สื่อต่างประเทศรายงานข่าวเกาะติดสถานการณ์การประท้วงในไทย ซึ่งทวีความรุนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน หลังตำรวจนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสลายการประท้วงบริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งกลุ่มเยาวชนได้มีการนัดชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เมื่อค่ำวันศุกร์ (16 ต.ค.) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังยืนกรานไม่ลาออก พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ด้าน “โจ ชัวหว่อง” แกนนำม็อบฮ่องกงทวีตข้อความขอเคียงข้างผู้ชุมนุมในไทย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงนับหมื่นคนท้าทายคำสั่งห้ามชุมนุมของรัฐบาล และเผชิญหน้ากับตำรวจคุมฝูงชนซึ่งถือกระบองและโล่เดินกระชับพื้นที่ พร้อมกับใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสีขับไล่ผู้ประท้วง ซึ่งมีเพียงร่มป้องกันตัว ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
รอยเตอร์ย้ำว่า จนถึงตอนนี้ตำรวจยังไม่ได้ใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งออกมาชุมนุมประท้วงโดยสันติ ทว่า มีการจับกุมแกนนำและผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมไปแล้วประมาณ 50 คน ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
รัฐบาลได้เผยแพร่ข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งห้ามการชุมนุมมั่วสุมเกินกว่า 5 คนเมื่อวันพฤหัสบดี (15) ขณะที่ พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล และสารสีฟ้าที่ผสมอยู่ในน้ำไม่ใช่สารอันตราย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นทำให้แกนนำผู้ประท้วงตัดสินใจประกาศยกเลิกการชุมนุมหลังผ่านไปประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ
กลุ่มเยาวชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามีส่วนทำให้ทหารใช้อิทธิพลก้าวก่ายการเมืองมาตลอดหลายสิบปี ขณะที่รัฐบาลอ้างกรณีการขวางขบวนเสด็จฯ เป็นเหตุในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงอ้างว่าการชุมนุมประท้วงจะทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ได้ออกคำแถลงเป็นห่วงสถานการณ์ในไทย โดยเฉพาะการตั้งข้อหาหนักกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิชุมนุมโดยสันติ พร้อมระบุว่า ยูเอ็นกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในไทย “อย่างใกล้ชิด”
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การประท้วงในไทยตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มักยุติลงหลังจากที่รัฐใช้มาตรการปราบปราม หรือทหารออกมายึดอำนาจ แต่ครั้งนี้รัฐบาลไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากเยาวชนนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมคราวนี้ไม่ได้เรียกร้องอำนาจสำหรับตัวพวกเขาเอง หากแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อให้เกิดการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เข้าร่วมการชุมนุม เพราะกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับระบบการเมืองแบบยุคสงครามเย็น ที่ปล่อยให้ทหารมีอำนาจมากกว่านักการเมือง ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา
“ถ้าคุณถามว่าใครสนับสนุนพวกเขา ความอึดอัดคับข้องใจนั่นแหละที่เป็นตัวสนับสนุน การจะยุติความคับข้องใจนี้ได้ต้องอาศัยการประนีประนอม การเปลี่ยนแปลง และการปฏิรูปบางอย่าง ซึ่งเรายังมองไม่เห็นในขณะนี้ เราเห็นแต่สิ่งที่ตรงกันข้าม”
ขณะเดียวกัน โจชัว หว่อง แกนนำผู้ประท้วงฮ่องกง ก็ได้ให้กำลังใจเยาวชนผู้ประท้วงในไทยด้วยการทวีตภาพชู 3 นิ้ว พร้อมติดแฮชแท็ก #StandWithThailand #MilkTeaAlliance และเขียนข้อความเป็นภาษาไทยว่า “ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ”
ที่มา: รอยเตอร์, บลูมเบิร์ก
ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ#MilkTeaAlliance https://t.co/HiMjeH88Fy— Joshua Wong 黃之鋒 😷 (@joshuawongcf) October 16, 2020