xs
xsm
sm
md
lg

‘หมากเด็ด’ในมือ‘ปักกิ่ง’ที่ทำให้กล้าเสียงแข็งในเรื่อง‘ติ๊กต็อก’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 17 ก.ค. 2020) ชายผู้หนึ่งสวมเสื้อทีเชิร์ตเขียนข้อความโปรโมตแอป “ติ๊กต็อก” นั่งอยู่ในร้าน “แอปเปิล” แห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Trump’s TikTok dare a ticking time bomb
by David P. Goldman
23/09/2020

ความเคลื่อนไหวของคณะบริหารทรัมป์ในการกดดัน “ติ๊กต็อก” สามารถที่จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างแรงมาถึงพวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ถ้าหากจีนตอบโต้แก้เผ็ดด้วยการจัดทำบัญชี “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” ของตนเองออกมา แท้ที่จริงแล้ว พวกคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนมองกันว่า การที่เมื่อเร็วๆ นี้วอชิงตันยินยอมผ่อนปรนให้ เอเอ็มดี และ อินเทล ซัปพลายผลิตภัณฑ์ไปให้หัวเว่ยได้บ้าง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งจากการที่ปักกิ่งข่มขู่จะประกาศรายชื่อนี้ของตนนั่นเอง

ศิลปะนั้นเลียนแบบชีวิต แต่การต่อสู้แย่งชิงกันเป็นเจ้าของ “ติ๊กต็อก” ที่กำลังดำเนินอยู่เวลานี้ ได้เริ่มกลายเป็นการเลียนแบบพวกภาพสเก็ตซ์โง่ๆ ที่ชวนหัวเราะซึ่งทำให้ติ๊กต็อกกลายเป็นแอปที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในประวัติศาสตร์

หนทางออกแบบประนีประนอมซึ่งมีรายงานว่าจัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) เสนอรูปแบบความเป็นเจ้าของแบบข้ามกันไปมาที่สลับซับซ้อนมากจนกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่า บริษัทไบต์แดนซ์ของจีน ซึ่งเป็นผู้สร้างติ๊กต็อก หรือว่าพวกนักลงทุนอเมริกันกันแน่ จะเป็นผู้ควบคุมบริษัทโฮลดิ้งคอมพานีแห่งใหม่

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในตอนแรกๆ ได้ยกย่องชมเชยการประนีประนอมเช่นนี้ ทว่าต่อจากนั้นกลับประกาศว่าเขาจะใช้อำนาจยับยั้งดีลใดๆ ก็ตามทีที่ไม่ได้รวมเอาเรื่องที่สหรัฐฯต้องเป็นผู้ควบคุม—ไม่ว่านี่จะหมายความว่าอย่างไรก็ตามที เวลาเดียวกันนั้น พวกสื่อของรัฐจีนก็บ่งชี้ว่า ปักกิ่งจะวีโต้ดีลใดๆ ก็ตามทีที่ระบุให้ฝ่ายอเมริกันเป็นฝ่ายควบคุม

ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงอาจจะกลายเป็นว่า ติ๊กต็อกต้องหยุดการดำเนินกิจการในสหรัฐฯ –และปักกิ่งก็ดูเหมือนไม่ได้แคร์กับเรื่องนี้ นั่นทำให้ทรัมป์มีทางเลือกระหว่างการปิดตายแอปสื่อสังคมที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างมโหฬารตัวนี้ และกระตุ้นความโกรธเคืองของผู้ออกเสียงจำนวนใหญ่โตทีเดียว หรือไม่ก็ต้องยอมลงนามในข้อตกลงแบบรักษาหน้าซึ่งให้พวกนักลงทุนและบริษัทของฝ่ายสหรัฐฯเป็นผู้ควบคุมแต่ในนาม ขณะที่ปล่อยให้เทคโนโลยีแกนหลักยังอยู่ในมือของฝ่ายจีน

