xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ฆาตกรรมนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน คือแผนของ‘ทรัมป์-อิสราเอล’ที่จะบ่อนทำลายทางเลือกด้านการทูตของ‘โจ ไบเดน’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หีบบรรจุศพของนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ มอห์เซน ฟาครีซาเดห์ ที่คลุมด้วยธงชาติอิหร่าน ถูกนำเข้าสู่วิหารศักดิ์สิทธิ์ อิหม่าม เรซา ในเมืองมัชฮัด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน ในพิธีศพซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (28 พ.ย.) หนึ่งวันหลังจากเขาถูกลอบสังหารเหี้ยมโหด โดยฝ่ายอิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ที่ได้รับไฟเขียวจากสหรัฐฯ (ภาพเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมอิหร่าน ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พ.ย.)
การก่อเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญกลางเมือง ด้วยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ระดับท็อปของอิหร่าน ซึ่งเตหะรานประณามว่าเป็นฝีมือของอิสราเอลนั้น มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มความตึงเครียดในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ทว่ามันจะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนถึงระดับสาหัส ให้แก่แผนการของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ซึ่งต้องการรื้อฟื้นการเจรจากับสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ อย่างที่คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ วาดหวังเอาไว้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

อิหร่านกล่าวหาศัตรูคู่อาฆาตอย่างอิสราเอล ว่ากำลังหาทางสร้างความสับสนอลหม่านขึ้นมา ด้วยการสังหาร มอห์เซน ฟาครีซาเดห์ วัย 59 ปีนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์คนสำคัญของตน รวมทั้งกล่าวหาพาดพิงแบบไม่ต้องตีความกันมากว่า รัฐยิวกระทำการคราวนี้โดยได้รับไฟเขียวจากสหรัฐฯ

วอชิงตันเองไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มมือปืนได้ถล่มใส่รถยนต์ของฟาครีซาเดห์ ขณะอยู่บนถนนสายหนึ่งนอกกรุงเตหะราน ทั้งนี้ตามปากคำของกระทรวงกลาโหมอิหร่าน

แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รีทวิตความเห็นของคนอื่นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยที่มีอย่างน้อยชิ้นหนึ่งซึ่งระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ “เป็นที่ต้องการมาหลายปีแล้วของมอสซาด” ซึ่งก็คือสำนักงานข่าวกรองของอิสราเอล

เมื่อปี 2018 ทรัมป์เป็นผู้นำพาสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งนานาชาติทำเอาไว้กับอิหร่าน แล้วแทนที่ด้วยการเปิดฉากการรณรงค์ “สร้างความกดดันระดับสูงสุด” ซึ่งเขาดูเหมือนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกระทำต่อไปอีกจนกระทั่งเขาก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯซึ่งเห็นกันว่าอยากจะลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยต่อๆ ไปกับเขาเหมือนกัน และเล็งแลฐานคะแนนเสียงคนผิวขาวขวาจัดโปรยิวของทรัมป์เอาไว้ ออกมาประกาศเมื่อวันศุกร์ (27 พ.ย.) ว่าจะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจรอบใหม่ต่อบริษัทของจีนและรัสเซียบางราย โดยกล่าวหาว่ากิจการเหล่านี้ให้ความสนับสนุนโครงการขีปนาวุธของอิเหร่าน

“คณะบริหารชุดนี้ ...ยังจะอยู่ที่นี่ไปจนถึงวันที่ 20 มกราคม” และจะ “เดินหน้านโยบายต่างๆ ของตนต่อไป” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งซึ่งกำลังเดินทางร่วมขบวนไปกับพอมเพโอ กล่าวระหว่างแวะหยุดพักที่อาบูดาบี เมื่อวันอทิตย์ (29)

พฤติการณ์แบบอาชญากร

แต่สำหรับนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันบางคนแล้ว การสังหารฟาครีซาเดห์ เป็นการกระทำที่มีอันตรายซึ่งจะบั่นทอนขัดขวางความมุ่งมั่นตั้งใจที่ประกาศออกมาแล้วของไบเดน ในการเสนอ “เส้นทางที่น่าเชื่อถือสำหรับการหวนกลับสู่วิถีทางการทูต” ให้แก่อิหร่าน เพื่อเป็นก้าวเดินซึ่งจะทำให้สหรัฐฯในสมัยการปกครองของเขาสามารถกลับเข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์นานาชาติกับเตหะรานได้อีกครั้งหนึ่ง

จอห์น เบรนแนน อดีตผู้อำนวยการซีไอเอ ทวิตในวันศุกร์ (27) ว่า การสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านคือ “พฤติการณ์แบบอาชญากรและสะเพร่าเลินเล่ออย่างแรง” พร้อมกล่าวต่อไปว่า มัน “เสี่ยงที่จะถูกตอบโต้แบบร้ายแรงถึงชีวิต และเกิดความขัดแย้งระดับภูมิภาครอบใหม่ขึ้นมา”

เบรนแนน ซึ่งเป็นผู้นำของหน่วยข่าวกรองชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯแห่งนี้ในช่วงปี 2013-2017 เมื่อตอนที่ บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี และ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดี ยังกระตุ้นเรียกร้องทางการอิหร่านให้ “รอคอยจนกว่าคณะผู้นำอเมริกันที่มีความรับผิดชอบจะหวนคืนสู่เวทีโลก และต้านทานเสียงเรียกร้องให้ตอบโต้เล่นงานพวกที่เข้าใจกันว่าเป็นตัวการก่อเหตุครั้งนี้”

และขณะที่สหรัฐฯกำลังเคลื่อนหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี นำโดยเรือ ยูเอสเอส นิมิตซ์ กลับเข้าไปยังอ่าวเปอร์เซีย โดยยืนกรานว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารที่เกิดขึ้นนั้น ทางเยอรมนีก็ได้ออกมาเตือนเมื่อวันเสาร์ (28) คัดค้าน “การบานปลายขยายตัว” ครั้งใหม่ใดๆ ก็ตามที

“เราเรียกร้องทุกๆ ฝ่ายให้หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การบานปลายขยายตัวของสถานการณ์ครั้งใหม่” ซึ่ง “เราไม่เห็นว่ามีความจำเป็นใดๆ เลยในขณะนี้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันบอก

“ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งในสหรัฐฯ การสนทนากับอิหร่านที่มีอยู่แล้วในเวลานี้จะต้องประคับประคองไว้ต่อไป เพื่อให้มีการแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยผ่านการเจรจากัน”

“การกระทำที่สร้างความโกรธเกรี้ยว”

ทัศนะเช่นนี้ได้รับความเห็นพ้องจาก เบน ฟรีดแมน ผู้ชำนาญการด้านกลาโหมอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน

เขาบอกว่า การสังหารครั้งนี้เป็น “พฤติการณ์เพื่อบ่อนทำลายการดำเนินการทางการทูตของสหรัฐฯและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” และ “น่าจะช่วยเหลือพวกแนวทางแข็งกร้าวชาวอิหร่าน ผู้ต้องการให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์”

สำหรับ เบน โรดส์ อดีตที่ปรึกษาคนหนึ่งของโอบามา เขากล่าวว่า “นี่เป็นการกระทำที่มุ่งทำให้เกิดความโกรธเกรี้ยว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่อนทำลายวิถีทางการทูตระหว่างคณะบริหารสหรัฐฯที่กำลังจะเข้ามา กับทางอิหร่าน”

เขากล่าวต่อไปว่า “มันถึงเวลาแล้วที่การบานปลายขยายตัวอย่างไม่รู้สิ้นสุดนี้จะต้องยุติลง”

อย่างไรก็ตาม บางคนบางฝ่ายยังไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เป็นต้นว่า มาร์ก ดูโบวิตซ์ ผู้อำนวยการของมูลนิธิเพื่อการปกป้องระบอบประชาธิปไตย (เอฟดีดี) ซึ่งชี้ว่า “เวลายังมีอีกร่วมๆ 2 เดือนก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้ารับตำแหน่ง”

“ยังมีเวลาเหลือเฟือสำหรับสหรัฐฯและอิสราเอลที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้แก่ระบอบปกครองในอิหร่าน ...” ดูโบวิตซ์ บอก

ทั้งนี้มูลนิธิเอฟดีดีของเขาเป็นหน่วยงานคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นพวกสายเหยี่ยว และพวกอนุรักษนิยมใหม่ (นีโอคอนเซอร์เวทีฟ) ตลอดจนเป็นนักล็อบบี้ในสหรัฐฯเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอิสราเอล

ทรัมป์อยากถล่มโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน

ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวระบุว่า ทรัมป์ได้ปรึกษาหารือกับพวกผู้ช่วยคนสนิทของเขา เกี่ยวกับทางเลือกในการเข้าโจมตีโรงงานนิวเคลียร์แห่งหลักของอิหร่านที่เมืองนาตันซ์

นิวยอร์กไทมส์ดูเหมือนเป็นผู้รายงานข่าวนี้ก่อนใคร จากนั้นก็มีสื่ออื่นๆ ออกมายืนยัน เป็นต้นว่า สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เอ่ยเรื่องนี้จริงๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พ.ย. ขณะประชุมร่วมกับพวกที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เป็นต้นว่า รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์, คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ รักษาการรัฐมนตรีกลาโหม, และ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ

แหล่งข่าวของรอยเตอร์รายนี้ ยืนยันข้อมูลของนิวยอร์กไทมส์ซึ่งรายงานว่า พวกที่ปรึกษาของทรัมป์พยายามโน้มน้าวทรัมป์ ไม่ให้โจมตีอิหร่าน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งลุกลามเป็นวงกว้าง

ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ใช่หรือไม่ที่การฆาตกรรมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน คือการที่คณะบริหารทรัมป์ตัดสินใจลดระดับการเล่นงานอิหร่านลงมา เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายมากเกินไปนัก

(ที่มา: เอเอฟพี/เอเจนซีส์)

จุดเกิดเหตุนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน มอห์เซน ฟาครีซาเดห์ ถูกสังหารโหดที่บริเวณนอกกรุงเตะหราน เมื่อวันศุกร์ (27 พ.ย.) (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวฟารส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการของอิหร่าน)

ผู้ประท้วงชาวอิหร่านเผาธงชาติสหรัฐฯและธงชาติอิสราเอล ขณะชุมนุมกันที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเมื่อวันเสาร์ (28 พ.ย.)

กลุ่มผู้ประท้วงชาวอิหร่านเผารูปภาพของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ขณะชุมนุมกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ในกรุงเตหะราน เมื่อวันเสาร์ (28 พ.ย.)  เพื่อประท้วงการฆาตกรรมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ มอห์เซน ฟาครีซาเดห์
กำลังโหลดความคิดเห็น