(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
UK caught up in Huawei conundrum
By Asia Times staff
15/01/2020
ขณะที่อังกฤษทำท่าตัดสินใจเริ่มระบบสื่อสาร 5จี ของตนเร็วๆ นี้ สหรัฐฯได้ส่งคณะผู้แทนที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสไปลอนดอน โดยเตือนว่าการเลือกใช้ “หัวเว่ย” อาจเป็นอันตรายต่อข้อตกลงแลกเปลี่ยนข่าวกรอง “ไฟฟ์อายส์” กับสหรัฐฯ ทว่าทั้งนายกฯและวงการข่าวกรองอังกฤษไม่ได้แสดงท่าทีอ่อนข้อยอมตาม
มองจากสายตาของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ และของแวดวงประชาคมข่าวกรองอเมริกันแล้ว นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เพิ่งก้าวลุยเข้าไปในการทะเลาะเบาะแว้งอันวุ่นวายเรื่องหัวเว่ย และผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมาอาจจะเป็นภัยคุกคามข้อตกลงแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองของกลุ่ม “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes) ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ 5 ราย ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์
ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์บีบีซีเมื่อวันอังคาร (14 ม.ค.) จอห์นสันได้ท้าทายพวกผู้คัดค้านที่เสนอแนะให้เลือกใช้ “ทางเลือกอื่น” แทนที่จะใช้พวกเทคโนโลยี 5จี ซึ่งเชื่อมโยงพัวพันกับยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนรายนี้ ในขณะที่อังกฤษกำลังเตรียมตัวจะเข้าสู่เครือข่ายติดต่อสื่อสารออนไลน์เจเนอเรชั่นหน้าซึ่งรวดเร็วสุดๆ นี้
“สาธารณชนชาวอังกฤษสมควรที่จะต้องได้เข้าถึงเทคโนโลยีดีที่สุดที่เป็นไปได้ นี่ผมกำลังพูดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอยู่นะครับ เราต้องการที่จะให้มีบรอดแบนด์ระดับกิกะบิตสำหรับทุกๆ คน” จอห์นสัน กล่าว
“คราวนี้ ถ้ามีคนออกมาคัดค้านการใช้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง พวกเขาก็ควรจะต้องบอกเราด้วยว่า ทางเลือกอื่นคืออะไร” เขาบอกกับบีบีซี
พวกเจ้าหน้าที่ในสหรัฐฯนั้นเชื่อว่า บรรดาลูกจ้างพนักงานของหัวเว่ยลงท้ายก็อาจจะสอดแนมสืบความลับให้แก่ปักกิ่ง ภายใต้กฎหมายจีนที่ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานขององค์การที่เป็นของรัฐและที่เป็นของเอกชน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.asiatimes.com/2019/12/article/fact-blurs-with-fiction-in-huaweis-global-rise/)
เนื่องจากอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มข่าวกรอง “ไฟฟ์อายส์” ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นหัวข้อที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างสูงในแวดวงการทูต โดยเฉพาะกับฝ่ายอเมริกัน
จนถึงเวลานี้ ในกลุ่มไฟฟ์อายส์ทั้ง 5 ยังมีแค่สหรัฐฯกับออสเตรเลียเท่านั้นที่สั่งห้ามไม่ให้พวกบริษัทผู้ให้บริการ 5จี ใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของหัวเว่ย ด้วยเหตุผลข้ออ้างด้านความมั่นคง
ทว่านิวซีแลนด์ได้ใส่ชื่อหัวเว่ยเป็น 1 ใน 3 ซัปพลายเออร์ 5จีที่จะได้รับการปฏิบัติเหนือรายอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่แคนาดายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ใช้บริษัทยักษ์ใหญ่จีนซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้นรายนี้หรือไม่
