ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ลงมติสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลเบลารุสในวันนี้ (2 ต.ค.) พร้อมส่งคำเตือนไปยัง ‘ตุรกี’ ให้ระงับการสำรวจก๊าซธรรมชาติในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกซึ่งกำลังเป็นข้อพิพาทกับไซปรัส
หลังการประชุมซัมมิตซึ่งกินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ผู้นำอียู 27 ประเทศได้ออกคำแถลงเตือนอังการาว่าอาจจะโดนอียูคว่ำบาตร “ทันที” หากยังดึงดันเข้าไปสำรวจก๊าซธรรมชาติในน่านน้ำไซปรัส
ถ้อยแถลงดังกล่าวของอียูทำให้ไซปรัสยอมถอนการวีโตข้อเสนอแซงก์ชั่นเบลารุส ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับทันทีในวันนี้ (2)
สหภาพยุโรปเตรียมอายัดทรัพย์สินและใช้คำสั่งห้ามเดินทาง (travel ban) กับเจ้าหน้าที่ราว 40 คนในรัฐบาลประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส ซึ่งถูกครหาว่าโกงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. และใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง
อย่างไรก็ตาม บทลงโทษของอียูจะไม่มีผลครอบคลุมไปถึงตัวผู้นำเบลารุส ซึ่งต่างจากอังกฤษและแคนาดาที่ได้ประกาศแซงก์ชั่น ลูคาเชนโก ไปแล้วก่อนหน้านี้
ในส่วนของตุรกี ผู้นำอียูได้ยื่นข้อเสนอกระชับความสัมพันธ์ หากอังการายอมรับปากว่า “จะเปิดเจรจาด้วยความจริงใจ และงดเว้นการกระทำฝ่ายเดียว” ขณะเดียวกันก็เตือนว่าพร้อมที่จะใช้บทลงโทษทางเศรษฐกิจ หากตุรกียังไม่หยุดพฤติกรรมที่บรัสเซลส์มองว่าเป็นการรุกล้ำอธิปไตยทางทะเลของไซปรัส
คำขู่ครั้งก่อนๆ จากอียู รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสำรวจก๊าซธรรมชาติ แทบไม่ได้ทำให้ตุรกีสะทกสะท้าน และถ้อยแถลงล่าสุดของอียูก็ยังถือว่าเบาเมื่อเทียบกับสิ่งที่รัฐบาลไซปรัสคาดหวังเอาไว้
ด้านประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีได้ออกมาประกาศจุดยืนแข็งกร้าว โดยกล่าวต่อรัฐสภาที่กรุงอังการาว่า อียูกำลังทำตัวเองให้กลายเป็น “ตัวประกัน” ของรัฐบาลกรีซและไซปรัส และตุรกีจะยังคงเดินตามแนวทางที่ตั้งใจไว้
ที่มา: เอเอฟพี