อเมริกาเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชนเมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค.) ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศนี้พุ่งทะลุหลัก 300,000 คน ด้านอังกฤษยกระดับมาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวของผู้คนในกรุงลอนดอน พร้อมเผยพบไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ที่อาจระบาดติดต่อได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ขณะที่เนเธอร์แลนด์เตรียมพร้อมเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดนับจากไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด และตุรกีเปิดแผนล็อกดาวน์นาน 4 วัน ในช่วงปีใหม่
แซนดรา ลินด์เซย์ พยาบาลแผนกผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของนครนิวยอร์ก กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โดยมีการถ่ายทอดสดทางทีวีเมื่อวันจันทร์ หรือ 6 วันหลังจากอังกฤษเป็นชาติแรกในโลกตะวันตกที่ประเดิมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศเพื่อสู้กับโควิด-19
ลินด์เซย์บอกว่า ไม่รู้สึกแตกต่างกับตอนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ พร้อมเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และแสดงความหวังว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดฉากช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดในประวัติศาสตร์
อเมริกาประเดิมแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชน ในขณะที่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งทะยานเกิน 300,000 คนแล้ว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 16.3 ล้านคน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตเมื่อวันจันทร์แสดงความยินดีกับอเมริกาและทั่วโลก หลังจากมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกในสหรัฐฯ ขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทวีตว่า อเมริกายังคงมีความหวังที่จะเห็นอนาคตซึ่งสดใสยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ คาดว่า จะสามารถจัดส่งวัคซีนล็อตแรก 2.9 ล้านโดส ถึงสถานที่แจกจ่าย 636 แห่งทั่วประเทศภายในวันพุธ (16) เพื่อฉีดให้ประชาชน 20 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และจากนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนในเดือนมีนาคมปีหน้า
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญกำลังเผชิญปัญหาในการโน้มน้าวให้ประชาชนจำนวนมากพอ ยินยอมฉีดวัคซีนเพื่อให้ความพยายามในการต่อสู้ไวรัสสัมฤทธิ์ผล
มอนเซฟ สเลาอี ผู้อำนวยการโครงการโอเปอเรชัน วาร์ป สปีด ของรัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ระดับความลังเลของประชาชน
สำหรับทั่วโลกนั้น เวลานี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างน้อย 1.6 ล้านคน และติดเชื้อ 71.6 ล้านคน
นอกจากอเมริกาแล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอีกประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในอาบูดาบีเมื่อวันจันทร์ โดยเป็นวัคซีนของชิโนฟาร์ม บริษัทยายักษ์ใหญ่ของจีน
หลายประเทศขณะนี้เผชิญการระบาดรุนแรงเช่นเดียวกับอเมริกา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขต้องรับมือกับปัญหาความไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน การหมดความอดทนกับมาตรการล็อกดาวน์ และการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ในวันจันทร์ เนเธอร์แลนด์เตรียมพร้อมเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดนับจากไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด โดยนายกรัฐมนตรี มาร์ต รีตเตอ สั่งปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็นทั้งหมดและโรงเรียนตั้งแต่วันอังคารและบังคับใช้นาน 5 สัปดาห์
ด้านตุรกี ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ประกาศคำสั่งเคอร์ฟิวทั่วประเทศช่วงปีใหม่ ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม จนถึง 4 มกราคม
ส่วนที่ฝรั่งเศส แม้ประชาชนจะไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มแสดงเหตุผลในการออกนอกบ้านอีกต่อไปนับจากวันอังคาร (15) แต่ทางการเปลี่ยนเป็นออกคำสั่งเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00-06.00 น.
ด้านเยอรมนีที่จะเริ่มล็อกดาวน์บางส่วนในวันพุธ ด้วยการสั่งปิดโรงเรียนและร้านค้าที่ไม่จำเป็น กำลังพยายามกดดันให้หน่วยงานรับผิดชอบของสหภาพยุโรป เร่งอนุมัติการฉีดวัคซีนฉุกเฉินให้ประชาชนเช่นเดียวกับอเมริกาและอังกฤษ
ผวา ‘อังกฤษ’ พบโควิด-19 กลายพันธุ์ คนติดเชื้อเพียบ
สำหรับรัฐบาลอังกฤษ ได้ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ขั้นสูงสุดหรือ “เทียร์ 3” ในกรุงลอนดอนวันจันทร์ (14) หลังพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ซึ่งคาดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับอัตราการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น
แม็ตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า เวลานี้พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์แล้วมากกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ
แม้จะยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อาจแพร่ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีน แต่ แฮนค็อก เตือนว่ามันอาจมีส่วนทำให้อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
“ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดสังเกตทั้งในลอนดอน, เคนต์, บางส่วนของเอสเซกซ์ และเฮิร์ตฟอร์ดเชอร์” แฮนค็อก แถลงต่อสภาสามัญชน โดยอ้างถึงมณฑลต่างๆ ที่อยู่รายรอบกรุงลอนดอน พร้อมประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ขั้นสูงสุดทั้งในกรุงลอนดอนและพื้นที่ใกล้เคียงบางแห่ง
เมื่อต้นเดือนนี้ รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มนำมาตรการคุมเข้ม 3 ระดับมาใช้เพื่อชะลอการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 หลังจากที่สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีพลเมืองอังกฤษกว่า 40% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง
มาตรการคุมเข้มเทียร์ 3 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในกรุงลอนดอนตั้งแต่ 1.00 GMT ของวันพุธ (16) (ตรงกับ 8.00 น.เวลาเมืองไทย) และจะส่งผลให้บาร์และร้านอาหารซึ่งเคยเปิดได้ตามเงื่อนไขบางอย่างของเทียร์ 2 ต้องถูกปิดตัวลง และให้บริการแบบซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อจำกัดในด้านการพบปะสังสรรค์ แต่ยังคงอนุญาตให้ออฟฟิศและโรงเรียนเปิดทำการได้ตามปกติ
คริส วิตตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ ชี้แจงว่า การตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ลอนดอนถูกยกระดับเตือนภัยขั้นสูงสุด หากแต่เป็นอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมย้ำว่า ยังไม่มีผลทดลองทางคลินิกที่ยืนยันว่าโควิด-19 กลายพันธุ์นั้นแตกต่างหรือรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างไร
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า อังกฤษได้แจ้งรายงานเรื่องการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ แต่ก็ย้ำว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)