เมื่อปีที่แล้ว เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้น มีข้อสรุปว่าการใช้หัวเว่ยใน “ส่วนที่ไม่ใช่แกนกลาง” บางส่วนของเครือข่าย 5จี จะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ ภายหลังทางหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษมีรายงานเสนอแนะเรื่องนี้ออกมา
แต่การอภิปรายถกเถียงเรื่องบริษัทจีนรายนี้ยังคงลากยาวต่อมารวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว โดยที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเปิดเผยในวันอังคาร (14 ม.ค.) ว่า จะมีการประกาศการตัดสินใจ “เมื่อถึงเวลา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gov.uk/government/organisations/foreign-commonwealth-office)
ในการให้สัมภาษณ์ของจอห์นสันคราวนี้ เขากล่าวว่า “ขอพูดกันชัดๆ เลยนะ ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผมไม่ต้องการที่จะใส่อะไรเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะทำให้เกิดอคติต่อความมั่นคงแห่งชาติของเรา หรือความสามารถของเราในการร่วมมือกับเหล่าชาติหุ้นส่วนข่าวกรองไฟฟ์อายส์”
กระนั้น จอห์นสันก็พูดอย่างที่รายงานเอาไว้ข้างต้น เพียง 1 วันหลังจากคณะผู้แทนของสหรัฐฯคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะบริหารทรัมป์ เดินทางไปถึงกรุงลอนดอน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเกลี้ยกล่อมชักจูงให้รัฐบาลของเขาบอยคอตต์หัวเว่ย
ถึงแม้นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์จำนวนมากชี้ว่า จุดมุ่งหมายเบื้องลึกของคณะบริหารทรัมป์และประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ คือการพยายามปกป้องฐานะการเป็นผู้ครอบงำเทคโนโลยีของสหรัฐฯเอาไว้ หลังจากได้ก้าวผิดพลาดเปิดช่องให้จีนผงาดขึ้นเป็นผู้นำในเรื่อง 5จี เสียแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/11/opinion/americas-misguided-war-on-chinese-technology/ หรือในภาษาไทยคือเรื่อง อเมริกาพลาดที่เปิดศึกกับ‘เทคโนโลยีจีน’ แบบเดียวกับที่เคยผิดครั้ง‘สงครามอิรัก’ https://mgronline.com/around/detail/9620000111185)
กระนั้น วอชิงตันก็ยังไม่ลดละในการป่าวร้องแพร่กระจายความหวาดกลัวที่ว่า ปักกิ่งอาจแบล็กเมล์ประเทศต่างๆ ด้วยการชี้นำหัวเว่ยให้ปิดกั้นการสื่อสาร 5จี ถ้าหากจีนเข้าเกี่ยวข้องในการขัดแย้งสู้รบกับชาติที่เป็นปรปักษ์ ถึงแม้ทั้งรัฐบาลจีนและหัวเว่ยต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างแข็งขัน พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯเสนอหลักฐานยืนยันการกล่าวอ้างของฝ่ายตน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯคนหนึ่งในคณะผู้แทนซึ่งไปถึงลอนดอนในวันจันทร์ (13 ม.ค.) บอกกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษว่า “(การใช้หัวเว่ย) ไม่ได้ต่างอะไรกับความบ้าคลั่งหรอก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/technology/2020/jan/14/uk-rebuffs-us-presentation-on-huawei-security-risks)
แต่ตามรายงานของเดอะการ์เดียนชิ้นนี้เองระบุว่า ฝ่ายอังกฤษกลับเชื่อว่าข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย ซึ่งคณะผู้แทนชุดนี้เอามานำเสนออย่างน่าตื่นตาตื่นใจนั้น ไม่ได้บรรจุอะไรซึ่งพวกหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษเองไม่เคยเห็นไม่เคยทราบมาก่อน
การบลัฟฟ์กลับเช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายข่าวกรองอังกฤษจะไม่เปลี่ยนแปลงการประเมินด้านความมั่นคงที่ตนได้เคยเสนอไปแล้ว นั่นคือ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงซึ่งจะมีต่อพลเมืองชาวอังกฤษจากเทคโนโลยีของบริษัทจีนรายนี้ อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
การ์เดียนยังอ้างแหล่งข่าวรัฐบาลอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า “พวกเราคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว เกี่ยวกับภัยคุกคามชนิดที่วัสดุข้อมูลของสหรัฐฯสาธิตให้เห็น และก็ได้นำเอามาคาดคำนวณเอาไว้ในการวางแผนของเราเรียบร้อยแล้ว”
ขณะที่ถูกสหรัฐฯพยายามประทับตราว่าเป็นปีศาจร้าย แต่หัวเว่ยก็ยังคงสามารถเติบโตขยายตัวในเรื่อง 5จี โดยวิ่งนำหน้าชนิดที่เหล่าบริษัทคู่แข่งในโลกตะวันตกอย่างเช่น อิริคสัน หรือ โนเกีย ไม่มีทีท่าจะสามารตามทัน
ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยกัน ในจำนวนข้อตกลงทางการค้าเกี่ยวกับเครือข่ายสื่อสาร 5จี ที่หัวเว่ยทำกับคู่ค้ารายต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีกันทั้งสิ้นรวม 65 ฉบับนั้น เกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวเป็นการทำกับพวกลูกค้าชาวยุโรป ถึงแม้บริษัทถูกวอชิงตันพุ่งเป้าไล่ล่าบ่อนทำลายไม่หยุดไม่หย่อน
ในจำนวนสถานีฐานระบบ 5จี 400,000 สถานีที่หัวเว่ยขายไปได้แล้วนั้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/10/article/huawei-clicks-on-all-the-right-numbers/) ประมาณสามในสี่ทีเดียวที่จำหน่ายได้ภายหลังจากบริษัทถูกสหรัฐฯสั่งแบน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnet.com/news/huawei-ban-full-timeline-fcc-carriers-china-trump-ban-security-threat-mate-x/)
“เรามีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลอังกฤษจะพิจารณาตัดสินใจโดยอิงอยู่กับหลักฐาน โดยคัดค้านไม่ฟังข้อกล่าวหาต่างๆ ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ” วิกเตอร์ จาง (Victor Zhang) รองประธานบริหารของหัวเว่ย ระบุเอาไว้ในคำแถลงฉบับหนึ่ง “เราเฝ้ารอคอยโอกาสที่จะได้ซัปพลายเทคโนโลยีชั้นเยี่ยมที่สุดซึ่งจะช่วยให้บริษัท (ผู้ให้บริการการสื่อสารในอังกฤษ) อย่างเช่น บีที และ โวดาโฟน เติมเต็มคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่จะทำให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ระดับกิกะบิตได้”
แน่นอนทีเดียวว่า ทำเนียบขาวยังคงแสดงความไม่พอใจในเรื่องนี้ โดยที่มีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในคณะผู้แทนสหรัฐฯซึ่งไปเยือนลอนดอนสัปดาห์นี้ กล่าวในเชิงข่มขู่ว่า “(ประธานาธิบดี) โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด”
แต่ แอนดรูว์ พาร์เกอร์ (Andrew Parker) ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานข่าวกรอง เอ็มไอ 5 (MI5) ซึ่งมีหน้าที่ต่อต้านการทำจารกรรมภายในอังกฤษ กลับออกมาแสดงตัวต่อหน้าสาธารณชนอย่างชนิดน้อยครั้งนักจะกระทำเช่นนี้ โดยเขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันจันทร์ (13 ม.ค.) ว่า “ไม่มีเหตุผลใดๆ เลย ... ที่จะคิดไปได้ว่า” วอชิงตันจะหยุดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองกับอังกฤษ ถ้าหากหัวเว่ยได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย 5 จีในแดนยูเนียนแจ็ก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/b66fb39a-35f1-11ea-a6d3-9a26f8c3cba4)
(เอเชียไทมส์ได้นำรายงานข่าวของเอเอฟพีมาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่ผู้แปลเพิ่มเติมรายละเอียดจากรายงานข่าวของเดอะการ์เดียน รวมทั้งปรับปรุงตัดทอนและจัดเรียงลำดับข้อความใหม่)