(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Shanghai takes new aim at replacing Hong Kong
by Frank Chen
17/09/2020
แผนการเดิมๆ ที่จะพลิกผันเปลี่ยนแปลงเซี่ยงไฮ้ให้กลายเป็นฮับทางการเงินระดับโลก ได้รับแรงกระตุ้นครั้งใหม่ จากการที่ฮ่องกงกำลังประสบความลำบากยุ่งยากทางการเมืองอย่างยืดเยื้อ
เซี่ยงไฮ้ - ตรงบริเวณพื้นที่ติดชายน้ำทางชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ แผนการอันทะเยอทะยานของจีนในการพลิกเปลี่ยนมหานครซึ่งมีประชากรมากที่สุดและมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของตนแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระดับโลก กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในเขตเมืองรูปวงแหวนซึ่งเกิดขึ้นจากการถมทะเล
เป็นที่คาดหมายกันว่าปักกิ่งจะผ่อนคลายความจำกัดเข้มงวดของตนในเรื่องการไหลเข้าออกของเงินทุนและเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ภายในพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า “เขตการค้าเสรีหลินกั่ง (Lingang free trade zone) อันเป็นพื้นที่พิเศษซึ่งจัดวางให้เป็นฮับของพวกอุตสาหกรรมก้าวหน้า ตั้งแต่ปี 2019 หลินกังได้ถูกรวมเข้าไปอยู่ในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai free trade zone) ที่จัดตั้งขึ้นมาได้ 7 ปีแล้ว
นอกเหนือจากใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำกว่า และมีพื้นที่ศุลกากรในแบบปลอดภาษีแล้ว หลินกั่งยังจะอนุญาตให้เข้าถึง กูเกิล และ ทวิตเตอร์ อย่างเสรีไร้ข้อจำกัด รวมทั้งสามารถที่จะโยกย้ายโอนเงินระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น เหล่านี้เป็นเสรีภาพชนิดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีกันในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่ปักกิ่งวาดหวังว่ามันจะกระตุ้นให้มีการลงทุนของต่างประเทศเข้าสู่เมืองหลวงทางการพาณิชย์และทางการเงินของตนแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น
ตามแผนการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนั้น ไม่ได้เพียงแค่มุ่งหมายให้เซี่ยงไฮ้สามารถกลายเป็นคู่แข่งของนิวยอร์กและลอนดอนในฐานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกเท่านั้น หากยังต้องการที่จะช่วงชิงเอาธุรกิจมาจากศูนย์กลางแห่งเดิมๆ เหล่านี้อีกด้วย นอกจากนั้นแล้วนี่ยังเป็นความมุ่งมาดปรารถนาซึ่งเกี่ยวข้องอย่างเต็มๆ กับความป่วยไข้ทางสังคมและทางการเมืองของฮ่องกง ตลอดจนการที่เวลานี้มีลมต้านเชิงภูมิยุทธศาสตร์ระดับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พัดปะทะเข้าใส่ประเทศจีน
ในเอกสารพิมพ์เขียวทางนโยบายฉบับหนึ่งที่มีการเปิดเผยออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2013 และได้รับการทบทวนแก้ไขเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยเป้าหมายที่จะผ่อนปรนทางด้านนโยบายมากยิ่งขึ้นไปอีก ปักกิ่งแสดงความประสงค์ให้นครซึ่งมีประชากรมากที่สุดของจีนแห่งนี้กลายเป็นฮับทางการเงินระดับโลกที่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ภายในปี 2035 โดยที่จะมีตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในด้านราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาด, มูลค่าของการซื้อขายรายวัน, และปริมาณของหุ้นที่นำออกมาเสนอขาย
“ถ้าหากเซี่ยงไฮ้สามารถพุ่งแรงขึ้นไปสู่แถวหน้าๆ โดยที่ตัววัดต่างๆ ทั้งหมดต่างบรรลุถึงระดับระหว่างประเทศแล้ว บริษัทจีนทั้งหลายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องแสวงหาทางเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ...กระทั่งการไหลของเงินทุนอาจจะเลี้ยวกลับสู่ทิศตรงกันข้ามก็เป็นไปได้ โดยที่พวกบริษัทตะวันตกหันมาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นกันในเซี่ยงไฮ้” นี่เป็นข้อความในบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเสนอวิสัยทัศน์แบบเร่งกระตุ้นกันเต็มที่ในเรื่องความมุ่งมาดปรารถนาไปสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของนครแห่งนี้
