ส.ส.ที่อยู่ในห้องหยุดการอภิปรายรับรองผลการเลือกตั้ง กระทั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องนำโต๊ะเก้าอี้ไปดันประตูไว้ และชักปืนออกมาป้องกันตัว ก่อนนำบรรดา ส.ส. หลบไปยังที่ปลอดภัย
ทรัมป์ปลุกม็อบบุกสภา
เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้เป็นผลพวงสะสมมาจากการที่ทรัมป์ใช้ถ้อยคำยั่วยุสร้างความแตกแยกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยที่เขากล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่าถูกปล้นชัยชนะและเร่งเร้าให้ผู้สนับสนุนออกมาช่วยคัดค้านผลการเลือกตั้ง
การจลาจลในวันพุธเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ขึ้นกล่าวปราศรัยกับพวกผู้สนับสนุนหลายพันคนใกล้ทำเนียบขาว และบอกให้คนเหล่านั้นเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้ง เขายังบอกให้กองเชียร์กดดันให้สมาชิกรัฐสภาปฏิเสธผลการเลือกตั้ง โดยปลุกเร้าให้คนเหล่านั้นให้ “สู้”
ทางด้านไบเดนออกมาแถลงว่า เหตุการณ์รุนแรงนี้เป็นจลาจล และเรียกร้องให้ทรัมป์ออกทีวีเพื่อขอให้ม็อบยุติการก่อความรุนแรง และสำทับว่า ประชาธิปไตยของอเมริกาไม่เคยถูกย่ำยีแบบนี้มาก่อน
หลังจากนั้นไม่นาน ทรัมป์เผยแพร่คลิปขอให้ม็อบสลายตัว แต่ยังคงย้ำว่า มีการโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร
ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยใช้แก๊สน้ำตาและใช้เวลาราว 4 ชั่วโมงในการจัดการปราบปรามม็อบเหล่านี้ โดยปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นอดีตทหารอากาศและเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ โดยเธอถูกตำรวจยิงขณะร่วมกับพรรคพวกบุกเข้าไปภายในรัฐสภา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีก 3 คนนั้น ตำรวจบอกว่าเสียชีวิตจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้ถูกจับกุม 52 คน
นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกที่อาคารรัฐสภาอเมริกาถูกยึดนับจากปี 1814 ที่ถูกอังกฤษเผาระหว่างสงครามปี 1812
ลือ ครม.ถกปลดทรัมป์
แม้ทรัมป์ยังเหลือเวลาในทำเนียบขาวอีกเพียง 2 สัปดาห์ แต่สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า คณะรัฐมนตรีของเขาซุ่มคุยกันเรื่องการใช้อำนาจภายใต้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 เพื่อปลดทรัมป์จากตำแหน่งเนื่องจากไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อ แล้วให้เพนซ์เป็นผู้รักษาการ
ด้านสมาชิกเดโมแครตทั้งหมดในคณะกรรมาธิการตุลาการของสภาผู้แทนราษฎรทำจดหมายถึงเพนซ์ระบุว่า เจตนาของทรัมป์ในการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความวุ่นวายเพื่อบังคับเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการปลดจากตำแหน่งภายใต้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ความน่าละอายที่ไม่สิ้นสุด
จากเหตุการณ์กองเชียร์ทรัมป์ก่อเหตุบุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา มีสมาชิกสำคัญบางคนในรัฐสภาของพรรครีพับลิกัน โจมตีว่า ทรัมป์ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ เช่น ส.ส.ลิซ เชนีย์ ประธานที่ประชุมของรีพับลิกันในสภาล่าง วิจารณ์ว่า ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า ทรัมป์เป็นผู้ก่อม็อบและยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง
ทอม คอตตอน วุฒิสภารีพับลิกัน เรียกร้องให้ทรัมป์ยอมรับความพ่ายแพ้และหยุดทำให้คนอเมริกันเข้าใจผิด รวมทั้งสั่งให้ม็อบยุติความรุนแรง
ส.ว.ชัค ชูเมอร์ ผู้นำของเดโมแครตในวุฒิสภา กล่าวว่า เหตุบุกสภานี้เป็นความพยายามก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ และจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์อเมริกันเช่นเดียวกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ โดยที่ทรัมป์จะต้องแบกรับ “ความน่าละอายที่ไม่สิ้นสุด” จากการยุยงปลุกปั่นมวลชนด้วยถ้อยคำโกหก
ขณะที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาจากพรรคเดโมแครต ระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงนี้เป็น “ช่วงเวลาแห่งความอัปยศและน่าละอายของอเมริกา”
ด้านอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน จวกว่า นี่คือการโต้แย้งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในสาธารณรัฐกล้วย ไม่ใช่สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบอเมริกา
