เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) รัฐบาลอังกฤษแถลงตัดงบความช่วยเหลือต่างชาติ หลังจากวิกฤตโควิด-19 กระทบการคลังอย่างหนัก ไม่สนข้อเรียกร้องจากบุคคลที่มีชื่อเสียง วอนให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน การคลังอังกฤษตั้งความหวังจะเอาเงินเพื่อมาพยุงเศรษฐกิจในประเทศ
CNA สื่อสิงคโปรร์รายงานเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) รัฐมนตรีการคลังอังกฤษ ริชี ซูนัค แถลงต่อรัฐสภาอังกฤษในวันพุธ (25) ยืนยันว่า ทางกระทรวงการคลังอังกฤษไม่สามารถทำตามข้อผูกพันของรัฐบาลอังกฤษในการให้งบประมาณจำนวน 0.7% ของมวลรวมรายได้ประชาชาติ GNI (gross national income) แก่ความช่วยเหลือต่างชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาอังกฤษได้ให้งบความช่วยเหลือต่างชาติจำนวน 15 พันล้านปอนด์ หรือราว 20 พันล้านดอลลาร์
เป้าหมายในการตัดถึง 0.5% ของมวลรวมรายได้ประชาชาติ GNI ซึ่งเป็นการคิดคำนวณในภาพกว้างกว่าการคิดแบบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP (Gross Domestic Product)
แต่เป็นการขัดแย้งกับการออกมาให้คำมั่นสัญญาสัปดาห์ก่อนหน้าของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดมินิค ราบ ที่ได้ประกาศปกป้องงบประมาณช่วยเหลือต่างชาติ
ซูนัคชี้แจงต่อรัฐสภาอังกฤษว่า เขาฟังอย่างตั้งใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแผนงบประมาณของเขา แต่ทว่าในเวลานี้เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเลือกที่จะตัดสินใจ
รัฐมนตรีการคลังอังกฤษชี้แจงว่า งบประมาณช่วยเหลือต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ 0.7% ของมวลรวมรายได้ประชาชาติ GNI อีกครั้งก็ต่อเมื่อสถานการณ์ด้านงบประมาณแผ่นดินกลับมาเอื้ออำนวยอีกครั้ง
ทั้งนี้ การที่อังกฤษตัดลดเงินช่วยเหลือต่างชาติจะส่งผลกระทบทางด้านการศึกษาและการสาธารณสุขให้กับประชากรที่ยากไร้จำนวนหลายล้านทั่วโลก การตัดลดเกิดขึ้นในขณะที่อังกฤษรับตำแหน่งประธานกลุ่ม G7 และเตรียมที่จะประธานการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกในปีหน้า
ก่อนหน้าที่ซูนัคจะประกาศการตัดงบช่วยเหลือต่างชาติ บรรดาผู้มีชื่อเสียงในสังคมรวมถึง มาลาลา ยูซาฟไซ ซึ่งเป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิการศึกษาและได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014 ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า อังกฤษสมควรเดินหน้าให้ความช่วยเหลือชาติที่ยากจนต่อไป
บนทวิตเตอร์ยูซาฟไซกล่าวว่า “อังกฤษและชาติอื่นๆ สมควรที่จะให้ความสำคัญต่อการศึกษาจากการที่วิกฤตโควิด-19 นั้นได้ส่งผลกระทบทำให้เด็กผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ต้องออกจากโรงเรียน”
ส่วนอดีตรัฐมนตรีอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ ถูกรายงานจากหนังสือพิมพ์เดอะไทม์สของอังกฤษในวันพุธ (25) ถึงความเห็นเรื่องอังกฤษตัดลดความช่วยเหลือต่างชาติว่า เป็นความผิดทางศีลธรรมและยังไม่ฉลาดในทางการเมือง
เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ทำให้อังกฤษต้องเกิดวิกฤต BREXIT และเป็นผู้กำหนดสัดส่วนงบความช่วยเหลือต่างชาติอยู่ที่ 0.7% แสดงความเห็นในทางเดียวกันกับยูซาฟไซและเมเจอร์ว่า การละทิ้งตัวเลขดังกล่าวนั้นเป็นความผิดพลาดทางด้านศีลธรรม ยุทธศาสตร์ และทางการเมือง
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ประกาศทุ่มงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นไปให้กับกลาโหมอังกฤษด้วยตัวเลข 16.5 พันล้านปอนด์ แต่ในวันพุธ (25) จอห์นสันยังคงยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือต่อประเทศยากจนต่อไป