(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China tech regulators try to avoid American trap
by David P. Goldman
13/11/2020
ทางการจีนออกมาเตือนพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของประเทศอย่างเช่น อาลีบาบา, เทนเซนต์ อย่าได้ใช้อำนาจควบคุมผูกขาดเหนือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมากมายระดับมวลชน มาขับดันการเติบโตของตนเองและกีดกันผู้เข้าสู่ตลาดรายใหม่ๆ นี่เป็นความเคลื่อนไหวชนิดที่ทางการสหรัฐฯก็สมควรทำมาตั้งนานแล้ว แทนที่จะปล่อยให้ ไมโครซอฟท์, แอมะซอน, แอปเปิล, กูเกิล, หรือ เฟซบุ๊ก แปรเปลี่ยนไปเป็นเหมือนกิจการสาธารณูปโภคแบบผูกขาดที่ไร้การกำกับตรวจสอบอย่างในทุกวันนี้
เมื่อ 25 ปีที่แล้ว พวกบริษัทเทคของอเมริกันตัดสินใจเสี่ยงและสร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนบรรดาโมเดลธุรกิจที่เคยปักหลักมั่นคงอยู่แต่เดิม ทุกวันนี้ พวกเขาคือกิจการสาธารณูปโภคยุคใหม่ กำลังทำรายได้จากค่าเช่าในลักษณะผูกขาดเพราะสามารถควบคุมตลาดเอาไว้ในมือ ไมโครซอฟท์ขับไล่ไสส่งพวกผู้ท้าทายตนออกไปจากแวดวงซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์พีซี, แอมะซอนบดขยี้พวกคู่แข่งค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ตของตนไปเกือบหมด, แอปเปิลร่วมกับคู่ปรปักษ์ของตนอย่างซัมซุง สร้างการผูกขาดแบบสองรายคุมตลาด (duopoly) ทั้งด้านฮาร์ดแวร์กับบริการต่างๆ, กูเกิลทำลายลู่ทางโอกาสเชิงพาณิชย์ของพวกเสิร์ชเอนจินที่เป็นคู่แข่งขัน, และเฟซบุ๊กเข้าครอบงำสื่อสังคม โดยผ่านการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการซึ่งเล็งเป้าไปที่การขจัดคู่แข่ง
จีนต้องการที่จะหลีกเลี่ยง “กับดักอเมริกัน” เช่นนี้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนจึงออกมาเตือนพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของประเทศว่า ต่อจากนี้ไปพวกเขาไม่สามารถที่จะเก็บยึดข้อมูลส่วนบุคคลของมวลชนเอาไว้แบบผูกขาด เพื่อใช้มาขับดันธุรกิจต่างๆ ของพวกเขา และลดทอนกีดกันโอกาสทำการแข่งขันจากพวกรายใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด มีเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือฉบับหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานกำกับตรวจสอบของคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เตือนว่าจะมีการออกมาตรการต่อต้านการผูกขาดที่มุ่งเล่นงาน “พวกกิจการคณาธิปไตย (oligarchic firmsกิจการไม่กี่แห่งเข้าครอบงำผูกขาดตลาดเอาไว้) และแพลตฟอร์มของพวกเขา” ดังที่ แฟรงก์ เฉิน ได้รายงานเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://asiatimes.com/2020/11/data-at-center-of-beijings-clampdown-on-big-tech/) ขณะเดียวกันก็มีบันทึกภายในฉบับหนึ่งส่งไปถึงทางรัฐบาลระดับมณฑล และเอเชียไทมส์ได้อ่าน ซึ่งนอกเหนือจากพูดถึงความไม่ชอบมาพากลอื่นๆ แล้ว ยังมีเนื้อหาตักเตือนไม่ยอมให้มีการผูกขาดการใช้ข้อมูลเพื่อกำจัดขัดขวางการแข่งขันอยู่ด้วย โดยที่เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบการธนาคารของจีนได้บังคับให้บริษัทแอนต์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ต้องประกาศเลื่อนการทำไอพีโอที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงและเรื่องสัดส่วนเงินทุนต่างๆ
