(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Europe hurried to sign China pact to preempt Biden
By DAVID P. GOLDMAN
31/12/2020
ทั้งๆ ที่ตัวแทนของคณะบริหาร โจ ไบเดน เรียกร้องให้สหภาพยุโรปรั้งรอเอาไว้ก่อน แต่อียูก็เดินหน้าโอเคข้อตกลงการลงทุนกับจีน ด้วยความตั้งใจที่จะให้มันเสร็จเรียบร้อยก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่จะมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงกดดัน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ข้อเสนอของไบเดนที่ให้จัดตั้งแนวร่วมสามัคคีของชาติตะวันตกเพื่อคัดค้านจีนนั้น ล้มเหลวไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงในทางการค้า
คณะตัวแทนของคณะบริหาร โจ ไบเดน ที่กำลังจะเข้าดำรงตำแหน่งอยู่รอมร่อ ได้ใช้ความพยายามกันแล้ว แต่ก็ยังคงล้มเหลวที่จะหยุดยั้งไม่ให้สหภาพยุโรปตกลงเรื่องสนธิสัญญาด้านการลงทุนฉบับหนึ่งกับจีนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา
หลังจากดำเนินการเจรจาต่อรองกันเป็นเวลาถึง 7 ปีโดยมีการสะดุดชะงักงันอยู่บ่อยครั้ง นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศศ ก็ผลักดันให้เดินหน้าไปสู่การตกลงกันในขั้นสุดท้ายสำหรับสนธิสัญญาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการ “ความตกลงรอบด้านว่าด้วยการลงทุน” (Comprehensive Agreement on Investment (CAI) ก่อนที่คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้
เจ้าหน้าที่รัฐบาลเยอรมันผู้หนึ่ง ซึ่งออกมาแจกแจงแบบอธิบายภูมิหลังทว่าไม่ต้องการให้เปิดเผยนาม กล่าวว่ายุโรปนั้นต้องการที่จะเสนอข้อตกลงที่สำเร็จเรียบร้อยกันไปแล้วเพื่อให้ฝ่ายวอชิงตันได้รับทราบ ก่อนหน้าที่คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯจะมีโอกาสในการออกแรงกดดันเพื่อให้ทางยุโรปต้องรักษาระยะห่างเอาไว้จากจีน ส่วนสำหรับจีนนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าก็มีความต้องการเช่นนี้ด้วย
“พวกสมาชิกของทีมไบเดนในบรัสเซลส์ พยายามรณรงค์คัดค้านการที่อียูจะทำดีลกับจีน โดยโน้มน้าวว่าเพื่อจะได้สามารถออกแรงบีบคั้นจีนเพิ่มมากขึ้นในการเจรจากันต่อๆ ไปในอนาคต” ดี เวลท์ (Die Welt) หนังสือพิมพ์แนวกลาง-ขวาของเยอรมนีรายงานเอาไว้เช่นนี้
แรงกระตุ้นสำคัญประการหนึ่งในเบอร์ลินและปารีส ได้แก่ การที่ยุโรปกำลังต้องพี่งพาในทางเศรษฐกิจต่อตลาดจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 5 ปีก่อน การส่งออกของเยอรมนีไปยังจีนมีปริมาณเท่ากับเกินกว่าครึ่งหนึ่งนิดหน่อยของสินค้าเยอรมันซึ่งลำเลียงไปยังสหรัฐฯ แต่ในปีนี้ปริมาณการส่งออกไปยังจีนแซงหน้ายอดขายในสหรัฐฯไปเสียแล้ว จีนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีเมื่อปี 2018 (เมื่อคำนวณรวมทั้งปริมาณการส่งออกและการนำเข้า)
สนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งยังคงต้องผ่านการรับรองให้สัตยาบันโดยรัฐสภายุโรป มีเนื้อหาสาระเป็นการเปิดทางให้พวกบริษัทยุโรปในภาคเศรษฐกิจจำนวนมาก มีสิทธิในทางหลักการที่จะดำเนินงานในจีนโดยไม่ต้องมีกิจการท้องถิ่นมาเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนด้วย ตลอดจนไม่ถูกบังคับให้ต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยี ถึงแม้ยังมีคงประเด็นปัญหาในเรื่องการบังคับใช้ตัวอย่างเช่น กรอบโครงรูปธรรมที่จะใช้เพื่อแก้ไขคลี่คลายในเวลาเกิดข้อพิพาทกันขึ้นมา แต่กระนั้นก็มีความเป็นไปได้อย่างมากมายว่าข้อตกลงฉบับนี้จะเร่งรัดให้ยุโรปเข้าไปลงทุนในจีนกันอย่างคึกคักกระตือรือร้น
พิจารณากันในทางการทูต ข้อตกลง CAI ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของปักกิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)
ในหมู่ชาติเอเชีย 16 ประเทศ
ช่วงต้นเดือนธันวาคม รัฐบาลแมร์เคิลยังได้ส่งร่างกฎหมายฉบับหนึ่งไปให้รัฐสภาเยอรมนีพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะเปิดทางให้ หัวเว่ย สามารถเข้าร่วมการก่อสร้างเครือข่าย 5จี ขึ้นในแดนดอยช์ อันเป็นการเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายอเมริกันที่จะให้กีดกันยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีนรายนี้
ข้อเสนอของไบเดนที่จะให้จัดตั้งแนวร่วมสามัคคีของบรรดาชาติตะวันตกเพื่อคัดค้านจีนนั้น
ท่าทีจะจุดไม่ติดตั้งแต่เริ่มต้น ถึงแม้อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านจีนกำลังแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรป รวมทั้งเกิดความตึงเครียดในการแลกเปลี่ยนทางการทูตระหว่างปักกิ่งกับเบอร์ลิน เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน รัฐมนตรีต่างประเทศฯ ไฮโค มาส (Heiko Maas) ของเยอรมนี ได้กล่าวตำหนิคัดค้านเรื่องที่จีนออกคำเตือนอย่างดุเดือดรุนแรงไปถึงสาธารณรัฐเช็กว่า จะต้องเผชิญกับ “ผลพวงต่อเนื่อง” หลังจากประธานของวุฒิสภาเช็กได้สร้างความโกรธเคืองให้ปักกิ่งด้วยการไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ “วันเวลาที่จีนสามารถออกคำข่มขู่คุกคาม และด้วยการกระทำเช่นนี้ก็คือการปิดปาก (ประเทศ) อื่นๆ นั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว” ฮาส บอก
กิจกรรมต่างๆ ทางด้านการลงทุนของจีนในเยอรมนี ได้ประสบกับการถูกรัฐบาลแดนดอยช์ผลักไสดุนหลังออกมาไม่ใช่น้อยๆ ขณะที่พวกนักลงทุนชาวจีนเร่งรีบตะครุบกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ ของเยอรมัน ทว่าเวลาเดียวกันจีนกลับมีระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งสกัดกั้นการลงทุนของเยอรมนีในแดนมังกร ทั้งนี้รัฐบาลแมร์เคิลได้ขัดขวางการเข้าครอบครองกิจการเยอรมันของฝ่ายจีนที่เป็นข่าวเกรียวกราวกันหลายครั้งทีเดียวระหว่างช่วงเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา
“จากจุดยืนของฝ่ายเยอรมันและของฝ่ายยุโรป ประเด็นอยู่ที่การปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรมและอย่างเท่าเทียมกัน” โทเบียส ไกเซอร์ (Tobias Kaiser) อธิบายให้ ดี เวลท์ ฟัง “ภาคส่วนต่างๆ จำนวนมากของเศรษฐกิจจีนถูกปิดตายอย่างสิ้นเชิงจากบรรดานักลงทุนชาวยุโรป
และในส่วนของบริษัทอื่นๆ ก็มีการบังคับให้ต้องยอมรับเอากิจการของจีนมาเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุน ตลอดจนมีการบังคับให้ต้องยินยอมถ่ายโอนโนว-ฮาวทางเทคโนโลยี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งสันนิษฐานกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการมีสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน รวมทั้งในบริการต่างๆ ทางด้านคลาวด์, รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ไฮบริด และการดูแลสุขภาพ พวกบริษัทยุโรปที่ต้องการดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชนในจีนจะไม่ถูกเรียกร้องให้ต้องหาหุ้นส่วนร่วมลงทุนในเมืองขนาดใหญ่ๆ ที่มีประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป”
