xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง “ทรัมป์” ดื้อทำ US เจอปัญหาความมั่นคง ด้าน “ไบเดน” ไม่รีรอรีบตั้งหัวหน้า จนท.ทำเนียบขาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น แถลงข่าวหลังเขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ทั้งนี้แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ยอมแพ้ แต่พวกผู้นำของโลกต่างพากันพูดคุยโทรศัพท์แสดงความยินดีกับไบเดนกันเป็นแถว โดยที่เมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.) เป็นคิวของผู้นำในเอเชีย-แปซิฟิก อย่างญี่ปุ่น
เอเจนซีส์ - “ไบเดน” ตั้งผู้ช่วยคู่ใจเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เพื่อเตรียมพร้อมแก้ปัญหาโรคระบาดและความแตกแยกในประเทศ ตรงข้ามกับ “ทรัมป์” ที่ยังพายเรือในอ่าง อ้างไม่ยอมเลิกว่าถูกปล้นชัยชนะและยื่นฟ้องคัดค้านผลเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังขัดขวางการถ่ายโอนอำนาจของคณะบริหารชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงการไม่ยอมให้ไบเดนเข้าถึงข้อมูลลับสุดยอด แม้มีคำเตือนว่านี่ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติก็ตาม

ในวันพุธ (11 พ.ย.) โจ ไบเดน ประกาศตั้ง รอน เคลน วัย 59 ปี ที่เคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำงานของเขาสมัยที่เขาเป็นรองประธานาธิบดีในคณะบริหารบารัค โอบามา ขึ้นเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาว โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ที่หลากหลายและความสามารถของเคลนในการทำงานร่วมกับคนจากทุกกลุ่มการเมือง เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้ ขณะที่อเมริกากำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดและความแตกแยกในสังคม

แต่ในเวลาที่ไบเดนเดินหน้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการตอนต้นปีหน้า ทางด้านประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งนับจากสื่อยักษ์ใหญ่ทั้งหลายประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7) ว่าไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ออกมาปราศรัยกับประชาชนเลยนอกจากโพสต์ข้อความทางทวิตตอร์นั้น ยังคงแสดงท่าทีไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และเก็บตัวอยู่ในทำเนียบขาวแทบตลอดเวลา อีกทั้งดูเหมือนไม่ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะประธานาธิบดี นอกจากทวิตปลดมาร์ก เอสเปอร์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อวันจันทร์ (9)

ในเช้าวันพุธ ทรัมป์ยังทวิตคล้ายเดิมว่า ตัวเองกำลังจะได้ชัยชนะ และโวว่ายังคงเดินหน้าฟ้องร้องในหลายรัฐว่า มีการโกงการเลือกตั้งทว่าไม่ได้โชว์หลักฐานที่หนักแน่นแต่อย่างใด แม้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ผู้นำทั่วโลก เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งในประเทศ และสื่อใหญ่ทั้งหลายลงความเห็นว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังเห็นว่า การฟ้องร้องของทรัมป์ไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ โดยรวมไปถึงการที่รัฐจอร์เจียประกาศว่าเนื่องจากผลที่ออกมาคู่แข่งทั้งสองมีคะแนนคู่คี่กันมากเหลือเกิน จึงให้มีการนับคะแนนใหม่และจะเป็นการนับด้วยมือ นอกจากนั้น การนับคะแนนในรัฐอะแลสกาซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้น แม้ทรัมป์เป็นฝ่ายมีชัย แต่รัฐนี้ก็มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งเพียง 3 คะแนน จึงไม่สามารถทำให้เกิดการพลิกเกมได้

สมาชิกรีพับลิกันบางคน ล่าสุดคือ คอรีย์ สเตเพิลตัน รัฐมนตรีกิจการแห่งรัฐของรัฐมอนแทนา เรียกร้องให้ทรัมป์ยอมแพ้และแสดงความยินดีกับไบเดน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า การปฏิเสธความปราชัยของทรัมป์กำลังเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและถ่วงเวลาการถ่ายโอนอำนาจของไบเดน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ

จากการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของทรัมป์ คณะบริหารของเขาจึงยังไม่มีคำสั่งให้สำนักบริหารงานบริการทั่วไป (จีเอสเอ) ที่ดูแลจัดการระบบราชการในวอชิงตัน เริ่มต้นกระบวนการถ่ายโอนอำนาจ ส่งผลให้หน่วยงานแห่งนี้ยับยั้งการจ่ายงบประมาณและการบรรยายสรุปด้านความมั่นคงแก่ไบเดน

สำนักข่าวเอพีชี้ว่า ในการเลือกตั้งปี 2000 ที่รองประธานาธิบดีอัล กอร์ของพรรคเดโมแครตในขณะนั้น แข่งขันกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน แล้วไม่สามารถสรุปผลการเลือกตั้งได้ในทันที โดยที่สุดแล้วต้องให้ศาลสูงสุดสหรัฐฯตัดสินในอีกราว 1 เดือนต่อมา แต่ปรากฏว่า บิลล์ คลินตัน ประธานาธิบดีเวลานั้นซึ่งมาจากพรรคเดโมแครต ยังคงตัดสินใจอนุญาตให้บุชเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองลับพิเศษประจำวัน เนื่องจากเห็นว่า หากสุดท้ายแล้วบุชเป็นฝ่ายชนะจะได้สานต่อภารกิจประธานาธิบดีได้อย่างราบรื่นและเหมาะสม

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและข่าวกรองของอเมริกา ต่างหวังให้ทรัมป์ทำแบบเดียวกับคลินตัน โดยให้เหตุผลว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องพร้อมเต็มที่ในการเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงของชาติตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

ไมค์ โรเจอร์ส อดีต ส.ส.สหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันและอดีตประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาล่าง ชี้ว่า ศัตรูของอเมริกาคงไม่รอการถ่ายโอนอำนาจ ดังนั้น ไบเดนจึงควรได้รับฟังการบรรยายสรุปประจำวันสำหรับประธานาธิบดีเพื่อให้รับรู้ภัยคุกคามล่าสุดและเริ่มต้นวางแผนการรับมือ โรเจอร์สยังย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นความมั่นคงของชาติ

วุฒิสมาชิก เจมส์ แลงก์ฟอร์ด จากพรรครีพับลิกัน เผยว่า ถ้าจนถึงวันศุกร์นี้ (13) ไบเดนยังไม่สามารถเข้าถึงการบรรยายสรุปข่าวกรอง เขาจะลงมือผลักดันเรื่องนี้เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าผลเลือกตั้งขั้นสุดท้ายจะออกมาอย่างไรก็ตาม

จอห์น โปเดสตา อดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวในยุคคลินตัน และแอนดรูว์ การ์ด ที่รับตำแหน่งเดียวกันในสมัยบุช ร่วมกันเขียนบทความแสดงความคิดเห็นที่วอชิงตันโพสต์เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ว่า อเมริกามีบทเรียนสำคัญจากความล่าช้าในการถ่ายโอนอำนาจมาแล้ว นั่นคือเหตุวินาศกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่มีชาวอเมริกันตายเกือบ 3,000 คน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือหลังจากบุชสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไม่ถึง 8 เดือน

(ภาพจากแฟ้ม) โจ ไบเดน ที่เวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดี (ขวา) รับฟัง รอน เคลน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ประสานงานการรับมือกับโรคอีโบลา (ซ้าย)  พูดกับพวกผู้นำองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือวิกฤตการณ์โรคอีโบลา ณ ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2014


กำลังโหลดความคิดเห็น