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดหวังจะได้รับมาในอนาคตของเซี่ยงไฮ้เช่นนี้ ดูเหมือนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาการบาดเจ็บทางสังคม-การเมืองของฮ่องกง ขณะที่อดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ยังอยู่ในอาการโซซัดโซจากเคราะห์กรรมหนัก 2 ทับ 2 ซ้อนทั้งโควิด-19 และการประท้วงซึ่งยังคงคุกรุ่นตลอดจนความไม่สงบทางสังคมอันเชื่อมโยงอยู่กับการที่ปักกิ่งประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเข้มงวดรุนแรงกับฮ่องกงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ถึงแม้เวลานี้ปักกิ่งยังคงให้คุณค่าแก่บทบาทของฮ่องกง ในการเป็นช่องทางสำหรับการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ แต่จากภาวะวุ่นวายปั่นป่วนอย่างยั่งยืนของนครแห่งนี้ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการปลดริบอภิสิทธ์ต่างๆ ทางการค้าที่เมื่อก่อนฮ่องกงเคยได้รับอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การที่ทางการดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง เหล่านี้กำลังทำให้เราได้เห็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้ปกครองแดนมังกร ยิ่งเพิ่มความยายามลงทุนลงแรงมากขึ้นอีกในการทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นฮับทางธุรกิจระดับโลกในอนาคตขึ้นมา
จังหวะเวลาที่ปักกิ่งกลับมาเน้นย้ำสนับสนุนเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง บังเกิดขึ้นในขณะที่พวกนักลงทุนทั่วโลกเริ่มต้นตั้งคำถามฉกรรจ์ๆ ว่า ฮ่องกงสามารถที่จะยืนหยัดดำรงความเป็นฮับทางการเงินแห่งสำคัญยิ่งกว่าใครๆ ในเอเชียเอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่ พร้อมๆ กันนั้นเอง การพาณิชย์และธุรกิจส่วนมากในเซี่ยงไฮ้ตลอดจนทั่วทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ยังได้หวนกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนหน้าโควิดกันได้แล้วอีกด้วย
แน่นอนทีเดียวว่า การขับดันเพื่อสถาปนาเซี่ยงไฮ้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สามารถแข่งขันกับใครๆ ได้นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย และพวกนักลงทุนซึ่งกังวลในเรื่องเกี่ยวกับหลักนิติธรรมก็ยังคงพยายามบีบคั้น ถึงแม้ยังคงไม่มีสัญญาณใดๆ ปรากฏให้เห็นว่าปักกิ่งมีเจตนาที่จะสร้างเขตพื้นที่ซึ่งใช้กฎหมายจารีตประเพณี (common law) หรือกลไกอนุญาโตตุลาการที่มีอิสระ ในการจัดการแก้ไขข้อพิพาททางการพษริชย์ต่างๆ ขึ้นมาที่เซี่ยงไฮ้ แบบเดียวกับที่มีอยู่ในสิงคโปร์
ปักกิ่งได้เริ่มเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเซี่ยงไฮ้นี้ขึ้นมาให้อภิปรายถกเถียงกันครั้งแรกเมื่อตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำระดับชาติในเวลานั้น เดินทางเยือนมหานครแห่งนี้ในปี 1992 จากนั้นผู้นำต่อๆ มา ทั้ง เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา ต่างเน้นย้ำถึงศักยภาพของนครแห่งนี้ ขณะที่พวกเขาประกาศใช้นโยบายต่างๆ เพื่อเร่งรัดการปฏิรูปภาคการเงินและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
แผนการแรกในการหนุนส่งความปรารถนาที่จะเป็นฮับทางการเงินของเซี่ยงไฮ้อย่างชนิดเป็นแผนการรูปธรรมจับต้องได้นั้น ได้รับการประกาศใช้ในปี 2009 ทว่ายังคงมีจุดมุ่งหมายที่จะธำรงรักษาลักษณะเฉพาะของจีนในกิจการทางการเมืองและทางกฎหมายเอาไว้ให้ได้มากที่สุด –ถ้าไม่ใช่เอาไว้ให้ได้ทั้งหมด— แล้วจากนั้นก็มีการขยับก้าวเดินต่อไปอีกจนกระทั่งมีการประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ขึ้นในปี 2013
