“โบอิ้ง” ราคาหุ้นตกฮวบฮาบในตลาดหลักทรัพย์ จนสูญเสียมูลค่าไปถึง 52,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ความเพลี่ยงพล้ำเช่นนี้เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายอันหนักหนาสาหัสที่ผู้ผลิตเครื่องบินชื่อดังสัญชาติอเมริกันรายนี้กำลังเผชิญอยู่ ท่ามกลางความพ่ายแพ้ปราชัยในกรณี 737 แมกซ์ และผลกระทบกระเทือนจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแพร่ขยายกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลกไปแล้ว
กระนั้น โบอิ้งก็ยังคงเป็นบริษัทมหึมาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจอเมริกันโดยรวม
ยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมรายนี้ได้สูญเสียมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับสั่งสมเพิ่มพูนขึ้นมาจากตลาดหุ้น นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าครองทำเนียบขาวในเดือนมกราคม 2017 เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ผู้ผลิต “แอร์ฟอร์ซ วัน” เครื่องบินประจำตัวประธานาธิบดีอเมริกันรายนี้ ยังคงมีรากฐานทางการเงินอันหนักแน่นมั่นคงอยู่หรือเปล่า?
ตลอดเวลาปีแล้วปีเล่าที่ผ่านมา พวกนักลงทุนต่างเชื่อว่าการถือหุ้นของบริษัทอายุ 104 ปีแห่งนี้เป็นการเสี่ยงโชคที่ปลอดภัยเอามากๆ เนื่องจากโบอิ้งได้เดินหน้าฟันฝาอุปสรรคนานามาเยอะแยะ โดยเป็นผู้ขับดันการปฏิวัติทางเทคโนโลยีมาหลายครั้งหลายหน และเป็นผู้ดำเนินกิจการในตลาดที่ปลอดภัยและกำลังเติบโตขยายตัว ริชาร์ด อาบูลาเฟีย ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นอุตสาหกรรมการบินของ ทีล กรุ๊ป พูดแจกแจง
ทว่า “ความเชื่อดังกล่าวเหล่านี้กำลังถูกทดสอบอย่างแรง” จากวิกฤตการณ์เครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737 แมกซ์ เขากล่าวต่อ
“โบอิ้งเวลานี้กำลังตกอยู่ในความยากลำบาก โดยที่ความยุ่งยากเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเป็นสิ่งที่บริษัทสร้างให้กับตัวเอง”
ลือกันว่าโบอิ้งกำลังเจอภาวะขาดแคลนเงินสด
โบอิ้งยังทำตัวเองให้เป็นที่สงสัยข้องใจมากขึ้นอีกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามคำบอกเล่าของพวกแหล่งข่าววงการแบงก์หลายรายของสำนักข่าวเอเอฟพี ผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้ได้ขอเบิกเอาวงเงินเครดิตทั้ง 14,000 ล้านดอลลาร์เต็มๆ ออกไปแล้ว หลังจากเพิ่งได้รับอนุมัติจากพวกแบงก์เจ้าหนี้เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง
เรื่องนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกกันขึ้นมาว่า บริษัทกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนเงินสด เคน เฮอร์เบิร์ต แห่ง แคนแอคคอร์ด เจนูอิตี กล่าวให้ความเห็น
โบอิ้งนั้น กำลังเผชิญกับคดีความมากมายจากการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยบรรดาครอบครัวของเหยื่อผู้สูญเสียชีวิตในตอนที่ 737 แมกซ์ ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ และ ไลออนแอร์ ตกโหม่งโลกเพราะตัวเครื่องบินมีปัญหา และดังนั้นจึงต้องการทำให้แน่ใจว่าบริษัทมีเงินสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาอันไม่คาดหมายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมา ภายใต้บรรยากาศในตลาดการเงินเวลานี้ซึ่งไม่ค่อยมีความแน่นอนเอาเสียเลย แหล่งข่าวหลายรายซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้เล่าให้เอเอฟพีฟัง
“มันไม่ใช่ประเด็นเรื่องที่ว่าไม่มีเงินสดหรอก” แหล่งข่าวรายหนึ่งยืนยัน
ขณะที่โบอิ้งเองไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เมื่อเอเอฟพีติดต่อสอบถามไป
โบอิ้งประมาณการเอาไว้ว่า วิกฤตการณ์ 737 แมกซ์ จะทำให้บริษัทต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยที่สุด 18,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ยอดหนี้สินของบริษัทพุ่งพรวดขึ้นสู่ระดับ 27,000 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2019
บริษัทไม่ได้ผลิตหรือทำการส่งมอบเครื่องบิน 737 แมกซ์ ให้แก่พวกลูกค้าที่สั่งซื้อไว้เลย แม้สักลำเดียว ตั้งแต่ที่อากาศยานรุ่นนี้ถูกสั่งให้จอดนิ่งห้ามบินมาเป็นเวลาราว 1 ปีแล้ว ภายหลังเกิดตกโหม่งโลกเป็นครั้งที่ 2 ในระยะเวลาห่างกันไม่กี่เดือน และทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ครั้งรวม 346 คน
เมื่อกำหนดที่จะได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นบินได้ยังไม่มีความแน่นอน คำสั่งซื้อจึงมีแต่หดหาย ขณะที่ยอดขายของ โบอิ้ง 787 เครื่องบินโดยสารอีกรุ่นหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งรายได้แหล่งหลักของบริษัทในเวลานี้ ก็ชะลอเชื่องช้าลง
แต่ถึงแม้ประสบกับปัญหาหนักหนาเหล่านี้ “เราก็ไม่เคยเชื่อหรอกว่าโบอิ้งจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินสด” เฮอร์เบิร์ต บอก กระทั่งเมื่อเกิดมีความยากลำบากอย่างใหม่ๆ โถมทับเข้าใส่บริษัทอย่างหนักหน่วงขึ้นทุกที สืบเนื่องจากการระบาดรุนแรงของโควิด-19
เจอวิกฤตร้ายแรงที่สุด
ภาวะโรคระบาดรุนแรงทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กำลังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์อันสาหัสร้ายแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสายการบิน ภายหลังการโจมตีก่อวินาศกรรมของพวกผู้ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา โดยน่าที่จะเป็นสาเหตุทำให้พวกสายการบินชะลอการซื้อเครื่องบิน หรือกระทั่งยกเลิกออร์เดอร์ที่สั่งจองเอาไว้
สายการบิน เดลตา แอร์ไลนส์ ตัดสินใจแล้วที่จะให้ชะลอการส่งมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ซึ่งบริษัทสั่งซื้อเอาไว้ ขณะที่ ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ บอกว่าจะยอมรับเครื่องบินใหม่ก็ต่อเมื่อเชื่อได้ว่าบริษัทสามารถจ่ายเงินซื้อได้จริงๆ
กระทั่ง เซธ ไซฟ์แมน แห่ง เจพี มอร์แกน ก็ยังต้องออกมาแถลงยอมรับว่า “ความปรารถนาของเราที่จะยังคงถือหุ้นโบอิ้งเอาไว้ก่อนจนกว่า 737 แมกซ์ จะสามารถหวนกลับคืนมาได้นั้น ปรากฏว่าบังเกิดผลออกมาอย่างย่ำแย่ ทั้งในแง่เกี่ยวกับกำหนดเวลาของการที่ แมกซ์ จะได้รับใบอนุญาตให้ขึ้นบินได้ใหม่อีกครั้ง แล้วแถมเวลานี้ยังมีเรื่องสำคัญยิ่งกว่า เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่ออุปสงค์ความต้องการในเครื่องบินโดยสาร” ทั้งนี้ จวบจนกระทั่งเมื่อมีการประกาศว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ร้ายแรงระดับโลก ไซฟ์แมนยังคงเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญวอลล์สตรีทเพียงไม่กี่คนซึ่งเที่ยวแนะนำพวกนักลงทุนอย่าเพิ่งขายหุ้นโบอิ้งที่ถือครองอยู่
อย่างไรก็ดี ยังคงมีนักวิเคราะห์บางราย เป็นต้นว่า เกรกอรี โวโลไคน์ แห่ง มีสชาเอิร์ต ซึ่งเวลานี้ยืนยันหยิบยกเหตุผลขึ้นมาระบุว่า โบอิ้งนั้น “เป็นธุรกิจซึ่งไม่เหมือนกับที่อื่นๆ”
“โบอิ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชนิดที่ทำให้มันไม่เหมือนกับบริษัทที่รัฐบาลจะสามารถโยนทิ้งไปได้” เขากล่าว
ไม่เพียงบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ที่ผลิต เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศแบบ เคซี-46 ตลอดจนเครื่องบินขับไล่ไอพ่นอย่างรุ่น เอฟ-18 และ เอฟ-15 เท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นบริษัทอเมริกันผู้ส่งออกชั้นนำ ซึ่งป้อนงานให้แก่พวกซัปพลายเออร์ด้านต่างๆ ราวๆ 600 ราย โดยรวมกันแล้วเป็นผู้ว่างจ้างลูกจ้างพนักงานจำนวนหลายแสนคนในสหรัฐฯ
เฉพาะโรงงานที่เป็นสายการประกอบเครื่องบิน 737 แมกซ์ แห่งเดียว ก็ว่าจ้างลูกจ้างพนักงานเอาไว้ถึง 12,000 คน ตอนที่โบอิ้งระงับการผลิตแมกซ์ในเดือนมกราคมเป็นต้นว่า พวกนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการตัดสินใจคราวนี้จะส่งผลกระทบกระเทือนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกปีนี้
ผลกระทบของวิกฤตโบอิ้งที่จะเกิดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น “ใหญ่โตยิ่งกว่าที่คุณจะพบเห็นในเวลาเกิดพายุเฮอร์ริเคนถล่มเสียอีก” โจเอล ปรัคเคน นักเศรษฐศาสตร์แห่ง ไอเอชเอส มาร์คิต บอก
(เก็บความจากเรื่อง Economic heavyweight Boeing hammered by dual crises ของสำนักข่าวเอเอฟพี)