ตามข้อตกลงที่มนูชินจัดทำขึ้นมานั้น ออราเคิล และ วอลมาร์ท จะซื้อหุ้นจำนวน 20% ในบริษัทใหม่ซึ่งจะใช้ชื่อว่า “ติ๊กต็อกโกลบอล” ส่วนอีก 80% จะเป็นของไบต์แดนซ์แห่งประเทศจีน แต่เนื่องจากพวกนายทุนเวนเจอร์แคปิตอลสหรัฐฯเป็นเจ้าของไบต์แดนซ์อยู่ 40% ดังนั้นสัดส่วนความเป็นเจ้าของของฝ่ายอเมริกันก็จะเกินขีด 50% ถึงแม้ยังไม่มีความชัดเจนเอาเสียเลยว่า การถือหุ้นเกินกว่าครึ่งไปนิดหน่อยนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นการได้เข้าควบคุมบริษัทใหม่หรือไม่ เช่นเดียวกับที่ยังไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่าทรัมป์จะรับรองการเสแสร้างตบตาเช่นนี้ไหม หรือปักกิ่งจะยินยอมให้ดีลนี้เกิดขึ้นมาหรือเปล่า

ติ๊กต็อกดูเหมือนกับเป็นแอปเพื่อความบันเทิงที่ไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่การที่มีผู้ดาวน์โหลดเป็นจำนวน 2,000 ล้านครั้งทำให้ไบต์แดนมีขุมสมบัติทางด้านข้อมูล ซึ่งสามารถใช้ในการพัฒนาพวกเทคนิคต่างๆ ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) รัฐบาลสหรัฐฯได้หยิบยกแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของพวกยูสเซอร์ชาวอเมริกัน ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ถูกต้องชอบธรรม ทว่าความห่วงใยที่ใหญ่โตกว่านั้นคือเรื่องในทางยุทธศาสตร์

ถ้าหาก AI เป็นเครื่องยนต์ของ “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) แล้ว ข้อมูลก็คือเชื้อเพลิง และการที่จีนสามารถควบคุมบงการเหนือข้อมูลได้ย่อมทำให้ประเทศนั้นมีข้อได้เปรียบอย่างใหญ่โตประการหนึ่ง นี่เป็นเรื่องจริงสำหรับ AI ทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งบันทึกประวัติทางสุขภาพในระบบดิจิตอล, ข้อมูลการจัดลำดับดีเอ็นเอ, และการเฝ้าติดตามสัญญาณชีพแบบเรียลไทม์ กำลังเป็นสิ่งที่สามารถนำเอามาใช้งานได้จริงๆ สำหรับชาวจีนจำนวนหลายร้อยล้านคน นอกจากนั้นแล้ว ความได้เปรียบทางด้านข้อมูลของจีนเป็นสิ่งที่โดดเด่นชัดเจนในแวดวงต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งในเรื่องซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา

ตัวอย่างเช่น นักพัฒนารายหนึ่งที่กำลังพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้ประเมินผลความก้าวหน้าของนักเรียนอยู่ ได้บอกกับเพื่อนร่วมงานชาวจีนผู้หนึ่งว่า AI จะต้องประสบความลำบากในการวิเคราะห์การบ้านนักเรียนบางแบบบางประเภท เป็นต้นว่า เรียงความเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ ทำในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน “มันมีความเป็นไปได้ตั้งเป็นแสนอย่างมั๊ง” นักพัฒนาผู้นี้กล่าว สิ่งที่เพื่อนร่วมงานชาวจีนของเขาตอบกลับมาก็คือ “ไม่มีปัญหาหรอก เรามีตัวอย่างที่จะใช้ในการทดสอบได้อยู่ 6 ล้านตัวอย่าง”

ดังที่ พอล สแคนแลน (Paul Scanlan) ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของ หัวเว่ย อธิบายให้ผมฟัง ซึ่งได้ตีพิมพ์เอาไว้ในหนังสือของผมเรื่อง “You Will Be Assimilated” นั่นแหละครับ “จุดควบคุม” (control point) ในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้น อยู่ที่ช่องทางเข้าออกของข้อมูลและการเก็บสะสมข้อมูล การที่วอชิงตันโจมตีเล่นงานติ๊กต็อก จึงถือเป็นความพยายามแบบปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาอย่างรีบร้อนและไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งล่าช้าเกินไป ในความมุ่งหมายที่จะชะลอถ่วงรั้งจอมทรงพลังอย่างจีน ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังคงสามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

การที่วอชิงตันมีความห่วงใยต่อการที่จีนมีฐานะอันสำคัญยิ่งกว่าใครๆ ในแวดวง AI รวมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับความสำคัญของพวกแอปเพื่อผู้บริโภคอย่างเช่นติ๊กต็อกนั้น เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจกันได้ ทว่าสหรัฐฯจำเป็นต้องอาศัยจีน มากกว่าที่จีนจำเป็นต้องอาศัยสหรัฐฯในเรื่องการพัฒนา AI เพราะความได้เปรียบทางด้านข้อมูลกำลังสร้างความเหนือล้ำกว่าหนักหนาให้แก่ทางฝ่ายจีนเรียบร้อยแล้ว