อย่างไรก็ดี สามารถที่จะกล่าวได้ว่าในจังหวะเวลานี้แหละที่จีนจะได้รับผลประโยชน์อย่างสูงสุดชนิดที่คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยในช่วงก่อนหน้านี้ ถ้าหากปักใจดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความทะเยอทะยานที่มีการโน้มน้าวชักชวนกันอยู่บ่อยครั้งของตนเองนี้
ด้วยมูลค่าการซื้อขายหุ้นในตลาดที่เฉลี่ยอยู่ในระดับวันละ 400,000 ล้านหยวน (7,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และยอดมูลค่ารวมตามราคาตลาดอยู่ที่ 35.6 ล้านล้านหยวน (679.49 ล้านดอลลาร์) เซี่ยงไฮ้จัดว่ายังคงล้าหลังฮ่องกงนักหนา
ณ เดือนสิงหาคม มูลค่าเฉลี่ยการซื้อขายหุ้นรายวันของฮ่องกงอยู่ที่ 17,300 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้น 56% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนมูลค่ารวมตามราคาตลาดก็ทะลุขีด 5.46 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่นครแห่งนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเมืองไม่ขาดสายในระยะหลังๆ มานี้
แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเซี่ยงไฮ้นั้นกำลังเติบใหญ่เฟื่องฟู ด้วยอัตราขยายตัวระดับ 6% ในปี 2019 ทำให้ยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขึ้นไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านหยวน (556,600 ล้านดอลลาร์) มหานครซึ่งมีประชากรมากกว่า 25 ล้านคนแห่งนี้จึงกำลังนำหน้านครอื่นๆ ของจีนในเรื่องยอดรวมผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปี และเมื่อวัดกันในระดับภูมิภาคแถบนี้ของโลกแล้ว ก็เพียงแค่ตามหลังเพื่อนบ้านอย่าง โตเกียว และ โซล เท่านั้น
เซี่ยงไฮ้ที่กำลังเติบโตอย่างพรวดพราด ย่อมตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับฮ่องกงซึ่งฐานะความสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศจีนกลับกำลังเสื่อมทรุดลงไปเรื่อยๆ โดยที่ฝ่ายแรกสามารถแซงหน้าฝ่ายหลังไปแล้วในเรื่องยอดรวมจีดีพีตั้งแต่เมื่อปี 2010 ด้วยซ้ำ
ส่วนแบ่งของฮ่องกงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจีนโดยรวมได้หดลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่หลุดออกจากการปกครองของอังอกฤษในปี 1997 โดยที่ตอนนั้นเศรษฐกิจของนครแห่งนี้ยังมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 23% ของจีดีพีของจีน หลังจากถูกโอบล้อมด้วยระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งการเติบโตขยายตัวชนิดระเบิดระเบ่อของเศรษฐกิจบนแผ่นดินใหญ่ เวลานี้ฮ่องกงจึงคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของจีดีพีโดยรวมของจีนในปี 2019
แน่นอนทีเดียวการเปรียบเทียบในเชิงสถิติเช่นนี้ มองข้ามการผงาดขึ้นมาอย่างว่องไวของเมืองเพื่อนบ้านของฮ่องกงอย่างนครเซินเจิ้น และพื้นที่วงกว้างออกไปอย่างนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง โดยที่ถ้ารวมเมืองเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว (เมืองเหล่านี้รวมอยู่ในเขตที่ใช้ชื่อว่า กว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) ก็จะยังคงเลยหน้าเซี่ยงไฮ้ในเรื่องตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม
ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของปักกิ่งที่จะต้องเปลี่ยนเซี่ยงไฮ้ให้กลายเป็นฮ่องกงในเวอร์ชั่นซึ่งโอนอ่อนเชื่อฟังมากขึ้น กล่าวคือการนำเอาอิสรเสรีภาพทางการเงิน, การค้า, และธุรกิจทุกๆ อย่างซึ่งเมืองท่าเสรีและศูนย์กลางทางการเงินเสรีพึงต้องมี มาวางทาบอยู่บนระบบการเมืองและกฎหมายที่จำกัดบีบรัดของจีนนั้น เป็นเรื่องที่จะใช้การได้อย่างเป็นมรรคเป็นผลจริงๆ หรือไม่