ราคาหุ้นของพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนพากันหล่นฮวบในวันที่ 11 พฤศจิกายน หลังจากเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือของคณะรัฐมนตรีจีนถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่แล้วก็กลับตีตื้นฟื้นคืนราคาที่หล่นหายไปในการซื้อขาย 2 วันทำการถัดมา
สหรัฐฯนั้นควรที่จะกระทำอย่างเดียวกันนี้ตั้งแต่เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน แต่จากการยินยอมปล่อยให้พวกบริษัทเทคของตนแปรเปลี่ยนไปเป็นเหมือนกิจการสาธารณูปโภคแบบผูกขาดที่ไร้การกำกับตรวจสอบ ได้ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้พุ่งสูง –สำหรับหุ้นเพียงหยิบมือเดียว— แต่มีผลิตภาพต่ำ จริงอยู่พวกบริษัทเทคสหรัฐฯยังคงมีนวัตกรรม ทว่าเพียงแค่ในจุดที่บริษัทเห็นว่าเหมาะสมกับตนเองเท่านั้น การผูกขาดของพวกเขาที่สำคัญที่สุดแล้วมาจากตรรกะของตลาด ไม่ใช่มาจากการปฏิบัติที่เลวร้าย แต่กระนั้นมันก็ยังคงสร้างความเสียหายอยู่ดี ตัวอย่างเช่น รายรับจากการโฆษณาทางดิจิตอลราว 70%ของทั้งหมดตกไปเป็นของเฟซบุ๊ก และกูเกิล ขณะที่กำลังทำให้พวกสื่ออิสระของอเมริกากลายเป็นอัมพาต เนื่องจากแข่งขันหารายได้ทางโฆษณากับยักษ์ใหญ่เทคเหล่านี้ไม่ไหว
ประเทศจีนนั้นเวลานี้ได้ติดตั้งสถานีฐาน 5จี ไปเป็นจำนวน 700,000 แห่งแล้ว –มากกว่าที่ติดตั้งในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกัน— และวางแผนจะต่อเชื่อมระบบ 5จี ทั่วทั้งประเทศด้วยสถานีฐานทั้งสิ้น 10 ล้านแห่ง โดยที่จะทุ่มเทงบประมาณใช้จ่ายรวมราวๆ 280,000 ล้านดอลลาร์ พอล เบอร์ริแมน (Paul Berriman) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ พีซีซีดับเบิลยู (PCCW) ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายชั้นนำในฮ่องกง บอกกับการสัมมนาผ่านเว็บ (webinar) จัดโดยเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะสามารถให้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้นเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่ามีการสร้างเครือข่ายกันอย่างเต็มที่ขนาดไหน นี่หมายความว่าในกรณีของ พีซีซีดับเบิลยู นั้นจะต้องขยายการต่อเชื่อมบรอดแบนด์ที่ระดับ 4 ล้านรายในปัจจุบัน ให้เป็น 40 ล้านราย การต่อเชื่อมเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดจะเป็นการต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ไม่ใช่กับบัญชีสมาร์ตโฟนส่วนบุคคล นี่แหละจะทำให้มีความเป็นไปได้ในเรื่องยานพาหนะขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ, ห้องเรียนเสมือนจริงที่มีส่วนต่อขยายเพิ่มเติมมากมาย, โทรเวชกรรม (telemedicine), เมืองอัจฉริยะ, และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ อีกเป็นโขยง
นี่หมายความว่าจีนกำลังเดิมพันอนาคตของตนเอาไว้กับนวัตกรรม รัฐบาลจีนกำลังจัดการแข่งขันต่างๆ
ขึ้นมาเพื่อหาแอปพลิเคชั่น 5จี ที่ดีเยี่ยมที่สุด มีการเชื้อเชิญพวกผู้ประกอบการให้ช่วยกันคิดค้นหาหนทางเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเครือข่ายบรอดแบนด์ที่เร็วจี๋และมีความหน่วงต่ำเช่นนี้
จีนนั้นไม่ได้มอง 5จี ว่าเป็นแค่เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค หากแต่มองในฐานะเป็นฐานส่งสำหรับการไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) อย่างที่ผมรายงานเอาไว้ในหนังสือปี 2020 เรื่องYou Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World (สำนักพิมพ์Bombardier)
