(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Did the US just concede defeat in China tech war?
By DAVID P. GOLDMAN
26/01/2020
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯยกธงขาวละทิ้งความพยายามที่จะออกกฎระเบียบเพิ่มการคุมเข้มในเรื่องการส่งส่วนประกอบไปให้แก่หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพิ่งละทิ้งความพยายามที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ในการออกกฎระเบียบซึ่งเพิ่มการคุมเข้มพวกบริษัทสหรัฐฯที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายให้หัวเว่ย บริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติของจีนในด้านเทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และเป็นผู้นำของโลกในด้านอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต 5จี
วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) รายงานเอาไว้ในเช้าวันนี้ (26 ม.ค.) ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้ขัดขวางแผนเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านการส่งออก ซึ่งจะห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯใดๆ ขายส่วนประกอบทั้งหลายให้แก่หัวเว่ยจากกิจการในเครือที่อยู่ในต่างประเทศของพวกตน ถ้าหากคอนเทนต์เนื้อในของอุปกรณ์นั้นๆ เป็นสิ่งที่มาจากเทคโนโลยีสหรัฐฯตั้งแต่ 10% ขึ้นไป มีรายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้หนุนหลังการคัดค้านทัดทานของเพนตากอนคราวนี้
ในข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เดลี่เทเลกราฟ (Daily Telegraph) ของอังกฤษรายงานในวันที่ 25 มกราคมว่า สหรัฐฯได้ถอยหลังออกห่างจากคำข่มขู่คุกคามก่อนหน้านี้ที่จะละทิ้งการทำข้อตกลงการค้ากับอังกฤษ ถ้าคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยินยอมให้หัวเว่ยเข้าร่วมสร้างเครือข่าย 5 จีของอังกฤษแม้เพียงบางส่วน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.telegraph.co.uk/news/2020/01/25/trump-appears-scale-back-threats-scuppering-trade-deal-britain/)
สหรัฐฯนั้นเรียกร้องโดยผ่านการแถลงต่อสาธารณชนอย่างเอะอะเกรียวกราวมาครั้งแล้วครั้งเล่า ให้อังกฤษตัดชื่อไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมอย่างสิ้นเชิง กระทั่งระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจอห์นสันกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ถกเถียงหารือกันในประเด็นปัญหานี้
รัฐมนตรีคลัง สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) ของอเมริกา ก็ดูเหมือนกำลังหันเหออกมาจากจุดยืนแต่เดิมของสหรัฐฯ เมื่อเขาไปบอกกับพวกผู้ฟัง ณ ราชสถาบันกิจการระหว่างประเทศ (Royal Institute of International Affairs) ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 มกราคมว่า สหรัฐฯอาจไม่คัดค้านที่หัวเว่ยจะเข้าร่วมในบางส่วนของเครือข่าย 5จี ของอังกฤษ มนูชินพูดว่า “ส่วนไหนของเครือข่ายที่ (5จี ของหัวเว่ย) จะเข้าร่วมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ” ทั้งนี้ตามข้อความทางทวิตเตอร์ที่โพสต์โดย โรบิน ไนเบลตต์ (Robin Niblett) ผู้อำนวยการของราชสถาบันแห่งนี้ “คณะบริหารทรัมป์กำลังมอบเศษเสี้ยวหนึ่งของการยักย้ายหลีกหลบ (a sliver of manoeuvre) ให้แก่ บี จอห์นสัน หรือ?” ทวิตของไนเบลตต์กล่าวต่อ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/RobinNiblett/status/1221128162555375617?ref_src=twsrc%255Egoogle%257Ctwcamp%255Enews%257Ctwgr%255Etweet)
คำประกาศของมนูชินดูจะเป็นการสะท้อนจุดยืนของรัฐบาลจอห์นสัน ที่ว่าอังกฤษสามารถรับมือจัดการกับภัยคุกคามความมั่นคงใดๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากหัวเว่ย ตราบเท่าที่จำกัดให้บริษัทยักษ์ใหญ่จีนแห่งนี้ได้เข้าร่วมแค่เพียงส่วนซึ่ง “ไม่ใช่แกนกลาง” ของเครือข่าย 5จี ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว การศึกษาที่จัดทำโดยหน่วยข่าวกรองด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของอังกฤษก็มีข้อสรุปว่า ปัญหาความมั่นคงใดๆ ซึ่งคาดกันว่าอาจจะเกิดขึ้นมาจากหัวเว่ยนั้นเป็นเรื่องที่สามารถรับมือจัดการได้
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของหัวเว่ยเคยบอกกับผมว่า “คณะกรรมการกำกับตรวจสอบ (Oversight Board) ศูนย์กลางประเมินผลด้านความมั่นคง (ทางไซเบอร์ของหัวเว่ย) (Huawei Cyber)(Security Evaluation Centre ใช้อักษรย่อว่า HCSEC) ตรวจดูซอร์สโคด (source code) กันจนเหนื่อยอ่อน และชี้ให้เห็นวิธีการบางอย่างที่เราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาทำประโยชน์ให้แก่พวกเราอย่างมหาศาลด้วยซ้ำ จากการเรียกร้องให้ใส่ใจกับสถาปัตยธรรมที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ เราได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการปรับปรุงเรื่องซอฟต์แวร์นี้ และเรามีความเชื่อมั่นว่าเราจะสร้างความสบายใจคลี่คลายความกังวลสนใจด้านความปลอดภัยของทางอังกฤษได้”
พวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกออกแบบชิปนั้น ขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเกินกว่าครึ่งไปมากมายกันในเอเชีย แต่เวลานี้ศักยภาพด้านการออกแบบชิปและด้านโรงงานผลิตชิปของจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยความสนับสนุนทางการเงินอย่างไม่มีอั้นจากปักกิ่ง ขณะที่พวกบริษัทสหรัฐฯหวาดกลัวว่าหัวเว่ยและบริษัทจีนรายอื่นๆ จะตอบโต้แก้เผ็ดต่อมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศสงครามตัดราคาสำหรับพวกชิปไฮ-เอน ซึ่งบรรดาสมาร์ตโฟนและเซิร์ฟเวอร์ระดับทรงพลังมากๆ กำลังใช้กันอยู่ การที่เพนตากอนและกระทรวงการคลังสหรัฐฯคัดค้านเรื่องการควบคุมการส่งออกตามที่ได้พยายามเสนอกันมานานเช่นนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าดุลแห่งอำนาจในอุตสาหกรรมชิปทั่วโลกได้หันเหเอนเอียงไปทางข้างที่จีนเป็นผู้ได้เปรียบเสียแล้ว
รายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัลบอกว่า: “พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพิ่งถอนร่างกฎระเบียบตามที่เสนอกันเอาไว้ซึ่งจะทำให้เหล่าบริษัทสหรัฐฯขายผลิตภัณฑ์จากพวกกิจการในต่างแดนของพวกเขาให้แก่หัวเว่ยได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ภายหลังเจอการคัดค้านจากกระทรวงกลาโหมตลอดจนกระทรวงการคลัง ผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้เปิดเผย เพนตากอนนั้นเป็นห่วงว่าหากเหล่าบริษัทสหรัฐฯยังคงไม่สามารถส่งสินค้าออกไปให้หัวเว่ยแล้ว พวกเขาก็จะสูญเสียแหล่งรายรับที่สำคัญไปแหล่งหนึ่ง –อันเป็นการตัดทอนเงินทองซึ่งพวกเขาจะนำไปใช้สำหรับการวิจัยและการพัฒนาที่สำหรับในการธำรงรักษาความได้เปรียบในทางเทคโนโลยี ผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าว”
นี่ดูเหมือนกับเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามเทคสหรัฐฯ-จีน ซึ่งเมื่อมองกันในระยะยาวแล้วจะมีความสำคัญยิ่งกว่าสงครามการค้ามากมายนัก จีนนั้นเสาะแสวงหาทางที่จะเข้าครอบงำสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ 5จี และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ เอไอ) จีนกำลังลงทุนอย่างมโหฬารในแผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของตนเพื่อก้าวกระโดดให้ทิ้งห่างฝ่ายตะวันตกในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ขณะที่ความสนับสนุนของสหรัฐฯสำหรับการวิจัยและการพัฒนาพื้นฐานนั้น เมื่อวัดกันเป็นอัตราส่วนของจีดีพีแล้ว จะอยู่ในระดับแค่เพียงครึ่งเดียวของยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเท่านั้น
เมื่อเดือนเมษายน 2018 สหรัฐฯเคยสั่งแบนการส่งออกชิปไปให้แก่ แซดทีอี บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสัญชาติจีน เพื่อเป็นการตอบโต้ที่บริษัทแห่งนี้ละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน เรื่องนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้น แซดทีอี ทำท่าจะต้องปิดกิจการ จนกระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์เจรจาต่อรองให้บริษัทนี้ต้องยอมจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาล รวมทั้งยอมรับเงื่อนไขการตรวจสอบหลายๆ ประการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งชิปให้อีกคำรบหนึ่ง อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปอีกเพียง 4 เดือน เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2018 หัวเว่ยก็ประกาศว่าสามารถทำชิปเซต “คิริน” (Kirin) สำหรับใช้ในสมาร์ตโฟน โดยอวดว่ามีการทำงานที่ดีกว่าผลิตภํณฑ์ชั้นนำในตลาดของควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทชิปอเมริกันอีกด้วย ในเดือนธันวาคม 2019 หัวเว่ยเริ่มต้นส่งสมาร์ตโฟนรุ่นที่ไม่มีส่วนประกอบใดๆ จากสหรัฐฯเลยออกสู่ตลาด ขณะที่บริษัทได้จัดส่งสถานีฐานระบบ 5จี ไปให้ลูกค้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 แล้ว โดยเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งปราศจากส่วนประกอบทำในสหรัฐเลยเช่นกัน
ในเดือนพฤษภาคม 2019 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศใส่ชื่อหัวเว่ยเอาไว้ใน “บัญชีรายชื่อบุคคลและบริษัท” (entity list) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษเสียก่อน บริษัทสหรัฐฯจึงจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ได้ แต่ก็อย่างที่ นิกเคอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) รายงานเอาไว้ในข่าวปกเมื่อเดือนธันวาคม 2019 นั่นแหละ หัวเว่ยได้เริ่ม “ระดมหาพวกซัปพลายเออร์ชาวเอเชียสำหรับรองรับการผลิตที่กำลังพุ่งพรวดขึ้นไป” และเรื่องนี้กำลังนำไปสู่ “การหย่าร้างแยกขาดจากเทคโนโลยีสหรัฐฯ” พวกบริษัทไต้หวันซึ่งเท่าที่ผ่านมาเป็นปีๆ ได้เคยวอนขอธุรกิจจากหัวเว่ย เวลานี้ก็กำลังได้รับออร์เดอร์ท่วมท้น ไต้หวันถือเป็นโรงงานผลิตชิปชั้นเยี่ยมที่สุดของโลก และหัวเว่ยก็กำลังพึ่งพาอาศัยการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันอย่างหนัก –อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ เวลาเดียวกัน จีนได้ว่าจ้างวิศวกรชิปชาวไต้หวัน 3,000 คนโดยจ่ายค่าแรงให้มากกว่าที่เก่าอีกเท่าตัว เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปขึ้นในแผ่นดินใหญ่
ความพยายามอย่างอื่นๆ ของสหรัฐฯที่จะกีดกันตัดขาดไม่ให่หัวเว่ยเข้าถึงเทคโนโลยีด้านชิปก็ล้วนแต่ประสบความล้มเหลว บริษัทจีนแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีออกแบบชิปจากบริษัทเออาร์เอ็ม (ARM) ของอังกฤษ ซึ่งมีบริษัทซอฟต์แบงก์ (Softbank) ของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ ในเดือนตุลาคม 2019 เออาร์เอ็มประกาศว่าการส่งออกของตนไปให้แก่หัวเว่ยนั้นไม่ได้ละเมิดกฎระเบียบของสหรัฐฯว่าด้วยอัตราส่วนคอนเทนต์เนื้อในแต่อย่างใด
ถึงแม้เจอกับข้อจำกัดการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2019 แถมวอชิงตันยังรณรงค์เดินสายเรียกร้องพวกประเทศตะวันตกอย่าได้ซื้อเทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย แต่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนรายนี้ยังคงทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น 20% ในระหว่างปี 2019 เพื่อเป็นการตอบโต้หลังจากความพยายามต่างๆ ก่อนหน้านี้มีอันล้มเหลวลง กระทรวงพาณิชย์อเมริกันจึงได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนข้อห้ามบริษัทสหรัฐฯส่งสินค้าผลิตในเครือข่ายต่างแดนไปขายให้หัวเว่ย จากการห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราส่วนคอนเทนต์เนื้อในของสหรัฐฯตั้งแต่ 25% ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็จะเปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 10% ขึ้นไป
เจ้าหน้าที่อาวุโสของหัวเว่ยรายหนึ่งบอกกับผมว่า ถึงแม้การถูกสหรัฐฯใช้ข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ กำลังทำให้บริษัทมีชีวิตที่ลำบากมากขึ้น แต่จีนก็กำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในเส้นทางมุ่งสู่การพึ่งตนเองในด้านชิปคอมพิวเตอร์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด การกระทำเช่นนี้จะส่งผลมากกว่าเพียงแค่ตัดลดสินค้าที่สหรัฐฯจะขายให้แก่จีนได้เท่านั้น แต่มันยังจะทำให้จีนสามารถขายตัดราคาและลดทอนอำนาจอิทธิพลของพวกบริษัทอเมริกันในตลาดชิปโลกอีกด้วย ทั้งนี้ พวกผู้ผลิตชิปสหรัฐฯนั้นต้องพึ่งพาอาศัยยอดขายในเอเชียอย่างมหาศาลเหลือเกิน