แน่นอนล่ะ เซี่ยงไฮ้เองได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินภายในจีนเองมายาวนานแล้ว โดยมีฐานะเสมือนเป็น “นครเมกกะ” สำหรับการระดมทุนและการทำธุรกรรมภายในประเทศให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โตกว้างขวางยิ่งและกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ของประเทศจีน นี่เป็นข้อสังเกตของอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้หนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งขอให้สงวนนาม
“เราได้รับการบอกกล่าวให้เขียนอะไรดีขึ้นไปนิดหน่อย ในรายงานของเราที่ส่งให้แก่พวกเจ้าหน้าที่เซี่ยงไฮ้และพวกเจ้าหน้าที่รัฐ ในเรื่องว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันของเมืองนี้ในฐานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน” เป็นคำบอกเล่าของนักวิชาการผู้นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการจำนวนมากที่ให้คำเสนอแนะต่างๆ ในทางนโยบายแก่ทางเจ้าหน้าที่ของนครและของรัฐเกี่ยวกับประเด็นทางยุทธศาสตร์ประเด็นหลักๆ
“เซี่ยงไฮ้ได้สร้างฮาร์ดแวร์ขึ้นมาแล้ว, ยกเลิกพวกเครื่องกีดขวางต่างๆ, และสามารถขีดเครื่องหมายถูกหน้าหัวข้อต่างๆ ในเรื่องการปฏิรูปทั้งหลายซึ่งอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของทางนครเอง
ตอนนี้ มันจึงถึงทีของฝ่ายส่วนกลางในปักกิ่งแล้ว ที่จะต้องลงมือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาซึ่งมีเยอะแยะมากมายเหลือเกินของตน ทั้งการเปิดเสรีกันอย่างเป็นมีสาระสำคัญในเรื่องกระแสการไหลเวียนของเงินทุน และเรื่องการเข้าถึงตลาด เพื่อที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพความสามารถอันเต็มที่ของเซี่ยงไฮ้ออกมาได้” นักวิชาการผู้นี้บอก
“ถ้าหากปักกิ่งยังไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางอย่างที่ว่า เซี่ยงไฮ้ก็จะยังคงอยู่ในสภาพอ่อนแอหมดกำลังเนื่องจากข้อจำกัดบีบรัดต่างๆ ของนโยบาย” เขากล่าวต่อ
พวกผู้สังเกตการณ์และพวกนักลงทุนต่างกล่าวว่า การที่ปักกิ่งใช้มาตรการควบคุมบัญชีเงินทุนอย่างเข้มงวด, การที่สกุลเงินตราเหรินหมินปี้ของจีนยังคงไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลอื่นๆ ได้อย่างเสรี, ระบบภาษีที่ซับซ้อนและไม่แน่ไม่นอน, สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและทางการเมืองที่คลุมเครือไร้ความชัดเจน เหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องกีดขวางในการทำให้ “เมืองหลวงแห่งเงินทุน” ของประเทศจีนแห่งนี้ เข้าสู่ความเป็นตลาดทางการเงินระดับโลกอย่างถูกต้องชอบธรรมขึ้นมา
ถึงแม้ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการสำหรับเป้าหมายเช่นนี้ ทว่ากลับยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายรัฐบาลกำลังเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะทำให้ความทะเยอทะยานซึ่งวาดหวังไว้กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้หรือไม่ ผู้สังเกตการณ์บางรายบอก อย่างไรก็ตาม ดังที่ หลิว เสี่ยวปั๋ว (Liu Xiaobo) อดีตนักข่าวของสำนักข่าวซินหัว และเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักวิจารณ์ทางสื่อในเรื่องข่าวการเงิน ให้ความเห็นเอาไว้ว่า เหตุการณ์อลหม่านวุ่นวายเมื่อเร็วๆ นี้ในฮ่องกง กำลังเป็นตัวกระตุ้นให้ปักกิ่งเร่งรัดการพลิกตัวเปลี่ยนแปลงของเซี่ยงไฮ้