ของผม พวกยักษ์ใหญ่เทคของจีน ซึ่งรวมไปถึง อาลีบาบา, หัวเว่ย, และ เทนเซนต์ จะต้องสร้างแรงยกตัวที่หนักหน่วงสาหัสเอามากๆ ทีเดียว เมื่อคำนึงถึงศักยภาพในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), การรวบรวมข้อมูลของเอไอ, ตลอดจนความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งทำให้เรื่องอย่างนี้เป็นไปได้ขึ้นมา ทว่ามันก็มีความเสี่ยงเช่นกันว่าพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนอาจจะใช้การควบคุมข้อมูลของพวกเขาไปในทางมิชอบ เพื่อปิดกั้นไม่ให้พวกรายใหม่ๆ สามารถเข้าสู่ตลาดได้ และอย่างที่ แฟรงก์ เฉิน ได้รายงานเอาไว้นั่นแหละ มีข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือทีเดียวว่า อาลีบาบา และ เทนเซนต์ กำลังทำอย่างที่กล่าวนี้อยู่
ด้วยความมุ่งมั่นผูกพันในระดับชาติอย่างมโหฬารที่มีต่อ 5จี รัฐบาลของจีนเชื่อในแนวคิดที่ว่า ถ้าคุณสร้างมันขึ้นมา พวกเขาก็จะเข้ามาใช้ –แต่พวกเขาจะไม่เข้ามาหรอก ถ้าพวกเขาต้องเผชิญกับสนามกับระเบิดที่เต็มไปด้วยเครื่องกีดขวางแห่งการมุ่งผูกขาด เครือข่าย 5จี ของจีนจะไปถึงจุดเกิดภาวะมวลวิกฤตจากการติดตั้ง (critical mass of installations) ภายในปี 2022 และพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของแดนมังกรก็ต้องการที่จะทำให้แน่ใจว่า บรรดาผู้เข้าสู่ตลาดรายใหม่ๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่พวกเขาจำเป็นต้องได้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงศักยภาพให้กลายเป็นผลิตภาพ
ประสบการณ์ของอเมริกาในการเผชิญกับพวกกิจการผูกขาดทางเทค เป็นตัวอย่างอันเลวร้ายของสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ไม่ควรกระทำ พวกบริษัทเทครายใหญ่ๆ เวลานี้กำลังมีน้ำหนักอยู่ในตลาดทุนอย่างมากล้นเกินไปแล้ว ในปี 2010 บริษัทเทครายใหญ่ที่สุด 5 รายรวมกันแล้วเป็นแค่เพียง 11% ของมูลค่าตามราคาตลาดของพวกหุ้นทั้งหมดที่อยู่ในดัชนี เอสแอนด์พี 500 ทว่าเมื่อมาถึงเดือนกันยายน 2020 หุ้นของพวกเขาในดัชนีนี้ได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นไปอีกเท่าตัวเป็น 22% เวลาเดียวกันบริษัทเพียงแค่ 10 แห่งในดัชนีเอสแอนด์พี 500 คือผู้ถือครองมูลค่าสองในห้าของราคาโดยรวมของบริษัทสมาชิกในดัชนีทั้งหมด โดยที่ใน 10 แห่งนี้มีถึง 9 แห่งคือยักษ์ใหญ่ด้านเทค
เมื่อ 20 ปีก่อน ค่าเสี่ยงภัยที่พวกนักลงทุนเรียกร้องเอาจากดัชนีแนสแดคซึ่งครอบงำโดยพวกบริษัทเทค นั้น อยู่ในระดับเป็นสองเท่าตัวของที่พวกเขาเรียกร้องจากดัชนีเอสแอนด์พี 500 โดยรวม ทั้งนี้จากการคำนวณโดยดูที่การเคลื่อนไหวอย่างวูบวาบซึ่งเกิดขึ้นของตราสารออปชั่นของดัชนีทั้งสอง ภาคอุตสาหกรรมเทคที่ยังคงมีนวัตกรรมอยู่นั้นยังคงดำเนินกิจการแบบเสี่ยงกันอยู่ และตลาดตราสารอนุพันธ์ก็มีเครื่องมือวัดที่เป็นธรรมสำหรับความเสี่ยงที่เข้าใจกันว่าเกิดขึ้นมา แต่เมื่อถึงปลายทศวรรษ 2010 ความวูบวาบในการเคลื่อนไหวของดัชนีแนสแดคและของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้มาบรรจบกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเหล่าบริษัทเทคใหญ่ๆ คือผู้มีส่วนอยู่ในการเติบโตขยายตัวแทบทั้งหมดในมูลค่าตามราคาตลาดของดัชนีเอสแอนด์พี 500
3 บริษัทท็อปในการถือครองเงินสด ซึ่งได้แก่ ไมโครซอฟท์, แอปเปิล, และกูเกิล เป็นผู้ถือครอง 1 ใน 5
ของเงินสดทั้งหมดซึ่งพวกบริษัททุกแห่งในดัชนีนี้ถืออยู่ แอปเปิลนั้นร่ำรวยเงินสดมากเสียจนกระทั่งบริษัทเปิดโครงการขอซื้อหุ้นของตัวเองกลับคืนมาเป็นมูลค่าเท่ากับ 327,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2012
