เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่นประกาศแบนนักเดินทางต่างชาติชั่วคราว หลังพบไวรัสกลายพันธุ์ที่เวลานี้เริ่มระบาดในหลายภูมิภาค ขณะที่ยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาให้ประชาชนแล้ว ส่วนที่สหรัฐฯนั้น “การเมือง” ยังคงร้อนฉ่า “ไบเดน” เตือนการที่ “ทรัมป์” ปัดความรับผิดชอบด้วยการเตะถ่วงกฎหมายแจกเงินเยียวยาโควิด จะส่งผลรุนแรงต่อประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กของอเมริกา
รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงทางอีเมลในวันเสาร์ (26 ธ.ค.) ว่า นับจากวันที่ 28 เดือนนี้จนสิ้นเดือนมกราคม จะอนุญาตเฉพาะพลเมืองของญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่พำนักถาวรในญี่ปุ่นเท่านั้นเดินทางเข้าประเทศ แต่ก็จะต้องแสดงหลักฐานการตรวจและไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง รวมทั้งต้องกักตัว 14 วันหลังจากเดินทางถึง
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (25) ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ครั้งแรก ซึ่งเป็นนักเดินทางจากอังกฤษและสมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่ง สร้างความกังวลมากขึ้นขณะที่โตเกียวยังพบเคสผู้ป่วยใหม่ชนิดพุ่งขึ้นทำสถิติเมื่อวันเสาร์ นั่นคือ 949 คน
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ฮับการขนส่งในโตเกียวมีผู้ใช้บริการลดลง หลังจากเมื่อวันศุกร์ นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ถูกกดดันมากขึ้นจนต้องออกมาเรียกร้องประชาชนให้อยู่บ้านและหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม หรือการสังสรรค์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ประชาชนงดการสังสรรค์ในครอบครัวและการไปสักการะบูชาที่วัดและศาลเจ้าในช่วงปีใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 ระบาดหนักขึ้น
ที่อเมริกา โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตือนว่า การปัดความรับผิดชอบของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก โดยที่ไบเดนหมายถึงการที่ทรัมป์ยังคงเตะถ่วงไม่ยอมลงนามอนุมัติกฎหมายเยียวยาโควิดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คำเตือนนี้มีขึ้นขณะที่งบสวัสดิการการว่างงานสำหรับคนอเมริกัน 10 ล้านคนกำลังจะสิ้นสุดลง หลังจากทรัมป์ไม่ยอมลงนามพร้อมทั้งขู่ใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายเยียวยาดังกล่าว โดยเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาเพิ่มเงินช่วยเหลือที่จ่ายให้ผู้เสียภาษีโดยตรงกว่า 3 เท่าตัวจากที่ระบุในร่างกฎหมายเพียง 600 ดอลลาร์
กฎหมายดังกล่าวอยู่ในรูปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายฉบับใหญ่มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุมัติ ยังจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ หมดงบประมาณ และต้องหยุดทำการหลังเที่ยงคืนวันจันทร์ (28)
ความเคลื่อนไหวของทรัมป์เท่ากับเป็นการเปิดศึกกับพรรครีพับลิกันของตัวเอง ซึ่งรวมถึง มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และ เควิน แมคคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาล่าง ที่คัดค้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่
ในวันพฤหัสฯ (24) รีพับลิกันขัดขวางความพยายามของเดโมแครตในการเพิ่มงบช่วยเหลือซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายให้ผู้จ่ายภาษีทั้งหมดที่มีรายได้ปีละไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้มีรายได้ปีละไม่เกิน 99,000 ดอลลาร์จะได้รับการอัดฉีดน้อยกว่า
แม้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ประธานาธิบดีวีโต้ร่างกฎหมายที่ได้คะแนนท่วมท้นจากรัฐสภา แต่การที่ทรัมป์ยับยั้งร่างกฎหมายอัดฉีดกระทรวงกลาโหมเมื่อวันพุธ (23) เท่ากับรับประกันว่า สมาชิกรัฐสภายังจะต้องกลับสู่กรุงวอชิงตันอีกครั้งภายหลังช่วงคริสต์มาส เพื่อลงมติล้มล้างการวีโต้ของทรัมป์
สำหรับร่างกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ ซึ่งมีกฎหมายเยียวยาโควิดรวมอยู่ด้วยนั้น แม้คองเกรสสามารถลงมติด้วยเสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ซึ่งจะเป็นการล้มล้างอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดี ทำ แต่ทรัมป์อาจแก้เกมด้วยการดึงดันไม่ยอมลงนามอนุมัติ จนกระทั่งการประชุมรัฐสภาวาระปัจจุบันสิ้นสุดลง ซึ่งจะเป็นการสิ้นอายุของรัฐสภาชุดปัจจุบันไปด้วย และเมื่อเริ่มต้นการประชุมครั้งใหม่ในวันที่ 3 มกราคม ก็จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่แล้ว ทำให้การดำเนินงานต่างๆ มีหวังสะดุดตัดขัดไม่ราบรื่น
ขณะนี้ อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 330,000 คน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซวนเซ ถึงแม้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วภายใต้เป้าหมายหยุดยั้งการระบาดให้ได้ภายในปีหน้าก็ตาม
สำหรับหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ก็เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงที่สุดตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ (27) หลังจากวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ล็อตแรกส่งถึงอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ฮังการี และสโลวาเกีย ในวันเสาร์
ปัจจุบัน ประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วนอกจากสมาชิกอียู ประกอบด้วย จีน รัสเซีย อังกฤษ แคนาดา อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เซอร์เบีย สิงคโปร์ และ ซาอุดีอาระเบีย
วันพฤหัสฯ อียูอนุมัติฉุกเฉินโครงการให้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชน โดยหวังเช่นเดียวกับอเมริกาว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.7 ล้านคนทั่วโลก จะดีขึ้นในปี 2021
กระนั้น เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่า โควิด-19 จะไม่ใช่โรคระบาดใหญ่ครั้งสุดท้าย แต่โลกควรเรียนรู้จากวิกฤตนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตครั้งต่อไป
นอกจากนั้น ทั่วโลกยังกังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษก่อนหน้านี้ และทำให้หลายประเทศแบนนักเดินทางจากเมืองผู้ดี และขณะนี้เริ่มพบในอีกหลายประเทศในยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์ และแคนาดา