กลุ่มสื่อต่างชาติรายงาน (2 ธ.ค.) ศาลฮ่องกงพิพากษาจำคุก “โจชัว หว่อง” นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองอายุ 24 ปี เป็นเวลา 13.5 เดือน ฐานเป็นแกนนำจัดการชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและปลุกระดมให้เกิดเหตุวุ่นวายเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 62 ณ สำนักงานตำรวจฮ่องกง
นอกจากนี้ “อีแวน ลัม” วัย 26 ปี และ “แอกเนส โจว” วัย 23 ปี เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของนายหว่องฯ ต่างได้รับโทษจำคุก 7 เดือน และ 10 เดือนตามลำดับ
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 ทั้งสามคนขึ้นศาลตามนัดไต่สวนครั้งสุดท้าย โดยให้การรับสารภาพในข้อหาต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงยุยงผู้อื่นให้เข้าร่วมการประท้วงที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี
วันจันทร์ (30 พ.ย.) หว่องฯ เขียนผ่านบัญชีทวิตเตอร์ระบุว่า “ทุกความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจะยิ่งทำให้ความกล้าหาญ ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมของเรา กล้าแกร่งขึ้น” นอกจากนี้ เขาเปิดเผยผ่านจดหมายฉบับหนึ่งว่า “คุกไม่อาจขังจิตวิญญาณของเรา”
หว่องกลายเป็นนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ตอนยังอายุแค่วัยรุ่นต้นๆ ด้วยการรวบรวมนักเรียนในฮ่องกงมาร่วมมือกันจัดการรณรงค์ต่อสู้ในปี 2555 เพื่อคัดค้านแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของฮ่องกงให้มีลักษณะ “รักชาติ” คล้ายกับบนแผ่นดินใหญ่ยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นแบบแผนมุ่งปลูกฝังค่านิยมตะวันตก การรณรงค์นี้ประสบความสำเร็จ โดยทางการฮ่องกงต้องยอมพับแผนการนี้ไป
ในปี 2557 เขาเป็นผู้นำของการประท้วง “ขบวนการร่ม” ซึ่งมุ่งเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวฮ่องกงเป็นผู้เลือกผู้นำและสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่อำนาจชี้ขาดยังอยู่ที่ปักกิ่ง การรณรงค์คราวนั้นซึ่งส่วนใหญ่นำโดยนักเรียนนักศึกษาได้เข้ายึดพื้นที่ถนนย่านศูนย์ราชการและธุรกิจของฮ่องกงเอาไว้เป็นเวลา 79 วัน แต่ก็ยุติลงด้วยความล้มเหลวพ่ายแพ้ ส่วนหว่องฯ ถูกจำคุกในความผิดฐานเกี่ยวข้องพัวพันกับการประท้วงเหล่านี้ เช่นเดียวกับพวกแกนนำส่วนใหญ่ของขบวนการ
การประท้วงในฮ่องกงในปี 2561 ไม่ได้มีผู้นำที่ประกาศตัวออกมาอย่างเปิดเผย ขณะที่การเคลื่อนไหวและการนัดหมายต่างๆ อาศัยสื่อสังคม และแชทฟอรั่ม แบบที่มีการเข้ารหัส ก่อนที่การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงได้ค่อยๆ ดับมอดลงตั้งแต่เริ่มปี 2563 จากความเหนื่อยอ่อนจากการต่อสู้อันยืดเยื้อและการที่มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2563 ปักกิ่งออกกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ ซึ่งทำให้จีนมีอำนาจควบคุมโดยตรงเหนือเขตบริหารพิเศษแห่งนี้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การแสดงทัศนะหลายๆ อย่างถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การเรียกร้องเอกราช หรือการเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง