xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘ทรัมป์’ จะพลิกผลเลือกตั้งได้ไหม จากการยื่นฟ้องร้องว่ามีการกระทำผิดกฎหมายและทุจริตคดโกง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้สังเกตการณ์เฝ้าจับตาขณะพนักงานของรัฐเพนซิลเวเนีย ตรวจสอบบัตรเลือกตั้งซึ่งส่งมาทางไปรษณีย์
ไม่กี่นาทีหลังจากบรรดาสื่อสหรัฐฯประกาศฟันธงเมื่อวันเสาร์ (7 พ.ย.) ให้ โจ ไบเดน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต เป็นผู้ชนะในการแข่งขันอันคู่คี่เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็รีบออกมาปฏิเสธข้อสรุปดังกล่าว โดยบอกว่าเขาจะพิสูจน์ให้เห็นกันในศาลว่าเขานี่แหละคือผู้คว้าชัยตัวจริง

“ข้อเท็จจริงง่ายๆ มีอยู่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังห่างไกลจากการยุติจบสิ้น” ทรัมป์บอกในคำแถลง

“เสียงโหวตที่ถูกกฎหมายคือตัวตัดสินว่าใครเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่พวกสื่อมวลชนด้านข่าว”

อย่างไรก็ดี พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ทรัมป์แทบไม่มีโอกาสเลยที่จะเปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตรชัยชนะของไบเดน หากไม่อาจหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่ามีการทุจริตฉ้อโกงคะแนนโหวตอย่างกว้างขวางถึงขั้นที่สามารถพลิกผันผลการนับคะแนนในหลายๆ รัฐ

“ยุทธศาสตร์การฟ้องร้องดำเนินคดีของทรัมป์จะไปไม่ได้ถึงไหนหรอก มันจะไม่ทำให้ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งผิดแผกแตกต่างออกไป” ริชาร์ด ฮาเซน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเลือกตั้งแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ ให้ความเห็น

ทรัมป์บอกว่า ทีมรณรงค์หาเสียงของเขาจะไปยื่นฟ้องศาลหลายแห่งในวันจันทร์ (9) เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ และผู้ชนะที่ถูกต้องจะได้ขึ้นครองตำแหน่ง

เขาชี้ไปยังเรื่องที่คาดหมายกันว่าจะต้องมีการนับคะแนนกันใหม่ในหลายรัฐ ซึ่งไบเดนมีคะแนนนำเพียงแค่ไม่กี่พันคะแนน

และเขายังอ้างอิงถึงรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งพวกรีพับลิกันกล่าวหาว่ามีการทุจริตคดโกง และบอกว่าบัตรลงคะแนนส่งทางไปรษณีย์ซึ่งเดินทางมาถึงช้าจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นใบทีเดียว ได้ถูกนำมานับคะแนนด้วย ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

“พวกเครือข่ายทีวีไม่ได้เป็นคนตัดสินการเลือกตั้ง ศาลต่างหากที่ตัดสินได้ ศาลจะสั่งพักการเลือกตั้งไว้ก่อนเมื่อมันผิดกฎหมาย” รูดี้ จูเลียนี ทนายความของทรัมป์ ประกาศในวันเสาร์ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เมืองใหญ่ที่สุดของเพนซิลเวเนีย

กรณีแบบที่เคยเกิดที่ฟลอริดาเมื่อปี 2000 กลับมาอีกครั้งหรือ?

ทรัมป์พูดไว้ถูกต้อง : การเลือกตั้งยังไม่ได้ยุติลงอย่างแท้จริง จนกว่าแต่ละรัฐให้คำรับรองอย่างเป็นทางการต่อคะแนนโหวตในรัฐของตนแล้ว ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ได้จะต้องใช้เวลากันอีกหลายสัปดาห์

ทว่า จากการที่บัตรลงคะแนนทั้งสิ้นมากกว่า 150 ล้านใบ เวลานี้ได้ถูกนับไปเกือบหมดสิ้น สื่อในสหรัฐฯจึงเพียงแต่ฟันธงร่วมกันในวันเสาร์ (7) ว่า ทรัมป์ไม่สามารถเสียแล้วที่จะได้เสียงโหวตในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งอาจกลายเป็นผู้ชนะขึ้นมาได้ ขณะที่ไบเดนต่างหากที่ทำเช่นนั้นได้

มีตัวอย่างจากในอดีตอยู่เหมือนกันที่เกิดปัญหาในเรื่องการนับคะแนน และต้องไปฟ้องร้องกันในศาล ทั้งนี้ ในปี 2000 ศึกเลือกตั้งระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้สมัครของรีพับลิกัน กับ อัล กอร์ ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต อยู่ในสภาพต้องรอผลคะแนนของรัฐฟลอริดามาเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะ โดยจากที่นับคะแนนกันไป บุชเป็นฝ่ายนำในรัฐนี้อยู่เพียงแค่ 500 กว่าคะแนน ทั้งสองฝ่ายได้ฟ้องร้องต่อสู้คดีกันในศาลสูงสุดในประเด็นว่าจะให้นับคะแนนใหม่กันทั้งรัฐนี้หรือไม่

ปรากฏว่า ศาลสูงสุดตัดสินด้วยคะแนนเสียงชนะกันเฉียดฉิว ปฏิเสธไม่ให้มีการนับคะแนนทั้งรัฐกันใหม่ และจึงเท่ากับส่งมอบชัยชนะในการเลือกตั้งคราวนั้นให้แก่บุช

สำหรับกรณีของทรัมป์ เขาไม่เพียงแค่ต้องหาหลักฐานข้อพิสูจน์ เพื่อลบล้างเอาชนะเสียงโหวตที่เขาแพ้ไบเดนไปอยู่เกือบ 40,000 เสียงในรัฐเพนซิลเวเนียเท่านั้น แต่ยังต้องหาทางดิสเครดิตคะแนนโหวตที่ทำให้ไบเดนเป็นผู้ชนะในอีก 4 รัฐ ได้แก่ เนวาดา, จอร์เจีย, แอริโซนา และวิสคอนซิน แต่ละรัฐเป็นจำนวนหลายพันคะแนนทีเดียว

มันไม่น่าเป็นไปได้เลยที่ศาลสูงสุดจะดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อพลิกกลับผลการเลือกตั้งซึ่งชนะกันระดับเป็นพันเป็นหมื่นคะแนนในหลายๆ รัฐเช่นนี้

การนับคะแนนกันใหม่

เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของบางรัฐมีข้อกำหนดว่าต้องนับคะแนนกันใหม่ หากคะแนนแพ้ชนะคู่คี่กันมาก จึงคาดหมายกันจะมีการับคะแนนกันอีกครั้งในวิสคอนซิน และจอร์เจีย นอกจากนั้นยังเป็นไปได้ที่จะมีการนับใหม่ในรัฐอื่นๆ อีกเช่นกัน

แต่จากตัวอย่างที่เคยเป็นมา การนับคะแนนใหม่น้อยครั้งนักที่จะทำให้ผลแพ้ชนะพลิกผันไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น การนับใหม่ในวิสคอนซินปี 2016 สุทธิแล้วเป็นการเพิ่มคะแนนอีก 131 เสียงให้แก่เสียงโหวตที่ทรัมป์นำ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครของเดโมแครต

“ในการเลือกตั้งอเมริกันในยุคสมัยใหม่ การนับคะแนนกันใหม่แทบไม่เคยทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่าแค่สักสองสามร้อยคะแนน” นี่เป็นคำอธิบายของ สตีเวน เฮฟเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเลือกตั้งแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท

ความหวังสูงที่สุดของทีมรณรงหาเสียงทรัมป์ดูจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในเพนซิลเวเนีย อันที่จริงพวกเขาได้ฟ้องร้องมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้วว่า การที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งกำหนดให้ยอมรับบัตรลงคะแนนส่งทางไปรษณีย์ที่ประทับตราวันที่เลือกตั้ง 3 พ.ย. แต่ส่งมาถึงภายหลังวันที่ 3 พ.ย. ไม่เกิน 3 วัน เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รีพับลิกันได้ต่อสู้จนถึงขั้นยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลสูงรัฐเพนซิลเวเนียนี้ต่อศาลสูงสุดสหรัฐฯในเดือนตุลาคม ปรากฏว่าคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดซึ่งในตอนนั้นเหลืออยู่ 8 คน ตัดสินออกมาด้วยคะแนน 4 ต่อ 4 จึงทำให้ไม่สามารถลบล้างคำตัดสินของเพนซิลเวเนียได้ แต่ก็ระบุเปิดทางให้มีการกลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว

เวลานี้ จำนวนคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดกลับมาครบ 9 คนแล้ว ภายหลังทรัมป์รีบเร่งผลักดันให้มีการอนุมัติแต่งตั้ง เอมี คอนีย์ แบร์เรตต์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษนิยม ให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนล่าสุด และรีพับลิกันก็กำลังหาทางให้มีการพิจารณาประเด็นเดิมกันใหม่อีกครั้ง

แต่พวกเจ้าหน้าที่เพนซิลเวเนียบอกว่า จำนวนของบัตรเลือกตั้งส่งมาถึงช้าซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจถูกตัดทิ้งไปนั้นมีจำนวนอยู่ในระดับหลายพันใบ น้อยกว่านักหนากับคะแนนที่ต้องได้เพื่อเอาลบล้างเอาชนะจำนวนที่ไบเดนนำอยู่

มันเป็น “เรื่องยากที่จะมองเห็นได้ว่า พวกบัตรลงคะแนนที่เป็นปัญหาเหล่านี้ จะสามารถส่งผลอย่างจริงจังกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาได้อย่างไร” แคธี บูกควาร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเพนซิลเวเนียกล่าวในเอกสารยื่นต่อศาลสูงสุดเมื่อวันเสาร์

ทุจริตคดโกง?

ทรัมป์ยังกำลังอ้างว่ามีการทุจริตคดโกงคะแนนเลือกตั้ง แต่นี่ก็เช่นกัน จะเอาชนะคะแนนนำของไบเดนได้ ทีมของทรัมป์จะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นได้จริงๆ ในหลายๆ รัฐ และต้องให้มีการยกเลิกคะแนนโหวตเป็นหมื่นๆ เสียงที่คู่แข่งของเขาได้ไป

เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้ ยังไม่ได้มีการแสดงหลักฐานใดๆ ในเรื่องนี้

จูเลียนีกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า เมืองฟิลาเดลเฟียซึ่งมีความโน้มเอียงลงคะแนนให้แก่เดโมแครตกันเป็นจำนวนมากนั้น “มีประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าเกี่ยวกับการทุจริตคะแนนเสียง” พร้อมกับอ้างว่ามีการใช้ชื่อคนตายมาลงคะแนนกัน

“แน่นอนเลยว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้บัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นโมฆะ” เขากล่าว “และนี่ก็สามารถส่งผลกระทบกรเทือนต่อการเลือกตั้งได้”

แต่ เฮฟเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท มองว่า การกล่าวอ้างของฝ่ายรีพับลิกันยังคง “คลุมเครือ”

“คุณต้องมีข้อเท็จจริงมาสนับสนุนสิ่งที่คุณกำลังกล่าวอ้าง” เขากล่าว

และแม้กระทั่งว่ามีข้อพิสูจน์แล้ว รีพับลิกันก็ยังต้องแสดงให้เห็นต่อไปว่ามันมีจำนวนมากเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้งที่ออกมา เขากล่าวต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น