“ความไม่สงบที่ยังคงยืดเยื้อเรื่อยมาจนถึงเวลานี้ กลายเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนฮ่องกงไม่ได้หยุดหย่อน และปฏิกิริยาทางลบจากทั่วโลกที่คัดค้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับดินแดนแห่งนี้ของปักกิ่ง ก็ทำให้เกิดความสงสัยข้องใจในเรื่องความสามารถที่จะประคับประคองอย่างต่อเนื่องของฮ่องกงเพื่อให้ฐานะการเป็นฮับทางการเงินยังคงเดินหน้าต่อไปได้” เขาบอกกับเอเชียไทมส์ “ด้วยเหตุนี้ ปักกิ่งจึงกำลังปักหมุดแห่งความหวังเอาไว้ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งชาวบ้านชาวเมืองมีความรักชาติและความเชื่อฟัง (ในรัฐบาล) มากกว่ากันนักหนา เพื่อให้เป็นทางเลือกที่อาจเป็นไปได้อีกทางเลือกหนึ่ง”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ขณะที่จีนยังคงเผชิญกับช่วงรุนแรงสุดๆ ของโรคติดต่อโควิด-19 อยู่นั้น รัฐบาลจีนก็ได้ออกคำชี้แนะฉบับใหม่เรียกร้องให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมและการเปิดเสรีอย่างกว้างขวางของเซี่ยงไฮ้
เรื่องนี้รวมไปถึงแผนการระดับชาติต่างๆ ซึ่งอาจจะอนุญาตให้พวกนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาจัดตั้ง, ควบคุม, และเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด ทั้งในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งดำเนินการเปิดเสรีโดยผ่อนคลายพวกกฎระเบียบเกี่ยวกับการถือหุ้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้าควบคุมหุ้นเอาไว้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของกิจการนั้นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อก่อนหน้านี้ของปีนี้ ปักกิ่งยังประกาศจะ “ค่อยๆ ขยายแถบความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่เงินเหรินหมินปี้ในการไหลออกไปนอกประเทศและในการแลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลอื่นๆ
แต่เรื่องเช่นนี้น่าจะยังไม่สามารถดำเนินการได้จริงๆ หรอก หากปราศจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการสกัดกั้นข่าวต่างๆ ที่ใช้บังคับกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการที่นักลงทุนจะทำการวิเคราะห์ตลาดจีนและบริษัทแห่งต่างๆ ของจีน ดังนั้นเองจึงมีการพูดจาอภิปรายกันถึงแผนการที่จะยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตภายในเขตหลินกั่ง
ในตอนที่ กง เจิ้ง (Gong Zheng) ซึ่งได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีของเซี่ยงไฮ้มาหมาดๆ ถูกพวกผู้สื่อข่าวสอบถามเมื่อไม่นานมานี้ว่า เรื่องการทำธุรกรรมทางด้านเงินทุนและการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารจะได้รับการเปิดเสรีภายในเขตพิเศษหลินกั่งหรือไม่ เขาตอบว่า “คุณสามารถคาดหวังมากยิ่งไปกว่านั้นอีก”
หากเป็นเช่นนั้นจริง ปักกิ่งก็น่าจะกำลังเริ่มการยกเลิกนโยบายเดิมๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และยังทำให้เพิ่มลู่ทางความหวังที่ว่านโยบายใหม่ๆ เช่นนี้ในที่สุดแล้วก็อาจถูกนำมาใช้ในเขตพื้นที่เมืองใหญ่แห่งอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นต้นว่า เขตผู่ตง ของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะช่วยให้มหานครแห่งนี้ยิ่งขยับเข้าใกล้ที่จะทัดเทียมกับนครอื่นๆ ของโลกในเรื่องการเงินและการค้า
หลินกั่ง ซึ่งกำลังถูกจับตามองอย่างกว้างขวางว่าเป็นความเคลื่อนไหวของจีนในการเลียนแบบสร้างตลาดเสรีระดับมินิฮ่องกงขึ้นมา ตั้งอยู่บริเวณติ่งปลายสุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเซี่ยงไฮ้ และอยู่ติดต่อกับ “หยางซาน” (Yangshan) ท่าเรือขนถ่ายสินค้าคอนเทนเนอร์น้ำลึกของนครแห่งนี้ ซึ่งมีฐานะเป็นเขตธุรกิจและการค้าที่มีความเสรีที่สุดของประเทศจีน โดยถูกรบกวนในเรื่องภาษีศุลกากรต่ำที่สุด
คำถามใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าจีนมีความปรารถนามากน้อยแค่ไหนที่จะเปิดกว้างภาคการเงินภายในประเทศของตนให้แก่เงินทุนและการลงทุนของต่างประเทศ อย่างที่ทั้งสหรัฐฯและพวกประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้พยายามเรียกร้องผลักดันเรื่อยมา