แท้ที่จริงแล้ว ภาคส่วนสำคัญๆ จำนวนมากของเศรษฐกิจเยอรมนี มีการบูรณาการเข้ากับจีนไปแล้วอย่างแน่นหนา ความทะเยอทะยานต่างๆ ของพวกผู้ผลิตรถยนต์ชาวเยอรมันในปริมณฑลยานยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่เพียงแค่มุ่งพึ่งพาพวกผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อรถจำนวนราวหนึ่งในสามของพวกเขาจากพวกบริษัทเยอรมันเท่านั้น หากยังมุ่งอาศัยเทคโนโลยีแบตเตอรีของจีนอีกด้วย ส่วนพวกบริษัทยาเวชภัณฑ์เยอรมันก็ได้มีการจัดตั้งกิจการร่วมลงทุนกับวิสาหกิจของฝ่ายจีนในเรื่องการนำมาปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการวิจัยยาตัวใหม่ๆ นอกจากนั้นแล้วจีนยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของพวกเครื่องจักร-เครื่องมือของเยอรมัน
สนธิสัญญาฉบับนี้สร้างความประหลาดใจแบบนึกไม่ถึงให้แก่พวกผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมาก ทัศนะที่เป็นฉันทามติของสหรัฐฯมีอยู่ว่า ยุโรปนั้นต้องการที่จะนำตัวเองถอยห่างออกจากจีน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โธมัส ไรต์ (Thomas Wright) ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำให้กับสถาบันบรูคกิ้งส์ (Brookings Institution) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Europe changes its mind on China (ยุโรปเปลี่ยนความคิดของตนในเรื่องเกี่ยวกับจีน) รายงานฉบับนี้สรุปว่า “ตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปและพวกประเทศยุโรปอื่นๆ อีกหยิบมือหนึ่ง ได้พากันถอยห่างออกมาอย่างลังเลใจ จากนโยบายว่าด้วยจีนซึ่งจัดทำขึ้นรอบๆ การมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และหันมาใช้นโยบายของการจำกัดอิทธิพลของจีนในยุโรปด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งทางยุทธศาสตร์และด้านความมั่นคง”
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นลงวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา เวนดี้ คัตเลอร์ (Wendy Cutler)
และ เจมส์ กรีน (James Green) แห่งสถาบันนโยบายสมาคมเอเชีย (Asia Society Policy Institute) เสนอทัศนะโต้แย้งว่า ความตกลงรอบด้านว่าด้วยการลงทุน (CAI) จะสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่ความพยายามของวอชิงตันที่จะโดดเดี่ยวจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://asiasociety.org/policy-institute/impact-euchina-investment-agreement-collective-efforts)
ทั้งนี้ความเห็นนี้กล่าวว่า “เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ อียูจะกลายเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันของข้อตกลง CAIซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ต่างๆ และการทะลุทะลวงผ่าทางตันต่างๆ
ของพวกเขา ท่าทีการแสดงออกเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเวลาที่อียูเสาะแสวงหาทางให้รัฐสภายุโรปรับรองข้อตกลงฉบับนี้เพื่อให้มันมีผลบังคับใช้อียูมีความจำเป็นที่จะต้องหันเหความสนใจให้ออกไปจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งคาดหมายได้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นมา โดยเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ว่า (ข้อตกลง CAI ฉบับนี้)ยังเรียกร้องไปไม่ไกลเพียงพอทั้งในด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน, การเข้าถึงตลาดจีน,และสิทธิคนงานในจีนโดยที่ประเด็นเหล่านี้กำลังเป็นสิ่งซึ่งครอบงำการปรึกษาหารือว่าด้วยจีนมากขึ้นทุกที ทั้งในบรัสเซลส์ (เมืองที่ตั้งของคณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรฝ่ายบริหารของอียู) และในสตราสบูร์ก (เมืองที่ตั้งของรัฐสภายุโรป)ความจำเป็นเช่นนี้ซึ่งจะกลายเป็นการเรียกร้องให้อียูต้องคอยส่งเสริมสนับสนุนและปกป้องแก้ต่างให้แก่ข้อตกลง CAI ต่อสาธารณชนน่าจะอยู่ในลักษณะสวนทางตรงกันข้ามกับประดาความพยายามร่วมกันที่นำโดยสหรัฐฯซึ่งมุ่งรั้งบังเหียนทัดทานขัดขวางการปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมของจีน และการปฏิบัติต่างๆ ที่นำโดยภาครัฐของจีน”