ตามข้อตกลงประนีประนอมในกรณีติ๊กต็อก ออราเคิลจะทำหน้าที่ปกป้องรักษาข้อมูลยูสเซอร์ซึ่งสร้างขึ้นด้วยแอปนี้ในสหรัฐฯ แต่ติ๊กต็อกจะยังคงเป็นผู้ใช้ข้อมูลจากการดาวน์โหลดในทั่วโลกซึ่งมีจำนวนการดาวน์โหลดเกือบๆ 2,000 ล้านครั้ง

เครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งอันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นของจีนก็คือ การที่ โกลบอลไทมส์ (Global Times) องค์กรสื่อภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน (หมายเหตุผู้แปล - จริงๆ แล้ว โกลบอลไทมส์ เป็นของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า หรือ People’s Daily ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยที่เผยแพร่เป็นภาษาจีนตั้งแต่ปี 1993 และจัดทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2009 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Times) ออกมาท้าทายวอชิงตันให้ปิดติ๊กต็อก โดยที่ หู ซีจิน (Hu Xijin) บรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ เขียนเอาไว้ในทวิตที่โพสต์เมื่อวันที่ 22 กันยายนว่า “ไม่มีทางหรอกที่รัฐบาลจีนจะยอมรับข้อเรียกร้องของพวกคุณ พวกคุณสามารถทำลายธุรกิจสหรัฐฯของติ๊กต็อกได้ ถ้าหากพวกยูสเซอร์สหรัฐฯไม่คัดค้านนะ แต่พวกคุณไม่สามารถที่จะลักขโมยมันไปแล้วเปลี่ยนให้มันกลายเป็นทารกสหรัฐฯได้หรอก”

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม จีนขึ้นบัญชีให้ ซอร์สโคด (source code) ของติ๊กต็อก ซึ่งหมายถึง “อัลกอริธึม” (algorithm) ที่ติ๊กต็อกใช้ในการวิเคราะห์กิจกรรมของยูสเซอร์ อยู่ในรายการการส่งออกที่ทางการจีนควบคุม

พวกกิจการต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีนั้นอยู่ในสภาพบูรณาการเข้าด้วยกันไปเรียบร้อยแล้วในระดับโลก และตลาดภายในของประเทศจีนคือแหล่งที่การบริโภคเทคโนโลยีมีอัตราการเติบโตอย่างใหญ่ที่สุด พวกกิจการเวนเจอร์แคปิตอลอเมริกันได้ทุ่มเทลงทุนอย่างมหาศาลในแอปต่างๆ ของจีนและในเทคโนโลยีต่างๆ ของจีนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลของเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับซ่อนเร้นอะไร

การบริโภคส่วนบุคคลในสหรัฐฯเติบโตขยายตัวราวๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนับตั้งแต่ตอนสิ้นปี 2009 ขณะที่การบริโภคของชาวจีนเติบโตขึ้นราวๆ 5 ล้านล้านดอลลาร์ เวลาเดียวกัน การลงทุนคิดเป็นประมาณสองในห้าของจีดีพีของจีน เปรียบเทียบกับเป็นแค่หนึ่งในห้าในจีดีพีสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า จีนวางแผนการจะติดตั้งสถานีฐาน 5จี เป็นจำนวน 6 ล้านสถานี ซึ่งจะสิ้นค่าใช้จ่ายราว 132,000 ล้านดอลลาร์ นี่เฉพาะในด้านฮาร์ดแวร์เท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง การบอยคอตต์ด้านเทคของวอชิงตันที่มุ่งเล่นงานบริษัทหัวเว่ย และบริษัทจีนแห่งอื่นๆ ด้วยการใส่ชื่อบริษัทเหล่านี้เอาไว้ในบัญชี “รายชื่อกิจการและบุคคล” (entity list) (ที่จะต้องถูกแซงก์ชั่นลงโทษ) กลับกำลังปรากฏให้เห็นรอยแตกร้าว พวกนักออกความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีน กำลังกล่าวอ้างกันว่า จากการที่ปักกิ่งข่มขู่ที่จะตอบโต้แก้เผ็ดเอากับบรรดาบริษัทอเมริกัน ด้วยการนำบริษัทเหล่านี้มาใส่ไว้ในบัญชี “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” (unreliable entities list) ของตนบ้าง การขยับตัวเช่นนี้เองทำให้คณะบริหารทรัมป์ต้องเห็นชอบเห็นดีกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกซึ่งมุ่งหมายใช้เล่นงานหัวเว่ยและบริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายแห่งอื่นๆ