ไม่เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ ช็อกกับเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกันและประณามว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่าอับอาย
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี บอกว่า รู้สึก “โกรธและเศร้าใจ” ต่อเหตุการณ์ที่กิดขึ้น และบอกว่าทรัมป์ควรต้องถูกประณามด้วยสำหรับความไม่สงบที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ขณะที่ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เรียกร้องผู้สนับสนุนทรัมป์ยุติการเหยียบย่ำประชาธิปไตย
ส่วน โจเซป บอร์เรลล์ ประธานนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ทวีตว่า “ในสายตาของโลก คืนนี้ประชาธิปไตยอเมริกันดูเหมือนจะถูกปิดล้อม” เขาเรียกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การโจมตีทำร้ายประชาธิปไตยสหรัฐฯ สถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ และหลักนิติธรรม” และบอกว่า “นี่ไม่ใช่อเมริกา ผลเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนจักต้องได้รับการเคารพอย่างเต็มที่”
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แถลงว่า “เราจะไม่ยอมแพ้ต่อความรุนแรงของคนไม่กี่คนที่ต้องการตั้งคำถาม” ต่อประชาธิปไตย พร้อมกับเสริมว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ในวอชิงตันไม่ใช่อเมริกัน
สำหรับรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาว แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าระบบเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้นโบราณล้าสมัย ไม่ได้มาตรฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ เปิดโอกาสให้มีการล่วงละเมิดกันอย่างมากมาย นอกจากนั้นแล้ว สื่อมวลชนอเมริกันก็กลายเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมือง นี่เป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้สังคมเกิดการแตกแยกในสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน แถลงว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัฐสภาสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยตะวันตกนั้นเปราะบางและอ่อนแอขนาดไหน โดยที่ชาติตะวันตกกลายเป็นพื้นดินอุดมสำหรับลัทธิประชานิยม ทั้งๆ ที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม
ทางด้านจีน ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (7) โกลบอลไทมส์ สื่อแทบลอยด์ในเครือ เหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ทวิตโดยนำภาพพวกผู้ประท้วงฮ่องกงบุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติของที่นั่นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 มาเปรียบเทียบกับภาพการจลาจลในรัฐสภาสหรัฐฯวันพุธ (6) และเขียนข้อความว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ครั้งหนึ่งเคยกล่าวถึงการจลาจลฮ่องกงว่า เป็น “ภาพอันสวยงามที่ได้พบเห็น” แล้วเหน็บแนมว่า “ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าเธอจะพูดอย่างเดียวกันไหมกับพัฒนาที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในแคปิตอลฮิลล์”
วันเดียวกันนั้น ระหว่างการแถลงข่าวประจำวัน หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกทำนองนี้ โดยกล่าวว่า ปฏิกิริยาของบางคนในสหรัฐฯ รวมทั้งของบางสื่อ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและในวอชิงตัน ช่างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปฏิกิริยาที่แตกต่างเป็นตรงกันข้ามกันเช่นนี้ทำให้เราต้องขบคิด และสมควรที่จะสะท้อนทบทวนอย่างจริงจังและลึกซึ้ง
ในสื่อสังคม “เว่ยปั๋ว” ของจีนวันพฤหัสบดี แฮชแท็ก “กองเชียร์ทรัมป์บุกเข้ารัฐสภาสหรัฐฯ” ฮิตติดอันดับมียอดวิว 570 ล้านวิว ผู้ที่ออกความเห็นรายหนึ่งทางเว่ยปั๋วกล่าวว่า “ตอนนี้พวกผู้นำยุโรปทั้งหมดแสดงให้เห็นการมีสองมาตรฐาน และกล่าวประณามมัน (การจลาจลในวอชิงตัน)” ปรากฏว่าได้ยอดไลก์กว่า 5,000 ครั้ง
ส่วนอีกรายหนึ่งที่เขียนว่า “ไม่รู้หรอกว่าพวกสื่อฮ่องกงหรือไต้หวัน คราวนี้จะรายงานข่าวแบบสองมาตรฐานออกมาในลักษณะไหน” “สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติฮ่องกงปีที่แล้ว กำลังเกิดซ้ำในรัฐสภาสหรัฐฯ” ปรากฏว่ามียอดไลก์กว่า 4,500 ครั้ง