นี่คือเหตุผลใหญ่ที่อธิบายว่าทำไมราคาหุ้นของแอปเปิลจึงไต่สูงขึ้นไป 82% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาถึงแม้รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทยังแทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
เงินทุนจำนวนมากมายมหาศาลเหลือเกิน ถูกรวมศูนย์อยู่ในมือของบริษัทจำนวนน้อยนิด และทำให้การตัดสินใจของคณะผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ที่รวมกันแล้วมีเพียงแค่สิบกว่าแห่ง กลับสามารถกำหนดคุณภาพและอารมณ์ความรู้สึกของระเบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯได้สูญเสียอุตสาหกรรมการผลิตด้านไฮเทคของตนไปเกือบหมด เนื่องจากพวกบริษัทเทคผูกขาดเหล่านี้มีมติว่า เงินสดมหาศาลที่พวกเขามีกันอยู่สมควรเอาไปใช้ซื้อหุ้นของบริษัทพวกเขาเองกลับคืนมา ดีกว่าจะไปลงทุนในโรงงานการผลิตต่างๆ
ในแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ
การไหลเวียนของเงินสดของพวกบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ช่างสามารถคาดการณ์กันได้อย่างไม่มีผิดพลาด จนกระทั่งหุ้นของพวกเขาถูกซื้อขายในวิธีเดียวกับที่เคยใช้กับพวกหุ้นของกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ หลังจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯตกลงอย่างแรงสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพราะไวรัสโคโรนาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของพวกบริษัทเทคก็ไต่สูงขึ้นในจังหวะเดียวกันกับการลดต่ำลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร นี่ก็คือความเคลื่อนไหวแบบที่หุ้นของพวกกิจการสาธารณูปโภคด้านแก๊สและไฟฟ้าเคยเดินกันมาก่อนนั่นเอง พวกหุ้นของกิจการสาธารณูปโภคที่ถูกกำกับตรวจสอบเข้มนั้น คือสินค้าในตลาดหุ้นซึ่งมีความใกล้เคียงที่สุดกับพันธบัตร อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ตลาดได้ปฏิบัติต่อพวกบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหมือนๆ กับพวกกิจการสาธารณูปโภค แผนภูมิข้างล่างนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ แบบ straight-line ระหว่างอัตราผลตอบแทนแท้จริง (real yieldsอัตราผลตอบแทนของตราสารกระทรวงการคลังที่ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ) กับ ดัชนีแนสแดคซึ่งพวกหุ้นเทคมีน้ำหนักเป็นอย่างมาก (ค่าr2ของ regressionคือ 73% สำหรับดัชนีแนสแดค VS 53% สำหรับดัชนีเอสแอนด์พี 500
อเมริกาเวลานี้ไม่ได้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมใดๆ เลย เนื่องจากพวกบริษัทเทคอเมริกันคิดว่าซอฟต์แวร์คือตัวที่ทำกำไรได้ดีกว่ามากมายนัก ต้นทุนเพิ่มของการเติมซอฟต์แวร์ให้แก่ลูกค้า 1 ตัวคือ 0 แต่ไม่ใช่เช่นนั้นแน่ๆ สำหรับต้นทุนเพิ่มของการผลิตสถานีฐาน 5จี 1 แห่ง หัวเว่ยใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนาไป 20,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 นี่ไม่ใช่เงินเยอะแยะมากมายอะไรหรอกเมื่อวัดกันด้วยมาตรฐานของพวกบิ๊กเทคอเมริกัน เฉพาะแอปเปิลบริษัทเดียวก็ซื้อคืนหุ้นของตนซึ่งเทรดอยู่ในตลาดอยู่แล้วเป็นมูลค่า 73,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 และอีก 67,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 เปรียบเทียบกันแล้ว บริษัทใช้เงินแค่ 18,000 ล้านดอลลาร์ในการใช้จ่ายด้านเงินทุนในช่วง 2 ปีดังกล่าว
