xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย’กำลังจะติดปีกบินในเรื่อง‘5จี’ เมื่อ‘เยอรมนี’แสดงท่าทีว่าไม่รังเกียจที่ยักษ์จีนรายนี้จะเข้าไปร่วมสร้างเครือข่าย

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Huawei hits 5G critical mass with Germany’s approval
By DAVID P. GOLDMAN
30/11/2020

กระแสน้ำกำลังไหลเปลี่ยนทิศในสงครามเทคของทรัมป์ เมื่อเยอรมนีส่งสัญญาณว่าจะอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าไปสร้างส่วนหนึ่งของเครือข่าย 5จี ของตน

เยอรมนีจะอนุญาตให้หัวเว่ยเข้ามาสร้างส่วนหนึ่งของเครือข่าย 5จี ของตน หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันภาษาเยอรมัน ฮันเดลสบลัตต์ รายงานเอาไว้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.handelsblatt.com/technik/it-internet/it-sicherheitsgesetz-das-bedeutet-die-huawei-entscheidung-fuer-die-deutschen-netze/26649350.html?ticket=ST-2936769-gHY5J3TrTdybhnhEToVV-ap3) หลังจากได้ศึกษาทบทวนร่างกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งซึ่งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จะยื่นเสนอต่อรัฐสภาเยอรมนีในเดือนธันวาคม

ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ก็ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพทว่าหนักแน่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ยอมที่จะกีดกันยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมจีนรายนี้ออกจากเครือข่ายของพวกตน ในบรรดาระบบเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกเวลานี้ จึงมีเพียง สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อินเดีย, และไต้หวัน ซึ่งมีแผนการสกัดกั้นไม่ให้ใช้อุปกรณ์ 5จี หัวเว่ย

เป็นอันว่าหัวเว่ยเวลานี้มีเส้นทางเดินภายในแล้ว ในการแข่งขันเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ ของ “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) เพื่อใช้ประโยชน์จากสมรรถนะต่างๆ ของ 5จี เป็นต้นว่า หุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมที่สามารถโปรแกรมตัวเอง, การทำเหมืองแร่โดยใช้ระบบควบคุมทางไกล, การบริหารจัดการการจราจร “เมืองอัจฉริยะ”, โทรเวชกรรม (telemedicine), และการควบคุมโรคระบาดใหญ่

ตัวอย่างเช่น หัวเว่ยคาดหมายว่าจะสามารถนำเอาประวัติการรักษาทางการแพทย์ที่แปลงเป็นระบบดิจิตอลแล้วของผู้คนราว 500 ล้านคนที่อยู่นอกประเทศจีน ตลอดจนข้อมูลการติดตามสุขภาพแบบเรียลไทม์ของพวกเขา เข้ามาอยู่ในระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ซึ่งอิงอยู่กับระบบคลาวด์ (Cloud) ของตนได้ภายในช่วงทศวรรษ 2020 ยิ่งไปกว่านั้น การที่จีนมีฐานะครอบงำเหนือคู่แข่งอื่นๆ ใน 5จี ยังทำให้แดนมังกรมีความได้เปรียบในการเริ่มต้นนำหน้าเพื่อพัฒนาระยะต่อไปของบรอดแบนด์ 6จี

การที่เยอรมนีตัดสินใจที่จะไม่สกัดกั้นผู้ผลิตอุปกรณ์เจ้าใดๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ให้เข้ามาร่วมการสร้างเครือข่าย 5จี ของตนเช่นนี้ เป็นเรื่องซึ่งได้รับการคาดหมายอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว หลังจาก โจ ไบเดน เอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พวกที่ปรึกษาของไบเดนได้เคยกล่าวเอาไว้ในอดีตที่ผ่านมาว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรอกที่จะพยายามกีดกันพวกยูสเซอร์หัวเว่ยซึ่งมีจำนวนเป็นพันๆ ล้านราย ให้ออกไปจากเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมของทั่วโลก

รายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Meeting The China Challenge: A New American Strategy for Technology Competition (นัดพบการท้าทายจากจีน: ยุทธศาสตร์ใหม่ของอเมริกันสำหรับการแข่งขันด้านเทคโนโลยี) จัดทำโดย สมาคมเอเชีย (Asia Society) และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://china.ucsd.edu/_files/meeting-the-china-challenge_2020_report.pdf) ประกาศเอาไว้ดังนี้: “ขณะที่การแบนหัวเว่ยเป็นสิ่งที่เหมาะสมสามารถดำเนินการได้ในประเทศหลักๆ บางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาชาติพันธมิตรและชาติหุ้นส่วน ทว่านี่คือความท้าทายสำหรับเครือข่ายระดับทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีหนทางแก้ไขปัญหาชนิดหลายๆ แง่หลายๆ มุม เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าในหมู่ยูสเซอร์ปลายทางของการเชื่อมต่อ 5จี ในทั่วโลกจำนวนเป็นพันๆ ล้านราย ย่อมจะต้องมีการผสมปนเปกับอะไหล่ชิ้นส่วนของจีน, ยูสเซอร์เทอร์มินอลของจีน, และซอฟต์แวร์ของจีน ดังนั้นการสั่งแบนหัวเว่ยและซัปพลายเออร์ชาวจีนรายอื่นๆ ไม่ให้เข้าสู่ตลาดโลกได้จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง”

ผู้เขียนรายงานฉบับนี้บางคน คือผู้ที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารไบเดน

ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น สื่อมวลชนแดนอาทิตย์อุทัยรายงานเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-japan-usa-china/japan-will-not-join-u-s-plan-to-bar-china-from-telecoms-networks-yomiuri-idUSKBN271003) ว่า โตเกียวได้ปฏิเสธการเรียกร้องของฝ่ายอเมริกันที่จะให้กีดกันหัวเว่ยออกจากเครือข่าย 5จี ของญี่ปุ่น และบอกกับวอชิงตันว่าโตเกียวจะใช้มาตรการด้านความมั่นคงของตนเองเพื่อให้เกิดความแน่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านฮาร์ดแวร์หัวเว่ย

ด้านสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีเหนือก็รายงาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lightreading.com/5g/south-korea-pushes-back-against-us-pressure-on-huawei---report/d/d-id/764668) ว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของเกาหลีใต้ผู้หนึ่งได้บอกกับคณะผู้แทนระดับสูงของฝ่ายอเมริกันว่า “เราประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การที่บริษัทเทเลคอมของภาคเอกชนรายหนึ่งรายใดจะใช้อุปกรณ์ของวิสาหกิจเฉพาะเจาะแจงรายไหน ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทนั้นๆ เอง”

ไม่เพียงเท่านี้ หนังสือพิมพ์รายวันทางธุรกิจของรัสเซีย คอมเมอร์ซันต์ (Kommersant) รายงานเอาไว้เมื่อเดือนกันยายนว่า “5จี ของรัสเซียจะเมดอินไชน่า” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kommersant.ru/doc/4485102) ภายหลังจาก เอ็มทีเอส (MTS) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของรัสเซีย ได้เปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์โนเกียมาใช้ของหัวเว่ย เพื่ออัปเกรดเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในกรุงมอสโก โดยที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกันทางด้าน 5จี ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง โดยรวมถึงด้านการร่วมกันวิจัยและพัฒนา ในระหว่างที่ผู้นำทั้งสองเข้าร่วมเวทีประชุม “เซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก อินเตอร์เนชั่นแนล อีโคโนมิก ฟอรัม” (St Petersburg International Economic Forum) ปี 2019

การกีดกันอุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ย ออกจากเยอรมนี จะก่อให้เกิดความสะดุดติดขัดอย่างสำคัญ เนื่องจากเครือข่าย 5จี ใหม่ ต้องสามารถบูรณาการเข้ากับอุปกรณ์ 4จี ที่มีใช้งานกันอยู่ในเวลานี้ โดยที่ หัวเว่ย มีสัดส่วนประมาณ 65% ในโครงสร้างพื้นฐาน 4จีของ ดอยเชอ เทเลคอม (Deutsche Telekom) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และมีสัดส่วนราว 55% ในอุปกรณ์ของโวดาโฟน (Vodaphone) และ 50% ของ เทเลฟอนิกา (Telefonica)

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน พวกเจ้าหน้าที่เยอรมันกล่าวถึงการตัดสินใจในเรื่องหัวเว่ยว่าเป็นเรื่องตื่นเต้นเร้าใจซึ่งยังคาดคะเนผลที่จะออกมาไม่ถูก เนื่องจากพวกนักล็อบบี้ของวงการอุตสาหกรรมเยอรมัน เกิดการทะเลาะโต้เถียงกับพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเยอรมัน ซึ่งลังเลใจที่จะกระตุ้นความโกรธเกรี้ยวของประชาคมข่าวกรองอเมริกัน แต่ความปราชัยของทรัมป์ในการเลือกตั้งดูเหมือนทำให้ความสมดุลเอนเอียงไปทางข้างพวกนักล็อบบี้แวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการที่จะทำงานร่วมกับจีน

ในสวีเดน บ้านเกิดของ อีริคสัน ผู้เป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย ปรากฏว่าพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งชาติของประเทศนี้ ได้ประกาศเลื่อนการจัดประมูลคลื่น 5จี หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ของสวีเดน เห็นชอบกับคำร้องของหัวเว่ย ที่ขอให้มีการพิจารณาทบทวนคำสั่งของรัฐบาลซึ่งห้ามการใช้อุปกรณ์บรอดแบนด์ของบริษัทจีนแห่งนี้

ตัวอีริคสันเองก็วิพากษ์วิจารณ์คำสั่งแบนของรัฐบาล เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดของอีริคสัน และโรงงานผลิตแห่งที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของบริษัทก็ตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง โดยเปิดดำเนินงานเมื่อปีที่แล้วนี่เอง อีริคสันคาดหมายว่าจะได้เข้ามีส่วนแบ่งราว 10% ในเครือข่าย 5จี อันใหญ่โตมโหฬารของจีน ซึ่งคาดการณ์กันเอาไว้ว่าจะมีการติดตั้งสถานีฐานราว 10 ล้านแห่งภายในปี 2024

จุดขายสำคัญจุดหนึ่งของจีนในการแข่งขันเพื่อสร้างเครือข่าย 5จี ก็คือ ปักกิ่งเวลานี้ได้เริ่มต้นพัฒนาบรอดแบนด์รุ่นต่อไป นั่นคือ รุ่น 6จี แล้ว โดยที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน จีนได้ยิงดาวเทียม 6จี เพื่อการทดลองเป็นดวงแรก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/11/china-leapfrogs-world-with-first-6g-experimental-satellite/) ทั้งนี้เพื่อดำเนินการทดสอบการรับส่งข้อมูลด้วยความยาวคลื่นระดับ เทระเฮิร์ตซ์ (Terahertz) ซึ่งเป็นคลื่นที่สั้นสุดๆ พวกนักวิจัยได้มีการถกเถียงหารือกันเกี่ยวกับการนำเอาพลังงานรังสีระดับเทระเฮิร์ตซ์ มาเป็นแพลตฟอร์มบรอดแบนด์ไร้สาย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://spectrum.ieee.org/tech-talk/telecom/wireless/at-the-6th-annual-brooklyn-5g-summit-some-eyes-are-on-6g) แต่การส่งดาวเทียมของจีนคือการดำเนินการทดสอบแบบมุ่งทดลองอย่างจริงจังโดยอาศัยอวกาศเป็นเวทีหลัก

ระหว่างการสัมมนาผ่านเว็บที่เอเชียไทมส์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้ถาม ดร.แฮนเดล โจนส์ (Handel Jones) ผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรม เกี่ยวกับลู่ทางความเป็นไปได้สำหรับ 6จี โจนส์ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อว่า อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส เซอร์วิเซส (International Business Services) กล่าวเอาไว้อย่างนี้: “จีนมีโปรแกรมอยู่อย่างน้อย 2 ถึง 3 โปรแกรมในเรื่องเกี่ยวกับ 6จี นี่เป็นโปรแกรมที่มีระยะเวลา 10 ปี และมันจะมีศักยภาพมากกว่าเป็นสิบเท่าตัวหรือกระทั่งเป็นร้อยเท่าตัวเหนือล้ำกว่า 5จี การสื่อสารแบบควอนตัม (Quantum communications) เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับ 6จี และจีนก็มีการต่อเชื่อมด้วยการสื่อสารแบบควอนตัมเรียบร้อยแล้วระหว่างเซี่ยงไฮ้กับปักกิ่ง เห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯควรต้องเข้าไปเล่นเรื่อง 6จี ด้วย”

“แต่ใครที่กำลังจะเป็นคนลงไปล่ะ?” โจนส์กล่าวต่อ “เราไม่ได้มีบริษัทแห่งไหนเลยในสหรัฐฯทุกวันนี้ที่กำลังทำเรื่อง 5จี เรานั้นมีพวกโครงสร้างพื้นฐานอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องสถานีฐาน, ไม่ใช่พวกเส้นใยแก้วนำแสง (fiber optic) ดังนั้นเมื่อมองกันในระดับโลก เรามี หัวเว่ย กับ แซดทีอี ในจีน, ในยุโรปเรามี อีริคสัน กับ โนเกีย สำหรับซัมซุงกำลังก้าวเข้ามาและสามารถที่จะกลายเป็นพลังหนึ่งในตลาดนั้นในอนาคต ยังอาจจะมีเทคโนโลยีอยู่บ้างในญี่ปุ่น แต่ในสหรัฐฯนั้น เราไม่ได้มีบริษัทแห่งไหนเลยแม้กระทั่งใน 5จี”

สหรัฐฯดูเหมือนน่าที่จะนำเอากระบวนวิธีที่เรียกกันว่า “เครือข่ายการเข้าถึงผ่านการรับส่งทางคลื่นวิทยุ” (Open Radio Access Network ใช้อักษรย่อว่า ORAN) และ “เครือข่ายการเข้าถึงผ่านการรับส่งทางคลื่นวิทยุแบบเสมือนจริง” (Virtualized Radio Access Network ใช้อักษรย่อว่า vRAN) ซึ่งหลีกเลี่ยงการใช้สถานีฐาน 5จี ที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและใช้ชิปซึ่งออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยหันมาใช้ฮาร์ดแวร์ทั่วๆ ไปที่มีราคาถูกและให้พลังโดยซอฟต์แวร์ที่สลับซับซ้อน

ในรายงานเรื่อง Meeting The China Challenge ซึ่งระบุเอาไว้ข้างบนนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้: “สหรัฐฯไม่ควรที่จะพยายามเอาชนะการแข่งขันระหว่างหัวเว่ยกับบริษัทอเมริกันซึ่งอาจจะกลายเป็นแชมเปี้ยนระดับชาติแห่งใหม่ขึ้นมาหรอก ตรงกันข้าม สหรัฐฯควรนำเอายุทธศาสตร์แบบมุ่งมองไปข้างหน้ามาใช้มากกว่า เพื่อทำให้พวกบริษัทหน้าใหม่ๆ หลายหลากสามารถเข้าสู่จักรวาลแห่งนวัตกรรม 5จี ได้อย่างประสบความสำเร็จ ยุทธศาสตร์เช่นนี้จะเป็นการลดทอนสภาวการณ์ของการต้องพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เพียงแค่รายหนึ่งรายเดียวสำหรับเครือข่าย 5จี ทั้งเครือข่าย ด้วยการอำนวยความสะดวกให้แก่การปรากฏขึ้นมาของสถาปัตยกรรมแบบเปิดกว้างและมีลักษณะเป็นหน่วยแยกกันเป็นส่วนๆ อย่างเช่น ORAN หรือ vRAN”

ORAN/ vRAN จำเป็นต้องมีการสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนหลายพันล้าน lines ซึ่งจากนั้นก็จะต้องถูกนำมาทดสอบแล้วทดสอบอีกในเงื่อนไขสภาวการณ์ของโลกจริงๆ ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าแบบแผนวิธีการเช่นนี้จะใช้ได้จริงหรือไม่ หรือว่ามันจะสื้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากน้อยขนาดไหน แล้วยิ่งกว่านั้น ในเวลาที่มีการเขียนโค้ด และมีการทดสอบเครือข่ายใหม่เช่นนี้กันอยู่นั้น จีนก็จะสร้างเครือข่ายสถานีฐานแห่งชาติของตนออกมาเป็นจำนวน 10 ล้านแห่ง และน่าที่จะมีความก้าวหน้าไปได้ดีในเรื่องแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ อีกด้วย

การผสมผสานกันของซอฟต์แวร์อันซับซ้อนละเอียดอ่อน กับฮาร์ดแวร์แบบทั่วๆ ไปเช่นนี้ บางครั้งบางคราวก็ได้รับการโฆษณาว่า เป็น คำตอบแบบ “6จี” ต่อฐานะการครอบงำ 5จี อยู่ในปัจจุบันของหัวเว่ย นี่คือการชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะการใช้คลื่นความถี่แบบสั้นสุดๆ เพื่อการรับส่งข้อมูลนั้น จำเป็นที่จะต้องมีหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ในด้านฟิสิกส์ ซึ่งพวกนักวิจัยยังเพิ่มเริ่มต้นทำความเข้าใจกันเท่านั้น และการใช้เครือข่ายแบบเปิดกว้างโดยที่มีพวกผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ หลายหลากกว้างขวางมากเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนั้น อาจก่อให้เกิดฝันร้ายด้านความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายขึ้นมา นี่คือคำเตือนจากทางอีริคสัน

เจสัน บอสเวลล์ (Jason Boswell) ผู้อำนวยการด้านความมั่นคงปลอดภัย ของฝ่ายเครือข่ายของอีริคสัน กล่าวเตือนเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคมว่า “ขณะที่อุตสาหกรรมนี้วิวัฒนาการมุ่งสู่ RAN virtualization, ด้วย 3GPP หรือ O-RAN นั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องใช้กระบวนวิธีซึ่งอิงอยู่กับเรื่องความเสี่ยง เพื่อจะได้รับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเหมาะสม ระบบ Open RAN ที่มีความมั่นคงปลอดภัย อาจเรียกร้องต้องการให้มีการเพิ่มเติมพวกมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขจัดการอย่างเต็มที่ในเวลานี้” ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปีนี้ อีริคสันเองได้ถอนตัวอย่างเงียบๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโปรโมต ORAN/vRan

พวกบริษัทเทคอเมริกันได้ทอดทิ้งธุรกิจฮาร์ดแวร์ ภายหลังการหล่นกระแทกพื้นของตลาดหุ้นในเดือนมีนาคมปี 2000 และนับแต่นั้นก็มุ่งรวมศูนย์อยู่ที่เรื่องซอฟต์แวร์แทบจะด้านเดียวเท่านั้น “โซลูชั่นแบบอิงกับซอฟต์แวร์” เป็นสิ่งที่สอดคล้องเหมาะสมกับพวกบริษัทซึ่งธุรกิจหลักคือการเขียนโค้ดซอฟต์แวร์ แต่มันไม่น่าจะสามารถทำให้อเมริกายังคงนำหน้าจีนตลอดจนพวกเครือข่ายหุ้นส่วนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีนได้หรอก


กำลังโหลดความคิดเห็น