เดโมแครต-รีพับลิกัน ต่างรุมสวด “ทรัมป์” ชุดใหญ่ หลังประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งผู้นี้ประกาศอภัยโทษพันธมิตรอีกกว่า 20 คน คราวนี้นอกจากลิ่วล้อที่มีเอี่ยวในคดีรัสเซียป่วนเลือกตั้งแล้ว ยังมีพ่อของคุชเนอร์ ลูกเขยคนโปรด พ่วงมาด้วย นอกจากนั้น ทรัมป์ยังใช้อำนาจวีโต้ร่างกฎหมายงบประมาณกลาโหม โดยหนึ่งในเหตุผลของการคัดค้าน คือ ไม่มีการยกเลิกความคุ้มครองบริษัทโซเชียลมีเดีย ซึ่งเท่ากับเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือจีนและรัสเซีย
เมื่อวันพุธ (23 ธ.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกไม่ถึงเดือน ประกาศอภัยโทษและลดโทษผู้กระทำความผิดรวม 29 คน หลังจากดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ไปแล้วกับผู้กระทำผิด 20 คน เมื่อวันอังคาร (22)
ในบรรดาผู้ได้รับการอภัยโทษระลอกล่าสุด คนหนึ่ง คือ ชาร์ลส์ คุชเนอร์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพ่อของจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยคนโปรดของทรัมป์ นอกจากนั้น ยังมี พอล มานาฟอร์ต อดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของทรัมป์ ผู้เป็นกุญแจสำคัญในการสอบสวนคดีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อีกคนหนึ่งคือ โรเจอร์ สโตน อดีตที่ปรึกษาของทรัมป์ที่ถูกศาลวอชิงตันตัดสินว่ามีความผิดในการให้การเท็จต่อสมาชิกรัฐสภาในการสอบสวนคดีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
นอกจากมานาฟอร์ตและสโตน ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ยังอภัยโทษให้ตัวละครสำคัญในคดีรัสเซียอีก 2 คนคือ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และจอร์จ ปาปาโดปูลอส อดีตที่ปรึกษาทีมหาเสียงปี 2016
เบน แซสซี วุฒิสมาชิกรีพับลิกันที่วิจารณ์ทรัมป์อย่างเปิดเผยบ่อยๆ กล่าวถึงเรื่องที่ทรัมป์อภัยโทษให้พรรคพวกว่า “เน่าถึงแก่น”
สำหรับ ชาร์ลส์ คุชเนอร์ ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี หลังยอมรับผิดในข้อหาหนีภาษี เข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงพยานหลักฐาน และบริจาคเงินทางการเมืองผิดกฎหมาย รวม 18 กระทงในปี 2004
คริส คริสตี้ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของทรัมป์ และได้เคยทำหน้าที่ฟ้องคุชเนอร์เมื่อตอนเป็นอัยการ กล่าวถึงคดีนี้ว่า เป็นหนึ่งในคดีที่น่าขยะแขยงที่สุดเท่าที่ตนเคยทำมา เพราะในระหว่างการไต่สวน คุชเนอร์ ยอมรับว่า จัดฉากใส่ร้ายน้องเขยที่ยอมให้ความร่วมมือกับอัยการ ด้วยการจ้างหญิงขายบริการไปหลับนอนกับน้องเขยในโรงแรมและแอบอัดวิดีโอส่งให้น้องสาวของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า ทรัมป์จะใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศอภัยโทษเหล่าคนสนิทต่อ ซึ่งรวมถึงสมาชิกครอบครัวของเขาเอง, รูดี้ จูเลียนี ทนายความส่วนตัว และอาจรวมถึงตัวเอง เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องหลังพ้นตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
วันเดียวกันนั้น ทรัมป์ยังใช้อำนาจประธานาธิบดีคว่ำร่างกฎหมายการให้อำนาจด้านกลาโหมแห่งชาติ (เอ็นดีเอเอ) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจัดสรรงบประมาณ 740,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงกลาโหมสำหรับปีงบประมาณ 2021 ถึงแม้ร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภามาแล้ว ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นและมากพอที่จะล้มล้างการวีโต้ของทรัมป์ได้
ทรัมป์ให้เหตุผลว่า เอ็นดีเอเอซึ่งผ่านการอนุมัติมาทุกปีเรื่อยมานับจากปี 1961 ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของตนให้ยกเลิกมาตรา 230 ที่ปกป้องบริษัทโซเชียลมีเดียไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์ ทั้งนี้ แม้เรื่องนี้แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพนตากอนโดยตรง ทว่า ทรัมป์อ้างว่า การไม่ยกเลิกมาตรา 230 เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการให้ของขวัญจีนและรัสเซีย เนื่องจากหน่วยงานข่าวกรองของอเมริกาไม่สามารถปฏิบัติภารกิจเป็นความลับได้
นอกจากนั้น เขายังแสดงความไม่เห็นด้วย ที่เอ็นดีเอเอปีนี้มีบทบัญญัติเปิดช่องให้สามารถเปลี่ยนชื่อของฐานทัพต่างๆ ในอเมริกา ที่เป็นชื่อของนายทหารฝ่ายใต้ซึ่งสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนและการใช้แรงงานทาสในช่วงสงครามกลางเมืองศตวรรษที่ 19
เหตุผลอีกข้อหนึ่งของทรัมป์ คือ การที่เอ็นดีเอเอมีข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับการตัดสินใจของตนในการลดกำลังพลจำนวนมากในเยอรมนี อัฟกานิสถาน และประเทศอื่นๆ
ด้าน แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครต โจมตีการวีโต้ของทรัมป์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยั้งคิดที่เป็นอันตรายต่อกำลังพลและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงเจตจำนงของรัฐสภา
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานัดหมายลงมติเพื่อล้มล้างคำสั่งวีโต้คราวนี้ของทรัมป์ในสัปดาห์หน้า หากทำได้สำเร็จก็จะถือเป็นการล้มล้างอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดีครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอังคาร ทรัมป์เพิ่งขู่คว่ำร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ครอบคลุมการอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล และแพกเกจมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากทรัมป์ใช้อำนาจวีโต้ร่างกฎหมายนี้จริงๆ ก็อาจมีผลให้หลายๆ หน่วยงานของรัฐบาลต้องหยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม
(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)