เอเจนซีส์ - “โอบามา” เริ่มออกหาเสียงช่วย “ไบเดน” โดยจวก “ทรัมป์” ไม่เหมาะเป็นผู้นำประเทศ ชอบรีทวีตทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด เสี้ยมให้ผู้คนแตกแยก ล้มเหลวในการรับมือโรคระบาด พร้อมเรียกร้องผู้สนับสนุนอย่าชะล่าใจ แต่ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯยังชูประเด็นการรักษาความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ และเอฟบีไอ ออกมาแถลง อ้างรัสเซียและอิหร่านพยายามก่อกวนการเลือกตั้งของอเมริกา โดยเฉพาะเตหะรานที่แอบอ้างชื่อ “กลุ่มพราวด์บอยส์” ที่เป็นฝ่ายขวาติดอาวุธ ส่งอีเมลข่มขู่ผู้สนับสนุนเดโมแครตให้เลือกทรัมป์
ในวันพุธ (21 ต.ค.) ระหว่างไปช่วยปราศรัยหาเสียงเป็นครั้งแรกให้แก่ โจ ไบเดน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีตลอด 2 สมัย รวม 8 ปี ในช่วงการเป็นผู้นำสหรัฐฯของเขา อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา โจมตี โดนัลด์ ทรัมป์ หนักหน่วงที่สุดว่า ไร้ความสามารถในการทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดี
ระหว่างการปราศรัยหาเสียงแบบไดรฟ์อินที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย คราวนี้ โอบามายังย้ำเตือนเหตุการณ์เมื่อปี 2016 ที่โพลชี้ว่า ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำโด่ง ก่อนที่ผลเลือกตั้งจะหักมุมส่งทรัมป์เข้าสู่ทำเนียบขาว โดยเขาบอกว่า สาเหตุที่โพลครั้งนั้นผิดพลาด เพราะคนจำนวนมากนิ่งนอนใจว่า คลินตันชนะแน่ และไม่ยอมออกไปใช้สิทธิ
อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันสูงเกินกว่าที่ประชาชนจะนิ่งนอนใจ เพราะผลลัพธ์คือการต้องอยู่ใต้การบริหารของทรัมป์ที่ไร้ความสามารถในการรับผิดชอบงานในตำแหน่งอย่างจริงจังต่ออีก 4 ปี พร้อมชี้พฤติกรรมกระด้างหยาบช้าของทรัมป์ เช่น การรีทวีตทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด การใช้ถ้อยคำปลุกเร้าสร้างความแตกแยก และสำทับว่า ประชาธิปไตยคงไร้ความหมายถ้าผู้นำปิดบังความจริงและโกหกไปวันๆ
โอบามา ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุด ยังโจมตีเรื่องการจัดการวิกฤตโรคระบาดผิดพลาด โดยบอกว่า แค่ขั้นตอนพื้นฐานเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคโควิดทรัมป์ยังทำไม่ได้
ด้านทีมงานหาเสียงของไบเดนที่ไม่ได้ออกงานติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพุธ เพื่อเตรียมตัวโต้วาทีในคืนวันถัดไป (22) ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 เดือนหน้า คาดหวังว่า โอบามา ในฐานะประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของอเมริกา จะช่วยดึงดูดคนหนุ่มสาวและคนแอฟริกันอเมริกันมาลงคะแนนให้ไบเดน
ทั้งนี้ คนแอฟริกันอเมริกันไปลงคะแนนเลือกโอบามาอย่างท่วมท้นทั้งในปี 2008 และ 2012 แต่กลับวูบหายไปในปี 2016 และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทรัมป์ชนะคลินตันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
สำหรับทรัมป์ ในวันเดียวกันนี้ได้เดินทางไปหาเสียงที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสนามเลือกตั้งสำคัญ โดยชูนโยบายการรักษาความสงบเรียบร้อย และโจมตีว่า ถ้าไบเดนชนะ พวกผู้ประท้วงที่เผาธงชาติจะขึ้นมาบริหารประเทศ
นอกจากนั้น อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้ยังป่าวประกาศว่า วิกฤตโรคระบาดจบลงแล้ว และโจมตีการทำธุรกิจของฮันเตอร์ ลูกชายของไบเดน ขณะที่ไบเดนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต ตอบโต้ว่า สิ่งหนึ่งที่ตนชอบในตัวไบเดน คือ การไม่โจมตีหรือพาดพิงถึงลูกชายคนอื่น
โครงการ ยู.เอส. อิเล็กชัน โปรเจกต์ ของมหาวิทยาลัยฟลอริดา เผยว่า ขณะนี้ คนอเมริกันออกไปเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วกว่า 42 ล้านคน เนื่องจากกังวลกับโรคระบาด หรือเท่ากับ 30% ของจำนวนผู้ใช้สิทธิทั้งหมดในปี 2016 โดยที่โพลทั่วประเทศยังชี้ว่า ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์
ในอีกด้านหนึ่ง จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของหสรัฐฯ แถลงเมื่อวันพุธว่า รัสเซียและอิหร่านได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีสิทธิออกเสียงของอเมริกา และพยายามก้าวก่ายชี้นำการเลือกตั้งต้นเดือนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่านที่ส่งอีเมล “หลอกลวง” ข่มขู่ผู้มีสิทธิออกเสียง ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย และสร้างความเสียหายแก่ทรัมป์ นอกจากนี้ อิหร่านยังส่งวิดีโอบอกเป็นนัยว่า ประชาชนสามารถส่งบัตรเลือกตั้งปลอม ซึ่งรวมถึงจากนอกอเมริกา
เขาเสริมว่า ทั้งอิหร่านและรัสเซียพยายามใช้ข้อมูลที่ได้รับมาเพื่อสื่อสารข้อมูลเท็จกับผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ เป็นการสร้างความสับสน ความวุ่นวาย และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา
คำแถลงนี้มีขึ้นหลังจากผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนพรรคเดโมแครตร้องเรียนว่า ได้รับอีเมลจากกลุ่มพราวด์บอยส์ ซึ่งเป็นฝ่ายขวาติดอาวุธ ขู่ให้เลือกทรัมป์ไม่เช่นนั้นจะถูกติดตามทำร้าย
อย่างไรก็ดี ทั้ง แรตคลิฟฟ์ และ คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ซึ่งร่วมในการแถลงข่าวคราวนี้ด้วย ไม่ได้อธิบายว่า รัสเซียและอิหร่านได้ข้อมูลผู้เลือกตั้งของอเมริกาอย่างไร และจะนำข้อมูลนั้นไปใช้อย่างไร โดยเรย์ยืนยันเพียงว่า ระบบการเลือกตั้งของอเมริกายังปลอดภัยและยืดหยุ่น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ซาอีด คาติบซาเดห์ แถลงในวันพฤหัสบดี (22) โดยเรียกข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าเป็นการปั้นแต่งขึ้นมา และเซ่อซ่าเงอะงะ พร้อมกับยืนยันว่า อิหร่านไม่ได้นิยมชมชื่นไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดน โดยไม่ว่าใครชนะ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรสำหรับอิหร่าน นอกจากนั้น เขายังตอบโต้ว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯพูดกล่าวอ้างอย่างไม่มีมูลเช่นนี้ในเวลาใกล้วันเลือกตั้งของพวกเขา ก็เพื่อที่พวกเขาจะได้เดินหน้าสู่ฉากทัศน์อันไม่เป็นประชาธิปไตยและเตรียมการเอาไว้ก่อน
ขณะที่ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่า “ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง” โดยเขาพูดกับผู้สื่อข่าวที่กรุงมอสโกว่า “การกล่าวหาต่างๆ กำลังเทลงมาเหมือนฝนตกอยู่ทุกวี่วัน ทั้งหมดเลยต่างไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง มันไม่ได้อิงอยู่กับอะไรทั้งสิ้น”
ด้าน ส.ว.ชัค ชูเมอร์ ผู้นำของเดโมแครตในวุฒิสภา ซึ่งได้รับการบรรยายสรุปเป็นการลับเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ออกมาแถลงว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแรตคลิฟฟ์ที่บอกว่า อิหร่านพยายามเจาะจงเป็นพิเศษที่จะทำให้ทรัมป์เสียหาย
เขาบอกว่าทั้งกรณีนี้ของอิหร่าน และของรัสเซียในหลายๆ กรณี พวกเขามีเจตนาที่จะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เขาไม่เชื่อว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะดิสเครดิตทรัมป์