โจชัว หว่อง แกนนำผู้ขัดขืน เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวฮ่องกง 3 คนที่จะถูกพิพากษาในวันพุธ (2 ธ.ค.) ต่อกรณีเข้าร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ทางการยกระดับปราบปรามฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งหนักหน่วงขึ้น
ฮ่องกงต้องเผชิญกับการประท้วงใหญ่และบ่อยครั้งเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง ยืดเยื้อนานกว่า 7 เดือน ดึงดูดผู้ชุมนุมไหลบ่าสู่ท้องถนนหลายล้านคน
ปักกิ่งปฏิเสธข้อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตัวแทนของตนเองอย่างเป็นสากล และเจ้าหน้าที่เดินหน้าเล่นงานพวกผู้สนับสนุนประชาธิปไตยด้วยคดีความทางอาญาต่างๆ นานา รวมถึงยังได้ออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่อันเข้มข้น
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถสยบความเคลื่อนไหวและคืนความสงบสู่บ้านเมือง แต่ศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้ยังคงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างรุนแรง ด้วยหลายคนยังคงต่อต้านด้วยความโกรธแค้น ต่อสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นความพยายามของจีนในการยกระดับควบคุมเมืองกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้
หว่อง ถูกดำเนินคดีเคียงข้าง อีแวน ลัม และ แอกเนส โจว ต่อเหตุประท้วงบริเวณด้านนอกกองบัญชาการตำรวจฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทั้งสามได้ให้การรับสารภาพในข้อหาต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงยุยงผู้อื่นให้เข้าร่วมการประท้วงที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
จำเลยทั้งสามถูกศาลสั่งควบคุมตัวเข้าเรือนจำเพื่อรอศาลกำหนดระวางโทษซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ (2 ธ.ค.) โดยที่พวกเขามีสิทธิ์ติดคุกสูงสุด 3 ปี
แม้ยังอยู่ในฐานะเยาวชน แต่หว่องเคยติดคุกมาแล้วหลายครั้ง ฐานเป็นแกนนำการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และคราวนี้ หว่องบอกว่าเขาเตรียมใจสำหรับการติดคุกอีกครั้ง
“ทุกความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจะยิ่งทำให้ความกล้าหาญ ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมของเรา กล้าแกร่งขึ้น” หว่องเขียนผ่านบัญชีทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ (30 พ.ย.) โดยนอกเหนือจากคำพูดดังกล่าว หว่องยังได้เปิดเผยผ่านจดหมายฉบับหนึ่งว่าเขาถูกขังเดี่ยวระหว่างรอบทลงโทษ “คุกไม่อาจขังจิตวิญญาณของเรา”
หว่องกลายเป็นนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ตอนยังอายุแค่วัยรุ่นต้นๆ ด้วยการรวบรวมนักเรียนในฮ่องกงมาร่วมมือกันจัดการรณรงค์ต่อสู้ในปี 2012 เพื่อคัดค้านแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของฮ่องกงให้มีลักษณะ “รักชาติ” มากขึ้น คล้ายๆ กับบนแผ่นดินใหญ่ยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นแบบแผนมุ่งปลูกฝังค่านิยมตะวันตก การรณรงค์นี้ประสบความสำเร็จ โดยทางการฮ่องกงต้องยอมพับแผนการนี้ไป
ในปี 2014 เขากับ โจว ช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจและเป็นผู้นำของการประท้วง “ขบวนการร่ม” ซึ่งมุ่งเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวฮ่องกงเป็นผู้เลือกผู้นำและสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่อำนาจชี้ขาดยังอยู่ที่ปักกิ่ง การรณรงค์คราวนั้นซึ่งส่วนใหญ่นำโดยนักเรียนนักศึกษาได้เข้ายึดพื้นที่ถนนย่านศูนย์ราชการและธุรกิจของฮ่องกงเอาไว้เป็นเวลา 79 วัน แต่ก็ยุติลงด้วยความล้มเหลวพ่ายแพ้
หว่องถูกจำคุกในความผิดฐานเกี่ยวข้องพัวพันกับการประท้วงเหล่านี้ เช่นเดียวกับพวกแกนนำส่วนใหญ่ของขบวนการ
เขายังคงอยู่ในคุก ตอนที่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมากเปิดฉากขึ้นเมื่อปีที่แล้ว แต่เขาได้ไปปรากฏตัว ณ การชุมนุมครั้งต่างๆ จำนวนมาก ภายหลังเขาได้รับการปล่อยตัว
อย่างไรก็ตาม การประท้วงในปี 2019 ไม่ได้มีผู้นำที่ประกาศตัวออกมาอย่างเปิดเผย ขณะที่การเคลื่อนไหวและการนัดหมายต่างๆ อาศัยสื่อสังคม และแชทฟอรั่ม แบบที่มีการเข้ารหัส
ตั้งแต่เริ่มปี 2020 เป็นต้นมา การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงได้ค่อยๆ ดับมอดลง ซึ่งสาเหตุสำคัญเห็นกันว่ามีทั้งเนื่องจากความเหนื่อยอ่อนจากการต่อสู้อันยืดเยื้อ, การที่มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก รวมแล้วกว่า 10,000 คน ขณะที่นักเคลื่อนไหวชั้นนำและบุคคลดังของพรรคฝ่านค้านของฮ่องกงส่วนใหญ่ล้วนแต่ถูกดำเนินคดี รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19
มาตรการต่อสู้โรคระบาด เป็นต้นว่า ห้ามผู้คนชุมนุมในที่สาธารณะเกินกว่า 4 คน ถูกบังคับใช้แทบจะตลอดทั้งปีนี้
บุคคลดังๆอย่าง หว่อง และ โจว เข้าร่วมการประท้วงเป็นครั้งคราว และใช้สถานะคนดังของตนเองที่สร้างชื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล็อบบี้ให้นานาชาติกำหนดมาตรการลงโทษ ความเคลื่อวไหวที่ก่อความขุ่นเคืองแก่ปักกิ่ง และสื่อมวลชนแห่งรัฐตราหน้าพวกเขาว่าเป็นพวกทรยศ
นอกจากคดีที่จะพิพากษาในวันพุธ (2 ธ.ค.) แล้ว โจว ยังกำลังถูกสืบสวนภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ตามข้อกล่าวหา “สมคบคิดกับกองกำลังต่างชาติ” ผลักดันให้เกิดการคว่ำบาตร
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี ปักกิ่งกำหนดกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ ซึ่งทำให้จีนมีอำนาจควบคุมโดยตรงเหนือเขตบริหารพิเศษแห่งนี้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การแสดงทัศนะหลายๆ อย่างถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า การเรียกร้องเอกราช หรือการเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง
(ที่มา : เอเอฟพี)