นอกจากนั้นแล้ว คัตเลอร์และกรีนยังโต้แย้งด้วยว่า“พวกผู้นำภาคธุรกิจของยุโรปจะพากันพูดจายกย่องชมเชยภาพรวมการลงทุนของจีนขณะที่พวกเขาเริ่มต้นเดินหน้าดำเนินการลงทุนต่างๆที่เป็นข่าวเกรียวกราวของอียูในจีน โดยเป็นการลงทุนในพวกภาคต่างๆ อย่างบริการทางการเงิน, ยานยนต์ไฟฟ้า, และการสื่อสารโทรมคมนาคมซึ่งกำลังได้รับความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกจากข้อตกลง CAI”
หมายเหตุผู้แปล
สำนักข่าวเอเอฟพี ได้เสนอรายงานในรูปของคำถาม-คำตอบ เรื่องที่สหภาพยุโรปและจีนสามารถทำความตกลงกันได้ในหลักการเกี่ยวกับ “ความตกลงรอบด้านว่าด้วยการลงทุน” (Comprehensive Agreement on Investment (CAI) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการให้ภูมิหลังเพิ่มเสริมข้อเขียนชิ้นนี้ของเอเชียไทมส์ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:
‘ยุโรป’กับ‘จีน’ปิดท้ายปีที่เผชิญกับโรคระบาดใหญ่ด้วยข้อตกลงด้านการลงทุน
โดย สำนักข่าวเอเอฟพี
Europe and China end pandemic-hit year with investment deal Q&A
By AFP
30/12/2020
สหภาพยุโรปกับจีน รับรองเห็นชอบ “ในหลักการ” ข้อตกลงด้านการลงทุนฉบับสำคัญ
เมื่อวันพุธที่ 30 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ภายหลังการเจรจาต่อรองกันอย่างอุตสาหะพยายามกันมาเป็นเวลายาวนาน 7 ปี
ข้อตกลงฉบับนี้ เห็นกันว่าจะเป็นแรงขับดันให้การลงทุนหลั่งไหลเพิ่มพูนไปสู่ทั้งสองฝ่าย
ในเวลาที่เศรษฐกิจถูกกระหน่ำสะบักสะบอมจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อีกทั้งถือเป็นชัยชนะทางการเมืองอย่างสำคัญครั้งหนึ่งของจีน ก่อนหน้าว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะเดินเข้าสู่ทำเนียบขาว
ข้อตกลงฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?
ในมุมมองของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดตลาดของจีน และขจัดพวกกฎระเบียบตลอดจนการปฏิบัติที่มีลักษณะแบ่งแยกกีดกันไม่ให้บรรดาบริษัทของยุโรปสามารถแข่งขันบนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียม
มูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้อยู่ในระดับมหาศาลยิ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตัวเลขที่ว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นว่า อียู (หลังจากยกเว้นส่วนของสหราชอาณาจักร ซึ่งเวลานี้แยกตัวออกไปจากสหภาพยุโรปแล้ว) มีการลงทุนโดยตรงในจีนเป็นจำนวน 181,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนโดยตรงของจีนในสหภาพยุโรป (ยกเว้นสหราชอาณาจักร) อยู่ที่ 138,000 ล้านดอลลาร์
ในทางการค้า อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนมาอย่างยาวนาน ถึงแม้เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งถูกแซงหน้าไปโดยกลุ่มอาเซียน
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯขึ้นมาเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอียู
ปักกิ่งได้อะไรจากข้อตกลงนี้?