เมื่อเดือนมิถุนายน รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้เจรจาของฝ่ายปักกิ่งในการเจรจาทางการค้ากับวอชิงตัน ได้บอกกับเวทีประชุมทางการเงินลี่ว์เจียสุ่ย (Lujiazui Financial Forum) ในเซี่ยงไฮ้ ว่า นครแห่งนี้จะเดินหน้าไปไกลจนถึงขนาดประยุกต์ใช้หลักการต่างๆ ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯเรียกร้องสนับสนุน เป็นต้นว่า การค้ำประกันให้ต่างชาติสามารถเข้าถึงภาคการเงินและการค้าได้อย่างเต็มที่ นอกจากในกรณีที่ถูกระบุเอาไว้เป็นพิเศษในระบบบัญชีรายชื่อข้อยกเว้นเท่านั้น
วอชิงตันได้แสดงท่าทีมายาวนานแล้วว่าสนับสนุนกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ระบุให้บรรดาประเทศสมาชิกทั้งหมดประกาศระบบบัญชีรายชื่อข้อยกเว้น ซึ่งจะบอกว่าภาคเศรษฐกิจเฉพาะเจาะจงภาคใดบ้างมีข้อจำกัดอย่างไรเกี่ยวกับการให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์และทำการลงทุน โดยที่จีนเองกำลังค่อยๆ ลดรายการในบัญชีนี้ลงมา ดังที่อุตสาหกรรมประกันภัยได้ถูกเปิดเสรีแล้วเมื่อปี 2019 ขณะที่การบริหารจัดการสินทรัพย์จะได้รับการเปิดเสรีในปี 2020 นี้
หลิวกล่าวต่อไปว่า จากการที่ประธานาธิบดีสี –ผู้เคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเมืองเซี่ยงไฮ้มาก่อน— กำลังผลักดันให้ปฏิรูปเพื่อเปิดเสรีในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางเช่นนี้ บรรดานักลงทุนต่างประเทศทั้งหลายจึงอาจคาดหมายได้ว่าบัญชีรายชื่อข้อยกเว้นนี้จะลดน้อยลงต่อไปอีก โดยที่คาดกันว่าในเร็วๆ นี้ปักกิ่งจะอนุญาตให้พวกแบงก์ต่างประเทศเปิดให้บริการด้านต่างๆ อย่างเต็มที่แก่พวกลูกค้ารายบุคคลในนครเซี่ยงไฮ้
ในฉบับล่าสุดของ รายงานดัชนีศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลก (Global Financial Centers Index Report) ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของศูนย์กลางทางการเงินแห่งต่างๆ โดยอิงอยู่กับเกณฑ์วัดต่างๆ รวมกว่า 29,000 เกณฑ์นั้น ปรากฏว่าเซี่ยงไฮ้ได้กระโจนแซงหน้าสิงคโปร์และฮ่องกง เข้าป้ายมาอยู่อันดับ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับฮับทางการเงินสำคัญแห่งต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ฮ่องกงซึ่งเผชิญกับการประท้วงไม่ขาดสายนั้น ดัชนีระบุว่าได้หล่นลงมาอยู่อันดับ 6 จากที่ก่อนหน้านี้เคยครองอันดับ 2
รายงานซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ร่วมกันโดย ซี/เยน พาร์ตเนอรส์ (Z/Yen Partners) ในสหราชอาณาจักร และสถาบันการพัฒนาประเทศจีน (China Development Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของทางการแดนมังกรนี้ มุ่งให้น้ำหนักผลงานของนครต่างๆ ใน 5 ด้านสำคัญๆ ได้แก่ การพัฒนาของภาคการเงิน, สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ, ทุนมนุษย์, โครงสร้างพื้นฐาน, และชื่อเสียงเกียรติภูมิ
การได้รับความยอมรับเช่นนี้ถือเป็นการเพิ่มพูนยกระดับขวัญกำลังใจกันในระดับหนึ่งให้แก่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งแท้ที่จริงได้เคยมีฐานะเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์อย่างชนิดไร้ข้อโต้แย้งของภูมิภาคที่เคยเรียกขานกันว่าภาคตะวันออกไกล (Far East) ในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่ฮ่องกงและสิงคโปร์จะได้เห็นการผงาดขึ้นมาตามลำดับของพวกเขาเอง
ขณะที่ปักกิ่งเวลานี้ได้ชื่อว่าพยายามหาทางสถาปนาเซี่ยงไฮ้ให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองทางการพาณิชย์ในอดีตอยู่นั้น ปรากฏว่าเครื่องกีดขวางจำนวนมากต่อการกลับผงาดขึ้นมาของนครแห่งนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ โดยสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าเครื่องกีดขวางอย่างอื่นๆ ก็ได้แก่การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความลังเลอย่างฝังแน่น ในเรื่องการเปิดให้นครแห่งนี้และภาคการเงินของนคร มีการไหลเข้าออกได้อย่างเสรีจริงๆ