โดยที่ เมื่อวันที่ 22 กันยายน อินเทล คอร์ป (Intel Corp) ก็ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ยินยอมออกใบอนุญาตให้บริษัทสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีการระบุอย่างเจาะจงชัดเจน ไปให้แก่หัวเว่ย หลายเดือนทีเดียวหลังจากวอชิงตันขึ้นบัญชีบริษัทยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมจีนรายนี้ตลอดจนกิจการจีนแห่งอื่นๆ เอาไว้ใน “รายชื่อกิจการและบุคคล” ซึ่งทำให้พวกบริษัทอเมริกันและกระทั่งบริษัทต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีอเมริกันและส่วนประกอบอเมริกัน ถูกห้ามส่งออกไปยังกิจการของจีนเหล่านี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ทั้งนี้รายรับของอินเทลในปีหลังๆ มานี้ เกือบๆ 30% ทีเดียวมาจากประเทศจีน

เว็บไซต์ guancha.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาจีนที่มีทิศทางแบบสายเหยี่ยว เขียนเอาไว้ตอนปลายเดือนกันยายนว่า “ในวันที่ 19 กันยายน กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออก “ระเบียบว่าด้วยบัญชีรายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” (Regulations on the List of Unreliable Entities) ในวันเดียวกันนั้นเอง บริษัทผู้ผลิตชิป เอเอ็มดี (แอดแวนเซด ไมโคร ดีไวเซส Advanced Micro Devices) ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าได้รับอนุญาตให้ยังคงสามารถส่งสินค้าไปซัปพลายให้หัวเว่ยได้ต่อไป ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน อินเทลก็แถลงต่อสาธารณชนเช่นกันว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตให้ส่งสินค้าไปซัปพลายให้หัวเว่ยแล้ว”

ยังไม่มีบริษัทอเมริกันใดๆ ปรากฏนามอยู่ในบัญชี “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” ของฝ่ายจีน กระนั้นก็ตาม การข่มขู่คุกคามบริษัทอเมริกันว่าอาจตกเป็นเป้าหมายของการตอบโต้แก้เผ็ด ก็เป็นเรื่องที่มองเห็นได้อย่างชัคเจน

เอเอ็มดี ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย ขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทถึงราว 26% ไปให้แก่จีน ทั้งนี้ตามการประมาณการในรายงานชิ้นหนึ่งของวาณิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) นอกจากนั้น ยังมีบริษัทเทคแห่งอื่นๆ ยาวเหยียดเป็นหางว่าวทีเดียว รวมทั้ง มีเดียเทค (Mediatek) ของไต้หวัน และ เอสเอ็มไอซี (SMIC Semiconductor Manufacturing International Corporation) บริษัทผลิตชิปของจีน ซึ่งได้ยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเช่นกัน เนื่องจากระเบียบควบคุมการส่งออกของวอชิงตันนั้นครอบคลุมถึงการขายผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ทำขึ้นหรือที่ดีไซน์โดยอุปกรณ์สหรัฐฯ

หลี่ว์ ตง (Lu Dong) บรรณาธิการของ Guancha.cn ได้สัมภาษณ์ หยาง เจีย (Yang Jie) ทนายความด้านการค้าชาวจีนคนสำคัญ ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ระหว่างการประกาศระเบียบใหม่ของฝ่ายจีน กับการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯตัดสินใจยินยอมอนุญาตให้อินเทลและเอเอ็มดีขายผลิตภัณฑ์แก่หัวเว่ย

ตามคำพูดของหยาง “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” ของจีนนั้นแท้ที่จริงแล้วคือ “อาวุธทางกฎหมายอย่างหนึ่งซึ่งมุ่งใช้ต่อสู้กับสหรัฐฯ ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว หลังจากจู่ๆ หัวเว่ยก็ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อกิจการและบุคคล ซึ่งต้องถูกแซงก์ชั่นโดยสหรัฐฯแล้ว เกา เฟิง (Gao Feng) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมว่า จีนก็กำลังดำเนินการเพื่อจัดทำ ‘รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้’ ของทางฝ่ายจีนเองเหมือนกัน”

ในบทสัมภาษณ์ของทาง Guancha.cn ชิ้นเดียวกันนี้ หยาง เจีย ยังได้บอกปัดข่าวลือต่างๆ ที่ว่า พวกยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่างเช่น แอปเปิล จะถูกใส่ชื่อใน “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” เพื่อเป็นการตอบโต้แก้เผ็ดมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯใช้เล่นงานหัวเว่ย อย่างไรก็ตาม หยางกล่าวต่อไปว่า จากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการควบคุมต่างๆ เช่นนี้ จะยิ่งเร่งให้ทั่วโลกปรับตัวถอยห่างออกจากเทคโนโลยีสหรัฐฯ

“เพื่อที่จะปราบปรามจัดการกับหัวเว่ยให้อยู่หมัด” หยาง กล่าว “สหรัฐฯในปีนี้ได้นำเอาพวกกฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โดยตรงของต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้กับบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นครั้งแรก กฎระเบียบพวกนี้แต่เดิมทีเดียวตั้งใจจะให้เป็นอาวุธเพื่อการทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction) เท่านั้น เพราะภายใต้กฎระเบียบนี้ ผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ทำด้วยเทคโนโลยีอเมริกันก็จะต้องตกอยู่ใต้ระเบียบควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯทั้งสิ้น”

“เมื่อเป็นเช่นนี้” เขาชี้ “ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงพวกบริษัทอย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company บริษัทไต้หวันที่เป็นกิจการผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก -ผู้แปล) และซัมซุง ซึ่งอาจจะต้องร่วมมือกับหัวเว่ยภายนอกสหรัฐฯ เพราะอุปกรณ์ของพวกเขาอาจจะมีส่วนที่เป็นเทคโนโลยีสหรัฐฯอยู่ พวกเขาจึงตกเป็นเป้าหมายของการถูกควบคุมการส่งออก และถูกบังคับให้ต้องยุติการซัปพลายให้แก่หัวเว่ยไปด้วย”

จีนนั้นจะทุ่มเทใช้ทรัพยากรของตนทั้งหมด เพื่ออุดช่วงห่างทางเทคโนโลยีที่มีอยู่กับฝ่ายตะวันตกในด้านการออกแบบชิปและการผลิตชิปเช่นนี้

ขณะเดียวกัน หยางกล่าวต่อไปว่า พวกบริษัทอย่างเช่น ซัมซุง ของเกาหลีใต้ “แน่นอนทีเดียวว่าจะโฟกัสไปที่การวิจัยและการัพฒนาพวกเทคโนโลยีทางเลือกต่างๆ นั่นคือ พวกที่สามารถนำมาใช้แทนเทคโนโลยีอเมริกันได้ ผลที่จะเกิดขึ้นมาก็คือ โนว-ฮาวของสหรัฐฯจะค่อยๆ ถูกไล่ตามทันมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯคำนึงเพียงแค่พวกเป้าหมายระยะสั้นในการสยบหัวเว่ย ทว่าไม่ได้พิจารณาถึงโลกาภิวัตน์ของอุตสาหกรรมชิปทั้งหมด”

จีนคือลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของพวกบริษัทดีไซน์ชิปสหรัฐฯ อย่างเช่น ควอลคอมม์ (Qualcomm) และ เอ็นวิเดีย (NVidia) ในปี 2019 ควอลคอมม์ขายชิปเป็นมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่จีน เปรียบเทียบกับที่ขายคิดเป็นมูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ และ 2,400 ล้านดอลลาร์ในเกาหลีใต้

ในทางกลับกัน สิ่งที่ควอลคอมม์ขายในจีนนั้น 90% ทีเดียวถูกใช้ไปในการผลิตพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคเกือบทั้งหมดซึ่งส่งออกจากจีนมาขายกันในสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯมีอุปสงค์ความต้องการพุ่งพรวดในเรื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องแทบเล็ต, และสมาร์ตโฟน เป็นตัวขับดันให้ยอดส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในระดับ 20% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เมื่อตอนที่คณะบริหารทรัมป์เสนอในตอนแรกที่จะสั่งห้ามขายให้หัวเว่ยในเดือนธันวาคมปี 2019 นั้น พวกบริษัทผลิตชิปอเมริกันพากันเตือนว่าการที่ถูกกีดกันออกมาจากตลาดจีนเช่นนี้จะสร้างความเสียหายให้แก่รายรับของพวกตน รวมทั้งบังคับให้พวกตนต้องตัดลดงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนา

มีรายงานว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็วีโต้ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ทว่าทรัมป์ได้กลับรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ในตอนที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นมาทีแรกในประเทศจีน ครั้นมาถึงเวลานี้ดูเหมือนกันว่าสหรัฐฯกำลังมีความปรารถนาที่จะหาข้อยกเว้นให้แก่กฎระเบียบของตนเองเสียแล้ว ทั้งเนื่องจากอุตสาหกรรมสหรัฐฯเองจะกลายเป็นผู้ที่รับเคราะห์เมื่อขายให้จีนไม่ได้ และทั้งเนื่องจากกลัวการตอบโต้เอาคืนของฝ่ายจีน

ตรงกันข้ามกับถ้อยคำโวหารอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ จีนกับสหรัฐฯนั้นไม่ได้กำลังหย่าร้างแยกขาดจากกัน (decoupling) พวกเขากลับกำลัง “กลับมาครองคู่อยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง” (recoupling) ต่างหาก เพราะนอกจากจีนแล้ว สหรัฐฯไม่สามารถหาแหล่งที่มาของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคในขนาดอันใหญ่โตระดับนี้ได้ไม่ว่าจากแห่งหนอื่นใดในโลก อุตสาหกรรมในด้านการผลิตสินค้าไฮเทคของจีน ก็เป็นผู้ครอบงำตลาดอย่างสำคัญยิ่งจนกระทั่งพวกบริษัทอเมริกันที่เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบต่างๆ ไม่สามารถที่จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูได้เลย ถ้าหากไม่อาจเข้าถึงตลาดจีนได้

อินเทล ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯต้องยอมพลิกผันผ่อนปรนนโยบายควบคุมการส่งออกไปจากจีน เคยมีฐานะเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทประกาศว่าอาจจะถอนตัวออกจากเรื่องการผลิตชิปไปเลย ภายหลังล้มเหลวไม่สามารถทำตามเป้าหมายในเรื่องการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ –ทั้งๆ ที่ชิปขนาดนี้ถือว่าล้าหลังกว่า 1 รุ่นจากพวกชิปรุ่นซึ่งทำงานได้รวดเร็วที่สุดและทรงพลังที่สุด ที่ผลิตกันอยู่ในไต้หวันและเกาหลีใต้เวลานี้

จีนยังไม่ได้ใส่ชื่อบริษัทแห่งใดเลยเอาไว้ใน “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” ของตน แต่จากตัวอย่างอันน่าสยดสยองในกรณีของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (Hong Kong and Shanghai Bank หรือ HSBC) ซึ่งหุ้นของแบงก์ยักษ์แห่งนี้ไหลรูดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีเมื่อปลายเดือนกันยายน ย่อมแสดงให้เห็นแล้วถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับพวกบริษัทตะวันตกซึ่งตกเป้าหมายในการตอบโต้แก้เผ็ดของปักกิ่ง

การหล่นฮวบของราคาหุ้น HSBC เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของโกลบอลไทมส์ทวิตข้อความว่า ธนาคารยักษ์สัญชาติอังกฤษแห่งนี้อาจกลายเป็นรายแรกที่ถูกใส่ชื่อเอาไว้ใน “รายชื่อกิจการและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” ของปักกิ่ง สืบเนื่องจากเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การจับกุม เมิ่ง หว่านโจว (Meng Wanzhou) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ที่เป็นบุตรสาวของเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีนรายนี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้คอยเฝ้าติดตามของรัฐบาลสหรัฐฯรายหนึ่งซึ่งฝังตัวอยู่ใน HSBC เป็นผู้ที่แจ้งเบาะแสให้ทางการผู้รับผิดชอบสหรัฐฯทราบว่าหัวเว่ยมีพฤติการณ์ละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งสหรัฐฯนำมาใช้เล่นงานอิหร่าน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้นั้นอยู่ที่แบงก์ใหญ่แห่งนี้ตามโปรแกรมเฝ้าติดตาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประนอมยอมความระหว่าง HSBC กับทางการสหรัฐฯสืบเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายในอดีตของทางแบงก์ อย่างไรก็ดี โปรแกรมเฝ้าติดตามนี้เป็นที่เข้าใจกันว่าได้หมดอายุสิ้นสุดลงไปแล้ว ทว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯรายนั้นกลับยังคงอยู่ที่ HSBC


กำลังโหลดความคิดเห็น