เวลานี้จีนกำลังต้องสู้รบอยู่ในสมรภูมิทางการทูตในหลายๆ แนวรบ โดยสมรภูมิซึ่งมีอันตรายมากที่สุดได้แก่การสู้รบกับปรปักษ์ที่เป็นอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ทั้งในทางด้านการค้า, ความมั่นคง, เทค, และสิทธิมนุษยชน
สมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของไบเดน น่าที่จะได้เห็นสหรัฐฯพยายามโน้มน้าวชักชวนพวกพันธมิตร –ซึ่งก็รวมถึงอียูด้วย ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มพันธมิตรที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น เพื่อโอบล้อมบีบคั้นจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปฏิบัติทางด้านสิทธิมนุษยชนของแดนมังกร
แต่ด้วยข้อตกลงคราวนี้ เท่ากับทำให้จีนประสบชัยชนะในทางการทูต รวมทั้งมีศักยภาพที่จะดึงเอาฝ่ายยุโรปให้ไปอยู่ในค่ายของตน ตั้งแต่ก่อนหน้าไบเดนรับตำแหน่ง
“สำหรับปักกิ่งแล้ว ข้อตกลงฉบับนี้จะเป็นการมอบชัยชนะทางการเมืองที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างสูงให้แก่ตน เป็นการสาธิตให้เห็นว่าจีนนั้นอยู่ในกิจการแห่งการสร้างโลกาภิวัตน์ร่วมกับพวกหุ้นส่วนระดับระหว่างประเทศรายใหญ่ๆ” นี่เป็นความเห็นของ มิกโก ฮัวตารี (Mikko Huotari) ผู้อำนวยการของ สถาบันเมอร์คาเตอร์เพื่อจีนศึกษา (MercatorInstitute for China Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเบอร์ลิน และเป็นกลุ่มคลังสมองโฟกัสเรื่องจีนที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป
ในสัญญาณที่แสดงถึงการไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยต่อการทำข้อตกลงฉบับนี้ของฝ่ายอียู เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ผู้ได้รับการประกาศชื่อแล้วว่าจะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ได้ทวิตข้อความที่ดูกำกวมเมื่อช่วงก่อนสิ้นปี 2020 เรียกร้องที่จะได้รับ “การปรึกษาหารือกันก่อนจากพวกหุ้นส่วนในยุโรปของเรา ว่าด้วยความสนใจร่วมกันของพวกเราเกี่ยวกับการปฏิบัติต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของจีน”
นอกจากนั้นในเวลานี้ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคของจีนได้ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าสู่ตลาดอุปกรณ์ 5จี ในประเทศอียูจำนวนมาก ปักกิ่งจึงเรียกร้องหลักประกันต่างๆ เพื่อให้กิจการของแดนมังกรสามารถเข้าถึงตลาดสาธารณะในอียูได้ รวมทั้งเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจอย่างเช่น การสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างทางด้านพลังงาน
ทำไมอียูจึงตกลงที่จะเซ็นข้อตกลงในตอนนี้?
บรัสเซลส์แถลงว่า ข้อตกลงนี้จะ “ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอียูกับจีนบังเกิดความสมดุลขึ้นมาใหม่” และทำให้พวกนักลงทุนยุโรป “เข้าถึงตลาด (จีน) ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ข้อตกลงนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของพวกบริษัทยุโรป, ห้ามการบังคับถ่ายโอนเทคโนโนยี, และส่งเสริมเพิ่มพูนความโปร่งใสในเรื่องการอุดหนุนที่ทางการจีนให้แก่พวกบริษัทรัฐวิสาหกิจของตน
นอกจากนั้นในบางภาคเศรษฐกิจ ยังมีการขจัดยกเลิกพันธะข้อกำหนดที่พวกบริษัทยุโรปจะต้องมีบริษัทจีนเป็นหุ้นส่วน เพื่อให้ได้สิทธิเข้าสู่ตลาดอันกว้างขวางใหญ่โตของแดนมังกร
ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมถือเป็นโบนัสสำหรับบรรดากิจการของอียู ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากไวรัสโคโรนา
จีนยังให้คำมั่นที่จะทำงานเพื่อไปสู่การรับรองให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานเกณฑ์
(forced labour) ฉบับต่างๆ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor OrganizationหรือILO) อีกด้วย
ปัญหาคาใจ
ข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับการที่จีนมีการใช้แรงงานเกณฑ์ในสายโซ่อุปทานของตน โดยที่ข้อตกลงฉบับนี้ยังไม่ได้เข้าไปแตะอย่างจริงจัง, ข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมอย่างจำกัด กลายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่การใช้อำนาจวินิจฉัยของพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของปักกิ่งที่มีท่าทีเฉื่อยชาเพิกเฉย, และการที่อียูจะต้องสูญเสียอำนาจในการต่อรองกับอภิมหาอำเภอซึ่งมุ่งข่มเหงรังแกเฉกเช่นจีน – เหล่านี้คือ 3 เหตุผลสำคัญซึ่งพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ระบุว่า ทำให้อียูยังไม่ควรลงนามข้อตกลงคราวนี้
นักวิพากษ์วิจารณ์บอกด้วยว่า ยุโรปเสี่ยงที่จะทำให้พวกหุ้นส่วนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน อย่างเช่น สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และสหราชอาณาจักร สูญเสียความไม่ไว้วางใจ จากการยอมอ่อนข้อเพื่อบรรลุข้อตกลง ก่อนหน้าจะสามารถร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับกว้างขวางครอบคลุม เพื่อสกัดทัดทานความทะเยอทะยานของจีน
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เรื่องมาตรฐานแรงงานไม่ได้มีการกระเตื้องยกระดับขึ้นมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง ยังจะทำให้ยุโรปสูญเสียความน่าเชื่อถือไว้วางใจในฐานะที่เป็น “มหาอำนาจซึ่งมุ่งสร้างบรรทัดฐานและมีหลักการ” ฮัวตารี กล่าว
ทั้งนี้จีนถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับเกณฑ์แรงงานพวกชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ในแคว้นซินเจียงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในสายโซ่อุปทานด้านสิ่งทอของตนตลอดทั่วทั้งสาย --ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ปักกิ่งปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่เป็นความจริง
ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อะไรบ้างที่ยังไม่มีการตกลงกัน?
พวกระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งใช้กับภาคเศรษฐกิจที่ถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยังคงบังคับใช้กันต่อไป โดยที่จีนยังคงสงวนรักษาภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ ราว 30 ภาคเอาไว้ในบัญชี “ลบ” (negative) ซึ่งหมายความว่าไม่รับการลงทุนจากต่างประเทศ หรือจำกัดการลงทุนของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน การทำเหมืองแร่, พลังงาน, สื่อมวลชน หรือวัฒนธรรม
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปักกิ่งประกาศระเบียบกฎเกณฑ์ฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่าการลงทุนของต่างประเทศในพวกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม จะต้องถูกพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน
การลงทุนของต่างประเทศในด้านสำคัญๆ เป็นต้นกว่า การผลิตทางการเกษตร, พลังงานและทรัพยากรต่างๆ, และบริการทางการเงิน จะอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ถ้าหากการลงทุนนั้นๆ เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่า 50%
ในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา อียูก็มีแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการกับการลงทุนของต่างประเทศในภาคที่ถือว่าทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างรัฐสมาชิกต่างๆ ของสหภาพยุโรป ซึ่งบางรัฐสมาชิกอยู่ในภาวะพรักพร้อมกว่ารัฐสมาชิกอื่นๆ ในการรับมือกับการลงทุนของต่างประเทศดังกล่าว
จากนี้ไปจะต้องทำอะไรกันอีก?
ภายหลังการประกาศว่าสามารถทำข้อตกลงกันในหลักการได้เมื่อวันพุธที่ 30 ธันวาคม พวกผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองฝ่ายก็จะต้องลงมือจัดทำร่างข้อตกลงสุดท้าย ซึ่งทางฝั่งยุโรปนั้นจะต้องได้รับการรับรองให้สัตยาบันจากคณะมนตรียุโรป (European Council เวทีการประชุมของประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอียู) และรัฐสภายุโรป (European
Parliament)
สมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวนมากทีเดียวปัจจุบันมีทัศนะในทางลบต่อการรอมชอมปรองดองกับปักกิ่ง โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่อำนาจปกครองตนเองของฮ่องกงกำลังเสื่อมสลายลงไปเรื่อยๆ และเรื่องการปราบปรามชาวอุยกูร์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน