xs
xsm
sm
md
lg

‘อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน’ ประกาศหยุดยิงในสงครามชิง 'นากอร์โน-คาราบัค'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย, เจย์ฮุน ไบรามอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน และ โซห์ราบ โซห์ราบ เอ็มนัตสกาเนียน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาร์เมเนีย เปิดการประชุมหารือร่วมกันที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 9 ต.ค.
อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานบรรลุข้อตกลงหยุดยิงซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงวันนี้ (10 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษและร่างผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อช่วงชิงดินแดนพิพาทนากอร์โน-คาราบัค

การเจรจาหยุดยิงซึ่งมีรัสเซียเป็นคนกลางถือเป็นการสื่อสารผ่านช่องทางการทูตครั้งแรกระหว่างคู่อริทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากสงครามชิงนากอร์โน-คาราบัคซึ่งตั้งอยู่ในอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกควบคุมโดยกองกำลังชาติพันธุ์อาร์เมเนียท้องถิ่น เริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ย. และทำให้พลเมืองเสียชีวิตไปหลายร้อยคน

เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียซึ่งรับบทคนกลางในการเจรจาที่กรุงมอสโก ได้ประกาศข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเวลา 3.00 น. หลังจากผู้แทนฝ่ายอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานใช้เวลาพูดคุยกันนานถึง 10 ชั่วโมง

ลาฟรอฟ ระบุด้วยว่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อพิพาทนี้

คณะกรรมการกาชาดสากลจะรับหน้าที่ประสานงานปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆ ส่วนรายละเอียดของการเจรจายุติข้อพิพาทนั้นยังไม่มีการเปิดเผย โดย ลาฟรอฟ ระบุเพียงว่ากลุ่ม Minsk Group ขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

โซห์ราบ เอ็มนัตสกาเนียน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาร์เมเนีย และ เจย์ฮุน ไบรามอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยตรงกับสื่อมวลชน

ดินแดนนากอร์โน-คาราบัคซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัสถูกกำหนดให้เป็นดินแดนปกครองตนเองภายในอาเซอร์ไบจานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ดินแดนนี้ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากอาเซอร์ไบจานเมื่อปี 1991 ราว 3 เดือนก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ต่อมาได้เกิดสงครามแบบเต็มพิกัดขึ้นเมื่อปี 1992 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 30,000 คน

เมื่อสงครามสงบลงในปี 1994 กองกำลังอาวุธของอาร์เมเนียไม่เพียงยึดนากอร์โน-คาราบัคเอาไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่จำนวนหนึ่งซึ่งอยู่นอกพรมแดนอย่างเป็นทางการของดินแดนนี้ด้วย

เหตุสู้รบที่ปะทุขึ้นอีกครั้งทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าสงครามชิงนากอร์โน-คาราบัคคราวนี้อาจลุกลามบานปลาย และดึงมหาอำนาจภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอาร์เซอร์ไบจาน และรัสเซียซึ่งมีข้อตกลงด้านกลาโหมอยู่กับอาร์เมเนีย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจานไปสู่ยุโรป

รัฐบาลอาเซอร์ไบจานระบุวานนี้ (9) ว่าพลเรือนฝ่ายตนถูกสังหารไปทั้งสิ้น 31 คน และบาดเจ็บอีก 168 คน ตั้งแต่เกิดเหตุสู้รบขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ย. แต่ปฏิเสธที่จะเผยตัวเลขทหารที่บาดเจ็บและเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่นากอร์โน-คาราบัคระบุว่า มีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตนเสียชีวิตไป 376 คน และพลเรือนอีก 22 คน นับตั้งแต่สงครามระลอกใหม่กับอาเซอร์ไบจานปะทุขึ้น

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น