ขณะที่ใช้ไปรวม 140,000 ล้านดอลลาร์ในเรื่องการซื้อหุ้นคืน แอปเปิลเชื่อว่าราคาหุ้นของตนจะไต่ขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าด้วยวิธีนำเอากระแสเงินสดมาดีดส่งพวกผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับการที่บริษัทจะใช้วิธีทำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ก่อนหน้านี้ในปีนี้ พวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารทรัมป์ได้ไปติดต่อทาบทามบริษัทซิสโก ซิสเตมส์ และเสนอแนะให้บริษัทอเมริกันที่เคยเป็นผู้ผลิตเครื่องเราเตอร์อินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดแห่งนี้ เข้าไปซื้อคู่แข่งของหัวเว่ยสักรายหนึ่ง จะเป็นอีริคสันหรือโนเกียก็ได้ เพื่อที่จะได้ขัดขวางการเป็นผู้นำตลาดของจีน คำตอบที่พวกเขาได้รับจากซิสโกก็คือ บริษัท “ไม่สนใจในการเข้าซื้อพวกธุรกิจที่มีอัตราผลกำไรต่ำ” ทั้งนี้ตามรายงานของ วอลล์สตรีทเจอร์นัล (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.wsj.com/articles/white-house-federal-intervention-5g-huawei-china-nokia-trump-cisco-11593099054) ซิสโกนั้นรายงานเอาไว้ว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) อยู่ที่ 30% ในปี 2019 เปรียบเทียบกับ return on equityของอีริคสันซึ่งอยู่ที่ 2.6%
พวกประเทศเอเชีย (รวมทั้งจีน) ให้การอุดหนุนแก่การผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนเข้มข้น แต่อเมริกาไม่ได้ทำอย่างนั้น ดังนั้นการที่พวกบริษัทเทคอเมริกันมีความลังเลที่จะทำการลงทุนในการผลิตซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทเอเชีย จึงเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม อเมริกากำลังอยู่ล้าหลังในเรื่องการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และในบางด้านบางอย่างกระทั่งถึงกับไม่ได้จะเข้าแข่งขันด้วยซ้ำไป สหรัฐฯยังแค่เริ่มต้นจริงๆ ในเรื่องการสร้างเครือข่าย 5จี นับถึงเดือนเมษายน มีสถานีฐาน 5จี ติดตั้งแล้วในสหรัฐฯแค่ 10,000 แห่ง เปรียบเทียบกับ 700,000 แห่งในประเทศจีน พวกเมืองใหญ่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ๆ ของจีนซึ่งมีถนนหนทางภายในที่กว้างขวาง จึงเหมาะสมสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างอัตโนมัติ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานตามเมืองใหญ่ที่กำลังทรุดโทรมของอเมริกาทำให้การใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองในพื้นที่บริเวณจำนวนมากของประเทศนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ เรื่องโทรเวชกรรม (Telemedicine) ก็ยังไม่ได้ไปถึงไหนในอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีอุปสรรคด้านกฎหมายที่ขัดขวางการนำเอาบันทึกประวัติการรักษาของคนไข้มาทำเป็นระบบดิจิตอล (ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชน อาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.americanpurpose.com/articles/blockchain-and-the-next-pandemic/)
นวัตกรรมทางการเงินก็มีสิ่งที่น่าวิตกกังวลคล้ายๆ กัน สหรัฐฯนั้นเป็นศูนย์กลางด้านการทดลองสิ่งใหม่ๆ ทางการเงินของโลก เริ่มต้นจากตราสารอนุพันธ์ของสินเชื่อเคหะ (mortgage derivatives) ในช่วงทศวรรษ 1990 และตราสารอนุพันธ์ของสินเชื่อทั่วไป (credit derivatives) ในทศวรรษ 2000 วอลล์สตรีทเรียนรู้ที่จะนำเอาพวกสินเชื่อที่อยู่อาศัยมารีแพกเกจใหม่ให้กลายเป็นตราสารอันสลับซับซ้อน และขายตราสารเหล่านี้ออกไปในราคาที่สูงขึ้นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง จนเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 1994 และอีกระลอกในปี 1998 พวกผู้ซื้อตราสารเหล่านี้จึงได้ตระหนักเมื่อสายไปเสียแล้วว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ซึ่งมีที่มาจากเงินกู้และอิงอยู่กับอัตราดอกเบี้ย ในช่วงทศวรรษ 2000 วอลล์สตรีทได้ขายตราสารอนุพันธ์ซึ่งอิงอยู่กับพวกสินเชื่อเคหะคุณภาพต่ำ ตลอดจนพวกหนี้สินภาคบริษัทที่มีคุณภาพต่ำ แล้วการล้มครืนของตลาดตราสารเหล่านี้ก็ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินโลกขึ้นมาในปี 2008
ตลาดเหล่านี้พังพินาศไปเป็นระยะๆ จากโมเดลความเสี่ยงอันประณีตซับซ้อนซึ่งผลิตขึ้น โดยพวกนักวิเคราะห์เชิงปริมาณผู้เฉลียวฉลาดที่สุดเท่าที่วอลล์สตรีทสามารถว่าจ้างได้ อย่างที่ผมได้อธิบายเอาไว้บทความชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2012 ตีพิมพ์ในวารสารการเงินภาคบริษัทประยุกต์ (Journal of Applied Corporate Finance) ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1745-6622.2012.00367.x) มีโมเดลความเสี่ยงบางอันได้เตือนภัยขึ้นมาอย่างถูกต้องถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดในไม่ช้า แต่พวกฝ่ายบริหารของแบงก์เพิกเฉยละเลยคำเตือนเหล่านี้ และยังคงประคับประคองให้เกมเก้าอี้ดนตรีนี้ดำเนินต่อไป
รองประธานาธิบดี หวัง ฉีซาน (Wang Qishan) ของจีน คือเจ้าหน้าที่แดนมังกรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปัดกวาดสะสางความยุ่งเหยิงทั้งหลายในปี 2008 และมีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความเสี่ยงซึ่งแฝงฝังอยู่ในนวัตกรรมทางการเงิน เขาออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้ว ณ เวทีประชุม ซั่งไห่ บันด์ ซัมมิต (Shanghai Bund Summit) ว่า จีนมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลดความเสี่ยงทางการเงิน ปักกิ่งไม่ต้องการนวัตกรรมทางการเงินซึ่งผลิตความวิบัติหายนะประเภทที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ บริษัทแอนต์ ไฟแนนเชียล ของ แจ็ก หม่า นั้นกู้ยืมเงินจากพวกธนาคารรัฐ แล้วปล่อยกู้ต่อให้แก่พวกผู้บริโภค (มีมูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และให้แก่พวกธุรกิจขนาดเล็กๆ (เงินกู้คงค้างอยู่ที่ 58,000 ล้านดอลลาร์) แอนต์อ้างว่าการวิเคราะห์คุณภาพสินเชื่อโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ของตนทำให้ตนมีความชอบธรรมที่จะได้รับฐานะอภิสิทธิ์ในการเป็นตัวกลางในเรื่องนี้ แต่ว่าพวกใช้งานไอเอรายอื่นๆ ในประชาคมฟินเทคของจีนคิดว่า การกล่าวอ้างของแอนต์ไฟแนนเชียลนั้นเกินเลยความเป็นจริง และบัญชีสินเชื่อของแอนต์มีความเสี่ยงมากกว่าที่บริษัทยอมรับ
การตัดสินใจในนาทีสุดท้ายของพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนในการสั่งเลื่อนการทำไอพีโอของแอนต์ออกไปก่อนนั้นดูงุ่มง่ามเงอะงะ มันเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานกำกับตรวจสอบนี้ยังไม่พรักพร้อมในการปฏิบัติการในเวลาซึ่งถูกต้องเหมาะสม กระนั้นพวกเขาก็มีผู้ช่วยเหลือให้ความร่วมมือสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เปรียบเทียบกับหน่วยงานกำกับตรวจสอบของสหรัฐฯซึ่งเพิกเฉยละเลยความเสี่ยงของพวกอนุพันธ์สินเชื่อในช่วงใกล้ๆ จะถึงการพังครืนในปี 2008 และปฏิเสธไม่ยอมเชื่อสิ่งที่กำลังปรากฏออกมา
จวบจนกระทั่งเมื่อการพังครืนกำลังเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว